"กฎหมู่" กลยุทธ์ปิดปากสื่อ

โดย ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

เช้าวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ขณะที่กุมาร เกตการ์ บรรณาธิการคร่ำสังเวียนของหนังสือพิมพ์ Loksatta กำลังเตรียมออกจากบ้านไปทำงาน ก็พบว่าบ้านถูกล้อมด้วยชายฉกรรจ์ร่วม 70 คน ชายเหล่านั้น นอกจากตะโกนกราดเกรี้ยว ยังระดมขว้างก้อนหินเข้ามาตามกระจกหน้าต่าง และโยนสาดยางมะตอยเข้ามาในบริเวณบ้านอีกหลายถังก่อนจะยอมสลายตัวไป การคุกคามชวนสะเทือนขวัญครั้งนี้ เป็นผลจากบทบรรณาธิการที่เกตการ์ตั้งคำถามกับโครงการสร้างอนุสาวรีย์ของรัฐมหาราชตระ

อนุสาวรีย์ที่ว่าสำคัญเช่นไร ทำไมสื่อจึงไม่มีสิทธิปฏิบัติหน้าที่ตั้งคำถามกับนโยบายรัฐที่จะให้คุณโทษแก่ประชาชน กรณีดังกล่าวอาจช่วยสะท้อนให้เราเห็นความจริงว่า แท้จริงแล้วในสังคมประชาธิปไตยอย่างอินเดีย สิทธิเสรีภาพของสื่อกำลังอยู่ในสถานะใด

ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นรัฐมหาราชตระประกาศแผนก่อสร้างอนุสาวรีย์ศิวะจีมหาราช วีรบุรุษของชาวมาราธาประชากรส่วนใหญ่ของรัฐมหาราชตระขึ้นที่อ่าวหน้าเมืองมุมไบ เมืองหลวงทางการเงินและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของอินเดีย โดยจะตั้งอยู่บนเกาะเทียมบริเวณมารีน ไดรฟ์ หันหน้าสู่ทะเลอาหรับ มีความสูง 309 ฟุต ซึ่งสูงกว่าเทพีเสรีภาพของสหรัฐอเมริกา 4 ฟุต คาดว่าจะใช้เงินงบประมาณมากกว่า 1,000 ล้านรูปี (ประมาณ 800 ล้านบาท)

ศิวะจีมหาราช (Chhatrapati Shivaji Maharaj) เป็นกษัตริย์นักรบชาวฮินดูผู้กอบกู้เอกราชจากราชวงศ์โมกุล แล้วรวบรวมแผ่นดินของชาวมาราธาที่ตกอยู่ใต้อาณาจักรน้อยใหญ่ ก่อตั้งราชอาณาจักรมาราธาขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ซึ่งดินแดนดังกล่าวก็คือรัฐมหาราชตระในปัจจุบัน นอกจากจะเข้มแข็งในการศึก ศิวะจีมหาราชยังได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรม เป็นผู้นำคนแรกๆ ของอินเดียที่ย้ำถึงแนวคิดการปกครอง ตนเอง (swaraj หรือ self-rule) ต่อมาในช่วงที่อินเดียเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ ศิวะจีมหาราชก็กลายเป็นวีรบุรุษที่บรรดานักต่อสู้เพื่อเอกราชถือเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจ

แม้ในเวทีการเมืองร่วมสมัย บรรดานักการเมืองต่างก็ยก ชูแนวคิดอุดมการณ์ของวีรบุรุษอมตะผู้นี้เป็นธงนำ เช่น พรรคศิวะเสนา พรรคการเมืองสำคัญของรัฐมหาราชตระก่อตั้งโดย Bal Thackeray นับแต่ปี 1966 ซึ่งปวารณาตัวเป็นขุนศึกของศิวะจียึดนโยบายปกป้องผลประโยชน์ของชาวมาราธา กีดกันคนจากรัฐอื่น บาง ยุคถึงกับใช้ความรุนแรงก่อกวนพ่อค้านักธุรกิจที่ไม่ได้มีเชื้อสายมาราธา พรรคมหาราชตระนวเนียร์มันเสนาซึ่งแยกตัวมาจากพรรคศิวะเสนา แม้จะไม่เน้นนโยบายชาตินิยมฮินดูอย่างศิวะเสนา แต่ก็ยึดนโยบาย เรียกคะแนนเสียงด้วยการโจมตีชนเชื้อสายอื่นเช่นกัน ล่าสุดเป้าที่ถูกโจมตีคือดาวค้างฟ้าอย่างอมิตาภ บัชจัน ซึ่งบ้านถูกนักเลงท้องถิ่นทุบทำลายเสียหาย ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นคนจากรัฐอุตตรประเทศที่มารุ่งเรืองอยู่ใต้ร่มเงาของชาวมาราธา แต่ไม่เคยรู้จักทดแทนบุญคุณ ส่วนพรรค Shiv Sangram แม้ว่าจะเป็นคู่แข่ง พรรคศิวะเสนาแต่ก็ชูธงความเป็นชาติมาราธานิยมไม่น้อยหน้ากัน

ในเมื่อศิวะจีมหาราชถูกบรรดาพรรคการเมือง ทั้งอิงและใช้เป็นธงนำในการเรียกคะแนนเสียงจากประชากรส่วนใหญ่ของรัฐมหาราชฯ จนภาพของศิวะจีแทบจะพ้องกับลัทธิชาตินิยมมาราธาและการกีดกันชนต่างรัฐต่างภาษา เช่นนี้แล้วอนุสาวรีย์ศิวะจีมหาราช ที่คาดว่าจะตระหง่านง้ำเหนืออ่าวมุมไบจะสื่อถึงอะไร จะกล่าวต้อนรับผู้มาเยือนโดยไม่เลือกเชื้อชาติภาษาเช่นเทพีเสรีภาพ หรือประกาศย้ำว่านี่คือดินแดนของมาราธาเพื่อชาวมาราธาเท่านั้น

บทบรรณาธิการของกุมาร เกตการ์ ต้นเหตุการคุกคามข่มขวัญนั้น ไม่ได้ตั้งคำถามที่อาจจะอ่อนไหวต่อความรู้สึกเหล่านี้เลย น้ำเสียงเขาอาจฟังดูเสียดสี แต่มีลีลา ไม่ได้จาบจ้วงล่วงเกิน เนื้อความทุกวรรคและบรรทัดตรงไปตรงมา เช่นเดียวกับชื่อบทความที่ว่า "บ้านเมืองหมดสิ้นปัญหาแล้ว มาสร้างอนุสาวรีย์กันเถิด" โดยการเกริ่นนำว่า "ดูเหมือนว่าปัญหามากมีของรัฐมหาราชตระจะได้รับการแก้ไขแล้ว ประชาชนไม่เพียงแต่อยู่ดีมีสุข ยังตั้งหน้ารออนาคตที่สดใส รัฐของเราชาวนาพากันปลอดหนี้ ไม่มีชาวนาฆ่าตัวตาย ไม่มีการตายจากโรคขาดสารอาหาร เด็กทุกคนได้เรียน หนังสือ แถมไม่มีคนว่างงาน..." เพียงแค่อ่านมาถึงวรรคนี้ หลายคนก็น่าจะฉุกใจว่า ในความเป็นจริงยังมีปัญหาอีกร้อยแปดที่เป็นเรื่องเร่งด่วนกว่าโครงการที่ใช้งบมหาศาลอย่างการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อแข่งขันกับเทพีเสรีภาพของสหรัฐฯ โดยเฉพาะปัญหาชาวนาฆ่าตัว ตายนั้น มหาราชตระเป็นรัฐที่มีสถิติสูงที่สุดในประเทศ โดยในช่วงปี 1997-2005 มีจำนวนเกือบ 29,000 คน รวมถึงภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาข้าวสารอาหารแห้งที่ขึ้นราคาอันเนื่องมาจากการขึ้นราคาน้ำมัน

นอกจากนี้เกตการ์ยังเสียดสีถึงการเมืองเรื่องอัตลักษณ์นิยม ที่นักการเมืองใช้เป็นกลยุทธ์เรียกคะแนนนิยมอยู่ทุกยุคทุกสมัย อย่างการเปลี่ยนชื่อเมือง หรือสถานที่สำคัญ เพื่อสลัดอดีตยุคอาณานิคมมานิยม อัตลักษณ์ความเป็นมาราธา เช่น เปลี่ยนชื่อเมืองจาก บอมเบย์เป็นมุมไบ สถานีรถไฟวิคตอเรียเป็น Chhatra-pati Shivaji Terminus (CST) และสนามบินเป็น Chhatrapati Shivaji Maharaj ด้วยหวังว่าเมื่อคนปลาบปลื้มกับชื่อใหม่ เคลิ้มไปกับจินตนาการเรื่องอัตลักษณ์มาราธา แล้วจะลืมไปว่าสถานีรถไฟที่ว่าไม่ว่า จะชื่อวิคตอเรียหรือศิวะจี ตารางเดินรถก็ยังอลเวง รถไฟ ทุกตู้ทุกขบวนยังอยู่ในสภาพยัดทะนานเหมือนเดิม

เกตการ์เพียงแต่ตั้งคำถามและท้วงติงว่าในสภาพที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยปัญหารุมเร้า ควรหรือที่นักการเมืองตั้งหน้าเดินเกมเรียกคะแนนนิยม ทำโครงการยาลมยาหอมอย่างการสร้างอนุสาวรีย์ แทนที่จะยอมเสียเหงื่อมากกว่านี้กับการแก้ปัญหาให้ชาวไร่ฝ้ายที่เตรียมจะปลิดชีวิตหนีปัญหาอยู่ทุกชั่วโมง หรือแก้ปัญหาการว่างงานอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่โบ้ยความผิดว่าเป็นเพราะ คนจากรัฐอื่น ที่ไม่ใช่เลือดมาราธาไม่ได้พูดมาราตีทะลักเข้ามาแย่งงาน

แต่ผลคือการถูกคุกคาม และม็อบผู้บุกรุกก็ประกาศตัวชัดเจนว่าเป็นกลุ่ม Shiv Sangram หนำซ้ำวินายัค เม็ทเท ผู้นำและรองประธานของ Nationalist Congress หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลของรัฐมหาราชตระ ยังแสดงการสนับสนุนการกระทำดังกล่าวว่าเป็นเพียงการประท้วงต่อข้อเขียนที่จาบจ้วง ในวันรุ่งขึ้นสมาชิกกลุ่มม็อบดังกล่าว 12 คนถูกจับกุม แต่เม็ทเทไม่ได้ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด แม้ว่าได้แสดงการหนุนหลังอย่างเปิดเผย ต่อมาเขาให้สัมภาษณ์นิตยสาร Frontline ว่า การคุกคามเช่นนั้นผิดก็จริง แต่สื่อควรจะไตร่ตรองก่อนเขียน "ในรัฐมหาราชตระ ศิวะจีมหาราชเสมือนเป็นเทพองค์หนึ่ง เมื่อมีใครเขียนหรือกล่าวสิ่งใดล่วงเกิน ย่อมจะทำให้สมาชิกกลุ่มของเราโกรธแค้นได้ และผลก็อาจจะเป็นอย่างที่เกิดขึ้น"

การอาศัยกฎหมู่คุกคามปิดปากและปรามความเห็นของฝ่ายอื่น นับวันจะยิ่งทวีความถี่ขึ้น หนังสือพิมพ์ Loksatta เองก็เคยถูกถล่มสำนักงานมาก่อนหน้านี้เมื่อสองปีก่อน ด้วยเหตุผลว่าไม่ได้ร่วมฉลองวันคล้ายวันเกิดของศิวะจีฯ ด้วยการตีพิมพ์ภาพขึ้นหน้าหนึ่งเช่นฉบับอื่น และเป้าการโจมตีก็ไม่ได้จำกัดวงแค่สื่อ ส่วนกลุ่มที่เป็นผู้พิทักษ์กฎหมู่ก็ได้แก่บรรดากลุ่มสมาชิกพรรคการเมืองสำคัญๆ ในท้องถิ่น รวมถึงกลุ่มก้อนสาขา ซึ่งล้วนแต่โยงใยกับพรรคการเมือง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และสถานการณ์เช่นนี้อาจคุแรงยิ่งขึ้นเมื่อใกล้ถึงการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า

"พวกนักการเมืองเอาแต่เล่นการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ โดยไม่ยอมพูดถึงรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง" เกตการ์ให้ความเห็นในการสัมภาษณ์นิตยสาร Frontline "เพราะอย่างนี้เขาถึงอยากปิดปากสื่อ ไม่ต้องการฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ อันที่จริงนี่คือรูปแบบหนึ่งของการก่อการร้าย"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.