Why World Heritage มรดกโลก.....มรดกใคร?

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

การประกาศให้ ปราสาทพระวิหาร ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกลำดับที่ 1224 ก่อให้เกิดวิวาทะในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง ทั้งในมิติของเงื่อนงำการเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา

รวมถึงการเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศจากปัญหาข้อพิพาทว่าด้วยเขตแดนไทย-กัมพูชาครั้งใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่าง ความพยายามคลี่คลายสถานการณ์

ก่อนที่ปัญหาดังกล่าวจะขยายตัวส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านไปมากกว่าที่เป็นอยู่

เพราะการประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก มิได้เป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยและกัมพูชาในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียผลประโยชน์แต่โดยลำพังเท่านั้น

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่การประกาศให้สถานที่ใดได้รับสถานะการเป็นมรดกโลก เกี่ยวเนื่องกับองค์กรระหว่างประเทศหรือระดับนานาชาติ อย่างน้อย 3 องค์กร

ไม่ว่าจะเป็นองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO: United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: 1945) คณะกรรมการมรดกโลกนานาชาติ (World Heritage Committee: WHC: 1972) และ ICOMOS (International Council on Monuments and Sites: 1965)

องค์กรทั้งสาม ล้วนมีสถานะการเป็นองค์กร ระหว่างประเทศที่แยกเป็นเอกเทศออกจากกัน แต่ที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ต่อกันในกรณีการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลก

โดยเฉพาะวิวัฒนาการของแนวคิดที่จะอนุรักษ์แหล่งโบราณสถานที่สะท้อนความจำเริญทางอารยธรรมในอดีต ซึ่งเป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นปกคลุมยุโรปตั้งแต่เมื่อครั้งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1

ความเคลื่อนไหวที่เป็นต้นร่างของการอนุรักษ์โบราณสถานที่สำคัญมากประการหนึ่งอยู่ที่การประชุมว่าด้วยการบูรณะอาคารประวัติศาสตร์ เมื่อปี 1931 ที่กรุงเอเธนส์ (Athens Conference on the restoration of historic buildings) ซึ่งดำเนินการโดยองค์การพิพิธภัณฑ์นานาชาติ (International Museums Office)

ผลของการประชุมดังกล่าวซึ่งเรียกขานต่อมาว่า Athens Charter ได้นำเสนอแนวความคิดว่าด้วยมรดกนานาชาติ (international heritage) โดยมีสาระสำคัญ 7 ประการ

ตั้งแต่การระบุให้มีการจัดตั้งองค์กรนานา ชาติ เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการและให้คำปรึกษา การบูรณะอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ ไปจน ถึงการให้ความสำคัญต่อการจัดการพื้นที่โดยรอบของอนุสรณ์สถานที่ต้องการบูรณะด้วย

แต่ความคิดว่าด้วยการอนุรักษ์แหล่งโบราณ สถานดังกล่าวนี้ นอกจากจะยังไม่สามารถก่อให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนได้แล้ว กลับต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 (1941-1945) เพิ่มเติมไปอีก

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงพร้อมกับการเกิดขึ้นของสหประชาชาติ รวมถึง UNESCO ซึ่งมีที่ทำการอยู่ในกรุงปารีส แนวความคิดว่าด้วยการอนุรักษ์และบูรณะแหล่งโบราณสถานก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

กระทั่งเมื่อปี 1959 อียิปต์มีแผนก่อสร้างเขื่อน Aswan High Dam ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อ ระบบนิเวศในลุ่มน้ำขนาดใหญ่แล้ว ปริมาณพื้นที่เหนือเขื่อนดังกล่าวยังจะท่วมทับแหล่งโบราณสถานของอารยธรรมอียิปต์โบราณ รวมถึงวิหาร Abu Simbel และวิหาร Philae ด้วย

คณะทำงานเพื่อการอนุรักษ์ของ UNESCO ได้เข้าสำรวจพื้นที่และรื้อถอนซากเมืองดังกล่าว ก่อนจะขนย้ายไปติดตั้งและสร้างขึ้นในพื้นที่ใหม่ โดยโครงการที่มีค่าใช้จ่ายรวมกว่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐดังกล่าว ถูกระบุว่าประสบความสำเร็จและเป็น จุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์แหล่งอารยธรรมโบราณคดี อย่างจริงจังในเวลาต่อมา

การประชุมสถาปนิกและผู้ชำนาญการพิเศษว่าด้วยอาคารประวัติศาสตร์ครั้งที่ 2 (Second Congress of Architects and Specialists of Historic Buildings) ในปี 1964 ที่เมืองเวนิส นอกจากจะนำไปสู่การประกาศ International Charter on Conservation and Restoration of Monument and Sites (Venice Charter) แล้ว

ผลของการประชุมดังกล่าวยังนำไปสู่การจัดตั้งองค์กร ICOMOS เพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานภายใต้กฎบัตรนี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำหน้าที่ ในฐานะผู้ชำนาญการเพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำแก่ UNESCO ในการบูรณะโบราณสถานและการพิจารณา เพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลกในเวลาต่อมา

ขณะที่แนวความคิดว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณ สถานขยายตัวอย่างกว้างขวางในยุโรปมานานกว่า 4 ทศวรรษและสามารถก่อรูปเป็นเค้าโครงที่จับต้องได้แล้ว

สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นประเทศเกิดใหม่และยังไร้โบราณสถานเพื่อบ่งบอกความจำเริญทางวัฒนธรรม พยายามนำเสนอแนวความคิดว่าด้วยการ อนุรักษ์และคุ้มครองแหล่งธรรมชาติและสถานที่ที่มีทิวทัศน์งดงาม

พร้อมกับผลักดันให้มีการผนวกรวมการอนุรักษ์ทั้งในมิติทางวัฒนธรรมและธรรมชาติให้มีความสำคัญในฐานะมรดกโลกเท่าเทียมกัน

ข้อเสนอดังกล่าวนำไปสู่อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ (Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage) ในการประชุมใหญ่ของ UNESCO ในปลายปี 1972 และ เป็นปฐมบทของคณะกรรมการมรดกโลกนานาชาติ

แม้การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกนานาชาติเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1977 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่การพิจารณาเพื่อประกาศสถานะ พื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเริ่มขึ้นในการประชุมที่กรุงวอชิงตันเมื่อปี 1978

โดยหมู่เกาะ Galapagos ใน Ecuador ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกหมายเลขหนึ่ง ในประเภทแหล่งธรรมชาติ จากเงื่อนไขที่เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ Charles Darwin ในการศึกษาและนำเสนอทฤษฎีว่าด้วยวิวัฒนาการโดยการ คัดสรรของธรรมชาติ

ขณะที่ City of Quito ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ Ecuador ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกหมายเลขสองภายใต้หมวดวัฒนธรรมจากผลของการผสมผสานศิลปะแบบสเปน อิตาลี มัวริช เฟลมมิช และศิลปะท้องถิ่น เข้าไว้ในงานสถาปัตยกรรม ซึ่งถือเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์ของ Baroque School of Quito

แม้ Galapagos และ City of Quito ซึ่งต่างเป็นดินแดนในประเทศ Ecuador ซึ่งถือเป็นรัฐชายขอบของขั้วอำนาจทางการเมืองในเวทีโลกจะได้รับการสถาปนาสถานะการเป็นมรดกโลกหมายเลขหนึ่งและสองด้วยเงื่อนไขที่ต่างกัน

แต่กรณีดังกล่าวกลับสะท้อนภาพการต่อรองและวิถีความเป็นไปของการเมืองระดับนานา ชาติ ภายในคณะกรรมการมรดกโลกอย่างชัดเจน
เพราะในด้านหนึ่งการประกาศให้ Galapagos เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติและมีสถานะเป็นหมายเลขหนึ่ง ย่อมเท่ากับการยอมรับ ทัศนะคิดและการดำรงอยู่ของสหรัฐอเมริกา และ ยังเป็นการยืนยันว่าผู้ที่แข็งแรง หรือปรับตัวได้เท่านั้นที่จะมีหนทางรอด และผู้อ่อนแรงกว่าจะถูกคัดออกโดยกลไกธรรมชาติ

ขณะที่บริบทของ Quito ได้สะท้อนทัศนะ แบบ Eurocentric อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นการเน้นย้ำสำนึกอาณานิคม ซึ่งกำลังจะเสื่อมมนต์ขลัง ให้กลายเป็นสิ่งน่ายกย่องและยอมรับได้

ความเกี่ยวเนื่องระหว่างประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศ และการผลักดันให้สถานที่สำคัญในประเทศต่างๆ ให้ได้รับสถานะการเป็นมรดกโลกเป็นสิ่งที่ไม่อาจเลี่ยง เพราะเรื่องดังกล่าว ผูกพันกับผลประโยชน์แห่งชาติของรัฐซึ่งเป็นภาคี สมาชิกโดยตรง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่โบราณสถาน หรือแหล่งที่มีนัยความหมายในเชิงวัฒนธรรมตามกำหนดนิยามของคณะกรรมการมรดกโลก ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก ย่อมเป็นประหนึ่งการเสริมสร้างเกียรติภูมิของชาติเจ้าของ สถานที่ในสังคมนานาชาติ

ขณะเดียวกันก็สามารถอาศัยเหตุดังกล่าว เอ่ยอ้างโฆษณาความจำเริญแต่ครั้งอดีตเพื่อจรรโลง ความรู้สึกและสำนึกแห่งชาติไปพร้อมกัน

อย่างไรก็ดี ความคลี่คลายในเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ ในมิติของเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีในเวทีระดับนานาชาติดังกล่าว ยังประกอบด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า สถานที่ที่ได้รับการยกสถานะให้เป็นมรดกโลก จะได้รับเงินอุดหนุนในการอนุรักษ์และดูแล เพื่อให้สถานที่เหล่านี้ไม่ทรุดโทรมไปก่อนเวลาอันควร

และการประชาสัมพันธ์ประเทศในฐานะที่มีมรดกโลกเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญไปโดยปริยายด้วย

มรดกไทย...กลายเป็นอื่น

การได้รับสถานะมรดกโลกสำหรับบางประเทศจึงหมายถึงผลประโยชน์ที่สามารถประเมินราคาเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

ขณะที่คุณค่าในเชิงสังคมของสถานที่ที่ได้รับการประกาศว่าเป็นมรดกโลก ถูกแปลงให้เป็นเพียงสินทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าในธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

พร้อมๆ กับการบริหารจัดการแบบใหม่ตามมาตรฐานตะวันตก ซึ่งระบุว่าเป็นแบบสากลถูกส่งผ่านลงมาอย่างมีลำดับขั้นจากเบื้องบน ก่อนจะถูกโหมประโคมในฐานะที่เป็นจิตสำนึกใหม่ ซึ่งชุมชนเจ้าของพื้นที่มีหน้าที่ต้องดูแลรักษา หรือถูกผลักออกไปให้เฝ้าติดตามอยู่ห่างๆ

เพราะในวันนี้แหล่งมรดกโลกเหล่านี้มี stake holder รายใหม่ที่เรียกว่านักท่องเที่ยวเป็นประหนึ่งผู้อุปถัมภ์และค้ำชู การมีอยู่และเป็นไปแล้ว

แหล่งโบราณสถานจำนวนไม่น้อยจึงมีสภาพไม่ต่างจากวิสาหกิจของรัฐ ที่ถูกแปลงสภาพเป็นเพียงสินทรัพย์ของบรรษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่พร้อมจะหนุนนำให้เกิดดอกผลทางธุรกิจ โดยอาจละเลยต่อผลกระทบของชุมชนที่อยู่ข้างเคียงและมีสถานะเป็นเจ้าของสมบัติดังกล่าวอย่างแท้จริง

ความคิดว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ก็เกิดขึ้นในบริบทที่ไม่แตกต่างไปจากที่กล่าวมามากนัก และย่อมไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่

หากแต่มีพัฒนาการต่อเนื่องและสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เริ่มมีการผลักดันให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างจริงจังยิ่งขึ้นในปี 1958

พร้อมกับการริเริ่มแนวทางการพัฒนาแบบตะวันตก ซึ่งนำไปสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ในปี 1961 ด้วย

ทัศนะว่าด้วยการกระจายรายได้จากกลุ่มชนผู้ร่ำรวยจากส่วนกลาง ให้ไหลรินและแผ่ซ่านไปยังเขตชนบท (trickle down effect) ซึ่งผู้ปกครองเชื่อว่าล้าหลังและยากจน กลายเป็นต้นร่างทางความคิดที่ก่อให้เกิดองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อสท.) ในปี 1960 ก่อนที่จะวิวัฒน์มาสู่การเป็นรัฐวิสาหกิจในนาม การท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย (ททท.) ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่มุ่งแสวงหารายได้จากนักท่องเที่ยวมิได้จำกัดอยู่เฉพาะ ในบริบทของประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ยังขยายตัวกลายเป็นยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาค โดยอาศัยคำว่า "มรดกโลก" เป็นประหนึ่งตราประทับรับรอง มาตรฐานความคุ้มค่าในการเดินทางไปเยือนเลยทีเดียว

พัฒนาการความเป็นไปว่าด้วย มรดกโลกในภูมิภาคอินโดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุภูมิภาค ลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-regional: GMS) เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในกรณีเช่นว่านี้

ทิศทางความเป็นไปในประเด็นดังกล่าวเริ่ม ปรากฏชัดเจนขึ้นในสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ (1988-1991) ซึ่งประกาศนโยบายต่อเพื่อนบ้านในภูมิภาคอินโดจีน ด้วยธงนำว่า เปลี่ยนสนามรบเป็น ตลาดการค้า

โดยมีอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการขึ้นทะเบียนและประกาศให้มีสถานะเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม พร้อมๆ กับการประกาศให้ผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ในปี 1991

และติดตามมาด้วยการประกาศให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ในจังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี 1992

ก่อนที่ความพยายามที่จะเชื่อมโยงภูมิภาคอินโดจีนให้เกิดเป็น tourist destination ขนาดใหญ่ที่พร้อมดูดซับรายได้จากนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าสู่ประเทศเหล่านี้ จะดำเนินควบคู่กับความพยายามที่จะนำแหล่งโบราณสถานและเขตอนุรักษ์ทางธรรมชาติให้ได้รับการยกสถานะเป็นมรดกโลก และเป็นหนึ่งในสินค้าที่พร้อมจะปรากฏ ตัวบนแผนที่นักท่องเที่ยว

กรณีของ Angkor (นครวัด นครธม ปราสาทบายน) ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดก โลกเมื่อปี 1992 เป็นภาพสะท้อนความพยายามสร้าง tourist destination ดังกล่าวได้เด่นชัดที่สุด

เพราะในห้วงเวลาขณะนั้นกัมพูชาเพิ่งจะเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพด้วยการนำผู้เกี่ยวข้องและกองกำลังเขมรแต่ละฝ่ายร่วมลงนามใน Paris Accord (1991) กำลังอยู่ระหว่างเตรียมการ จัดเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดในปี 1993 อีกด้วย

แม้ว่าสถานการณ์ภายในประเทศจะยังไม่เอื้ออำนวยให้สามารถดำเนินการใดๆ ได้มากนัก ประกอบกับฝ่ายรัฐกัมพูชายังไม่มีความพร้อมในด้านแผนเกี่ยวกับการอนุรักษ์แหล่งโบราณสถานนี้ แต่อย่างใด

หากคณะกรรมการมรดกโลกกลับเลือกที่จะขึ้นทะเบียน Angkor เป็นมรดกโลกอย่างเร่งร้อน ภายใต้เหตุผลเพื่อการปกป้องและพิทักษ์และจัดให้ Angkor เป็นมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย (World Heritage in Danger) ซึ่ง Angkor เพิ่งพ้นจากสถานภาพดังกล่าวเมื่อปี 2004 นี้เอง

จุดหมายปลายทางของนักเดินทางท่องเที่ยว ที่เริ่มจากประเทศไทยในฐานะที่เป็นทั้งศูนย์กลางและประตูผ่าน (gateway) เข้าสู่อินโดจีนถูก
ขยายจากกัมพูชาไปสู่เวียดนาม และลาวในเวลาต่อมา

เว้ (Hue) และอ่าวฮาลอง (Ha Long Bay) ในประเทศเวียดนามได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดก โลกในปี 1993 และ 1994 ตามลำดับ ขณะที่หลวงพระบางใน สปป.ลาว ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปี 1995 ซึ่งทำให้ทั้ง 4 ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงต่างมีมรดกโลกไว้รองรับนักท่องเที่ยวกันอย่างครบถ้วน

เป็นการสร้างให้อนุภูมิภาค GMS มีฐานะเป็น World Class Destination ที่มีศักยภาพสำหรับการเคลื่อนย้ายการลงทุนด้วย

ทัศนะที่ประเมินคุณค่าของมรดกโลกเป็นเพียงเครื่องหมายทางการค้า เพื่อเพิ่มช่องทางในการ จัดจำหน่าย ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องหาความแปลก ใหม่และปริมาณสินค้าที่มากพอออกมากระตุ้นตลาดอยู่เสมอ

รูปการณ์ของการผนึกให้อนุภูมิภาค GMS เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ ด้วยการขึ้นทะเบียนมรดกโลกให้กับสถานที่ต่างๆ ของประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จึงปรากฏให้เห็นอีกครั้งในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ต่อเนื่องถึงช่วงต้นของทศวรรษ 2000 โดยมีเวียดนามและ สปป.ลาว เป็นประเทศเป้าหมาย

ก่อนที่การพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลกในอนุภูมิภาค GMS จะเบาบางลงไป และกลับมาคึกโครมอีกครั้งในกรณีของปราสาทพระวิหาร ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเกี่ยวกับความโปร่งใสของขั้นตอนการพิจารณาประเด็นที่น่าสนใจมากประการหนึ่งนอกเหนือจากฝุ่นควันแห่งปรากฏการณ์อยู่ที่ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ประเทศไทยมีมรดกโลกที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วรวม 5 แห่ง โดยมีโบราณสถานและเขตอนุรักษ์ทางธรรมชาติที่อยู่ในการกำกับดูแลโดยหน่วยงานรัฐอีกเป็นจำนวนมาก

เราจะบริหารจัดการสถานที่เหล่านี้ให้สามารถผลิดอกออกผลต่อเติมภูมิปัญญาและนำพาสังคมอย่างไร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.