เผยสูตรใหม่ค่าไฟเพิ่ม เน้นประหยัดเป็นหลัก


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

เราต้องยอมรับว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้ใช้ไฟมักจะจ่ายค่าไฟต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งทำให้ผู้ใช้ไฟไม่ตระหนักในการใช้อย่างประหยัด ทางปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายพลังงานแห่งชาติ จึงได้ศึกษาและสรุปใช้สูตรค่าไฟใหม่โดยจะเริ่มใช้ในปลายปีนี้

หลักการก็คือ ปรับค่าไฟให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เป็นจริงเพื่อจูงใจให้ลงทุนในการประหยัดและใช้ไฟอย่างมีประสิทธิภาพ

แต่สำหรับบ้านที่ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน หมายถึงบ้านที่ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า คือ หลอดไฟขนาด 20 วัตต์ไม่เกิน 4 ดวง วิทยุ เตารีด หม้อหุงข้าวไฟฟ้า และตู้เย็นอย่างละหนึ่งเครื่อง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่ถึง 80% ของผู้ใช้ไฟทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 8.3 ล้านรายตามตัวเลขในปีนี้ และส่วนมากจะอยู่ต่างจังหวัดจะยังคงจ่ายค่าไฟเท่าเดิม

ส่วนบ้านที่ใช้ไฟมากกว่านี้ แม้จะเพิ่มเครื่องปรับอากาศแค่เครื่องเดียว ซึ่งทำให้ปริมาณการใช้ไฟมากกว่า 150 หน่วยต่อเดือน จะต้องจ่ายค่าไฟตามอัตราในสูตรใหม่

การปรับสูตรค่าไฟใหม่ครั้งนี้ถือว่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้ไฟในบ้าน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ใช้ไฟกันมาก หรือ PEAK PERIOD ระหว่างเวลา 18.30 น. ถึง 21.30 น. ด้วยเหตุว่า เป็นช่วงที่ต้นทุนค่าไฟสูงกว่าช่วงปกติ

เนื่องจากการเดินเครื่องผิตกระแสไฟฟ้าจะเดินเครื่องได้เท่าแค่ความต้องการในแต่ละครั้งเท่านั้น ต่างกับการลงทุนอย่างอื่นซึ่งผลิตเผื่อเก็บไว้ใช้ในอีกช่วงเวลาหนึ่งได้ ขณะที่การเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าถ้าเป็นช่วงเวลาอื่นที่ใช้ไฟน้อย เครื่องปั่นไฟส่วนใหญ่จะหยุด แต่จะต้องเดินเครื่องให้ได้ปริมาณไฟสูงสุดสนองความต้องการช่วงเวลาที่ใช้ไฟในปริมาณสูงให้ได้ ทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้าให้มีกำลังผลิตรองรับดีมานด์สูงสุด

ขณะที่กลุ่มผู้ใช้ไฟสม่ำเสมอตลอดทั้งวัน หรือเลี่ยงการใช้ในช่วง PEAK ได้ก็จะช่วยลดค่าไฟ ซึ่งมีเพียง 2% ของดีมานด์ทั้งหมด ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มธุรกิจขนาดลกางที่ใช้ไฟกว่า 500 กิโลวัตต์ แต่ไม่เกิน 2,000 กิโลวัตต์ กลุ่มนี้จะประหยัดค่าไฟตามสูตรใหม่ได้ราว 10%

ด้านโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกจะต้องจ่ายค่าไฟสูงขึ้นตามสูตรใหม่ เพราะจะไม่นำรายได้จากธุรกิจขนาดกลางประมาณ 800 ล้านบาทต่อปีมาชดใช้อย่างแต่ก่อน

สรุปได้ว่า กลุ่มที่จะไม่กระทบจากสูตรค่าไฟใหม่ คือ บ้านที่ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน กลุ่มบริการทั่วไปขนาดเล็ก รวมธุรกิจขนาดเล็กและกิจการของการประปา กลุ่มราชการ และหน่วยงานที่ไม่แสวงกำไร และกลุ่มที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อเกษตรกร

ส่วนบ้านอยู่อาศัยขนาดใหญ่ กลุ่มบริการทั่วไปขนาดกลาง รวมธุรกิจขนาดกลาง ธุรกิจขนาดใหญ่ที่ใช้ไฟไม่เกิน 2,000 กิโลวัตต์ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ขนาดเล็กหรือขนาดกลาง กลุ่มบริการขนาดใหญ่และกลุ่มธุรกิจที่ใช้ไฟเกิน 2,000 กิโลวัตต์ รวมถึงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ขนาดใหญ่และอุตสาหกรรมที่หลอมด้วยไฟฟ้า รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจโรงแรมทุกประเภท บ้านเช่า หอพัก จะเป็นกลุ่มที่ต้องจ่ายค่าไฟตามความต้องการบนต้นทุนที่แท้จริง

ทั้งนี้ เพื่อให้บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมหันมาสนใจลงทุนเพื่อประหยัดพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการปรับการใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือการลงทุนในอุปกรณ์เครื่องจักรตัวใหม่ที่ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงยิ่งขึ้น โดยมีศูนย์อนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย เป็นศูนย์กลางให้คำปรึกษา แนะนำในเชิงปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลที่เริ่มเอาจริงเอาจังกับการอนุรักษ์พลังงาน

ทางด้านผู้ใช้ไฟตามอาคารบ้านเรือนก็เช่นเดียวกัน จะต้องใส่ใจในการใช้ไฟอย่างประหยัดมากขึ้น เพราะต่อไปรัฐบาลจะส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ช่วยประหยัดไฟยิ่งขึ้น เช่น การใช้หลอดไฟขนาด 40 วัตต์ ถ้าหันมาใช้ขนาด 36 วัตต์ก็จะได้ปริมาณแสงสว่างเท่าเดิม แต่มีจุดดีช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้มากกว่า เป็นต้น

โดยปีหน้าจะมีการใช้ระบบ DSM หรือ DEMAND SIGN MANAGEMENT ซึ่งจะเน้นการออกมาตรการหนุนอุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดเชื้อเพลิง โดยแหล่งข่าวผู้เกี่ยวข้องกล่าวว่า ต้องใช้เงิน 4 หมื่นบาทต่อการลงทุนระบบไฟฟ้าหนึ่งกิโลวัตต์ ถ้าประหยัดไปได้เพียงหนึ่งกิโลวัตต์ก็ประหยัดเงินได้ 4 หมื่นบาท

ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกำลังให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) จัดทำโครงการรณรงค์ให้ผู้ใช้ประหยัดไฟ เช่น อาจจะหนุนให้ผู้ใช้ตามบ้านหันมาใช้หลอดไฟที่ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงซึ่งรัฐบาลจะลดราคาเป็นพิเศษ หรือให้ผู้ใช้หลอดไส้ที่มีอยู่ 10 ล้านหลอดทั่วประเทศหันมาใช้หลอดนีออน เป็นต้น

ตามเป้าหมายของรัฐบาลนั้นเห็นว่า ถ้าประหยัดไฟได้ก็จะช่วยประหยัดเชื้อเพลิงทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ลิกไนต์ และพลังน้ำ ซึ่งนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยสัดส่วน 20% 25% 45% และ 10% ตามลำดับ

การปรับสูตรค่าไฟใหม่ดังกล่าว จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะให้ผู้ใช้ทุกฝ่ายยอมรับต้นทุนที่แท้จริงและเป็นวิธีที่จะช่วยประหยัดที่จะได้ผลที่สุด และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง แหล่งข่าวจาก กฟผ. กล่าว

ที่แน่นอนก็คือ เราจะได้เห็นมาตรการเพื่อประหยัดพลังงานต่าง ๆ ในเร็ว ๆ นี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.