สงครามชิงเจ้าตลาด “ราเมน”


ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 กรกฎาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

กระแสสุขภาพขับเคลื่อน อาหารญี่ปุ่นราเมน ร้อนฉ่า แบรนด์นอก แบรนด์ ในประเทศ บุกตลาด ช่วงชิงลูกค้า จากจุดเริ่มต้น นับหนึ่งในยกแรก จับตา ใครจะเป็นเบอร์หนึ่งของตลาด

กระแสการแข่งขันในสมรภูมิ “ราเมน” (Ramen) ร้านบะหมี่สไตล์ญี่ปุ่นกำลังร้อนแรงขึ้นทุกขณะ เมื่อค่ายน้องใหม่จากนอกวงการอาหาร และค่ายเก่าในวงการต่างพาเหรดเข้ามายึดพื้นที่ในช่องทางต่างๆ ทั้งในห้างสรรพสินค้า และสแตนอโลน เพื่อตอบรับโอกาสทางการตลาดที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภครุ่นใหม่ ซึ่งการกระโจนเข้ามาในตลาด “ราเมน” ของผู้เล่นในตลาด Food& Restaurant อย่างโออิชิ และฮอทพอท ก็หวังที่จะรองรับกับการทำตลาดสินค้าอาหารญี่ปุ่นที่ทำเป็น Mass Product ซึ่งเป็นสูตรสำเร็จของการทำตลาดร้านอาหาร

ความนิยมร้านบะหมี่ญี่ปุ่นที่เรียกว่า “ราเมน” ที่มาตามกระแส J Trend ที่เป็นกระแสตามยุคสมัย ทำให้เกิดการต่อสู้ที่ดุเดือดของบรรดาร้านบะหมี่ญี่ปุ่น ทั้งแบรนด์นอก และแบรนด์ในประเทศ เปิดเกมรุกในธุรกิจร้านอาหารราเมนกันอย่างเต็มรูปแบบ จากจุดเริ่มต้นในช่วงปี 2545 ที่มีการแข่งขันกันระหว่าง 3 แบรนด์ดังคือ “ฮะจิบัง ราเมน”ตามมาด้วย “อาจิเซน ราเมน” 2 แบรนด์นำเข้าจากญี่ปุ่น และแบรนด์ไทยชื่อญี่ปุ่นอย่าง “โออิชิ ราเมน” เริ่มเปิดฉากเข้ามาเปิดตลาดที่ต้องสร้างกระแสให้ผู้บริโภคคนไทยคุ้นเคยกับเมนูอาหารญี่ปุ่นที่เป็น “ราเมน” โดยการแข่งขันในยุคแรกของการแข่งขันของร้านอาหารราเมน จะอาศัยจุดแข็งของรสชาติราเมนญี่ปุ่นขนานแท้ และราคาสินค้าที่ถูกกว่า ร้านราเมนระดับบนที่จับกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่น

มาถึงวันนี้เมื่อกระแสการตอบรับการบริโภคอาหารญี่ปุ่นจากผู้บริโภคสมัยใหม่ทำให้พฤติกรรมการกินอาหารญี่ปุ่นในวันนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาของคนไทย และการท้ารบกันของ 3 แบรนด์หลัก ณ วันนี้ ได้มาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะเริ่มจะมีร้านราเมนแบรนด์ใหม่ๆเข้ามาร่วมแข่งขันในสมรภูมิร้านราเมนที่กำลังมาแรง

สภาพการแข่งขันในตลาดราเมนที่เปลี่ยนไป เพราะแต่ละแบรนด์ที่เข้ามาเปิดแนวรุกในตลาดราเมนนั้น จะมีการวางตำแหน่งทางการตลาด แบ่งพื้นที่ตลาดกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นตลาดระดับไฮเอนด์ ระดับแมส หรือกลุ่มเป้าหมายที่มีทั้งลูกค้าคนไทย และชาวต่างชาติ

การเข้ามาท้ารบของบรรดาแบรนด์ใหม่ จากประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามาทำตลาดในบ้านเรานั้น เริ่มตั้งแถวเข้ามาเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นราเมนระดับพรีเมียมคือร้าน “ยามาโกย่า" ราเมนรสต้นตำรับขนานแท้ จากประเทศญี่ปุ่น ที่เลือกเอาสมรภูมิในพื้นที่ซอยทองหล่อ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่จำนวนมาก เปิดให้บริการร้านในรูปแบบร้านสแตนด์ อโลนในพื้นที่นี้ประเดิมตลาด พร้อมกลยุทธ์รุกตลาด บะหมี่ญี่ปุ่นในไทย ชูจุดขายความเป็นต้นตำรับจากญี่ปุ่นขนานแท้

เมื่อเร็วๆนี้ ร้าน “ยามาโกย่า"ที่จากเดิมทำตลาดราเมนระดับพรีเมียม มีการต่อยอดมาเปิดอีก 2 แบรนด์จับตลาดระดับแมสคือ “บังคารา ราเมน”และ “เซ เบะ”อีกทั้งเมื่อปีที่ผ่านมา ชิบูย่า (Shibuya) ร้านราเมนแบรนด์ดังจากญี่ปุ่น วางตำแหน่งจับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอายุ 20-35 ปี ที่ตกแต่งร้านในแนวโมเดิร์น ก็ปูทางเข้ามาเปิดสาขาแรกเพื่อจะขยายสาขาในอนาคต

นับว่าการเข้ามาของบรรดาร้านราเมนแบรนด์นอกที่เข้ามาเปิดแนวรุกโดยมุ่งตรงไปในตลาดระดับแมสนั้น เป็นการสั่นสะเทือนบัลลังก์ของ 2 ผู้นำในตลาดร้านราเมน ไม่ว่าจะเป็น “ฮะจิบัง ราเมน” แบรนด์ญี่ปุ่นที่มีมีโลโก้ตามชื่อถนนสายเลข 8 ในญี่ปุ่น ซึ่งด้วยความเป็นแบรนด์ต้นตำรับที่เข้ามานำร่องตลาดก่อน ถือว่าเป็นจุดแข็งที่จะรับมือกับการเข้ามาของแบรนด์ญี่ปุ่นด้วยกันได้ไม่ยาก

ขณะที่“โออิชิ ราเมน” ราเมนรสชาติไทยสไตล์ญี่ปุ่น เน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายผู้บริโภคคนไทยคือ วัยรุ่น-นักศึกษา และวัยทำงาน และวางตำแหน่งตลาดมาเป็น ร้านอาหารแนวคิดญี่ปุ่น แต่รสชาติแบบไทย ที่สร้างจุดขายให้โดดเด่นด้วยเมนูไทยๆ อย่าง “ราเมนกระเพราะหมู” ซึ่งเป็นสูตรอาหารที่ผสมผสานคาบกันระหว่างเส้นราเมนญี่ปุ่น และอาหารไทย ภายใต้กลยุทธ์ “Cross fusion” แถมพ่วงด้วยกลยุทธ์ “ราคา” ที่มีทั้งการวางราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 59-180 บาท ต่อชามและสำหรับอาหารชุด และการทำแคมเปญกิจกรรมส่งเสริมการขาย ตามสไตล์การทำตลาดของค่ายนี้ที่มักมีไม้เด็ดออกมาเพื่อมัดใจลูกค้าเก่า อีกทั้งกระตุ้นตลาดให้กลุ่มลูกค้าใหม่ได้มีโอกาสมาลิ้มลองรสชาติ โออิชิ ราเมน

โออิชิ ราเมน ใช้สูตรสำเร็จในการทำตลาดรูปแบบเดียวกับโออิชิ บุฟเฟ่ต์ นั่นคือ Positioning ตัวเองไว้ที่ตลาดบน เฉลี่ยราคาการรับประทานต่อคนประมาณ 120 บาท ขึ้นไป ขณะที่ร้านราเมนทั่วๆ ไปจะมีราคาค่ารับประทานเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 100 บาท โดยมีจุดขายในเรื่องของน้ำซุป เส้น และความหลากหลายของเมนู ซึ่งอันหลังนี้เป็นจุดขายเดียวกันกับการทำตลาดของโออิชิ บุฟเฟ่ต์ การแตก Subbrand เป็นโออิชินั้น ทำให้การทำตลาดง่ายขึ้น เพราะประการแรก ไม่ต้องมีการสร้าง Brand ใหม่ และ ประการที่สอง ยังสามารถได้ลูกค้าเดิมจากร้านโออิชิบุฟเฟ่ต์เข้ามาสนับสนุนด้วย

เรียกว่า จุดแข็งของโออิชิ ราเมน ร้านราเมนสายพันธุ์ไทยแบรนด์นี้ ได้แรงสนับสนุนจากความเป็นผู้นำตลาดในร้านอาหารญี่ปุ่น ที่มีครัวกลางวางระบบการจัดการวัตถุดิบภายใต้กลุ่ม โออิชิ กรุ๊ป เข้ามาเพิ่มศักยภาพในการจะต่อกรกับแบรนด์นำเข้าได้เป็นอย่างดี

แนวรบชิงลูกค้าในสมรภูมิราเมน

จากข้อจำกัดของอาหารญี่ปุ่นที่มีราคาแพง ทำให้ความนิยมอยู่ในวงจำกัดเฉพาะกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง ทว่าข้อจำกัดทางด้านราคาที่ลดลง ประกอบกับกระแสสุขภาพที่กำลังมาแรงเป็นตัวขับเคลื่อนทำให้พฤติกรรมการรับประทานอาหารญี่ปุ่นที่ชูแนวคิด “ไขมันต่ำและเพื่อสุขภาพ”ทำให้พฤติกรรมบริโภคอาหารญี่ปุ่นได้รับความนิยมแพร่หลาย ในกลุ่มผู้บริโภคคนไทยมากขึ้น

ปัจจุบันมีร้านอาหารญี่ปุ่นให้เลือกหลาย ซึ่งมีทั้งระดับราคาสูง ราคาประหยัดที่วางตำแหน่งจับกลุ่มเป้าหมายคนทั่วไป ตลอดจนเมนูอาหารญี่ปุ่นทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเมนูปลาดิบ หรือ ซูชิ ข้าวปั้นต่างๆ ที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และทำให้ประเทศไทยติด 1 ใน 5 บริโภคอาหารญี่ปุ่น ที่พัฒนามาถึงกระแสความนิยม “บะหมี่ราเมน” ที่จัดว่าเป็นอีกหนึ่งเมนูบะหมี่ของญี่ปุ่น

บรรดาเจ้าของแฟรนไชส์ร้านราเมนจากญี่ปุ่น หันหัวเรือเข้ามาปักธงในในประเทศไทย เนื่องจากตลาดราเมนในประเทศญี่ปุ่นเริ่มอิ่มตัว ขณะเดียวกันก็มองเห็นโอกาสตลาดในประเทศไทยที่มีศักยภาพจากกระแสความนิยมอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยได้ขยายตัวมากขึ้น รวมถึงเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น ที่เกิดขึ้น

แม้ว่าจะไม่มีตัวเลขที่แน่นอนของขนาดตลาดอาหารญี่ปุ่นก็ตาม แต่หากคิดจากรายได้รวมของ กลุ่มร้านโออิชิ ในปีที่ผ่านมามีรายได้ประมาณ 2.5 พันล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในปีนี้จะมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 7 พันล้านบาท ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 15% นับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจและไม่น้อยหน้าตลาดชาเขียวพร้อมดื่มที่มีมูลค่าประมาณ 5-6 พันล้านบาท เหตุผลดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการวางแนวทางการของโออิชิกรุ๊ป ที่มีนโยบายจะเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ใหม่ๆ ซึ่งถือว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญเพื่อจะปกป้องตำแหน่งความเป็นผู้นำร้านอาหารญี่ปุ่นของค่ายนี้

อย่างไรก็ตามนอกจากมี “ฮะจิบัง ราเมน”เป็นแบรนด์หลักในตลาด ทว่าการเข้ามาเล่นในตลาดของ “โออิชิ กรุ๊ป” ซึ่งเป็นผู้สร้างตำนานร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ไทยนั้น อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จุดประกายให้การแข่งขันในตลาดราเมนเริ่มร้อนฉ่าขึ้นก็เป็นได้ ยิ่งกว่านั้นอาจเป็นการส่งสัญญาณทางอ้อมที่ทำให้บรรดาราเมนแบรนด์ไทย แบรนด์นอก เริ่มขยับเข้ามาเพื่อหาช่องว่างปักธงในตลาดรามเน ที่แนวโน้มดูจะรุ่งไม่แพ้ พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ เมนูอาหารจากฝั่งตะวันตก

แนวโน้มการตอบที่ดีของคนไทยที่นิยม บะหมี่ราเมน ทำให้อัตราการเติบโตใน 5 เดือนแรกที่ผ่านมาของ ร้านโออิชิ ราเมน เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% อีกทั้งปัจจุบันจำนวนสาขา โออิชิ ราเมน ที่เปิดให้บริการมีมากถึง 25 สาขา โดยวางแผนการขยายสาขาในปีนี้จะเปิดสาขาใหม่มากกว่า 5 แห่ง

ท่ามกลางความเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาด “ราเมน” ทำให้ค่ายฮอทพอท ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการขยายตัวในทุกเซกเมนต์ ด้วยการแตก “ซับแบรนด์” จับตลาดที่แตกต่างกันออกไป เช่น Prestige จับลูกค้าระดับบน ฮอทพอท จับตลาดแมส แต่เน้นกลุ่มลูกค้าที่นิยมบริโภคอาหารประเภทชาบู ชาบู โดยเน้นการให้บริการแบบบุฟเฟ่ต์ ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร และจากความสำเร็จนี้ทำให้ค่ายนี้มี “กระสุน” มากพอที่จะขยายมาเล่นในตลาดราเมนที่แม้จะมีผู้เล่นจากค่ายอื่นๆลงเล่นอยู่แล้วก็ตาม แต่การลงตลาดของค่ายฮอทพอทอาจจะอาศัยโมเดลการรุกตลาดคล้ายๆกับโออิชิ นั่นคือ การแตกเป็นซับแบรนด์ “ฮอทพอท ราเมน” เข้าสู่ตลาดเพื่อประหยัดในการสร้างแบรนด์ โดยความหลากหลายของเมนูก็เป็นจุดขายของฮอทพอท ราเมน เช่นเดียวกันแบรนด์อื่นๆ เพียงแต่ฮอทพอท ราเมน จะสร้างประสบการณ์ในการกินราเมนใหม่ ด้วยการเสิร์ฟราเมนพร้อมหม้อร้อนที่มีน้ำซุป เส้น และเครื่องมาให้เลือก

หากจับกระแสการเคลื่อนไหวของร้านอาหารญี่ปุ่นกลุ่ม “ราเมน” ในช่วงครึ่งปีนั้น จะมีทั้งรายใหม่ และรายเดิมที่กำลังเริ่มเดินเกมในสเต็ปที่ 2 ด้วยแนวทางการขยายสาขาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยภาพรวมตลาดของร้านอาหารราเมน ยังมีจำนวนผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย โดยเฉพาะช่องว่างโอกาสทางการทำตลาดในตลาดราเมนระดับบน ที่มุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนไทย เรียกว่า ยังมีจำนวนผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย

ที่ผ่านมีการเคลื่อนไหวในตลาดทั้ง ผู้เล่นที่รายใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้น เปิดร้านใหม่ เป็นสาขาแรก และรายเดิมที่ ร้านมีชื่อได้รับความนิยมแล้วและกำลังเข้าสู่ระยะที่ 2 คือการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการเลือกทำเลเปิดร้านตามกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ที่มีทั้งร้านในรูปแบบสแตนด์ อโลน และในห้างสรรพสินค้า

รายใหม่ที่เพิ่งจะเข้ามาตะลุยในตลาดร้านราเมน เมื่อเร็วๆนี้ กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ บริษัท สยามวินด์-ธารา ที่เทงบกว่า 15 ล้านบาท เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ร้านอาหาร 2 แบรนด์ดังคือ “บังคารา ราเมน”และ “เซ เบะ”จากบริษัท ฮานาเก็น ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาเล่นในตลาดระดับบน โดยเฉพาะ “บังคารา ราเมน”แบรนด์ยอดนิยมในหมู่วัยรุ่นญี่ปุ่น วางตำแหน่งเป็นร้านราเมนที่จับกลุ่มลูกค้าระดับไฮเอนด์ ด้วยสนนราคาเริ่มต้นที่ 160-300 บาทต่อชาม เน้นกลุ่มลูกค้าคนไทยสัดส่วน 50% และต่างชาติ 50% จากเดิมลูกค้าเป็นญี่ปุ่นประมาณ 70% และคนไทย 30% โดยเปิดสาขาแรกที่สุขุมวิท 39 พร้อมตั้งเป้าภายใน 2 ปีจะขยายสาขา 3-4 แห่ง และอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีสาขา 15 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อปีที่ผ่านมา ชิบูย่า (Shibuya) ร้านราเมนแบรดน์ดังจากญี่ปุ่น วางตำแหน่งจับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอายุ 20-35 ปี ด้วยการตกแต่งร้านในแนวโมเดิร์น โดยเปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้าเอสพลานาด พร้อมจุดขายสำคัญคือ "ราเมนเส้นสดที่ผลิตวันต่อวัน " และมีการปรับรสชาติให้ถูกปากคนไทย

ศึกบะหมี่ราเมน เบียร์สิงห์ vs เบียร์ช้าง

นับว่า ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของบรรดาร้านราเมนที่แข่งกันเปิดให้บริการครั้งนี้ ถือว่าไม่ธรรมดา ถ้าหากโฟกัสไปที่การแตกธุรกิจมาจับตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นของค่ายเบียร์แบรนด์ดัง 2 ยักษ์ใหญ่คือ เบียร์ช้างและเบียร์สิงห์

เพราะขณะที่ เบียร์ช้าง เดินทางลัดเข้ามาในวงการนี้ จากการซื้อหุ้นโออิชิกรุ๊ปมาไว้เป็นหน้าร้านและช่องทางขายสินค้าสำหรับเครื่องดื่มแอลกกอฮอล์และนอนแอลกกฮอล์ในเครือไทยเบฟเวอเรจ ทางฟากเบียร์สิงห์เอง ก็เริ่มขยับเข้ามาในวงการร้านอาหารญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน โดยการนำเข้าร้านราเมนแบรนด์เนมใหม่ๆที่มีมากกว่า 1 แบรนด์

ดูเหมือนว่าก้าวแรกที่สยายปีกเข้ามาทำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น กลุ่มราเมนของค่ายเบียร์สิงห์ก็ไม่ได้เริ่มต้นมาจากการนับหนึ่ง แต่ใช้ทางลัดด้วยการจับมือกับ 2 บริษัท ซึ่ง 1 ในนั้นเป็นบริษัทญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญในการทำตลาดราเมนเป็นอย่างดี โดยเป็นการจับมือกันระหว่าง 3 บริษัทคือ ยามาโกย่ายักษ์ใหญ่ราเมนญี่ปุ่น ค่ายเบียร์สิงห์ และพาราวินเซอร์

ที่สำคัญการแตกธุรกิจใหม่ขึ้นมาเพิ่มเติมจากวงการเครื่องดื่ม ด้วยรูปแบบร้านอาหารญี่ปุ่นราเมน ถือว่าเป็นการมองเกมไปไกลในอนาคต ที่มากกว่าการสร้างรายได้ และน่าจะเป็นการขยายแนวรุกที่ดีด้านช่องทางจำหน่ายเครื่องดื่มในเครือสิงห์คอร์เปอเรชั่น และวางเกมเพื่อเสริมความแข็งแกร่งรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต

จุดเริ่มต้นดังกล่าวเริ่มเมื่อปี 2549 เปิดร้านอาหารราเมน “ยามาโกย่า”ที่ซอยทองหล่อ13 ของหัวเรือใหญ่ค่ายเบียร์สิงห์คือ สันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ ทำธุรกิจส่วนตัวโดยเป็นการร่วมทุนกันระหว่าง บริษัท กัสตรอนมอนเม่อ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของพาราวินเซอร์ กับบริษัท วายเอส ฟู๊ด ซึ่งเป็นเจ้าของร้าน “ยามาโกย่า” ราเมนแบรนด์ดังที่มีสาขามากถึง 175 แห่งในประเทศญี่ปุ่น

หลังจากเข้ามาเปิดร้านสาขาแรกในประเทศไทย 1 ปี เรียกว่า เป็นช่วงเวลาของการทดลองตลาด และปูทางเพื่อจะเข้ามาปักธง มาถึงวันนี้ “ยามาโกย่า” ได้มองเห็นโอกาสการเติบโตของร้านอาหารญี่ปุ่นที่ยังมีแนวโน้มเติบโตที่ดี โดยเริ่มเปิดฉากเข้ามาในตลาดราเมนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นร้านราเมนแบรนด์ใหม่ๆ เพื่อเข้ามาร่วมช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดราเมนที่กำลังได้รับความนิยม และครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกระดับ

จากเดิมที่เปิดร้านราเมนแห่งแรกคือ“ยามาโกย่า”จะเน้นกลุ่มเป้าหมายระดับบน แบ่งออกเป็นสัดส่วนลูกค้าชาวไทย 50% และลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่าศัยในไทย สัดส่วน 50% เน้นจุดเด่นเรื่องรสชาติดั่งเดิมแบบญี่ปุ่น ที่วัตถุดิบที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูง ทำให้สนนราคาสูงกว่าราเมนทั่วไปเท่าตัวเริ่มต้นที่ 150-180บาทต่อเมนู ล่าสุดได้เปิดร้านราเมนไฟติงแบรนด์ “บาซารากา ราเมน” จับกลุ่มเป้าหมายเด็กนักเรียน นักศึกษา กลุ่มวัยรุ่น และคนทำงาน โดยวางตำแหน่งเป็นร้านอาหารราเมน ที่เข้ามาชนกับ ร้านฮะจิบัง ราเมน ขาใหญ่ราเมนที่เข้ามาเปิดตลาดก่อนใคร โดยหลังจากเปิดสาขาแรกที่อาคารวรรสรณ์ บริเวณสี่แยกพญาไท วางแผนจะเปิดสาขาเพิ่มอีกในเมเจอร์ รัชโยธิน และสาขาจามจุรีสแควร์ สำหรับ“บาซารากา ราเมน” ถือว่าเป็นเป็นแบรนด์ที่ 2 ที่ได้รับสิทธิการบริหารต่อจากแบรนด์ยามาโกย่า ราเมน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.