|
"ประกันชีวิตไทย"เรียงแถวจับคู่ทุนนอก"ไทยสมุทรฯ" ปิดตำนานธุรกิจครอบครัว
ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 กรกฎาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ตระกูล "อัสสกุล" เจ้าของธุรกิจ "ไทยสมุทรประกันชีวิต" คือ กิจการครอบครัวรายล่าสุด ในอุตสาหกรรมประกันชีวิต ที่เปิดประตูบ้านต้อนรับ พันธมิตรหน้าใหม่ "ไดอิชิ มิวชวล ไลฟ์ อินชัวรันส์" เบอร์สองจากเกาะญี่ปุ่น ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 24% นับเป็นการปิดฉากธุรกิจครอบครัวไทยแท้ ท่ามกลางพายุเศรษฐกิจ ในโลกไร้พรมแดนกำลังพัดกระหน่ำอย่างหนัก จนยากที่กิจการครอบครัวสายพันธ์ไทย จะต้านทานเอาไว้ได้....
ถึงแม้ กีรติ อัสสกุล ประธานกรรมการ ไทยสมุทรประกันชีวิต จะไม่ยอมรับเต็มเสียงถึงสัญชาติที่เปลี่ยนไป ของไทยสมุทรฯ ภายหลังการเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 24% ของกลุ่ม "ไดอิชิ มิวชวล ไลฟ์ อินชัวรันส์" จากญี่ปุ่น อย่างเงียบกริบ เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนก็ตาม
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจครอบครัวที่ยอมลดสัดส่วนการถือหุ้นลงมาเหลือเพียง 76% จากเดิมเคยควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จทั้ง 100% โดย "อัสสกุล" ต้องอยู่ในข่ายธุรกิจลูกครึ่ง เพื่อสร้างโอกาสอยู่รอด ในสงครามธุรกิจประกันชีวิต ที่ตระกูลเจ้าสัว เจ้าถิ่นชาวไทยเริ่มจะสูญพันธ์
" ต้องถามว่าความเป็นไทยคืออะไร?...ความเป็นไทย อยู่ที่พฤติกรรม ไม่ได้อยู่ที่ ใครคือผู้ถือหุ้นใหญ่...."
กีรติ กำหนดนิยามใหม่ ของธุรกิจครอบครัว ระหว่างงานเปิดตัว ไดอิชิฯผู้ถือหุ้นหลักหน้าใหม่อย่างเป็นทางการ หลังจากเก็บข่าวเงียบมานาน และแทบไม่มีใครระแคะระคาย
"ไทยสมุทรประกันชีวิต" จึงเป็น "กิจการครอบครัว" รายล่าสุด ที่มองหาช่องทางเอาตัวรอด นับจากธุรกิจประกันชีวิตเกือบทุกราย ที่มีอายุไล่เลี่ยกันเกือบครบ 6 ทศวรรษ ต้องยอมจำนนต่อสงครามการแข่งขัน เริ่มเรียงหน้ากระดานจับคู่แต่งงานกับ ทุนนอก ที่เพรียบพร้อมไปด้วยทุน เทคโนโลยี ช่องทางจำหน่าย และฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง
หากดูตามฐานข้อมูลของสมาคมประกันชีวิตไทย จะพบว่า ธุรกิจประกันชีวิตในประเทศ เกือบจะ 100% เริ่มเปลี่ยนสัญชาติจากไทยแท้เป็นลูกครึ่ง และบางส่วนก็อยู่ในร่างของทุนนอกครบเครื่อง มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ที่ยังพยายามยึดหลักธุรกิจไทยแท้อย่างเหนียวแน่น แต่ส่วนใหญ่ก็ยังซุ่มเจรจากับพันธมิตรต่างประเทศอยู่เป็นระยะๆ
อย่างไรก็ตาม สำหรับ ไดอิชิฯ ก็ไม่ใช่คนแปลกหน้า แต่ค่อนข้างจะคุ้นเคยด้วยและสนิทสนม กับ "ตระกูลกัสสกุล"ด้วยซ้ำ เพราะในปี 2549 ทั้งคู่ต่างก็เคยทำธุรกิจร่วมกัน ผ่านช่องทาง "เวอร์คไซด์ มาร์เก็ตติ้ง" ซึ่งเป็นฐานลูกค้าองค์กรชาวญี่ปุ่นของไดอิชิมาก่อน
สำหรับ ไดอิชิฯ การเปิดตลาดในไทย ถือเป็นการลงทุนแห่งที่สามในย่านเอเชีย หลังจากเข้าไปเปิดตลาดในเวียดนามและอินเดียมาแล้วก่อนหน้านี้ โดยปิดดีลกับไทยสมุทรฯด้วยเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านเยน
นอกจากนั้น ไดอิชิฯ ก็เป็น ธุรกิจประกันชีวิตเบอร์สองบนเกาะญี่ปุ่น ที่มีอายุถึง 105 ปี ในปี 2550 มีสินทรัพย์กว่า 10.7 ล้านล้านบาท มีเบี้ยประกันรับรวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท
ในขณะที่ ไดอิชิฯ กำลังเผชิญหน้ากับ "ตลาดญี่ปุ่น" กำลังอิ่มตัว และเต็มไปด้วยประชากรสูงวัย การขยายตัวจึงค่อนข้างอืดอาด ไทยสมุทรฯก็ไม่แตกต่างกัน หลังจากได้รับสัญญาณการคุกคามจากธุรกิจทุนนอกทั้งในร่างประกันชีวิตลูกครึ่ง และมาเต็มคราบหลายรูปแบบ การผูกมิตรกันอย่างแน่นหนา จึงน่าจะช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้ไม่ติดขัด ต่างจากในอดีตที่จับมือกันเพียงหลวมๆเท่านั้น
ไดอิชิ ถนัดในด้านสินค้า นวัตกรรมใหม่ในรูปของสินค้าประเภทสามัญ และยังมีฐานลูกค้าเลือดบูชิโดอยู่เต็มมือ พ่วงกับมีฐานข้อมูล ความรู้ในระดับโลก มีธุรกิจจัดการกองทุนในชื่อ ไดอิชิ ไลฟ์ แอสเสท แมเนจเม้นท์ ที่ไทยสมุทรฯไม่มี
แต่ที่ไทยสมุทรฯ มีอยู่ในมือคือ ตลาดลูกค้าประเภท อุตสาหกรรมในตลาดรากหญ้า รายได้น้อย การจับมือแต่งงานครั้งนี้ จึงบ่งบอกถึงสภาพแรงกดดันจากการแข่งขันที่ต่างไปจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง
" เขาจะช่วยเราในหลายๆเรื่อง เช่น ช่องทางขาย เรื่องข้อมูล การลงทุนในต่างประเทศ ข่าวสารที่สำคัญจากต่างประเทศ ว่า นักลงทุนต่างชาติเขามองเราอย่างไร นอกจากนั้นเขาก็เป็นที่สองของธุรกิจประกันชีวิตในญี่ปุ่นด้วย"
กีรติ ให้ความกระจ่างว่า ไดอิชิฯ อาจไม่ใช่นายทุนผมทองจากยุโรปหรือ อเมริกา แต่เท่าที่รับรู้ไปทั่วโลก ก็คือ ไดอิชิฯ ก็ไม่ใช่ "ธุรกิจ โน บอดี้" ที่ใครต่อใครจะไม่รู้จัก
" เราต้องส่งทีมไปญี่ปุ่น ไปหาความรู้ จากประสบการณ์กว่า 100 ปีของเขา นับจากปี 2549 ที่เริ่มร่วมมือกันทางธุรกิจเป็นต้นมา"
ว่ากันว่า ไทยสมุทรฯจะได้พึ่งพาสินค้าใหม่ๆ ประเภท ประกันสุขภาพ และประเภทโฮล์ดไลฟ์ ที่ไม่ค่อยถนัดนัก จาก ไดอิชิฯอย่างเต็มที่ ส่วนไดอิชิฯ ก็จะได้อาศัยแขนขา กิ่งก้านสาขา ของไทยสมุทรฯขยายเบี้ยประกันรับในตลาดแห่งใหม่ได้สะดวก ราบรื่น
" คนถามกันเยอะในกรณีนี้ เราก็บอกไม่มีนโยบายปิด แต่ยังเปิดให้พันธมิตรหน้าใหม่ ที่ไม่ได้เน้นเรื่องเงินทุน แต่จะมองรายที่เข้ามาเสริมธุรกิจให้ดีขึ้น โดยเฉพาะ ไดอิชิฯที่มีเจตนารมณ์ สนับสนุนถ่ายทอดโนฮาวน์ และประสบการณ์กับเรา ซึ่งถือว่าสำคัญมากในญี่ปุ่น"
กีรติ บอกว่า ถึงแม้ไดอิชิฯ จะเข้ามาถือหุ้นร่วมในสัดส่วน 24% แต่ การลงทุน ผู้บริหาร ลูกค้า และตลาด ยังเป็นคนไทย
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ไดอิชิฯก็จะส่งกรรมการเข้ามานั่งในบอร์ด 1 ราย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญบางส่วน ในขณะที่ไทยสมุทรฯก่อนหน้านี้ ก็เพิ่งปรับปรุงในส่วนของคณะกรรมการ ผู้บริหาร รวมถึงการรีแบรนดิ้ง เพื่อกำหนดแผนขยายกิจการในอนาคต
" ต่อไป ก็จะมีการออกสินค้าใหม่ๆ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ไอที เข้ามาซับพอร์ตด้านแบ็คออฟฟิศ จะมีวิธีสร้างโครงการอบรมพนักงาน ให้ความรู้พนักงาน มีนักคณิตศาสตร์ประภัย เข้ามาเชื่อมต่อในการให้บริการลูกค้า"
ดัยนา บุนนาค กรรมการผู้จัดการ ไทยสมุทรประกันชีวิต ยืนยันว่า ดีลนี้ ยังคงบริหารจัดการองค์กรโดยกลุ่มไทยสมุทรฯ ส่วนไดอิชิจะทำหน้าที่ เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ ถ่ายทอดประสบการณ์ ไอที และอมรมพนักงานในทุกเรื่อง
" เขาเข้มแข็งในตลาดโฮล์ดไลฟ์ หรือกรมธรรม์ประเภทตลอดชีพ และประกันสุขภาพ มีการพัฒนาสินค้าป้อนตลาดสังคมคนสูงอายุในญี่ปุ่นมาก่อน และในปี 2550 ก็มีกรมธรรม์ใหม่เป็นอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น"
ดัยนา คาดหวังว่า ไดอิชิฯ จะมีส่วนในการขยายฐานลูกค้าที่มีอยู่กว่า 1 ล้านกรมธรรม์ของไทยสมุทรฯให้แตกยอดเป็นรายบุคคล เพราะแต่ละคนก็มีความต้องการที่แตกต่าง ในขณะที่สินค้าประกันชีวิตก็ใกล้เคียงกับสินค้าทางการเงินมากขึ้นทุกที
ดังนั้น นอกจากพันธมิตรใหม่ ไดอิชิฯ จะไม่ใช่ "โน บอดี้" ในแวดวงอุตสาหกรรมประกันชีวิตระดับโลก ในอีกมุมหนึ่งไดอิชิฯ ก็ยอมรับว่า โดยภาพรวมต้องปรับตัวในระยะยาว การจะหวังผลเร็วคงไม่ได้
...." ดีลนี้ คงไม่ใช่ยาวิเศษระยะสั้น" แต่จะทำให้ไทยสมุทรฯมีช่องทาง ต่อยอดไปถึงประสบการณ์ของพันธมิตร เพื่อช่วยให้ธุรกิจขยายตัวใหญ่ขึ้น"
กีรติ สรุป ดีลประวัติศาสตร์ของครอบครัว "อัสสกุล" ดีลที่กำลังจะปิดฉาก ตำนาน "ตระกูลคนไทย" ในแวดวงธุรกิจประกันชีวิต ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นธุรกิจลูกครึ่ง ที่จำเป็นต้องลุกขึ้นต่อกรกับทุนนอก ท่ามกลางสมรภูมิสงคราม บนโลกไร้ตะเข็บชายแดน.....
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|