|
รีดเงินขึ้นน้ำตาล5บ./กก.เข้ากองทุนฯแล้ว
ผู้จัดการรายวัน(31 กรกฎาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ระเบียบส่งเงินรายได้จากการขึ้นน้ำตาลหน้าโรงงาน 5 บ./กก.ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับแล้วตั้งแต่ 29 ก.ค. เป็นต้นไป กองทุนฯร่อนหนังสือถึง 47 โรงงานเตรียมเงินจ่ายทันทีย้อนหลังตั้งแต่ 30 เม.ย.-29 เม.ย.ส่งภายใน 15 วันรวมเงินประมาณ 2,000 ลบ. และให้จัดส่งทุกเดือนทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาล(กท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมาระเบียบว่าด้วยการจัดเก็บรายได้จากการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 5 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) เพื่อนำส่งเข้ากองทุนอ้อยฯได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วจึงมีผลบังคับใช้ได้ทันทีส่งผลให้โรงงานน้ำตาลทรายในประเทศที่มีอยู่ทั้งสิ้น 47 แห่งจะต้องจัดส่งเงินรายได้จากการปรับขึ้นราคาน้ำตาลส่งเข้ากองทุนอ้อยฯโดยมีผลย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 2551 เป็นต้นมา
“ขณะนี้กองทุนฯได้ทำหนังสือไปยังโรงงานทั้งหมดแล้วให้จัดส่งรายได้จากการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายจากนี้ไปทุกเดือนโดยให้จัดส่งรายได้ดังกล่าวของทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไปเว้นเฉพาะของเดือนที่มีผลย้อนหลังให้ทยอยส่งทันทีไม่เกิน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้มีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือตั้งแต่ 30 เม.ย.-29 ก.ค.ซึ่งส่วนนี้จะมีรายได้เข้าทันที่ประมาณ 2,000 ล้านบาทและเงินดังกล่าวกองทุนฯก็จะนำส่งใช้หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.)ตามระเบียบเช่นกัน” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ระเบียบดังกล่าวได้ออกตามมติครม.เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2551 ตามข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งขณะนั้นมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรมนำเสนอให้ครม.เห็นชอบแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตามที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) นำเสนอเพื่อเพิ่มราคาอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยคุ้มทุนการผลิตฤดูผลิตปี 50/51 อีกตันละ 107 บาทเพื่อให้ราคาอ้อยเป็น 807 บาทต่อตัน จากเดิมที่ก่อนหน้าอยู่ที่ 600 บาทต่อตัน แต่รัฐบาลที่ผ่านมาเพิ่มค่าอ้อยให้ 100 บาทต่อตันโดยส่วนนี้จำนวน 38 บาทต่อตัน โรงงานจ่ายและ 62 บาทต่อตันกู้ผ่านธ.ก.ส. 4,200 ล้านบาทรวมเงินกู้ 1.23 หมื่นล้านบาทและเมื่อรวมกับหนี้เก่าทำให้กองทุนอ้อยเป็นหนี้ 2.5 หมื่นลบ. จึงต้องจัดหารายได้ด้วยการปรับขึ้นราคาน้ำตาลหน้าโรงงาน 5 บ.ต่อกก.ซึ่งคาดว่าจะใช้หนี้หมดใน 3 ปี
แหล่งข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายกล่าวว่า โรงงานพร้อมจะจ่ายเงินดังกล่าวตามระเบียบที่กำหนดเพื่อยืนยันว่าโรงงานน้ำตาลไม่ได้มีรายได้เพื่อที่จะนำไปจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับนักการเมืองคนใดตามที่สื่อพยายามยัดเยียดให้โรงงานเป็นผู้ร้ายซึ่งหากคิดง่ายๆ รายได้ 5 บาทต่อกก.ส่งเข้ากองทุนฯหมดแล้วโรงงานจะได้อะไรกับการขึ้นน้ำตาลดังกล่าว แต่ถ้าจ่ายเงินเข้ากองทุนไม่เต็ม 5 บ.ต่อกก.ค่อยมาต่อว่ากันและหลังจากกองทุนฯนำเงินดังกล่าวใช้หนี้ธ.ก.ส.หมดใน 3 ปี ผลประโยชน์ดังกล่าวอาจจะตกกับระบบได้แต่ก็ไม่มีใครตอบได้ว่าราคาน้ำตาลตลาดโลกจากนี้ไปจะเป็นอย่างไรหากตกต่ำระบบกู้เงินอีกก็จะใช้หนี้ไปกันอีกก็เป็นไปได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|