“สันติ พร้อมพัฒน์” เร่ขายฝัน ดันรถไฟฟ้าเข้าย่านชุมชน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 กรกฎาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

- เจ้ากระทรวงคมนาคม ขายฝันรอบใหม่ ตะลุยสร้างรถไฟฟ้าย่านชุมชน
- “ลาดพร้าว บางกะปิ เพชรบุรี เลียบคลองแสนแสบ” จ่อคิวลุ้นนั่ง“โมโนเรล”
- ค่ายผลิตรถไฟฟ้าแดนปลาดิบ จ้องตั้งฐานผลิตในไทย
- ขู่การเมืองไม่เปลี่ยน คนกรุงฯนั่งรถไฟฟ้ารอบเมืองใน 5 ปี

ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของแผนการลงทุนโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ที่ยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่า จะมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายแรกเมื่อไหร่ หลังจากที่รัฐบาลพยายามที่จะเร่งให้เกิดการก่อสร้างขึ้น แต่ต้องติดปัญหาต่าง ๆ มากมาย ทั้งจากภายในรัฐบาลเอง และปัจจัยภายนอกที่รุมเร้าจนทำให้โครงการไม่เกิดขึ้นเสียที ไม่ว่าจะเป็น การหาแหล่งเงินกู้ที่ในช่วงแรก รัฐบาลพยายามจะบอกว่า ต่างชาติสนใจปล่อยกู้หลายราย แต่พอถึงเวลาที่ต้องหาแหล่งวงเงินกู้ กลับไม่มีนักลงทุนกลุ่มไหนปล่อยกู้ จนทำให้แผนการลงทุนเลื่อนออกมาจนถึงวันนี้

แต่รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมก็ไม่หยุดนิ่ง พยายามที่จะเชื่อมต่อโครงข่ายระบบขนส่งเข้าด้วยกันให้มากที่สุด เพื่อให้การแก้ปัญหาจราจรครบวงจร ประชาชนเดินทางสะดวกและไม่จำเป็นต้องนำรถยนต์ส่วนตัวออกมาใช้ ทางกระทรวงคมนาคมจึงหาแนวทางแก้ปัญหาบริเวณชุมชนแออัด และไม่สามารถก่อสร้างรถไฟฟ้าได้ จึงจะก่อสร้างระบบเดินรถอีกแบบหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากรถไฟฟ้าที่เรารู้จักและคุ้นเคย นั่นคือรถไฟฟ้า “โมโนเรล” เป็นระบบรถไฟฟ้าอีกรูปแบบหนึ่ง มีข้อดีตรงที่ใช้งบลงทุนก่อสร้างน้อยกว่ารถไฟฟ้าใต้ดินถึง 3 เท่า ใช้เวลาก่อสร้างไม่นาน อีกทั้งยังสามารถก่อสร้างในเส้นทางที่คับแคบ ย่านชุมชนได้ แต่มีจุดเสียตรงที่สามารถขนผู้โดยสารได้น้อยเฉลี่ย 30,000-50,000 คนต่อวัน

สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลมีลักษณะพิเศษคือ สามารถก่อสร้างสถานีและโครงสร้างพื้นฐานบนถนนในเส้นทางที่มีช่องจราจรแคบ และการลงทุนยังถูกกว่าการก่อสร้างงานโยธาของระบบรถไฟฟ้าทั่วไป และระบบล้อของโมโนเรลก็ใช้ระบบล้อยางที่ก่อให้เกิดเสียงดังที่เป็นมลภาวะน้อยมาก ดังนั้น นอกจากแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้า 9 เส้นทางที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ กระทรวงคมนาคม จะมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปศึกษาเพิ่มเติมว่ามีถนนเส้นใดที่สามารถพัฒนาระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลได้บ้าง

ขณะนี้กระทรวงคมนาคมเห็นว่ามีถนนหลายสายที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์เหล่านี้ เช่น ถนนเพชรบุรี ถนนลาดพร้าว ถนนสุขุมวิท และเส้นทางเลียบคลองแสนแสบ ก็สามารถพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนาดเบาขึ้นได้ ซึ่งคาดว่าระบบดังกล่าวจะสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นไม่เกิน 5 ปี หากการเมืองยังไม่เปลี่ยนแปลง

“ระบบโครงการรถไฟฟ้าแบบโมโนเรลเป็นรถไฟฟ้าที่ก่อสร้างวิ่งอยู่บนคานเดียว ทำให้ประหยัดต้นทุนก่อสร้าง การลงทุนก่อสร้าง ใช้ต้นทุนประมาณ กม.ละ 600-800 ล้านบาท รองรับความจุของผู้โดยสารในเส้นทางประมาณวันละ 30,000-50,000 คน ขึ้นไป ทั้งนี้ ระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลของบริษัท โตเกียว โมโนเรล จำกัด ซึ่งวิ่งเชื่อมต่อระหว่างสถานี ฮามามัตสูโช ถึงท่าอากาศยานฮาเนดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ใช้เวลาวิ่งเพียง 18 นาที จากระยะทาง 17.8 กม.”

รฟม.เด้งรับ“โมโนโรล”

ประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวถึงการก่อสร้างโมโนเรลว่า หากรัฐบาลต้องการเร่งก่อสร้างรถไฟฟ้าในเส้นทางที่มีความคับแคบและมีชมชุนหนาแน่น ซึ่งเป็นอุปสรรคในการก่อสร้างนั้น ระบบโมโนเรลน่าจะเป็นทางออกที่ดี เพราะเป็นระบบที่ดี ทั้งนี้ ในกรุงเทพฯมีพื้นที่ที่มีชุมชนอาศัยหนาแน่นหลายแห่ง และเหมาะที่จะลงทุนระบบโมโนเรล เช่น บริเวณลานจอดรถสถานีลาดพร้าว-บางกะปิ และถนนเพชรบุรี เป็นต้น

“ข้อดีของโมโนเรลคือ ต้นทุนในการก่อสร้างถูกกว่ารถไฟฟ้าใต้ดินที่วิ่งอยู่ในปัจจุบันถึง 30% โดยค่าก่อสร้าง 600-800 ล้านบาทต่อกม.ในขณะที่การก่อสร้างรถไฟฟ้ายกระดับ จะใช้เงินลงทุน 1,100-1,200 ล้านบาทต่อกม.หรือรถไฟฟ้าใต้ดินที่ใช้เงินลงทุน 3,000 ล้านบาทต่อกม. และใช้เวลาก่อสร้างเพียง 2 ปีเท่านั้น ” ประภัสร์กล่าว

สำหรับความคืบหน้าเรื่องการกู้เงินกับธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(เจบิก)ในการขอกู้เงินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รวมถึงขอความเห็นของหน่วยงานที่สนใจให้กู้ระบบราง 9 สาย

ในขณะที่สายสีแดง(บางซื่อ-ตลิ่งชัน)ทางกระทรวงการคลัง โดยสำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)และเจบิกจะทำข้อตกลงในส่วนของรายละเอียดเงินกู้ ซึ่งทางเจบิกจะส่งทีมงานมาศึกษาการเชื่อมต่อ ความเป็นไปได้ของเงินลงทุน ซึ่งในวันที่ 30ส.ค.นี้จะมีการประชุมหารือของ 3 กระทรวงหลักของญี่ปุ่นที่จะพิจารณาในหลักการเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงคมนาคมได้แจ้งให้ทางเจบิกทราบถึงความพร้อมของสายสีแดงว่าได้ผ่านกระบวนการต่างๆเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการขอสิ่งแวดล้อมหรือ EIA เป็นต้น

นอกจากนี้ได้มีการหารือกับผู้ผลิตรถไฟฟ้า เพื่อเชิญชวนให้มาลงทุนในประเทศไทยซึ่งในอนาคตอาจจะมีการตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้า โดยผู้ว่ารฟม.กล่าวว่า ต้องการรับฟังความเห็นของผู้ผลิตรถไฟฟ้าที่จะเสนอตัวเข้ามาว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้าง เช่น รฟม.จะยืนยันได้หรือไม่ว่าหากผู้ผลิตรถไฟฟ้าผลิตรถ 300 ขบวนแล้วจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหากเปลี่ยนรัฐบาล เป็นต้น โดยผู้ผลิตรถไฟฟ้าที่แสดงความสนใจมีหลายบริษัท เช่น คาวาซากิ , มิซุบิชิ , นิปองซะเรียวอินดัสทรี, มิตาซิ อินดัสทรี และ ฟุจิ อินดัสทรี ซึ่งทั้ง 5 รายเป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้ารายใหญ่ของญี่ปุ่น

กระทรวงอุตฯเห็นด้วยสร้างโรงงานผลิต

ในขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นด้วยกับการก่อตั้งโครงงานผลิตรถไฟฟ้า โดยใช้อุปกรณ์และชิ้นส่วนในประเทศ ขณะที่ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมที่จะผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนป้อนให้แก่โรงงานประกอบรถไฟฟ้าได้ เช่น ระบบปรับอากาศ กระจก ที่นั่ง ราวจับ ฉนวนกันความร้อน ยางปูพื้น โคมไฟในตัวรถ ผนัง เพดาน ยกเว้นระบบควบคุมหลักเดินรถที่ต้องซื้อจากต่างประเทศ โดยมีผู้ผลิตรถไฟฟ้าต่างชาติหลายรายสนใจเข้ามาตั้งโรงงานในไทย เช่น ซีเมนส์ บอม บาร์ดิเยร์ เพราะเห็นว่าไทยมีความต้องการรถไฟฟ้าจำนวน 324 ขบวน แบ่งเป็นสายสีม่วง 126 ขบวน สายสีน้ำเงิน 84 ขบวน สายสีเขียว 84 ขบวน สายสีแดง 30 ขบวน จำนวนรถไฟฟ้าดังกล่าวเพียงพอต่อการตั้งโรงงานประกอบภายในประเทศ ซึ่งดร.ขัติยา ไกรกาญจน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ผู้ประกอบการทุกกลุ่มสนับสนุนการตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าภายในไทย รวมทั้งสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถไฟฟ้าในภูมิภาคเพื่อส่งออกไปประเทศใกล้เคียง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง โดย ส.อ.ท.จะส่งหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อแจ้งว่าเอกชนสนับสนุนโครงการดังกล่าว

ปี 52 กู้สร้างรถไฟฟ้า 8 หมื่นลบ.

ด้านพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า เจบิก มีความพร้อมที่จะปล่อยกู้เพิ่มในส่วนของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในสายสีม่วง(บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ ) อีก 4,000 -5,000 ล้านบาท จากวงเงินกู้เดิม 32,000 ล้านบาท และไทยได้รับวงเงินก้อนแรก 18,000 ล้านบาท ซึ่งการเพิ่มวงเงินกู้นี้ ก็เป็นไปตามข้อเท็จจริง ที่ต้นทุนในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ประสบปัญหาต้นทุนก่อสร้างสูงขึ้น ทั้งจากราคาน้ำมันและวัสดุก่อสร้าง ส่วนโครงการรถไฟฟ้าที่คาดว่า จะได้รับเงินกู้จากเจบิก เพื่อใช้ดำเนินการต่อไป คือรถไฟฟ้าสายสีแดง (รังสิต-บางซื่อ)และสายสีน้ำเงิน วงเงินกู้ประมาณ 80,000 ล้านบาท แบ่งการปล่อยกู้เป็นงวดๆละ 20,000 ล้านบาท ในส่วนของสายสีน้ำเงิน สำหรับสายสีแดง บางซื่อ –ตลิ่งชันนั้น ในวันที่ 30 ก.ค.นี้คงต้องรอให้ทางญี่ปุ่น โดย 3 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลังและกระทรวงนิติ มีการประชุมหารือข้อสรุปก่อนว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน โดยสายสีแดงจะใช้วงเงินกู้เท่าไหร่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.