|
"การทำลายล้างวิถีชุมชน ถือเป็นความไม่ชอบมาพากลของมรดกโลก"
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยาชั้นแนวหน้าของประเทศไทยและอาเซียน เจ้าของรางวัลวัฒนธรรมเอเชียฟูกูโอกะ ประจำปี 2550 และเจ้าของผลงานจรรโลงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งเป็นแกนนำของนักวิชาการทางด้าน "ประวัติศาสตร์แนวใหม่" ที่มุ่งเน้นกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมเอเชียและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในภูมิภาค โดยอาจารย์มองว่า ภายใต้บริบทของความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชา นี่ถือเป็นโอกาสดีที่คนไทยควรจะเริ่มต้นเรียนรู้แง่มุมใหม่ของ "มรดกโลก"
Q: เพื่อประโยชน์ในการศึกษาเรียนรู้ทางโบราณคดีและมานุษยวิทยา มรดกโลกควรมีคุณลักษณะอย่างไร?
A: มรดกโลกต้องมุ่งให้เป็นแหล่งการเรียนรู้แห่งอารยธรรมของโลก และต้องมุ่งประโยชน์ในการที่ประชาชนของโลกจะได้เรียนรู้ เพื่อรู้จักกันเองมากขึ้น ด้วยเกณฑ์นี้ มรดกโลกจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีเขตแดน ซึ่งถ้าทำได้จริงมันก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ
Q: เมื่อเจตนารมณ์ของมรดกโลกก็ดูดี แล้วเหตุใดกรณีปราสาทพระวิหารจึงกลายเป็นข้อพิพาทขึ้นมาได้?
A: เห็นได้เลยว่า มรดกโลกไม่ดำเนินไปตามเป้าหมายที่แท้จริง เพราะจริงๆ ปราสาทก็เป็นเหมือนกระดูก ส่วนพื้นที่รอบบริเวณที่อยู่ในเขตไทยเป็นเหมือนเนื้อหนังมังสา ถ้าคณะกรรมการมรดกโลกมีการจัดการที่มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยประกาศให้ไทยและกัมพูชาขึ้นทะเบียนร่วมกัน แหล่งมรดกโลกนี้ก็จะมีคุณค่าทางอารยธรรมอย่างเป็นตัวตนที่ชัดเจน แต่สิ่งที่ปรากฏก็คือคณะกรรมการมรดกโลกขึ้นทะเบียน ปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาฝ่ายเดียว ทั้งที่ขาดความสมบูรณ์เชิงการเรียนรู้ เมื่อไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ ความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมของมรดกโลกก็หมดไป
Q: ภายหลังปราสาทพระวิหารได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอย่างไร ประเทศไทยควรมีท่าทีอย่างไรบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ?
A: ขณะนี้ถ้าไทยเราได้เปรียบ 100% เพราะถือว่ากัมพูชายอมรับแผนที่ที่ประเทศไทยเสนอ แสดงว่าไทยเราไม่เสียดินแดนและยังไม่เสียเอกราช ตราบที่ไทยไม่เข้าร่วมเป็นภาคีกับ "คณะกรรมการ 7 ชาติ" ถ้าเราไม่ให้คณะกรรมการมรดกโลกขึ้นทางดินแดนฝั่งเรา ดูสิว่าจะขึ้นกันทางไหน จะเหาะขึ้นหรือจะทำกระเช้า ถ้าทำกระเช้าความเป็นมรดกโลกก็หมดไป เพราะความถูกต้องและความโบราณก็จะหมดไปเลย ดังนั้นสิ่งที่ไทยควรทำก็คือตัดมรดกโลกออกไปจากแผ่นดินไทยเพื่อรักษาอธิปไตยของไทย ส่วนเรื่องการทวงคืนปราสาทพระวิหารให้ยุติไว้เลยดีกว่า เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ศาลโลกได้ ตัดสินไปแล้ว สิ่งที่เราควรทำตอนนี้ก็คือการนำค่าโง่จากการที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารร่วมกับกัมพูชามาเป็นบทเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคตดีกว่า
Q: ความไม่สง่างามของมรดกโลกที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในระดับโลกมีมูลเหตุสำคัญมาจากอะไร?
A: ทุกวันนี้ ความหมายของมรดกโลกถูกบิดเบือนจากการเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่ออารยธรรมและเพื่อประโยชน์ของคนท้องถิ่น แปรรูปไปเป็นแหล่งเศรษฐกิจเพื่อการท่องเที่ยวและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการปลดปล่อยอารมณ์บ้าบอภายใต้โครงสร้างการจัดการแบบ top-down โดยไม่คำนึงถึงวิถีชีวิตและ วัฒนธรรมของคนท้องถิ่น ขณะที่การจัดการความหมายของมรดกโลกก็ถูกผูกขาดให้กลายเป็นมรดกโลกที่ตัดขาดจิตวิญญาณชุมชน โดยคนท้องถิ่นไม่เคยได้มีส่วนร่วมไม่เคยได้วิจารณ์ การจัดการมรดกโลกถูกครอบงำโดยนักวิชาการที่ขายตัว ขายชาติ แล้วก็นำแผนแม่บทที่ขายชาติเหล่านั้นมาผูกมัดคนท้องถิ่น การทำลายล้างวิถีชุมชนของ ชาวบ้านเช่นนี้ถือเป็นความไม่ชอบมาพากลของมรดกโลก โดยมีชาวบ้านท้องถิ่นเป็นเหยื่อมรดกโลก จากการกระหน่ำของโครงสร้างบ้าๆ บอๆ จาก "ข้ามชาติ" ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการล่าอาณานิคม
ผมว่ามรดกโลกทุกแห่งล้วนดูแห้งแล้ง เพราะไม่มองประวัติศาสตร์ทางสังคม ไม่มีการสืบเนื่องของคนท้องถิ่น ที่เป็นเจ้าของที่อยู่ตรงนั้น ตัวอย่างหลวงพระบางที่ปัจจุบันเหลือแต่เปลือกความเป็นเมือง แต่ข้างในกลวง ที่เป็นเช่นนี้ เพราะคนลาวไล่ไม่ทันความเปลี่ยนแปลงทางการท่องเที่ยว คนที่อยู่ในหลวงพระบางไม่ใช่คนหลวงพระบาง กลายเป็นตลาดนานาชาติ คนหลวงพระบางจริงๆ ต้องถอยออกไปเพื่อให้คนต่างชาติเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ ขณะที่ความ สง่างามของโบราณสถานและศิลปวัฒนธรรมของลาวก็ถูกทำให้เสื่อมหมด โดยเฉพาะพระธาตุภูสี ภูศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นประธานของเมือง เวลาคนท้องถิ่นเข้าไปต้องทำความเคารพ แต่นักท่องเที่ยวฝรั่งกลับเข้าไปกอดกันหน้าพระบรมธาตุ ดูพระอาทิตย์ตกดิน...ต่างจากโบราณสถานของพม่าที่ยังคงมีศักดิ์ศรี และยังเป็นของคนท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์ จิตวิญญาณแห่งโบราณสถานของพม่าจึงยังไม่ตาย
Q: ในเชิงมานุษยวิทยา แนวทางในการจัดการมรดกโลกเพื่อให้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงควรอยู่บนหลักการใด?
A: วิชามานุษยวิทยานี้ไม่ได้เน้นประวัติศาสตร์ที่หมดไปแล้ว แต่เน้นประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่อง เน้นประวัติศาสตร์ สังคมและ วัฒนธรรมของท้องถิ่น ผมจึงสนใจประวัติศาสตร์ที่มองอดีตอย่างต่อเนื่อง และเน้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ผมจึงนิยมให้ความหมายกับคนท้องถิ่น ดังนั้นหลักในการทำแผนจัดการมรดกโลกจึงควรให้ชาวบ้านท้องถิ่นมีส่วนร่วมและต้องเอื้ออาทรต่อคนท้องถิ่น ซึ่งถือเป็น stake holder หรือเจ้าของที่แท้จริงที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้น แล้วสิ่งที่เราต้องทำก็คือ "empower" คนท้องถิ่นให้พวกเขาเกิดความมั่นใจในมรดกของเขา เพื่อจะได้มีอำนาจการต่อรอง แต่ที่ผ่านมาสังคมไทยไม่เคยทำเลยพอพูดถึงการพัฒนาประเทศก็ top-down ทั้งนั้น
ดังนั้น ถ้าแหล่งมรดกโลกใดที่ไม่ได้ให้ประโยชน์ในแง่ของการเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อสร้างสันติ ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของ คนท้องถิ่น และไม่เป็นประวัติศาสตร์ที่เห็นความงดงามของชาติพันธุ์... ถ้าไม่อยู่บนหลักการดังกล่าว ผมถือว่ามรดกโลกเหล่านั้นก็เป็นแค่เรื่องรกโลก!
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย สุภัทธา สุขชู
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|