|
Letter from India…บังกาลอร์ เมืองที่กำลังเร่งรีบ
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
สีหน้าเคร่งขรึมของชายฉกรรจ์ผิวดำไว้หนวดที่มีจุดวงกลมสีแดงกลางหน้าผากเพ่งมองหนังสือเดินทาง พลิกไปหลายหน้าดูอยู่หลายรอบ พร้อมๆ กับมองหน้าอาคันตุกะที่มาจากเมืองไทย แต่สุดท้ายเขาก็ยื่นหนังสือเดินทางคืนพร้อมรอยยิ้ม และทักทายด้วยคำว่า "นา-มาส-การ์" ภาษาอินเดีย
แม้ว่าที่สนามบินบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย จะเป็นเวลาตีหนึ่งกว่าแล้วก็ตาม ผู้คนก็ยังเดินทางกันตลอดเวลา ดูเหมือนว่าสนามบินใหม่แห่งนี้จะไม่มีวันได้หลับใหล อีกต่อไป หลังจากเปิดตัวไปเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา และใครๆ ก็ต่างบอกว่า สนามบิน บังกาลอร์เป็นสนามบินที่ทันสมัยที่สุดในอินเดียในทศวรรษนี้
เมื่อสังเกตโดยรอบยังมีการก่อสร้าง ภายในเพิ่มเติม แต่ไม่ได้เห็นด้วยตา ได้ยิน จากเสียงเจาะสว่านไฟฟ้าที่กำลังทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืน การตกแต่งภายในสนามบินออกโทนสีเงิน ดูทันสมัย ไฟฟ้าสว่างไสว ส่วนภายนอกอาคารลานจอดรถกว้างยังสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่เป็นลานจอดรถที่จะรองรับรถได้ 2,000 คัน
สนามบินบังกาลอร์กลายเป็นประตูบานใหญ่ที่กำลังเปิดกว้างเพื่อรับธุรกิจสมัยใหม่จากทั่วโลกเข้ามา ขณะที่อีกด้านหนึ่งเป็นประตูทางออก เพื่อเผยอารยธรรม ของอินเดียที่มีประวัติศาสตร์หลายพันปี
เส้นทางจากสนามบินเพื่อเข้าสู่ตัวเมืองบังกาลอร์มีระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ตลอดเส้นทาง 2 ฟากฝั่ง ร่องรอยสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ ที่ก่อฉาบด้วยอิฐ หิน ปูน กำลังผุดขึ้นอย่างหนาตาสลับกับ ตึกเก่าๆ ที่มีอยู่
ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารท้องถิ่น ธนาคาร ต่างประเทศ หรือแม้แต่ป้ายโฆษณาของบริษัทเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงโด่งดัง อย่าง เช่น ไอบีเอ็ม ก็มาปักหลักแล้วเช่นเดียวกัน
"บังกาลอร์" ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย เป็นเมืองหลวงของรัฐกรรณาฏัก มีพื้นที่ประมาณ 368 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 6.5 ล้านคน เป็นเมืองใหญ่อันดับ 5 ของอินเดีย
บังกาลอร์ถูกหมายมั่นปั้นมือให้เป็น เมืองแห่งอิเล็กทรอนิกส์ กว่า 30 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งปัจจุบันเมืองนี้ได้กลายเป็นเมืองไอทีที่ติดอันดับโลก และกลายเป็น "ซิลิคอน วัลเลย์แห่งเอเชีย" ที่มีความรู้ความสามารถเทียบเคียงกับซิลิคอน วัลเลย์ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
บังกาลอร์จึงถูกพัฒนาอย่างเร่งรีบ เพื่อฉุดดึงให้ประเทศอินเดียก้าวไปสู่ความ เจริญก้าวหน้าเฉกเช่นประเทศที่พัฒนาแล้ว
ภาพสะท้อนที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน บังกาลอร์มีวิถีการใช้ชีวิตเหมือนอยู่ในสอง โลกในเมืองเดียวกัน!
ในโลกที่เรียกว่า "Electronics city" ที่มีบริษัทไอทีด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ กว่าพันแห่ง เป็นเมืองที่ได้รับการพัฒนาอย่างดี ระบบโครงสร้างพื้นฐาน น้ำ ไฟฟ้า ได้รับการจัดสรรอย่างเป็นระบบ
บริษัท อินโฟซิส เทคโนโลยี จำกัด เป็นตัวแทนภาพสะท้อนของบริษัทที่อยู่ในเมืองอิเล็กทรอนิกส์ได้เป็นอย่างดี อินโฟซิส เป็นบริษัทที่ผลิตซอฟต์แวร์โซลูชั่น ที่ให้บริการธุรกิจหลายด้าน อาทิ ธุรกิจธนาคาร ตลาดทุน ประกัน สุขภาพ ระบบการขนส่ง การสื่อสาร และธุรกิจไฮเทค เป็นต้น ปัจจุบันบริษัทแห่งนี้จดทะเบียนอยู่ในตลาด หลักทรัพย์แนสแดค สหรัฐอเมริกา
บริษัทก่อตั้งเมื่อ 27 ปีที่ผ่านมา ในปี 2551 คาดรายได้ 4.18 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐ เป็นบริษัทส่งออกซอฟต์แวร์รายใหญ่ ที่สุดในอินเดีย
อินโฟซิสสร้างขึ้นบนเนื้อที่ 200 ไร่ อาคาร 47 หลัง แต่ละหลังไม่เกิน 4 ชั้น มีสนามกอล์ฟ สนามกีฬา โรงอาหาร ห้องสมุด ต้นไม้สีเขียวจำนวนมากที่ได้รับการดูแลอย่างดี
พนักงานที่ทำงานในอินโฟซิสในบังกาลอร์มีกว่า 15,000 คน อายุเฉลี่ย 27 ปีเท่านั้น เป็นหนุ่มสาวที่มีความรู้ความสามารถมาจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก พนักงานใหม่ที่เริ่มทำงานกับบริษัท แห่งนี้มีทั้งคนต่างชาติ ต่างศาสนา ด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่าง อินโฟซิสจึงมีหลักสูตร เพื่อหล่อหลอมคนเหล่านี้ให้มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ด้วยการจัดหลักสูตรการเรียน 16 สัปดาห์ แบ่งเป็น 14 สัปดาห์แรกฝึกทักษะความรู้ด้านไอที ส่วนอีก 2 สัปดาห์ เรียนรู้ด้านการสร้างความสัมพันธ์และวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน
ทุกอย่างมีกฎ มีระเบียบที่ลงตัว
พนักงานคนหนึ่งที่ทำงานร่วมกับอินโฟซิสมามากกว่า 10 ปีบอกว่าไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมเขาถึงเลือกมาทำงาน ที่นี่ นอกเหนือจากเงินเดือนสูงที่เขาพึงใจ
โลกแห่งความทันสมัย และเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีในเมืองอิเล็กทรอนิกส์ในบังกาลอร์ได้ล้ำหน้าไปไกลกว่าภาพรวมของอินเดีย
เพราะนอกเมืองอิเล็กทรอนิกส์ เมืองบังกาลอร์ทั่วไป สภาพบ้านเมืองและถนนหนทาง ยังดูเก่า และทรุดโทรม โดยเฉพาะถนนที่ตัดเข้าไปตามบริเวณที่อยู่อาศัย ยังคงเป็นดินลูกรังเป็นส่วนใหญ่
โครงสร้างพื้นฐาน ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ต้องปรับปรุงขนานใหญ่ เพราะแม้แต่ในโรงแรมระดับห้าดาว ระบบไฟฟ้า ยังขัดข้องให้เห็นทุกวัน
แต่บริเวณใจกลางเมืองก็ยังมีตึกใหม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าที่มีร้านแฮมเบอร์เกอร์ แมคโดนัลด์ หรือร้านกาแฟท้องถิ่นอย่าง Caf" coffee day ที่มีให้เห็นทั้งในสนามบิน ที่พักริมทาง หรือแม้แต่ในห้างสรรพสินค้าที่ปรับปรุงทันสมัย และสนนราคาถือว่าไม่ถูกนักเมื่อเทียบกับ ค่าครองชีพของที่นี่ เพราะกาแฟดำ 1 ถ้วย ราคาประมาณ 40 รูปี (80 สตางค์ เท่ากับ 1 รูปี) แต่ยังไม่เห็นร้านสตาร์บัคส์ในเมืองนี้
ร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าท้องถิ่น มีอาหาร เสื้อผ้า เครื่องเทศ ร้านของที่ระลึก มีลักษณะคล้ายคลึงกับตลาดประตูน้ำในกรุงเทพฯ คนซื้อ คนขาย จำนวนมาก แต่จะแตกต่างก็ตรงที่มีวัวเดินอยู่บนถนนได้อย่างอิสระในขณะที่รถวิ่งกันขวักไขว่
การจราจรที่นี่จะกดแตรตลอดเวลา เพื่อขอทาง สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ที่เดินทางมาบังกาลอร์เป็นครั้งแรก การเดินทางในเมืองบังกาลอร์ คนนิยมโดยสารรถเมล์ที่มีสภาพค่อนข้างเก่า หรือบางคนก็เลือกใช้บริการรถตุ๊กตุ๊ก ที่เปรียบเสมือนเป็นรถแท็กซี่ คิดราคาตามมิเตอร์ เริ่มต้นราคา 15 รูปี
สภาพการจราจรของบังกาลอร์ค่อนข้างติดขัด โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ว่ากันว่ามีรถยนต์ใหม่ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนไม่น้อยกว่า 600-700 คันต่อวัน จึงไม่แปลก ใจที่เห็นรถค่ายดังของญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรป เริ่มเข้ามาเบียดตลาดยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัททาทาที่เป็นบริษัทท้องถิ่น
การดำรงชีวิตโดยทั่วไปคนอินเดียมีรายได้ต่อหัวกว่า 30,000 รูปีต่อปี หรือ ประมาณ 2,500 รูปีต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่ต่ำ จึงยังเห็นขอทานมีอยู่ทั่วไปตาม เมืองต่างๆ หรือแม้แต่บังกาลอร์ ขอทานที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาดตาอยู่ในห้างสรรพสินค้า ก็ยังขอเงินกับนักท่องเที่ยว ที่เดินผ่านไปมา
น่าแปลกใจที่ ข้อมูลเปิดเผยบอกไว้ว่า คนอินเดียมีอัตราการรู้หนังสือโดยเฉลี่ยร้อยละ 64.8 !!!
แม้ว่าความเจริญเริ่มเข้ามาใกล้ชิดคนอินเดียมากขึ้น แต่การแต่งกายของผู้หญิงอินเดียส่วนใหญ่ ยังนิยมสวมใส่ส่าหรี ที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง ไม่เว้นแม้แต่ในเมืองอิเล็ก ทรอนิกส์ที่พัฒนาไปแล้วก็ตาม
บังกาลอร์ถูกกำหนดให้เป็นเมืองธุรกิจ ฉะนั้นจึงมีนักท่องเที่ยวบางตา หรือแทบจะไม่เห็นเลยในบางวัน แม้มีพระราชวังบังกาลอร์ที่สวยงาม ก็ตาม แต่นักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่จะเป็นคนท้องถิ่นเสียมากกว่า ประกอบกับไม่มีการซ่อมแซมภายในพระราชวังให้อยู่ในสภาพที่ดี จึงทำให้สภาพภายในค่อนข้างทรุดโทรม
แต่ด้วยสภาพอากาศที่เย็นตลอดทั้งปี อุณหภูมิ 16-37 องศา แม้จะอยู่ตรงเส้นศูนย์สูตรเหมือนกับประเทศไทยก็ตาม แต่ด้วยภูมิประเทศที่อยู่บนที่ราบสูง สูงกว่า ระดับน้ำทะเล 5,000 ฟุต จึงทำให้อากาศค่อนข้างดีและยังไม่มีมลภาวะมากนัก เมืองนี้มีนโยบายรักษาพื้นที่ให้มีสีเขียวถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด ถือว่าเป็นเสน่ห์ดึงดูดได้อย่างไม่คาดคิด
แม้ว่าวิถีชีวิตคนบังกาลอร์จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว แต่บังกาลอร์ก็ยังเป็นเมืองที่ดึงดูดคนอินเดียจากเมืองอื่น และมีสภาพยากจนกว่าหลายเท่า หันหน้ามาหางานทำ เหมือนดังเช่นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในสนามบินบังกาลอร์ที่มาจากมุมไบ ซึ่งเขามีหน้าที่รับห่อกระเป๋าเดินทาง ด้วยพลาสติก เก็บค่าบริการครั้งละ 100 รูปี วาดหวังไว้ว่าคุณภาพชีวิตของเขาในเมืองแห่งนี้จะดีขึ้น
เหมือนดังเช่นผู้บริหารคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในบริษัทอินโฟซิสที่ใช้ชีวิตทำงานอยู่ต่างแดนมาหลายปีก็ตัดสินใจเข้ามาทำงานในบังกาลอร์เช่นเดียวกัน
บังกาลอร์เปรียบเสมือนแม่เหล็กที่กำลังดึงดูดทั้งคนอินเดียและชาวต่างชาติ ให้เข้ามาเพิ่มขึ้นทุกวัน ขึ้นอยู่กับว่าคนอินเดียจะรับมืออย่างไร เพื่อไม่ให้สำลักความศิวิไลซ์ต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|