มือเชื่อมสะพานการค้าไทย - ฮ่องกง


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ยี่สิบปีก่อน การค้าส่งออกของไทยอยู่ในมือของพ่อค้าเพียงไม่กี่คน ส่วนใหญ่เป็นพวกพ่อค้าสินค้าเกษตรทีมีสำนักงานตั้งมั่นอยู่ในย่านคนจีนแถว ๆ ทรงวาด เสือป่าและอนุวงษ์

พูดอย่างไม่อายก็คือพ่อค้าส่วนใหญ่เวลานั้นทำการค้าในประเทศเป็นกิจลักษณะ ถ้าจะมีการส่งออก ก็จะส่งผ่านคนกลางที่เป็นบริษัทส่งออก

เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากพ่อค้าไม่มีความรู้และความชำนาญในตลาดการค้าต่างประเทศดีเพียงพอ จึงไม่กล้าเสี่ยงที่จะเปิดการค้าขายกับผู้ซื้อที่อยู่ห่างไกล ที่มีความแตกต่างในระเบียบและประเพณีทางการค้า

ข้อจำกัดของพ่อค้าไทยส่วนใหญ่ จึงเปิดช่องทางให้พ่อค้าผู้ส่งออกจากต่างประเทศเข้ามาดำเนินธุรกิจรับเป็นนายหน้าตัวแทนส่งออกให้

ทอมมี่ ยัง หนุ่มซินตั้งจากฮ่องกงเป็นคนหนึ่งที่เข้ามาในเมืองไทยสมัยนั้น เพื่ออาสารับเป็นนายหน้าส่งออกให้ผู้ผลิตคนไทย

ตลอด 20 ปี ทอมมี่เขียนนิยายให้ตัวเองอย่างน่าพิสดาร วันนี้เขามีลูกค้านับพันรายทั่วโลกอยู่ในมือมียอดขายสินค้าหลากหลายชนิด ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทยไปจนถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผ่านกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ตามมาตรฐานโลก

"ยอดขายส่งออกปีที่แล้ว ประมาณ 150 ล้านบาท" เขาพูดถึงยอดการส่งออกของบริษัทในกลุ่มของเขา กลุ่มบริษัทส่งออกของทอมมี่ มี 3 บริษัทจัดแยกกันตามประเภทของสินค้าบริษัทไทยเทรดเซ็นเตอร์เป็นบริษัทแม่ที่ส่งออกสินค้าทุกชนิดขณะที่บริษัท แพนแปซิฟิคสตาร์ส่งออกเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป ส่วน บริษัท แอนดูร (ประเทศไทย) ส่งออกเฉพาะรองเท้า

"คิดย้อนหลังไปจุดเริ่มต้น มันลำบากมาก กว่าจะมาอยู่ในจุดนี้ที่มีลูกค้ายักษ์ใหญ่ห้างสรรพสินค้าในอเมริกาอย่างโรสสโตร์และในอังกฤษอย่างวูลเวิร์ทเป็นคู้ค้าของเรา" ทอมมี่พูดถึงตลาดสินค้าไทยที่เขาบุกเบิกมาเกือบ 20 ปี

การเริ่มธุรกิจของทอมมี่เขาประสบปัญหาว่า จะหาสินค้าจากมเองไทยอะไรดีที่สามารถส่งขายต่างประเทศ ในขณะที่ผู้ผลิตคนไทยไม่รู้เรื่องมาตรฐานสินค้า รสนิยม และการบรรจุหีบห่อของผู้ซื้อในต่างประเทศเลย

"มันต่างกับฮ่องกงมากที่นั่นมีบริษัทนายหน้าส่งออกมากนับพันบริษัทที่คอยป้อนคำแนะนำเกี่ยวกับสเปคสินค้า และรสนิยมตลาดของผู้ซื้อต่างประเทศให้ผู้ผลิตทราบ เพื่อผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด" ทอมมี่พูดถึงความก้าวหน้าการค้าส่งออกของฮ่องกงเมื่อเทียบกับไทยในสมัยเกือบ 20 ปีก่อน

การค้นหาสินค้าเพื่อนำมาส่งออก ทอมมี่ต้องลงทุนขึ้นเหนือไปเชียงใหม่ ไปพบกับผู้ผลิตท้องถิ่น "ผมพบดอกต้นสนทิ้งเกลื่อนกราดอยู่บนพื้นดินอย่างไรค่า ผมไปอเมริกามาหลายครั้งสมัยอยู่บริษัทค่าเธ่ย์แปซิฟิค ทำให้รู้ว่าดอกต้นสนสามารถนำมาใช้เป็นดอกไม้ประดับบนต้นคริสต์มาสเพียงนำมามันมาทาสีใหม่" ทอมมี่เล่าให้ฟังถึงไอเดียวหาสินค้าไทยขายส่งออกนอกสมัยเมื่อเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ

เขาเอาดอกต้นสนที่ทิ้งเกลื่อนกราดตามพื้นดิน มาอธิบายให้ชาวบ้านผู้ผลิตฟังมันเหลือเชื่อจริง ๆ เมื่อดอกต้นสนสามารถทำยอดขายให้เขาปีละนับสิบล้านบาท

การทำธุรกิจส่งออกไม่ใช้เรื่องยาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนเข้ามาทำธุรกิจนี้แล้วจะประสบผลสำเร็จทุกคนเสมอไป การเดินทางต่างประเทศเพื่อติดตามรสนิยมของตลาดอย่างใกล้ชิดพร้อม ๆ กับ ความสามารถในการถ่ายทอดให้ผู้ผลิตของคุณให้สามารถผลิตสินค้าตามที่ต้องการได้ภายใต้เงื่อนไขตามเวลาที่กำหนดและความซื่อสัตย์ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับบริษัทนายหน้าส่งออก

"ผมต้องเดินทางต่างประเทศเพื่อพบปะลูกค้าและดูตลาดสินค้าถึงปีละเฉลี่ย 6 เดือน" ทอมมี่พูดถึงจำนวนเวลาการอยู่ต่างประเทศของเขา

ตลอดเกือบ 20 ปีของการทำธุรกิจนายหน้าส่งออกในเมืองไทย ทอมมี่มีสินค้าในพอร์ตที่ต้องส่งออกทั่วโลกนับร้อยรายการมีตั้งแต่สินค้าอุปโภคที่ใช้กับร่างกายเช่นรองเท้าเครื่องประดับ เสื้อผ้าไปจนถึงของใช้ในครัวเรือนเช่นเฟอร์นิเจอร์ ของใช้บนโต๊ะอาหาร

ทอมมี่ได้กล่าวว่า การส่งออกเป็นหัวใจของกระบวนการสร้างสรรค์การผลิตและการกระจายรายได้สู่กลุ่คนต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง ปัญหาของเมืองไทยจากประสบการณ์ของเขาอยู่ที่ยังขาดบริษัทนายหน้าส่งออกที่มีความรู้ความสามารถในการส่งออกอย่างแท้จริง จุดนี้ทำให้ขากลไกการดึงเอาภาคการผลิตขนาดเล็กที่อยู่ตามต่างจังหวัดจำนวนมาก เข้าสู่ตลาดโลกที่กว้างใหญ่และมีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อดำรงชีวิตประจำวันอย่างไม่มีขีดจำกัด

"การส่งออกขนาดใหญ่ที่ทำกันอยู่ ส่วนใหญ่บริษัทแม่เป็นคนผลิตแล้วส่งผ่านบริษัทลูกให้ทำการส่งออกอีกต่อหนึ่ง" ทอมมี่เล่าให้ฟังถึงรูปแบบการส่งออกของภาคการผลิตขนาดใหญ่ที่อยู่ในกรุงเทพฯและเขตปริมณฑล

ความที่อยู่เมืองไทยมานานนับ 2 ทศวรรษทำให้ทอมมี่กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญการส่งออกคนหนึ่งที่มคความรู้ตลาดการผลิตเมืองไทยดี "นักธุรกิจฮ่องกงที่ต้องการเข้ามาลงุทนหรือติดต่อหาพาร์มเนอร์ไทยจะผ่านมาที่ผมให้เป็นตัวเชื่อมให้" ทอมมี่พูดถึงบทบาทของตัวเขาเองในการเป็นสะพานที่เชื่อมการค้าและการลงทุนระหว่างฮ่องกงและไทย

สายสัมพันธ์ของทอมมี่กับนักธุรกิจฮ่องกงลึกและกว้างขวางมาก ความสำเร็จของการร่วมลงทุนโครงการผลิตพีซีบีระหว่างเขา บริษัทสหพัฒน์และบริษัทพีซีบีฮ่องกงในนามบริษัทพีซีบีประเทศไทย ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อผลิตพีซีบีส่งออกไปต่างประเทศ ก็เกิดขึ้นจากการสร้างคอนเน็กชั่นของเขา

"ผมรู้จักกับ JIM LOX ดีเขาต้องการขยายฐานการลงทุนพีซีบีมาที่ไทยและต้องการพาร์ทเนอร์ ผมพอจะรู้จักกับผู้ใหญ่ในสหพัฒน์ก็เอาโครงการนี้ไปคุยกับคุณบุณยสิทธิ์" ทอมมี่พูดถึงเบื้องหลังการเกิดพีซีบีประเทศไทย

เช่นเดียวกัน การเกิดธุรกิจรับจ้างผลิตเสื้อผ้าวัยรุ่นยี่ห้อบอสสินี่เพื่อส่งออกไปให้เครือข่ายของ LAWS INTERNATIONAL ในฮ่องกงและไต้หวัน ก็มาจากสายสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมของทอมมี่กับมิสเตอร์เฮนรี่ ลอร์

เฮนรี่ ลอร์ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เสื้อผ้ายี่ห้อบอสสินี่ (BOSSINI) เฮนรี่มีบริาทชื่อลอร์อินเตอร์เนชั่นแนลในฮ่องกงเขาเป็นเพื่อนรักของทอมมี่มาก่อน เมื่อทอมมี่ต้องการนำยี่ห้อบอสสินี่มาเปิดตลาดที่กรุงเทพฯ เฮนรี่จึงขายลิขสิทธิ์ให้ทอมมี่ขณะเดียวกันเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น เฮนรี่ก็จ้างให้ทอมมี่ผลิตเสื้อผ้าบอสสินี่ในกรุงเทพเพื่อส่งออกไปยังเครือข่ายของเฮนรี่ในฮ่องกงและไต้หวัน

การทำธุรกิจต่างประเทศการพลวัตรอย่างรวดเร็วต่อการรับสิ่งใหม่ ๆ ปัจจัย 2 ประการนี้มักเป็นบุคลิกภาพของนักธุรกิจที่ฝังตัวอยู่ในตลาด ที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าของโลกทุกแห่งและด้วยปัจจัยที่เหมือนกันนี้ก็สะท้อนออกมาในวิถีการทำธุรกิจของทอมมี่ด้วย

จากการเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ทอมมี่กล่าวว่า เขากำลังลงทุนสร้างธุรกิจอีกประเภทหนึ่งที่ไม่มีอะไรสอดสัมพันธ์หรือเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักการค้าส่งออกของเขาเลย

"คือผมไปต่างประเทศทุกแห่งไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น นิวยอร์ก ฮ่องกง จะเห็นสื่อโฆษณาบนพาหนะวิ่งบนถนนในเมือง" ทอมมี่พูดถึงที่มาของการลงทุนเปิดธุรกิจบริการป้ายโฆษณาเคลื่อนที่ในกรุงเทพเป็นเจ้าแรกในเมืองไทย

สื่อป้ายโฆษณาในกรุงเทพทั้งหมดจะติดอยู่ตามสี่แยกและอาคารบนหัวมุมถนนในย่านการค้าที่สำคัญ ๆ สื่อเหล่านี้มีข้อจำกัดอยู่ 3 ข้อคือ หนึ่ง - เป็นสื่อที่อยู่กับที่ ไม่เคลื่อนไหวทำให้การรับรู้ในสื่อของคนทั่วไปอยู่ในวงจำกัด สอง - การลงทุนสถานที่เพื่อติดตั้งสื่อต้องทำสัญญาระยาวไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือบางสถานที่ที่อยู่ในทำเลที่ดีก็นานถึง 12 เดือน ทำให้ขาดการยืดหยุ่น สาม - ทำเลดี ๆ ที่จะติดตั้งสื่อมีน้อยลงเพราะถูกจับจองไปหมด

ทอมมี่เห็นข้อจำกัดนี้บวกกับประสบการณ์ที่เห็นในต่างประเทศ จึงเกิดไอเดียสร้างธุรกิจบริการสื่อเคลื่อนที่ขึ้นเหมือนในต่างประเทศ

ธุรกิจนี้เงื่อนไขการซื้อบริการมันมีอยู่ 2 ข้อคือ หนึ่ง - บริการสื่อเคลื่อนที่ได้ผลจริงหรือไม่ สอง - ความซื่อสัตย์ในการให้บริการ

เงื่อนไขนี้คือที่มาของการเสนอบริการระบบตรวจสอบสื่อเคลื่อนที่ ว่ามีการเคลื่อนสื่อไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในวันเวลาที่ตกลงกันในสัญญาการซื้อบริการจริงหรือไม่ "ตรงนี้คือหัวใของการสร้างความเชื่อถือในบริการที่เราต้องลงทุนกำลังคนที่คอยตรวจเช็กประจำจุดต่าง ๆ ทั่วกรุงเพทฯ" ทอมมี่พูดถึงจุดขายการให้บริการธุรกิจสื่อเคลื่อนที่ที่แท้จริง

ทอมมี่กำลังลงทุนซื้อพาหนะ 6 ล้อจำนวน 12 คัน และถ้ามีปริมาณธุรกิจมาก การลงทุนในส่วนนี้จะเพิ่มอีกปีละ 20 คัน

การเคลื่อนที่ของสื่อจะวิ่งผ่านตามย่านต่าง ๆ ตามความต้องการของลูกค้าในช่วงเวลาตั้งแต่ 3 โมงเช้าถึง 3 ทุ่มทุกวัน

ธุรกิจใหม่ตัวนี้ของทอมมี่ยังไม่มีคำตอบสำหรับความสำเร็จในอนาคต แต่การริเริ่มสิ่งใหม่นี้เป็นทางเลือกอีกตัวหนึ่งของการลงทุนสื่อโฆษณา ที่มีช่องทางในการเข้าไปจับกลุ่มลูกค้าซึ่งทอมมี่มองเห็นว่ามีความต้องการฝังตัวอยู่

หนุ่มฮ่องกงคนนี้อยู่เมืองไทยมานาน รู้จักเมืองไทยี (ไม่น้อยไปกว่าเอชเคทีดีซี) และเข้ากำลังจะโอนสัญชาติเป็นไทยกล่าวได้ว่า เขาคือคนฮ่องกงคนแรก ที่เขามาบุกเบิกทำมาหากินในเมืองไทยจนประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไปในหมู่นักธุรกิจฮ่องกง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.