นงลักษณ์ พินัยนิติศาสตร์ ดร.หญิงคนแรกของไทยที่จบทางด้านดาวเทียม


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้หญิงคนนี้อายุเพียง 32 ปี แต่ความรู้ความสามารถบวกกับประสบการณ์ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 10 ปีทำให้เธอได้รับการทาบทามจากผู้บริหารของกลุ่มชินวัตร คอมพิวเตอร์ให้มารับผิดชอบงานในโครงการดาวเทียมซึ่งมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 5,000 ล้านบาท

นงลักษณ์ พินัยนิติศาสตร์ เป็นหลานปู่ของหลวงพินัยนิติศาสตร์ อดีตผู้พิพากษาที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของเมืองไทย เธอเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ในปี 2520 หลังจากนั้นเข้าศึกษาต่อจนจบปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความที่เป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัว ทำให้นงลักษณ์ต้องเข้ารับราชการตามความตั้งใจของผู้เป็นพ่อและแม่

ในปี 2524 หลังจากการสอบเสร็จสิ้นลงเพียง 2 สัปดาห์ นงลักษณ์ได้สมัครเข้ารับราชการที่กรมไปรษณีย์โทรเลข ในฐานะลูกจ้างชั่วคราวในตำแหน่งวิศวกรไฟฟ้าสื่อสารที่สำนักงานวิจัยและพัฒนา โดยทำงานทางด้านวิจัยเกี่ยวกับห้องแล็บที่ใช้ป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารบกวน จากนั้นอีก 2 เดือนจึงสอบบรรจุเป็นข้าราชการประจำ

หลังจากการบรรจุได้ระยะหนึ่งราวปี 2525 นงลักษณ์ได้ย้ายไปเป็นวิศวกรไฟฟ้าสื่อสารที่กองแผนงาน กรมไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งที่นี่เองที่นงลักษณ์ได้มีโอกาสได้สัมผัสับงานทางด้านสื่อสารผ่านดาวเทียมเป็นครั้งแรก เนื่องจากทางกรมฯ เป็นตัวแทนของภาครัฐบาลในการวางแผนระบบสื่อสารดาวเทียมภายในประเทศ

และการที่ได้เข้าไปมีส่วนในการสัมผัสงานด้านนี้ครั้งแรก จึงเกิดความชอบชึ้น เมือผนวกเข้ากับความชอบขึ้น เมื่อผนวกเข้ากับความชอบส่วนตัวทางด้านดาราศาสตร์ ในสมัยที่เป็นนักเรียนจึงกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นงลักษณ์เลือกที่จะเรียนต่อปริญญาโทในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ในขณะที่เพื่อนรุ่นเดียวกันเปลี่ยนไปเรียนสาขาวิชาชีพอย่างอื่นโดยเฉพาะทางด้านบริการธุรกิจหรือเอ็มบีเอ

นงลักษณ์เล่าให้ฟังว่า "เมื่อ 5 ปีที่แล้วสายเอ็มบีเอบูมมาก เป็นช่วงที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เปิดกันมาก ทุกคนจะแนะนำให้เรียน ยิ่งคนที่เรียนจบวิศวมาต่อเอ็มบีเอไม่ลำบากเพราะมีพื้นฐานทางด้านคำนวณอยู่มาก ในขณะนั้นรุ่นเดียวกันเปลี่ยนไปเรียนเอ็มบีเอแทนสายตรงกันเยอะมาก ในขณะที่ตัวเองสมัยเป็นเด็กชอบดาราศาสตร์แต่ไม่รู้เรื่องดาวเทียม พอได้มาจับงานทางด้านสถานีภาคพื้นดินซึ่งเกี่ยวข้องกับดาวเทียม มันจึงกลายเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างความ ชอบที่เกี่ยวข้องกับอวกาศเข้ามาหากับการใช้งานที่เห็นภาพได้อย่างชัดเจน เพราะพูดถึงอวกาศบ้านเราไม่มี ที่ใกล้ที่สุดคือดาวเทียม และยิ่งได้เข้ามาทำงานจริง ๆ แล้วรู้สึกว่าความรู้ที่มีอยู่ไม่เพียงพอเพราะ ในชั้นปริญญาตรีเรียนกว้าง และทางด้านดาวเทียมก็ไม่มีการสอนในเมืองไทย ถ้าจะเรียนจะต้องต่อโท"

นงลักษณ์ตัดสินใจลาพักราชการเพื่อไปเรียนต่อปริญญาโทที่ UNIVERSITY OF MISSOURI. U.S.A. หลังจากทำงานที่กรมฯ ได้เพียงปีเศษ ถึงแม้ว่าจะเรียนในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า แต่วิชาเลือกก็เลือกวิชาที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมโดยเฉพาะการเขียนผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียม

ในช่วงที่เรียนอยู่ต่างประเทศนงลักษณ์เองเคยได้ยินข่าวว่าเมืองไทยจะมีดาวเทียมเป็นของตัวเอง แต่ในช่วงเมื่อ 7 ปีที่แล้วนั้นปริมาณการใช้ยังไม่แพร่หลาย การเกิดโครงการนี้จึงเป็นไปด้ยากมาก ต่างกับช่วง 4 ปีที่แล้วเศรษฐกิจขยายตัวทำให้ทุกอย่างมีความเป็นไปได้ ในความคิดของนงลักษณ์ขณะนั้นมันเป็นความหวังที่ไม่ใกล้ความจริงเท่าไรนัก

หลังจากที่เรียนจบปริญญาโทในปี 2527 ก็กลับเข้าเป็นวิศวกรที่กองแผนงานเหมือนเดิม งานที่จับนอกเหนือจากการวางแผนข่ายสื่อสารดาวเทียมในประเทศแล้ว ยังมีงานอื่นอย่างเช่นกฎข้อบังคับหรือการวางแผนโทรคมนาคมอื่น ๆ เนื่องจากงานดาวเทียมไม่ใช่งานหลักของกอง

แต่ดูเหมือนความหวังที่จะนำเอาความรู้ที่ได้กลับมาเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์กับงานที่ทำอยู่ มันกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพียงระยะเวลาไม่ถึงครึ่งปีที่กลับเข้าทำงาน นงลักาณ์จึงตัดสินใจขอเวลาราชการไปเรียนต่อปริญญาเอกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า โดยมาทงานสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง

"เราใช้เวลาใช้เงินมากก็หวังไว้ว่าเมื่อเรียนจบจะได้เอาสิ่งที่เรียนรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่อย่างนั้นจะเสียเวลาโดยเฉพาะการใช้สมองไม่คุ้มค่า ถ้าเราไม่ได้ลับสมองความรู้ที่ได้มามีแต่จะเลือนหายไปโดยไม่เกิดประโยชน์ ถ้าไม่ไปเรียนต่อก็ต้องทำงานที่เสริมคามรู้แต่ช่วงนั้นโครงการดาวเทียมก็ยังไม่เกิดและในลักษระการใช้ในประเทศก็มีอยู่นิดเดียว ความรู้ที่ได้มามันก็หายไปในที่สุดไม่มีอะไรเหลือ ก็เลยเรียนต่ออย่างน้อยก็ลับสมองไปเรื่อย ๆ" นงลักษณ์กล่าวถึงการตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาเอก

ในระหว่างที่เรียนปริญญาเอกอยู่นั้น ทางองค์การดาวเทียมสื่อสารระหว่างประเทศ (INTELSAT) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เปิดรับเจ้าหน้าที่ฝึกงานในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ จึงเป็นประเทศหนึ่งที่ถูกเรียกไป ซึ่งนับเป็นครั้งแรกและในครั้งนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ สมัครไป 4 คนโดยมีนงลักษณ์รวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง

ซึ่งครั้งนั้นนงลักษณ์ต้องแข่งขันกับผู้สมัครจากประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ จนในที่สุดก็ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปทำงานในตำแหน่งวิศวกรไฟฟ้าสื่อสาร แผนกปฏิบัติการที่องค์การดาวเทียมสื่อสารระหว่างประเทศในปี 2529 ซึ่งเป็นปีแรกที่ไทยส่งไป และการที่เป็นคนแรกของทยทำให้นงลักษณ์ต้องรับผิดชอบมากเพราะหากทำไม่ดีก็จะไม่มีการเรียกคนไทยไปอีก

หลังจากที่ทำงานครบ 1 ปีตามระยะเวลาที่กำหนดเป็นช่วงจังหวะที่ทางการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ทำเรื่องขอเช่าช่องสัญญาณจากอินเทลแซทให้กับสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และช่อง 9 นงลักษณ์จึงขอเวลาอยู่ต่ออีก 3 เดือนเพื่อช่วยให้การติดต่อเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น และหลังจากที่ทำเรื่องให้กสท. เรียบร้อยพร้อมกับครบสัญญาการต่ออายุ 3 เดือนนงลักษณ์จึงกลับประเทศไทยโดยไม่มีความคิดที่จะทำงานอยุ่ที่นั่นถึงแม้ว่าได้รับการทาบทามจากผู้บริหารของอินเทลแซทแล้วก็ตาม

นงลักษณ์อธิบายถึงเหตุผลตรงนี้ว่า "เป็นเพราะการทำงานในต่างประเทศมีปัญหามาก โดยเฉพาะการที่เราเป็นชาวเอเชีย ถึงแม้ว่าเราจะมีความรู้ความสามารถมากพอ ๆ หรือมากกว่าคนของเขา แต่เมื่อขึ้นถึงระดับหนึ่งแล้วเขาต้องเลือกคนของเขา ซึ่งเราก็ไม่อยากทนสภาพอย่างนั้น"

นงลักษณ์กลับมาเรียนต่อพร้อมกับการทำงานที่กรมฯในตำแหน่งเดิมจนจบวิชาบังคับใน 1 ปีก็ขอลาพักราชการกลับไปเขียนวิทยานิพนธ์ที่วอชิงตัน ดี.ซี. โดยเลือกที่จะทำวิจัยเกี่ยวกับดาวเทียมตามความสนใจที่มีมาแต่แรก ในขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในประเทศไทยไม่มี และไม่รู้ว่าจะทำวิจัยกับใคร ประกอบกับข้อบังคับของจุฬาฯ ที่ระบุว่ารายงานการวิจัยที่เขียนขึ้นนี้จะต้องตีพิมพ์ลงในวารสารระหว่างประเทศทั้ง 3 ฉบับ

นงลักษณ์ใช้เวลาในการเขียนวิทยานิพนธ์ที่วอชิงตัน ดี.ซี.อยู่ปีครึ่งโดยได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่นั่น ซึ่งนงลักษณ์ได้ทำการติดต่อไว้เมื่อครั้งที่มาทำงานอยู่กับอินเทลแซท จนกระทั่งสำเร็จและผลงานทยอยลงตีพิมพ์หลังจากนั้นอีกไม่นาน

เมื่อจบปริญญาเอกในปี 2533 นงลักษณ์กลับมารับราชการที่กรมฯ และถูกทางกระทรวงคมนาคมขอยืมตัวไปช่วยงานที่สำนักงานพัฒนากิจการอวกาศ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมติครม.ด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อวางแผนเกี่ยวกับการพัฒนากิจการอวกาศของประเทศไทยที่ไม่เฉพาะตัวดาวเทียมเท่านั้นแต่รวมถึงการใช้ประโยชน์อื่น ๆ เช่นการพยากรณ์อากาศ หรือการสำรวจพื้นผิวโลก โดยนงลักษณ์เข้ามารับผิดชอบในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มเทคโนโลยีดาวเทียม

เป็นช่วงจังหวะเดียวกันกับที่กระทรวงคมนาคมได้เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในการจัดตั้งดาวเทียมขึ้น นับเป็นโอกาสดีที่นงลักษณ์จะได้ใกล้ชิดและเรียนรู้ในฐานะที่ทำงานในหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง แต่ความคิดที่จะเข้าร่วมงานกับบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานในขณะนั้นยังไม่มี

เชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการสายปฏิบัติการที่ 2 เป็นผู้ที่มีบทบาทในการชักชวนให้นงลักษณ์เข้ามาร่วมงานกับกลุ่มชินวัตรคอมพิวเตอร์ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ เป็นผู้ได้รับสัมปทานดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ

นงลักษณ์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "ไม่เคยรู้จักดร.ทักษิณ ชินวัตรมาก่อน คนในบริษัทชินวัตรที่รู้จักคนแรกคือคุณเชิดศักดิ์ ซึ่งได้มีโอกาสรู้จักกันในงานสัมมนาทางวิชาการ ซึ่งท่านคงเห็นว่าอยู่ในวงการนี้และคนในวงการนี้มีจำกัดจึงเชื้อเชิญให้ไปคุยด้วย หลังจากได้ไปคุยแล้วทำให้ความคิดเปลี่ยนไป โดยเฉพาะความรู้มหาศาลที่จะได้จากการทำงานที่ชินวัตรระเด็นเดียวก็ทำให้ระยะเวลาในการตัดสินใจเป็นไปอย่างรวดเร็วโดยที่ทางบ้านก็เห็นดีด้วย"

นงลักษณ์เข้าร่วมงานกับกลุ่มชินวัตรฯ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาในตำแหน่งผู้จัดการอาวุโส โครงการดาวเทียมซึ่งต้องรับผิดชอบโครงการดาวเทียมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการวางแผนเรื่องกำลังคนการจัดระบบงานเพื่อรองรับงานในส่วนต่าง ๆ

ดูเหมือนเป็นการท้าทายครั้งยิ่งใหญ่สำหรับนงลักษณ์ต่อภาระกิจในการสร้างฝันให้เป็นจริง สำหรับประเทศไทยในการที่จะมีระบบดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศที่ทันสมัยเป็นของตนเอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.