บัวหลวงเอสเอ็มอีอายุ 10 ปีแล้ว


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ตัวเลขยอดเงินสินเชื่อที่ธนาคารกรุงเทพปล่อยให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวน 38,000 ล้านบาท ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ช่างน้อยนิดเมื่อเทียบกับทรัพย์สินของธนาคารที่เป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทย

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาแบงก์บัวหลวงแห่งนี้ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมสร้างเครือข่าย ขยายวงกว้างออกไป โดยเฉพาะในงานครบรอบ 10 ปี ที่มีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมสัมมนามากกว่าพันรายตลอดหนึ่งวันเต็ม และยังมีกลุ่มสมาชิกร่วมจัดนิทรรศการ

การจัดงานเอสเอ็มอีของธนาคารกรุงเทพทุกครั้งมีขาประจำอยู่ 2 คน คนแรก ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้ทำพิธีเปิดงานตามธรรมเนียม และโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ที่จะคลุกคลีกับธุรกิจเอสเอ็มอี และร่วมเป็นวิทยากร นอกเหนือจากเป็นนักพยากรณ์เศรษฐกิจของไทยบ้างเป็นบางครั้ง

แต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะร่วมฟังความเห็นของโฆสิตบ่อยครั้ง เหมือนดังเช่นในงานครบรอบ 10 ปี เขาพูดในหัวข้อการปรับตัวของธุรกิจเอสเอ็มอีในยุคข้าวยากหมากแพง

เขาบอกว่า วิกฤตเศรษฐกิจผู้ประกอบการไทยเจอและผ่านมาแล้ว เมื่อปี 2540 เป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เศรษฐกิจไทยติดลบ 4% และปี 2541 ติดลบเพิ่มเป็น 10.5%

ส่วนปี 2551 เป็นวิกฤติที่เกิดจากภายนอกแต่ประเทศไทย ก็ยังมีอัตราการเติบโตที่ยังรับได้ในครึ่งปีหลัง

ผู้ประกอบการได้รับบทเรียนและได้ผ่านความยากลำบากมาแล้ว และธนาคารก็ได้เรียนรู้และศึกษาวิธีการปรับตัวของธุรกิจเอสเอ็มอีเช่นเดียวกัน

"การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนสามารถทำต่อไปได้เลยทันที โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะ 2 สิ่งนี้สามารถแยกออกจากกันได้" โฆษิตแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเมือง

โฆษิตบอกว่า อาวุธสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจไปรอดได้คือ "องค์ความรู้" เพราะความรู้จะช่วยสร้างมาตรฐานให้สินค้าและบริการเกิดการยอมรับและความรู้ จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการนำความรู้สร้างเอกลักษณ์หรือแบรนด์

ความเห็นของโฆษิตที่บอกเล่าให้กลุ่มผู้ประกอบการฟัง ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่เขาเคยพูดมาแล้วก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2550 เขาได้ตอกย้ำเรื่องขององค์ความรู้ ยังเป็นความคิดที่ยังคงทันสมัย ที่ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยยังคงต้องพัฒนาไปอีกหลายปี

การสนับสนุนสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเน้นผลักดันธุรกิจเอสเอ็มอีที่สร้างธุรกิจและบริการใหม่ๆ รวมถึงธุรกิจประหยัดพลังงาน หรือพัฒนาพลังงานทดแทน อิงกับกระแสโลกที่เกิดขึ้นในภาวะปัจจุบันที่ตื่นตัวเรื่องโลกร้อน

การบริหารดูแลเอสเอ็มอีของธนาคาร ได้แบ่งลูกค้าออกเป็น 2 ส่วน ยึดตามภูมิศาสตร์ ส่วนแรกเป็นลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่นครหลวง ที่มีวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ผู้อำนวยการลูกค้าธุรกิจรายกลางนครหลวงทำหน้าที่ดูแล และส่วนที่สอง ลูกค้าที่อยู่ต่างจังหวัดจะมีปิยะ ซอโสตถิกุล ให้ความช่วยเหลือและดูแล

การจัดตั้งชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี เมื่อปี 2546 ขึ้นมา เป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งที่แบงก์บัวหลวงต้องการขยายและสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างสมาชิกด้วยกัน เพื่อประโยชน์ของกลุ่มสมาชิกที่จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรือร่วมมือกันทางธุรกิจในอนาคต และปัจจุบันมีสมาชิก 600 ราย

ตลอดเส้นทาง 10 ปี บนถนนเอสเอ็มอี เป็นบทพิสูจน์ว่าธนาคารกรุงเทพยังคงเจาะตลาดเอสเอ็มอีต่อไปและคาดหวังว่าจะเป็นแบงก์ที่เข้าไปอยู่ในใจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเช่นเดียวกับสโลแกนของธนาคารที่บอกว่าเป็น "เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.