เปิดใจแม่ทัพแห่ง ททท.

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

พรศิริ มโนหาญ ได้รับเลือกขึ้นมาเป็น "แม่ทัพ" ภายใต้แรงกดดันรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายในและภายนอกองค์กร บรรยากาศติดลบทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่สิ่งที่น่าหนักใจมากที่สุดคือการทำความเข้าใจกับสังคมเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของ ททท.

Q: คุณมีแนวคิดอะไรเป็นปรัชญาในการทำงานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย?

A: จำได้ว่าวันปฐมนิเทศ พลโทเฉลิมชัย จารุวัสตร์ อดีตผู้อำนวยการ อสท. บอกว่า จริงๆ ผมอยากให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปีหนึ่งมี 1 คน เมื่อ 38 ปีก่อนถ้าพูดถึงฝรั่งเป็นล้านคนมาเมืองไทยมันเยอะมากนะ ท่านบอกว่า ถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาล้านคน ทุกคนกินไข่ เป็นอาหารเช้า ชาวบ้านก็ขายไข่ได้ถึงล้านฟอง รายได้ก็กระจายไปยังพวกเขา คอนเซ็ปต์นี้ทำให้รู้สึกว่าทุกเม็ดจากต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในเมืองไทยมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งนั้น

Q: สิ่งที่อยากสร้างความเข้าใจกับสังคมให้ชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นบทบาทของ ททท.?

A: อยากให้ทุกคนเข้าใจด้วยว่า ททท. มีหน้าที่คือ ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาในเมืองไทยแทนที่จะไปประเทศอื่น อันนี้ถือว่าจบไป เราสามารถไปช่วงชิงจากประเทศอื่นมาได้ ส่วนเขาจะไปเที่ยวที่ไหน พักที่ไหน ต้องอยู่ที่ความน่าสนใจของผู้ประกอบการ หรือแหล่งท่องเที่ยวตรงนั้นด้วย ฉะนั้นคุณเองต้องช่วยตัวเองกันบ้าง ไม่ใช่ยืนรอแล้วเอาแต่ถามว่า ทำไมไม่มีใครมาหาฉัน หรือ นักท่องเที่ยวคนไทยก็เหมือนกัน เมื่อเรากระตุ้นให้เขาออกมาท่องเที่ยวได้ ตัวคุณเองก็ต้องออกแรงดึงพวกเขาไปหาคุณด้วย

Q: สิ่งที่ ททท.อยากบอกไปถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการร่วม กันส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย?

A: ททท.ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวเป็นของตัวเองเลย ดังนั้น วัดบางแห่งที่คนตำหนิกันเยอะว่าขายของมากเกินไป เป็นพุทธพาณิชย์จนเดินแทบไม่ได้ ต้องไปดูว่าอยู่ในความดูแลของกรมการศาสนาหรือกรมศิลปากร หรืออุทยานแห่งชาติไม่ปลอดภัยก็อยู่ในความรับผิด ชอบของกรมป่าไม้ เหมือนที่ดิฉันมองว่าหน้าที่หลักของ ททท.ก็คือการโปรโมตภาพลักษณ์ด้านบวกของประเทศ เพื่อแข่งขันกับต่างประเทศให้ได้ เราก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ฉะนั้นทุกหน่วยงานก็ควรรับผิดชอบในส่วนของตัวเองให้ดีที่สุดด้วย

Q: ดูเหมือนว่าการจัดตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็กลายเป็นข้อจำกัดในการทำงานบางอย่างของ ททท. ด้วยหรือไม่?

A: เหตุที่ตั้งกระทรวงฯ ขึ้นมาก็เพราะในอดีต เวลาที่ ททท.จะไปขอความร่วมมือจากใคร เราเหนื่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความ ปลอดภัย หรือเรื่องอะไรก็ตาม เพราะเขามองว่า เราเป็นแค่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ไม่ได้มีตัวตนเป็นกระทรวง อย่างไปขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย การเข้าถึงรัฐมนตรีจะเหนื่อยมากๆ รัฐบาลสมัยนั้นก็เลยตั้งกระทรวงฯ นี้ขึ้นมาเพื่อการหารือระดับกระทรวง ดังนั้นพอมีกระทรวงฯ ททท. ก็เลยมีหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเดียวจริงๆ

ก่อนหน้านี้ นอกจากการโปรโมต ททท. ยังทำหน้าที่พัฒนาสินค้าหรือแหล่งท่องเที่ยวให้น่าไปด้วย เช่น ปกติ ททท.จะมีแผนอบรมชุมชนเป็นประจำไม่ต่ำกว่า 50 หนต่อปี ไม่ว่า อบรมการเป็น เจ้าบ้านที่ดี อบรมคนขับสามล้อ อบรมคนขับรถแท็กซี่ อบรมภาษาต่างประเทศ ฯลฯ แต่พอมีกระทรวงฯ เวลาเราตั้งงบสำหรับอบรม สำนักงบประมาณฯ ชี้แจ้งเรียบๆ นิ่มๆ เหมือนต่อว่าว่า เราน่าจะรู้ ภารกิจของตน ตามพระราชบัญญัติงานนี้ไม่ใช่ภารกิจของ ททท. อีกต่อไป เราเลยต้องแฝงการอบรมไปกับแคมเปญอื่น กลายเป็นความลำบากอย่างหนึ่ง เพราะประชาสัมพันธ์ก็ไม่ได้เต็มที่พูดก็ไม่ได้เต็มปาก เพราะมันทับซ้อนกับงานของกระทรวงฯ เหมือนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ เคยใช้คำว่า แย่งงานกันทำ

Q: เวลาที่ ททท. ไปขอความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น ผู้มีอำนาจระดับท้องถิ่น เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ฯลฯ คนเหล่านี้มีความเข้าใจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างไร?

A: พวกเขาเข้าใจว่าการท่องเที่ยวจะนำรายได้เข้าสู่ท้องถิ่น ส่วนใหญ่ จะมองด้านรายได้เป็นหลัก อยากให้มีนักท่องเที่ยวมามากๆ เพื่อจะได้มีรายได้มากๆ เวลาเราไปอบรมให้เขาก็เลยต้องเน้นให้เขารักษาและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้สะอาดและน่าอยู่เสมอแล้วจากนั้นนักท่องเที่ยวจะตามมา

Q: หลายครั้งที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวหรือแหล่งท่องเที่ยว ททท. มักตกเป็นผู้ต้องหารายแรกๆ ว่าโปรโมตการท่องเที่ยว เยอะจนทำลายชุมชนท้องถิ่น ทำไมคนในสังคมไทยจึงมี "อคติ"ทำนองนั้นกับ ททท.?

A: มันคงโทษง่ายที่สุดเพราะเราไม่ว่าใคร มันเป็นธรรมชาติของการทำงานด้านท่องเที่ยวที่เราต้องเป็นมิตรกับคนอื่นๆ เหมือนกับที่มีคนเคยบอกว่า tourism is passport to peace อันที่จริง ดิฉันไม่เห็นด้วยกับการดึงคนเที่ยวมาเยอะๆ จนแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม อย่างตอนที่อุทยานแห่งชาติประกาศนำมาตรการ เรื่องความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวมาใช้ ดิฉันยินดีมากที่อุทยานฯ คิดอย่างนี้และบังคับใช้อย่างจริงจัง เพราะนี่เป็นโอกาสที่แหล่งท่องเที่ยวจะฟื้นตัวและคนไปเที่ยวจะได้ปลอดภัย

ถ้าไม่จำเป็นอย่ามาอ้างว่าจะสูญเสียนักท่องเที่ยว ดิฉันไม่เคยห่วงเลยถ้ามันจะทำให้นักท่องเที่ยวหรือคนที่อาศัยตรงนั้นปลอดภัย แล้วอยากเรียนว่า ในการรณรงค์ของ ททท. เราไม่เคยทิ้งเรื่องของแหล่งท่องเที่ยวเลย เรายังคอยสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนดูแลพื้นที่ตัวเองด้วยซ้ำ แต่พอแหล่งท่องเที่ยวเละเทะ ขณะที่เจ้าของสถานที่ยังอาจได้ประโยชน์จากค่าเข้า แต่ ททท.ไม่ได้ อะไรแถมยังถูกหาว่าโปรโมตมากไปจนคนมาแน่น

Q: สุดท้ายปัญหาที่เกิดกับ ททท. เป็นเพราะขาดการจัดการและขาดความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ หรือเปล่า?

A: คงต้องบอกว่า ททท.ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ถ้าเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมก็อาศัยกรมศิลปากร แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติก็กรมอุทยาน เพราะคนในหน่วยงานเหล่านี้เป็นดอกเตอร์กันทั้งนั้น ท่านเก่งกว่าเราอยู่แล้ว เพราะ ททท.เป็นเหมือนเป็ด เราเพียงแต่มองว่าขอให้แหล่งท่องเที่ยว สวยงาม สะอาด และปลอดภัย เท่านั้นเอง แต่คงไปจัดการเองไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้ก็คือดึงนักท่องเที่ยวลงไปตามแหล่งต่างๆ ส่วนบางเรื่อง ททท. ก็คงลงไปดูหมดไม่ได้ เพราะเราเป็นแค่ รัฐวิสาหกิจเอง ไม่มีอำนาจในพื้นที่ บางทีทางจังหวัดเองก็ต้องดูแลพื้นที่ของตัวเองเองด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.