|
ไต้หวันเลิกกลัวจีน
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปล/เรียบเรียง
เรื่อง ดิอีโคโนมิสต์ 10 กรกฎาคม 2551
หลังจากหวาดวิตกว่าจะถูกจีนยกทัพบุกเข้ารุกรานมานานหลายทศวรรษ แต่ขณะนี้ไต้หวันกำลังเชิญชวนและยินดีที่จะถูกรุกรานโดยทัพนักท่องเที่ยวจากจีน
เที่ยวบินนั้นถูกระบุบนบอร์ดแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับเที่ยวบินต่างๆ ที่สนามบินในกรุงปักกิ่งว่า เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ และเดินออกไปจากอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ผู้โดยสารชาวจีนต้องผ่านด่านศุลกากรและด่านตรวจคนเข้าเมืองก่อนที่จะขึ้นเครื่อง และก่อนที่เครื่องบินจะร่อนลงจอดที่กรุงไทเปของไต้หวัน ลูกเรือของสายการบิน Air China เที่ยวบินที่ 185 ประกาศเตือนผู้โดยสารว่า ห้ามนำผลไม้เข้าไปใน "ประเทศ" ที่พวกเขาจะไปเยือน ถ้ายังอยู่ในจีน คงไม่มีใครที่นั่นที่จะใจกล้าพอจะเรียกเที่ยวบินดังกล่าวว่าเป็นเที่ยวบินระหว่าง "ประเทศ" เป็นแน่ เพราะจีนนั้นถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน
ความขัดแย้งที่มีมายาวนานระหว่างจีนกับไต้หวันนั้น รวม ไปถึงการพยายามจะเอาชนะคะคานกันแม้แต่เพียงถ้อยคำด้วย การเปิดเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่บินตรงระหว่างจีนกับไต้หวันเป็นประจำเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา แม้จะนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่าย แต่การเล่นเกมบลัฟกันด้วยถ้อยคำแสดงให้เห็นว่า ทั้ง 2 ฝ่ายยังคงห่างไกลกันมากเพียงใด
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเที่ยวบิน "ตรง" ระหว่างจีนกับไต้หวัน แต่ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น ความกังวลด้านความมั่นคง และการขาดข้อตกลงการบินระดับมาตรฐานระหว่างจีนกับไต้หวันทำให้เที่ยวบิน "ตรง" นี้ ยังคงต้องบินอ้อมเป็นระยะทางไกลผ่านน่านฟ้าของฮ่องกงตามเดิม อย่างไรก็ตาม นับว่ายังดีกว่าที่เคยเป็น มาเมื่อก่อนนี้อยู่มาก ก่อนหน้านี้เที่ยวบินระหว่างจีนกับไต้หวัน จะต้องลงจอดและแวะพักที่ฮ่องกงหรือมาเก๊าด้วย แม้ว่าเที่ยวบิน "ตรง" ใหม่นี้ก็ยังคงทำให้ต้องเสียเวลาเพิ่มอีก 1 ชั่วโมงและเดินทางไกลขึ้นอีกเกือบ 1,000 กิโลเมตร สำหรับการเดินทางจากกรุงปักกิ่งไปยังกรุงไทเปก็ตาม
การมาถึงไต้หวันของเที่ยวบินตรงเที่ยวแรกจากปักกิ่งเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ได้รับยกย่องจากทั้งจีนและไต้หวันให้เป็นความ ก้าวหน้าครั้งใหญ่ของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่าย เที่ยวบินเที่ยว แรกที่เดินทางมาถึงกรุงไทเปได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยพิธีฉีดน้ำโปรยปรายเป็นสายๆ จากเครื่องฉีดน้ำดับเพลิงของสนามบิน ประดาคนใหญ่คนโตทั้งของไต้หวันและจีน ต่างพร่ำกล่าว ถึงความดีงามอันเลิศเลอของการเปิดเที่ยวบินประวัติศาสตร์ครั้งนี้
Lien Chan อดีตประธานพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintan: KMT) ของไต้หวันกล่าวว่า "เที่ยวบินตรงนี้จะทำให้คนทั่วทั้งโลกรู้สึกภาคภูมิใจในคนจีนชั่วรุ่นนี้" Wang Yi เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ จีน ที่จัดการเกี่ยวกับประเด็นไต้หวัน กล่าวเมื่อเดินทางไปส่งเที่ยวบินตรงเที่ยวแรกออกจากปักกิ่งในทำนองเกี่ยวกับ "การเริ่มต้นใหม่" และ "โอกาสอันหาได้ยากของการพัฒนา"
ไม่ว่าจะพยายามประโคมโหมโอ่ความยิ่งใหญ่อย่างไรก็ตาม แต่การเริ่มเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างจีนกับไต้หวันครั้งนี้เป็นเพียงความคืบหน้าอีกก้าวหนึ่งเท่านั้น เที่ยวบินลักษณะนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อนแล้ว ในช่วงวันหยุดตามประเพณีจีนบางเทศกาล และมีการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่นั้นมา แต่อุปสรรคเหล่านั้นก็ไม่อาจกั้นขวางหรือเพลาความกระตือรือร้นของนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ลงได้ พวกเขาต่างปรารถนา ที่จะมีโอกาสได้เดินทางมาเห็นด้วยตาตนเอง ถึงสถานที่ที่พวกเขา เพียงแต่เคยได้ยินการกล่าวขวัญถึงไม่ว่าจะในทางดีหรือไม่ดี มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเกือบ 700 คนที่เดินทางไปยังไต้หวันในวันสุด สัปดาห์แรกของการเปิดเที่ยวบินตรง พวกเขาใช้เวลาเพียงเล็กน้อย ในการเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ในไทเป ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผ่านการเลือกสรรคัดกรองอย่างระมัดระวังแล้วจากรัฐบาลของทั้ง 2 ฝ่าย ก่อนที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวยังส่วนอื่นๆ ของเกาะไต้หวัน สถานที่ แห่งหนึ่งที่อ่อนไหวและไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าไปเยือนก็คือ อนุสรณ์สถานเจียงไคเช็ค (Chiang Kai-shek) อดีตผู้นำ พรรคก๊กมินตั๋งและศัตรูตัวฉกาจของประธานเหมา (Mao Zedong) เจียงไคเช็คนำรัฐบาลของเขาหนีมายังเกาะไต้หวันในปี 1949 หลังจากที่เขาพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองในจีน
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจากจีนยังถูกห้ามไม่ให้แตกออกจากกลุ่มของตนอย่างเด็ดขาด บริษัทท่องเที่ยวไต้หวันชี้ว่า นี่คือการสะท้อนความวิตกทั้งของจีนและไต้หวัน จีนไม่ต้องการเสี่ยงที่จะให้คนของตนแปรพักตร์ไปเข้ากับไต้หวัน ส่วนไต้หวันก็ไม่ต้องการให้สายลับจีนที่อาจแฝงตัวมาในคราบนักท่องเที่ยว สามารถเข้าไปในสถานที่ที่ไม่ควรเข้าไปได้ตามสบาย อย่างไรก็ตาม สถานที่หนึ่งที่เป็นข้อยกเว้นก็คือ ห้างสรรพสินค้า Johny Tsai ผู้จัดการ บริษัทท่องเที่ยว China Times Travel Service บอกว่า ลูกทัวร์ชาวจีนกว่าร้อยคนของเขาได้รับอนุญาตให้ไปไหน ก็ได้ตามสบายในห้างสรรพสินค้าที่เมือง Kaohsiung ในภาคใต้ของไต้หวัน และสามารถใช้จ่ายเงิน ได้อย่างอิสรเสรี
สำหรับรัฐบาลที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ของไต้หวัน ซึ่งมาจากพรรค ก๊กมินตั๋ง นักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่มีความสำคัญไม่แพ้การส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างจีนกับไต้หวันตั้งแต่ขึ้นครองอำนาจในเดือนพฤษภาคม ประธานาธิบดี Ma Ying-jeou ของไต้หวันถูกกดดันให้ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าอัตราการเติบโตของไต้หวันจะยังคงอยู่เหนือระดับ 4% และเงินเฟ้อ ยังต่ำกว่านั้น แต่ราคาหุ้นยังคงร่วงลงและมีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันที่ถ่างกว้างขึ้น และเค้าลางของการเกิดภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน ราคาเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้แทบไม่เหลือช่องว่างให้ Ma ได้ขยับตัว การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวจีนผู้ร่ำรวยและใช้เงินอย่างมือเติบ จึงดูเหมือนจะกลายเป็นทางเลือกที่เหลือเพียงทางเดียว นักเศรษฐศาสตร์บางคนคาดการณ์ว่า รายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวชาวจีนจะสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตของไต้หวันได้ถึง 0.5% ต่อปีเลยทีเดียว
แต่อีกหลายคนก็ยังสงสัย Tsai ผู้จัดการบริษัทท่องเที่ยวไต้หวันที่นำนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามากับเที่ยวบินตรงเที่ยวแรกสงสัยว่า จะสามารถคัดสรรเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ร่ำรวยและมีระดับอย่างที่เขาทำได้ในเที่ยวบินแรกๆ ที่นำนักท่องเที่ยวชาวจีนมาสู่ไต้หวันได้อีกหรือไม่ในอนาคต ส่วน Chen Wei Lin จากพรรคฝ่ายค้าน Democratic Progressive Party (DPP) เห็นว่า ไม่มีใครจะบอกได้ว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะมาจากการท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่จะมีมากน้อยเท่าใด และวิจารณ์ Ma ว่า มั่นใจเกินไปที่ให้สัญญากับชาวไต้หวันว่า นักท่องเที่ยวจากจีนจะช่วยให้เศรษฐกิจของไต้หวันอยู่รอด Lin ยังตำหนิ Ma ที่ไม่ยอมเปิดเที่ยวบินตรงขนส่งสินค้าไปพร้อมกันด้วย ซึ่งเขาระบุว่าเป็นความล้มเหลว เพราะ Lin เชื่อว่า เที่ยวบินขนส่ง สินค้าจะสร้างกำไรให้มากกว่าสำหรับไต้หวัน
อย่างไรก็ตาม การที่จีนพูดถึง "การเริ่มต้นใหม่" กับไต้หวัน ก็ไม่ใช่ว่าจะเกินจริงนัก หลังจากที่ต้องทนกับ Chen Shui-bian อดีตประธานาธิบดีคนก่อนของไต้หวันจากพรรค DPP ซึ่งกลายไปเป็นฝ่ายค้านแล้วตอนนี้มานานถึง 8 ปี โดยมีการปะทะคารมกันตลอดมาระหว่างจีนกับ Chen จีนก็รู้สึกยินดีไม่น้อย ที่ได้เห็น พรรคก๊กมินตั๋งกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งในเดือนมีนาคม เมื่อ Ma จากก๊กมินตั๋งชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน
ตอนที่ Ma ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้น จีนกำลังเจอมรสุมหลายลูก ทั้งความไม่สงบนองเลือดในทิเบต ซึ่งทำให้จีนต้องตึงเครียดกับประชาคมโลก ซึ่งยังคงไม่พอใจปัญหาการละเมิด สิทธิมนุษยชนในจีนอยู่ รวมทั้งไม่พอใจที่จีนมีสัมพันธ์กับรัฐบาลที่ประชาคมโลกรังเกียจอย่างพม่า ซูดาน และประเทศอื่นๆ และยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับความเหมาะสมที่จีนจะเป็นเจ้าภาพมหกรรม กีฬาโอลิมปิก
แม้ว่าจีนจะได้รับคำชมเชยในการจัดการกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวนเมื่อเดือนมีนาคม แต่ในด้านกิจการระหว่างประเทศแล้ว จีนกำลังต้องการอย่างยิ่งยวดให้มีบางสิ่งที่เดินไปถูกทาง และดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ของจีนกับไต้หวันในยามนี้จะเดินไปผิดทางน้อยที่สุด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|