เบื้องหลังการเจาะตลาดของ ซีเคียวริคอร์

โดย ศิริเพ็ญ กระตุฤกษ์
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ใครเลยจะเคยคิดว่าธุรกิจรักษาความปลอดภัยจะเป็นตลาดใหญ่ที่มีมูลค่าเฉียดหมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งที่วัฒนธรรมของธุรกิจไทยยังไม่ตื่นตัวมากพอต่อการให้ความสำคัญลงทุนซื้อบริการนี้ เหตุนี้แม้ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจนี้กลับต้องเผชิญปัญหาที่คาดไม่ถึง นั่นคือเรื่องของ "คน" การเปลี่ยนแนคิดให้เห็นถึงความมั่นคงและมีเกียรติในอาชีพนี้ จึงเป็นความพยายามของทุกบริษัท แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย

การเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในทศวรรษที่ผ่านมามีผลกระทบโดยตรงต่อวิวัฒนาการของธุรกิจรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะกับการเข้ามาขยายธุรกิจสาขาของบริษัทต่างชาติในประเทศไทย อันมีผลให้ภาพลักษณ์ของคำว่า "แขกยาม" ในอดีตกลับกลายเป็นภาพของ "เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย" (รปภ.) ในปัจจุบัน

"แขกยาม" ซึ่งเป็นคนสัญชาติอินเดียในอดีต มีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยให้กับร้านขายทองก่อนที่บทบาทหน้าที่นี้จะถูกโอนมาที่ตำรวจ (แก่ ๆ ) บางคนด้วยเหตุผลว่า เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบตำรวจเป็นเครื่องประกันว่า การประทุษร้ายของพวกมิจฉาชีพได้ดีที่สุด

ความนิยมในการใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นแขกยามเฝ้าร้านขายทองได้รับความนิยมจากพ่อค้าร้านขายทองอย่างมาก ถึงกับมีคำกระทบเทียบเปรียบเปรยเสมอว่า ตำรวจแก่ ๆ บางคนมักเอาเวลาราชการไปหากินเป็นยามร้านทองมากกว่าจับโจร

แต่แขกยามก็ดีหรือตำรวจที่เฝ้าร้านทองก็ดี พวกนี้ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่ได้อยู่ในรูปธุรกิจเต็มตัว

การทำธุรกิจรักษาความปลอดภัยเกิดขึ้นอย่างเต็มตัวเริ่มเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วนี้เอง เมื่อบริษัทซีเคียวริคอร์แห่งอังกฤษ ได้เข้ามาร่วมลงทุนกับ วารินทร์ พูนศิริวงศ์ แห่ง เวิลด์เอ็กซเปรส และแบงก์กรุงเทพ ก่อตั้งซิเคียวริคอร์ประเทศไทยขึ้น

การตื่นตัวจากการเข้ามาของคู่แข่งหน้าใหม่ที่มีความพร้อมในเรื่องของระบบเทคโนโลยี และเงินทุนทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจรักษาความปลอดภัยของไทย ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในธุรกิจ โดยเฉพาะการให้บริการที่ไม่ใช่มีแต่เพียงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเท่านั้น

การเข้ามาของซีเคียวริคอร์ ดูเหมือนจะเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นอย่างเด่นชัด ถึงโอกาสในการสร้างธุรกิจจากรูปแบบของการให้บริการด้านรักษาความปลอดภัยที่หลากหลาย บริษัทซีเคียวริคอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2525 โดยเป็นบริษัทที่เกิดจากการร่วมทุนของผู้ถือหุ้น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นผู้ถือหุ้นฝ่ายไทย ซึ่งมีคนในตระกูลพูนศิริวงศ์ และธนาคารกรุงเทพ ถือหุ้นรวมกัน 51% อีกกลุ่มหนึ่งเป็นของบริษัท ซิเคียวริคอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จากอังกฤษ ถือหุ้นที่เหลือ 49% โดยปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 24 ล้านบาท

จิโรจน์ หิรัญสมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของซีเคียวริคอร์ (ประเทศไทย) ได้เล่าถึงเบื้องหลังของการร่วมทุนกับซีเคียวริคอร์ในครั้งนั้นว่า "เนื่องจากตระกูลพูนศิริวงศ์ทำธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งทางอากาศมานานกว่า 20 ปี โดยใช้ชื่อบริษัทเวิลด์เอ็กซเปรส จำกัด ในขณะนั้นได้มีองค์กรหลายแห่งมอบหมายให้บริษัทนี้ขนของมีค่าโดยใช้รถคาร์โกธรรมดาที่บริษัทมีอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าความเสี่ยงมีสูง

จากช่องว่างตลาดที่มีอยู่นี้ ทางผู้บริหารบริษัท จึงมีแนวความคิดที่จะขยายธุรกิจการให้บริการรักษาความปลอดภัยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และจากชื่อเสียงในประสบการร์ความชำนาญด้านการรักษาความปลอดภัยที่มีมานานกว่า 50 ปีของซีเคียวริคอร์ ทำให้ผู้บริหารเลือกที่จะร่วมทุนกับบริษัทนี้ในที่สุด"

ก่อนหน้าที่ซิเคียวริคอร์จะเข้ามาเปิดธุรกิจด้านรักษาความปลอดภัยในประเทศไทยนั้น ได้มีบริษัทที่ให้บริการด้านนี้อยู่จำนวนไม่น้อย แต่บริษัทที่มีอยู่จำให้บริการรักษาความปลอดภัยเพียงอย่างเดียว คือ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซีเคียวริคอร์จึงเป็นบริษัทแรกในขณะนั้นที่เปิดให้บริการรักษาความปลอดภัยในการเคลื่อนย้ายเงินสดและทรัพย์สินมีค่า

อาจเป็นเพราะความแปลกใหม่ของบริการด้านนี้ ทำให้การเปิดตลาดของซีเคียวริคอร์ในช่วงแรกเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ธนาคารกรุงเทพดูเหมือนจะเป็นลูกค้าคนไทยรายแรกของซีเคียวริคอร์สำหรับการใช้บริการขนเงินสดให้กับสาขาของธนาคารกว่า 100 แห่งในเขตกรุงเทพฯ ในขณะที่ธนาคารรายอื่นของไทยยังใช้พนักงานของตนเองทำหน้าที่นี้

ทางออกของซีเคียวริคอร์ในการหาลูกค้าขณะนั้น คือ ธนาคารต่างประเทศที่เข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย (มีทั้งหมด 14 ธนาคาร) ซึ่งรู้จักชื่อเสียงของซีเคียวริคอร์เป็นอย่างดี และในที่สุดซีเคียวริคอร์ก็สามารถยึดตลาดการให้บริการขนเงินสดกับธนาคารต่างประเทศกลุ่มนี้ได้เป็นผลสำเร็จ หลังจากที่ให้บริการกับธนาคารกรุงเทพผ่านไป 1 ปี

ไม่เพียงเท่านั้น โรงงานต่าง ๆ ก็ตกเป็นลูกค้าเป้าหมายสำคัญของซีเคียวริคอร์ด้วย ก่อนหน้าที่ซีเคียวริคอร์จะเข้ามานั้น พวกโรงงานต่าง ๆ ประสบปัญหาในการเบิกเงินเพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินเดือนให้กับพนักงานทุกเดือน โดยเฉพาะโรงงานที่มีการจ่ายเงินเดือนมากกว่าเดือนละ 1 ครั้ง ดังนั้น บริการของซีเคียวริเคียว จึงสอดรับกับความต้องการที่มีอยู่ นั่นคือ บริการนำเช็คเงินสดที่โรงงานออกให้ไปเบิกเงินสดที่ธนาคารและนำไปส่งให้กับโรงงาน ซึ่งลูกค้ารายแรกที่ใช้บริการด้านนี้ของซีเคียวริคอร์ คือ กลุ่มบริษัทซัมมิท

แต่ดูเหมือนโอกาสจะเอื้ออำนวยได้ไม่นานนัก เพราะช่วงที่ซีเคียวริคอร์เข้ามาเปิดตลาดด้านนี้เป็นช่วงเดียวกับที่ธนาคารพาณิชย์ของไทยได้เปิดบริการเครื่องฝากถอนเงินสดอัตโนมัติ (ATM) ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงโรงงานหันมาใช้บริการจากเครื่อง ATM ในการจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานของตน จึงเป็นเหตุให้บริการด้านนี้ของซีเคียวริคอร์ต้องเงียบหายไป

แต่การแสวงหาช่องทางการเจาะตลดาของซีเคียวริคอร์ก็ยังต้องไม่จนตรอก เมื่อเทคโนโลยีระบบการชำระเงินอย่างเอทีเอ็มมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

ซีเคียวริคอร์ เริ่มรื้อฟื้นบริการด้านนี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสบช่องจากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการโอนเงินเข้าบัญชีเงินเดือนพนักงานของลูกค้า ซึ่งธนาคารจะเรียกเก็บครั้งละ 10 บาทต่อคนต่อครั้ง จากเดิมที่ไม่เคยเก็บมาก่อน ค่าใช้จ่ายจากค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นนี้บางบริษัทก็ถือเป็นรายจ่ายของบริษัท แต่บางบริษัทก็นำไปหักจากเงินเดือนพนักงานอีกทีหนึ่ง

และเมื่อบวกเข้ากับความไม่สะดวกในการเบิกถอนเงินในช่วงวันที่เงินเดือนออก โดยเฉพาะการเสียเวลาเข้าคิวเพื่อถอนเงิน ทำให้ซีเคียวริคอร์มองเห็นโอกาสที่จะกลับเข้ามาใหม่ โดยให้ชื่อบริการนี้ว่า "PAY PACK"

"PAY PACK" เป็นบริการรับจ้างบรรจุเงินใส่ซองให้พนักงานหรือคนงานตามโรงงาน โดยที่ซีเคียวริคอร์ จะเป็นผู้นำเช็คของลูกค้าไปเบิกเงินสดจากธนาคาร และนำมาแบ่งบรรจุใส่ซองที่ออกแบบเป็นพิเศษ ซึ่งพนักงานแต่ละคนที่ได้รับไปสามาถตรวจสอบจำนวนเงินได้โดยไม่ต้องแกะหรือฉีกซองออก เมื่อบรรจุเสร็จก็นำไปส่งถึงโรงงานเพื่อแจกให้กับพนักงาน

บริการ PAY PACK เพิ่งเริ่มได้ประมาณ 2-3 เดือน มีลูกค้าที่ใช้บริการอยู่ 5 ราย และจำนวนซองที่บรรจุตกเดือนละ 12,000 ซอง จุดขายอันหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าหันมาใช้บริการ คือ การคิดค่าบริการถูกกว่าธนาคาร ในขณะที่พนักงานก็สะดวกได้เงินสดไปเลย โดยไม่ต้องไปรอคิวเบิกเงิน

การเข้ามาจับงานบริการขนส่งเคลื่อนย้ายทรัพย์สินมีค่าเป็นรายแรก ทำให้ซีเคียวริคอร์ กลายเป็นผู้นำในตลาดส่วนนี้ จากการเริ่มต้นด้วยรถ 10 คัน (ใช้งานจริงในช่วงแรกเพียง 3 คันที่เหลืออีก 7 คันจอดไว้เฉย ๆ ) จนปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 35 คัน และจะเพิ่มอีก 16 คันในสิ้นปีนี้ หลังจากที่ได้ธนาคารกสิกรไทยเข้ามาเป็นลูกค้ารายล่าสุด

และสำหรับบริการรักษาความปลอดภัยไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ซีเคียวริคอร์ยังมีบริการรักษาความปลอดภัยอื่น ๆ อีก อย่างเช่น เจ้าหน้าที่รักษาความปอลดภัย ระบสัญญาณรักษาความปลอดภัย

"บริการด้านเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในตอนแรก เราไม่ได้คิดทำเป็นจริงเป็นจัง บังเอิญก่อนที่จะเปิดแผนกนี้ ทางไทยเชลล์ ซึ่งมาขุดเจาะน้ำมันที่ลานกระบือ ได้มาว่าจ้างให้เราส่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไปให้ 100 กว่าคน เราก็ลองรับดูปรากฏว่า ทำรายได้ดีกว่า เราจึงหันมาเปิดแผนกนี้ขึ้น จนถึงปัจจุบัน เรามีพนักงานเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทั้งหมดประมาณ 1,000 คนเศษ" จิโรจน์ เล่าถึงที่มาของการเปิดให้บริการด้านเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

ในส่วนของระบบสัญญาณรักษาความปลอดภัยนั้น ซีเคียวริคอร์ ได้นำเข้ามาให้บริการเมื่อ 2 ปีก่อน โดยมีระบบต่าง ๆ มากมาย อย่างเช่น ระบบโทรทัศน์วงจรปิด ระบบควบคุมภายในอาคาร ระบบล็อกประตู ตลอดจนระบบทุกประเภทที่เกี่ยวกับการดักจับ และสัญญาณเตือนภัยทุกชนิด

ในต่างประเทศ ระบบสัญญาณรักษาความปลอดภัยเป็นระบบที่ได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตึกสูงจะมีห้องควบคุมภายในอาคาร ในขณะที่เมืองไทยยังไม่มี และความนิยมในระบบนี้ยังอยู่ในอัตราที่น้อยมาก ทั้งนี้เป็นเพราะการลงทุนครั้งแรกในการติดตั้งระบบสัญญาณดังกล่าวใช้เงินสูงมาก เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการใช้บริการรักษาความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

กระทั่งถึงปัจจุบัน ตลาดกลุ่มนี้ก็ยังขยายตัวได้ไม่มากนัก ลูกค้าที่ซีเคียวริคอร์ได้ส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าอัญมณีที่ซื้ออุปกรณ์ไปติดตั้ง นอกจากนี้ก็มีงานด้านบริการดูแลรักษาเครื่องให้กับผู้ที่ติดตั้งระบบสัญญาณอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ซีเคียวริคอร์ มีความเชื่อมั่นเต็มที่ว่า ตลาดนี้จะเป็นตลาดใหญ่ในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะพฤติกรรมการยอมรับที่จะลงทุนซื้อบริการด้านการรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินมีค่าจะมีมากขึ้นตามระดับความเสี่ยงภัยของอาชญากรรมปล้น และจี้ที่นับวันจะสูงขึ้นในสังคมเมืองหลวง

ถึงแม้ว่า ซีเคียวริคอร์ จะไม่ใช่บริษัทต่างชาติรายแรกที่เข้ามาเปิดตลาดในประเทศไทยก็ตาม แต่การที่ซีเคียวริคอร์ได้นำเอาบริการที่ครบวงจรในธุรกิจรักษาความปลอดภัยเข้ามาเปิดตลาด ถือได้ว่า เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจบริการด้านนี้ตื่นตัวและได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น

"ธุรกิจการให้บริการรักษาความปลอดภัย มันจะคุ้มค่าต่อการลงทุนมันต้องขายเป็นแพ็คเกจ คือ มีบริการทุกอย่างให้ลูกค้าตามความต้องการ" นักการตลาดวิเคราะห์อนาคตการเติบโตและอยู่รอดของธุรกิจนี้

สิ่งนี้เอง คือ กลยุทธ์การที่บริษัทรักษาความปลอดภัย บางบริษัทของไทยได้มีการพัฒนาธุรกิจของตนเอง ด้วยการขยายการให้บริการด้านอื่นเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพียงอย่างเดียว อย่างเช่น การให้บริการด้านขนส่งเงินสดและทรัพย์สินมีค่า ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการอยู่หลายบริษัท เช่น บริษัท วี.ไอ.พี. บริษัทธนพอร บริษัทกรุ๊ป 4 เป็นต้น

"การที่บริการด้านขนส่งเงินสด และทรัพย์สินมีค่า ยังมีบริษัทที่ให้บริการน้อยรายโดยเฉพาะบริษัทของคนไทย ทั้งนี้เป็นเพราะการลงทุนในส่วนของอุปกรณ์ด้านนี้เป็นต้นว่า รถหุ้มเกราะ หรือระบบการป้องกันภัยต้องใช้วงเงินในการลงทุนสูง ในขณะที่ความเชื่อถือหรือความมั่นใจของลูกค้าต่อบริการด้านนี้ยังมีไม่มากนัก ดังนั้น การขยายบริการด้านนี้ยังอยู่ในวงไม่กว้างนัก ซึ่งส่วนใหญ่จะมีรถให้บริการเพียงไม่กี่คันเท่านั้น" สมบัติ พิมแสง เลขาธิการสมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยกล่าวถึงข้อจำกัดที่ทำให้บริการด้านขนทรัพย์สินมีค่าขยายตัวได้ไม่มากนัก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีที่ซีเคียวริคอร์ ได้รับมอบหมายงานให้ติดตั้งระบบสัญญาณเตือนภัย และขนเงินสดจากธนาคารกสิกรไทยที่มีสาขาทั่วกรุงเทพฯ มากกว่า 100 สาขานั้น ซีเคียวริคอร์ไม่สามารถให้บริการได้ทันทีในช่วงเวลาขณะนั้น โดยเฉพาะด้านบริการขนเงินสดที่ต้องใช้เวลาและการลงทุนเพิ่มในส่วนของการจัดสร้างรถหุ้มเกราะ (รถคันหนึ่งใช้เงินลงทุนกว่า 1 ล้านบาท) ซึ่งตามแผนที่วางไว้สำหรับงานบริการใหม่ 100 กว่าสาขานั้น จะต้องเพิ่มรถทั้งหมด 16 คัน โดยทยอยเพิ่มเดือนละ 4 คัน เพื่อให้ครบภายในสิ้นปีนี้ในขณะที่พนักงานในแผนกนี้ก็ต้องรับเพิ่มจาก 120 คนที่มีอยู่เดิมเป็น 200 คน

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับการให้บริการขนส่งทรัพย์สินมีค่าก็คือ ความรับผิดชอบต่อความเสี่ยงกรณีที่มีความเสียหายหรือสูญเสียเกิดขึ้นกับทรัพย์สินมีค่าเหล่านั้น บริษัทที่ให้บริการจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายเต็ม 100% ในขณะที่บริการทางด้านเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องชดใช้ค่าเสียหายเหมือนกันแต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงกับบริษัทผู้ว่าจ้างเท่านั้น

และในกรณีนี้ บริษัทต่างชาติที่มีสาขาทั่วโลก มักจะได้เปรียบกว่าในเรื่องของการทำประกันภัย ซึ่งจะทำทีเดียวครอบคลุมทุกประเทศที่มีสาขาตั้งอยู่ ทำให้ค่าเบี้ยประกันถูกลง ดังนั้นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จึงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศที่ต้องเสียค่าเบี้ยประกันในอัตราที่สูง ดังนั้น ราคาค่าบริการจึงแตกต่างตามไปด้วย

ในช่วง 10 ปีที่ผ่าน ธุรกิจด้านรักษาความปลอดภัยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี โดยได้รับการยอมรับมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรของรัฐหรือหน่วยงานภาคเอกชน จะเห็นได้จากการหันมาใช้บริการเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจากบริษัทรักษาความปลอดภัย แทนการรับพนักงานเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวในฐานะพนักงานประจำของบริษัท

อีกประการหนึ่ง การเติบโตของบริษัทรักษาความปลอดภัยจาก 5-10 บริษัท เมื่อ 20 ปีก่อนเพิ่มจำนวนสูงขึ้นกว่า 500 บริษัทในปัจจุบันก็น่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ได้เป็นอย่างดี แต่การที่บริษัทให้บริการด้านรักษาความปลอดภัยขยายตัวในอัตราที่รวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของคุณภาพในการให้บริการซึ่งเกี่ยวโยงโดยตรงกับภาพพจน์ของธุรกิจประเภทนี้

"บริษัทที่เปิดกันมาในปัจจุบัน ส่วนมากจะมาจากการแตกตัวของพนักงานที่เคยอยู่ในอาชีพนี้มาก่อนธุรกิจนี้บางคนคิดว่ามันง่าย เห็นเขาเปิดกันก็เปิดบ้าง แต่เวลาทำจริง อาจทำไม่ได้เหมือนบริษัทที่ตัวเองเคยอยู่หรือเหมือนกับที่คนอื่นทำเพราะองค์ประกอบไม่พร้อม

ปัญหาที่ตามมา คือ การไปรับค่าบริการที่ต่ำกว่าคนอื่นเมื่อตัวเองไม่พร้อม เมื่อรับค่าบริการมาต่ำก็ต้องจ่ายค่าแรงให้กับพนักงานในอัตราที่ต่ำ จึงส่งผลกระทบให้ผู้ที่จะมาทำงานในอาชีพนี้ไม่อยากเข้ามาทำ และไม่ว่าจะเป็นบริษัทใดมันก็ทำให้ภาพพจน์ออกมาในเชิงลบ" สมบัติ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจรักษาความปลอดภัยจากประสบการณ์ในอาชีพที่มีมากกว่า 11 ปี

และดูเหมือนการตัดราคาจะเป็นอาวุธสำคัญในการช่วงชิงตลาดของธุรกิจให้บริการรักษาความปลอดภัย จนทำให้คุณภาพของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูจะไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรนัก

"การกระทำเช่นนี้ คือ วิธีการทางการตลาดที่ไม่ถูกต้อง เพราะจุดขายของธุรกิจนี้มันอยู่ที่การสร้างความเชื่อถือในคุณภาพของบริการ ไม่ใช่ราคา" นักการตลาดชี้ให้เห็นจุดขายที่แท้จริงของธุรกิจนี้

การรับค่าบริการมาในอัตราที่ต่ำ ในขณะที่บริษัทจะต้องอยู่ได้และมีกำไร ดังนั้น วิถีทางเดียวที่จะอยู่รอดก็คือ บริษัทจะต้องบีบอัตราค่าแรงจากพนักงาน

สมมติว่า บริษัทรับงานจากผู้ว่าจ้างมาในราคา 3,600 บาทต่อคนต่อเดือน ในขณะที่อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำตกวันละ 100 บาท ถ้าบริษัทต้องจ่ายให้พนักงานเดือนละ 3,500 บาท ที่เหลือ 100 บาทจะเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการบริหารงานหรือไม่ ถ้าไม่บริษัทก็ต้องไปบีบอัตราค่าแรงให้พนักงานต่ำกว่านั้น

ซึ่งนั่นหมายถึงการหลบเลี่ยงข้อกฎหมายแรงงาน และการที่จ่ายค่าแรงให้ในอัตราที่ต่ำกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนดนั้น จะได้คนที่มีคุณภาพอย่างไร นั่นเป็นข้อคิดที่นักบริหารในฐานะผู้ว่าจ้างจะต้องคิดหนัก

เช่นเดียวกับพนักงานที่ถูกว่าจ้าง ก็จะต้องคิดหนักเช่นกันในขณะที่มีบริษัทที่ทำธุรกิจด้านนี้อีกมากมายที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าการเปลี่ยนงานของพนักงาน จึงเป็นเหตุการณ์ปกติทั่วไปของธุรกิจนี้

ในปี 2530 ได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งสมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันในหมู่สมาชิก รวมถึงการยกระดับงานรักษาความปลอดภัยให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้นด้วย โดยที่ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกทั้งหมดจำนวน 76 บริษัท มีวารินทร์ พูนศิริวงศ์ เป็นนายกสมาคม

อาจเป็นเพราะประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายใดมาเป็นข้อบังคับในการเปิดบริษัทรักษาความปลอดภัย ดังนั้นคระกรรมการของสมาคมฯ จึงเห็นสมควรในการที่จะผลักดันให้สมาคมฯ เข้าไปมีส่วนในคตวามรับผิดชอบต่อการหามาตรการ หรือหลักเกณฑ์ในการเปิดบริษัทให้บริการรักษาความปลอดภัย ซึ่งควรจะมีพื้นฐานที่เพียงพอรวมถึงกำลังเงินและความรู้ของผู้ประกอบการด้วย ซึ่งเรื่องนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา เช่นเดียวกับแนวความคิดที่จะให้สมาคมฯ มีบทบาทในการกำหนดค่าบริการขั้นต่ำของธุรกิจด้านนี้

ปัญหาที่สำคัญที่สุดของธุรกิจให้บริการด้านรักษาความปลอดภัย ซึ่งทุกบริษัทกำลังประสบอยู่ก็คือ "การขาดกำลังคน"

ในขณะที่ปัจจุบันธุรกิจด้านการรักษาความปลอดภัย จะได้รับการยอมรับ แต่กลับมีจุดบอดที่บริษัทรักษาความปลอดภัยเกือบทุกแห่งพยายามต่อสู้มาโดยตลอด นั่นคือ คนที่จะมาประกอบอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยังมีความรู้สึกว่า งานด้านนี้ต่ำต้อย งานด้านนี้จะต้องเป็นงานสุดท้ายที่จะทำ การต่อสู้ที่ว่านี้จึงอยู่ที่ทำอย่างไรจะให้ความรู้สึกนี้หายไป พร้อมกับความรู้สึกที่ว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีเกียรติ รายได้ดี และมีความก้าวหน้า

"ปัญหาเรื่องบุคลากรสามารถแก้ได้ ถ้าจ่ายให้เขาสูง จะเอาคุณภาพแต่จ่ายต่ำจะหาได้อย่างไร ที่ว่าสูงนี้ควรจะให้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ในเมื่ออาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีความรับผิดชอบสูง ก็ควรให้เขามีความสำคัญ และคุณได้จ่ายให้เขาตามความสำคัญอย่างที่คิดหรือไม่ บริษัทต้องหันกลับมาดูในจุดนี้ด้วย" สมบัติ กล่าวถึงปัญหากาขาดบุคลากรในวิชาชีพนี้

ความเป็นจริงที่วิชาชีพนี้เป็นวิชาชีพที่ไม่มีในหลักสูตรการเรียนการสอนโดยเฉพาะในสถาบันการศึกษามาก่อน ดังนั้น การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจึงตกเป็นหน้าที่ของบริษัทโดยตรง ซึ่งนั่นเป็นบทพิสูจน์อันหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความได้มาตรฐานของบริษัทนั้น ๆ โดยเฉพาะความมีคุณภาพของคนในบริษัทด้วย

บริษัท วี.ไอ.พี.สเตชั่น จำกัด เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างมาตรฐานให้กับธุรกิจรักษาความปลอดภัย ด้วยการจัดตั้งโรงเรียนวิชาชีพรักษาความปลอดภัยขึ้น เมื่อปี 2530 โดยได้รับการอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ นับเป็นโรงเรียนของเอกชนแห่งแรกที่เปิดสอนหลักสูตรวิชาชีพรักษาความปลอดภัย

คุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนดังกล่าว จะเป็นชายหรือหญิงอายุตั้งแต่ 21 - 47 ปี ความรู้อย่างต่ำ ป.4 มีความสูงตั้งแต่ 160 ซม. ขึ้นไป น้ำหนักชาย 55 กก. หญิง 40 กก. เป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงและจิตใจสมบูรณ์ ผ่านการตรวจรับรองจากแพทย์แล้ว โดยใช้ระยะเวลาในการเรียนการสอนทั้งหมด 5 สัปดาห์ ค่าเล่าเรียนคนละ 500 บาท

"เรารับจ้างฝึกและฝึกให้กับตัวเราเองด้วย เมื่อก่อนนักเรียนที่จบจากที่นี่ก็แยกย้ายกันไปสมัครงานตามบริษัทต่าง ๆ แต่ปัจจุบันจบแล้ว วี.ไอ.พี.จะรับหมด" สมบัติพูดถึงนักเรียนที่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้มีโอกาสได้ไปอยู่กับบริษัทอื่นมากนัก พร้อมกับยอมรับว่า ปัจจุบันค่าบริการด้านเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของบริษัทอยู่ในอัตราที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นคือ 5,000 บาทต่อคนต่อเดือน

ปัจจุบัน ธุรกิจรักษาความปลอดภัยกลายเป็นอุตสาหกรรมการให้บริการที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่ใครจะคาดคิด โดยเฉพาะมูลค่าตลาดที่คิดคำนวณคร่าว ๆ จากจำนวนบริษัทที่มีอยู่ทั้งหมด 500 บริษัท และจากอัตรากำลังพลโดยเฉลี่ยของแต่ละบริษัทคือ 300 คน ในขณะที่อัตราค่าบริการโดยเฉลี่ย 4,000 คนต่อคนต่อเดือน ตัวเลขเกือบ 1 หมื่นล้านบาทที่ได้ออกมาคงทำให้หลายคนถึงกับนั่งเก้าอี้ไม่ติด

ในธุรกิจที่เปิดกว้างแบบไม่มีที่สิ้นสุดและยังไม่มีใครครอบครองตลาดอย่างแท้จริงเช่นนี้ จึงไม่ผิดอะไรกับยุคที่ว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอาเท่าไหร่นัก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.