ชีวิตบั้นปลายของบุญนำ บุญนำทรัพย์ นักธุรกิจชั้นนำทางด้านเสื้อผ้าสำเร็จรูปของโลกในวันนี้ถือว่าเพียบพร้อมและเพียงพอแล้วกับความหวัง
และความสำเร็จเกินคาดในสิ่งที่ตนไม่คิดว่าจะยิ่งใหญ่และเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง
แม้วันที่กำหนดเกษียณตัวเองในปีนี้ ก็ยังไม่วายที่จะเปิดตัวแถลงข่าวแนะนำโครงการใหม่
ซึ่งแทบจะไม่เคยปรากฏเลยในชีวิตของเขา
งานนี้บุญนำเป็นประธานกรรมการบริษัท ไทยบรันตา มูเลีย จำกัด ซึ่งมุ่งผลิตผ้าใบยางรถยนต์
นับเป็นการลงทุนที่ต่างไปจากโครงการด้านสิ่งทอและเสื้อผ้าที่เขาเคยทำ ซึ่งจะลงทุนกับเพื่อนในวงการเดียวกัน
เชื้อชาติเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ แต่คราวนี้เป็นการร่วมทุนกับอินโดนีเซีย เรียกว่าเป็นการร่วมทุนกับต่างชาติที่มีสัดส่วนถือหุ้นสูงที่สุดเท่าที่มีมา
หลายคนอาจจะแปลกใจว่า ทำไมบุญนำจึงขยายมาลงทุนในโครงการที่เป็นธุรกิจนอกเหนือจากสิ่งทอ
โดยตัวบริษัท ไทยบรัน-ตาฯ ตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ปีที่แล้ว ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น
352 ล้านบาท เป็นการร่วมทุนของไทยและอินโดนีเซียสัดส่วน 51 ต่อ 49 นั่นก็คือ
49% เป็นหุ้น่ของบริษัท พี.ทีงบรันตามูเลียจำกัดผู้ผลิตผ้าใบยางรถยนต์ของอินโดนีเซีย
อีก 51% จะแยกเป็นการถือหุ้นของบริษัท ไทย นูซ่า ดีเวลลอปเม้นท จำกัด (เป็นการร่วมทุนของกลุ่มบุญนำและกลุ่มบริษัทดีของอินโดนีเซีย)
31% ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนในการลงทุนโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเคมีธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจสิ่งทอ
ฯลฯ
ส่วน 20% ที่เหลือเป็นหุ้นของธนาคารกรุงเทพของบุญนำโดยส่วนตัว ประภา วิริยประไพกิจ
และสมศักดิ์ ลี้สวัสดิ์ตระกุล
สำหรับบริษัท พี.ที.บรันตา มูเลียเป็นสาขาของบริษัทอินโด ซิเมนต์ ยักษ์ใหญ่ธุรกิจของกลุ่มลิม
ซู เหลียงในอินโดนีเซีย ซึ่งมีเครือข่ายธุรกิจหลากหลาย เช่น ยานยนต์ เคมี
ปิโตรเคมีกระจายไปทั่วโลก
เฉพาะทางด้านยานยนต์พี.ที.บรันตา มูเลียได้ตกลงเซ็นสัญญาใช้เทคโนโลยีของบริษัทกู๊ดเยียร์
ไทร์ แอนด์ รับเบอร์จากสหรัฐฯ โดยเริ่มสร้างโรงงานผลิตผ้าใบยางรถยนต์ในปี
2526 และเสร็จในปี 2528 จากนันก็ทำสัญญาลักาณะเดียวกันกับบริษัท บริดจสโตน
คอร์ปอเรชั่น จำกัด แห่งญี่ปุ่น
การใช้เทคโนโลยีและระบบากรผลิตที่ทันสมัยของริษัทยางรถยนต์ทั้งสองราย ทำให้พี.ที.บรันตา
มูเลียผลิตสินค้าได้ตรงความต้องการของตลาดทำให้เพิ่มปริมาณการผลิตจาก 6,000
ตันในปี 2529 ขึ้นมาเป็น 20,000 ตันในปี 2533
ยอดขาย 2,500 ล้านบาทในปีที่แล้วก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 3,500 ล้านบาทในปีนี้
หรือคิดเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้น 37%
ตลาดของพี.ที.บรันตา มูเลีย ครอบคลุมบริษัทยางยนต์รายใหญ่ทั่วโลก เช่น
กู๊ดเยียร์บริดจสโตน ยูนิโรยัล-กู๊ดริช ดันล๊อป-ซูมิโตโม โยโกฮาม่า มิชลิน
ตลอดจนผู้ผลิตยางรายอื่นในอินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย
นิวซีแลนด์ ปากีสถาน จีน ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และแอฟริกาตะวันออก
โครงการผลิตผ้าใบยางรถยนต์ในไทยครั้งนี้จะตั้งโรงงานบริเวณสวนอุตสาหกรรมโรจนะ
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยได้วางศิลาฤกษ์ไปเมื่อเช้าวันที่ 1 ตุลาคมศกนี้
กำหนดสร้างเสร็จในปลายปี 2535 มีกำลังผลิต 12,000 ตันต่อปี ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น
2,000 ล้านบาท
จากปริมาณดังกล่าวจะป้อนตลาดในประเทศ 50% ซึ่งคาดว่าจะช่วยทดแทนการนำเข้าได้ประมาณปีละ
900 ล้านบาทอีกครึ่งหนึ่งจะส่งออกได้ราวปีละ 750 ล้านบาท
เมื่อสร้างโรงงานแห่งนี้เสร็จจะทำให้พี.ที.บรันตา มูเลียมีกำลังการผลิตผ้าใบยางรถยนต์ทั้งหมดถึง
32,000 ตันต่อปีและจะกลายเป็นกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ผลิตผ้าใบยางรถยนต์ คือ ไนลอนนั้นในช่วงแรกจะให้บริษัท
ดูปองต์เป็นผู้จัดการให้ก่อนเมื่อผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์และโดยเฉพาะเส้นใยไนลอน
66 ซึ่งมีคุณสมบัติเหนียวเป็นพิเศษแล้ว ก็จะใช้วัตถุดิบในประเทศ
โครงการผลิตไนลอน 66 นี้เป็นแผนลงทุนต่อไปของบริษัท ไทยบรันตาฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาขอซื้อสิทธิการผลิตจากดูปองต์
โดยดูปองต์จะขอเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโครงการ แต่ติดเงื่อนไขบีดอไอที่กำหนดว่าจะต้องให้คนไทยถือหุ้นมากกว่า
50% อย่างไรก็ตาม ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็จะหันไปเลือกใช้เทคโนโลยีของรายอื่นแทน
ขณะที่ธุรกิจนกลุ่มบุญนำนั้น มีบริษัทไทยโพลิเมอร์เท็กซ์ไทล์ จำกัด เป็นผู้ผลิตเส้นใยสังเคราะห์
เพื่อเสริมธุรกิจในเครือให้ครบวงจรและมั่นคงยิ่งขึ้น โดยมีมารูเบนี่คอร์ปอเรชั่นจากญี่ปุ่นถือหุ้นใหญ่
15% สมานโอภาสวงศ์ 10% ชาตรี โสภณพนิช 10% สุชัย วีระเมธีกุลจากเอ็มไทยกรุ๊ป
5% ประภาวิริยประไพกิจจากกลุ่มสหวิริยา 5% และบุญนำเองถือ 10% ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นอื่นทั้งในและนอกวงการ
ดังนั้น โครงการผลิตไนลอน 66 ก็คือส่วนหนึ่งของธุรกิจสิ่งทอที่บุญนำคลุกคลีมาตลอดชีวิต
เฉพาะอย่างยิ่งเส้นใยสังเคราะห์นั้นยิ่งจะเป็นวัตถุดิบที่สำคัญที่มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากในอุตสหากรรมสิ่งทอ
โครงการนี้ต่างหากที่บุญนำสนใจ เพราะถนัดและเชี่ยวชาญ
อย่างไรก็ตาม พูดได้ว่าโครงการนี้เกิดขึ้นจากการชักนำของแบงก์กรุงเทพ
ด้วยความที่แบงก์กรุงเทพเป็นบริษัทไทยรายแรกที่เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียช่วงกลางทศวรรษที่
60 และตามมาด้วยซีพี
จากสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและยาวนาน เมื่อ พี.ที.บรันตา มูเลียคิดขยายการลงทุนไปยังประเทศไทยและภูมิภาคนี้ก็ได้ติดต่อผ่านแบงก์กรุงเทพให้เป็นคนช่วยหาผู้ร่วมทุน
ขณะที่บุญนำเป็นลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีของแบงก์กรุงเทพและใช้บริการกันมานานนับหลายสิบปี
เพราะบุญนำเป็นเพื่อนกับชาตรี โสภณพนิชตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มน้อย บุญนำจึงเป็นชื่อที่ทางแบงก์กรุงเทพและนำให้กับพี.ที.บรันตา
มูเลีย
นับว่าเป็นความลงตัวและสอดคล้องของธุรกิจซึ่งอยู่ในสายเดียวกัน "มิใช่เป็นเพราะความเลื่องลือที่ว่า
บุญนำเป็นเจ้าพ่อสิ่งทอรุ่นที่สองของไทยแต่เป็น LONG CONNECTION" ดร.แจแลล
เมทิน กรรมการบริหารของพี.ที.บรันตา มูเลีย เปิดเผย "ผู้จัดการ"
การร่วมทุนครั้งนี้นับเป็นการรุกตลาดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ของอินโดนีเซีย
และเป็นแนวโน้มที่ดีว่าแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้จะมีการร่วมมือทางการค้าเศรษฐกิจตลอดจนด้านอื่น
ๆ มากขึ้นในอนาคตอันจะเป็นเครื่องมือต่อทางการค้าระหว่างกลุ่มภูมิภาคในอนาคต
งานนี้จึงเป็นการลงทุนของบุญนำหลังจากที่กำหนดเกษียณตัวเองในปีนี้
แต่เป็นการลงทุนที่บุญนำบอกว่า ตนก็ลงไปเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ได้เป็นหลักและไม่คิดจะเป็นหลักในการลงทุนในธุรกิจใดอีกดังที่บุญนำกล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่า "พอแล้ว เดี๋ยวนี้แก่ไปมาก มีงานก็ปล่อยให้คนอื่นทำ
ที่ทำ ๆ อยู่ ก็ให้คนอื่นบริหารทั้งนั้น" โดย แอนดรีย์ พริบาดี เป็นกรรมการผู้จัดการ
และแชแนลโทเกอร์ เป็นผู้จัดการทั่วไปส่วนตัวเอง "รอแค่เก็บกำไรดีกว่า
จะได้ไม่เหนื่อย"
สิ่งที่จะเห็นบุญนำเป็นคนออกโรงก็คือ "เซ็นชื่ออย่างเดียว แต่เซ็น
(กู้)มาก ๆ กลางคืนคิดแล้วปวดหัว" เขากล่าวอย่างติดตลกต่อหน้าชนะ กาญจนวัฒน์
ซึ่งรับผิดชอบการปล่อยเงินกู้ของแบงก์กรุงเทพและตอบกลับมาว่า "นั่นเพราะอาเจ็ก
(บุญนำ) เป็นลูกค้าที่ดี"
พิธีเซ็นสัญญากู้เงิน 52 ล้านบาทจากแบงก์กรุงเทพเพื่อใช้ในการสร้างโรงงานจึงมีขึ้นเมื่อบ่ายวันที่
1 ตุลาคมที่ผ่านมาผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องมากันพร้อมหน้าพร้อมตา ทุกคนดูยิ้มแย้มสดใสถ้วนหน้า
ไม่ว่าจะเป็นปิติสิทธิอำนวย กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และชาติสิริ
โสภณพนิช จากค่ายแบงก์กรุงเทพ หรือนักธุรกิจตระกูลพริบาดี ยักษ์ใหญ่ในอินโดนีเซีย
จากโครงการนี้นับเป็นการยืนยันได้ว่าแม้บุญนำจะเกษียณตัวเองก็ตาม แต่ก็ไม่อาจสลัดความเนื้อหอมที่จะมีคนมาชักชวนลงทุนในโครงการต่าง
ๆ ไปได้