|

บทพิสูจน์องค์กรมืออาชีพ
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
อาจมีหลายคนที่เกิดอาการตกใจเล็กน้อย เมื่อได้เห็นข่าวซิคเว่ เบรกเก้ ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) โดยจะมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กันยายนที่จะถึงนี้
เพราะต้องยอมรับว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมาชื่อของซิคเว่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของ DTAC ด้วยลักษณะการทำงานอย่างถึงลูกถึงคน การลงไปสัมผัสกับผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงการเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนทุกแขนงสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง บทบาทในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซิคเว่ เขาพยายามผ่องถ่ายความรับผิดชอบต่างๆ ลงไปสู่ผู้บริหารระดับรองๆ ลงมาหลายคน รวมถึงเพิ่มบทบาทให้กับผู้บริหารเหล่านี้ อีกทั้งยังพยายามสร้างวัฒนธรรมให้กับคนและองค์กรของ DTAC ให้มองเห็นถึงเป้าหมายเดียวกัน จนสามารถเรียกได้อย่างเต็มปากว่าเป็นองค์กรของมืออาชีพ
แต่ในความรู้สึกของคนอีกหลายส่วนยังพยายามผูกตัวตนของเขาไว้กับบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความจริงการลาออกจาก DTAC ของซิคเว่ ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งแต่อย่างใด ตรงกันข้าม เขาได้รับการโปรโมตให้ขึ้นไปรับบทบาทที่กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยไปรับตำแหน่ง Head of Telenor Asia ของกลุ่มเทเลนอร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ DTAC โดยจะดูแลรับผิดชอบธุรกิจผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกลุ่มทวีปเอเชีย ได้แก่ ประเทศปากีสถาน บังกลาเทศ มาเลเซีย และประเทศไทย
และเขายังมีตำแหน่งเป็นกรรมการของ DTAC อยู่ ส่วนคนที่จะมารับตำแหน่งแทนเขา เทเลนอร์ได้คัดเลือก โทเร จอห์นเซ่น ซึ่งได้ร่วมงานกับกลุ่มเทเลนอร์มาเป็นเวลากว่า 30 ปี โดยเคยดูแลธุรกิจในหลายประเทศของเทเลนอร์ ทั้งในทวีปยุโรป เอเชียกลาง และเอเชีย และตำแหน่งสุดท้ายเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของเทเลนอร์ ปากีสถาน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2547 ถึงปัจจุบัน ขณะที่ก่อนหน้านั้น ดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทดิจิ เทเลคอมมูนิเคชั่น ประเทศมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม หากวัดจากปฏิกิริยาของนักลงทุนแล้ว การปรับเปลี่ยนผู้บริหารของ DTAC ครั้งนี้ก็ไม่เป็นภาพลบ เพราะราคาหุ้นของ DTAC ในวันจันทร์ที่ 7 และอังคารที่ 8 กรกฎาคม หลังรับรู้การลาออกของซิคเว่อย่างเป็นทางการแล้ว ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่ปิดตลาดที่ 49.25 บาท ในวันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม ได้มาปิดที่ 51 บาท ในวันอังคารที่ 8 กรกฎาคม และระดับราคาปิดดังกล่าว เป็นระดับสูงสุดของวัน
ส่วนผลงานทิ้งท้ายในตำแหน่งของซิคเว่ นั่นคือการประกาศผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2551 ซึ่ง DTAC มีกำไรสุทธิ 6,251.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% จากงวดเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีกำไร 2,891.79 ล้านบาท และเป็นระดับกำไรที่สูงกว่าเป้าหมายที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์เคยประเมินไว้ด้วยซ้ำ
หลังจากนี้ไปเมื่อ โทเร จอห์นเซ่น ได้เข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กันยายน ผลการดำเนินงานของ DTAC ในงวดถัดๆ ไป จะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า DTAC เป็นองค์กรมืออาชีพ สมดังที่ซิคเว่ได้พยายามปูรากฐานเอาไว้ ไม่ใช่องค์กรที่ติดอยู่กับตัวบุคคล อย่างที่หลายคนเข้าใจผิดในอดีต
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|