ความพยายามของวิจิตร สุพินิจ และวีรพงศ์ รามางกูร ที่จะผลักดันให้ระบบการเงินมีกลไกสนับสนุนธุรกิจการส่งออกอย่างครบวงจรด้วยวิธีการดันออกมาเป็นกฎหมาย
เพื่อให้สถาบันทางการเงินนี้ เป็นกลไกพิเศษที่มีอิสระในการบริหารจัดการตนเองภายใต้นโยบายของรัฐบาล
การร่างกฎหมายจัดตั้งเอ็กซิมแบงก์หรือธนาคารเพื่อการส่งออก ที่มีบทบาทครอบคลุมถึงเรื่องการรับประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการส่งออก
การค้ำประกันสินเชื่อเพื่อการส่งออก และการอำนวยสินเชื่อระยะยาวเกินกว่า
6 เดือนขึ้นไปสำหรับภาคการผลิตที่รัฐบาลต้องการสนับสนุน เช่น อุตสาหกรรมผลิตสินค้าทุนและธุรกิจขนาดกลางและรายย่อยที่มีการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก
การจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคทางการเงิน เช่น เอ็กซิมแบงก์นี้
เป็นสิ่งที่ได้รับการพิจารณาอย่างสนใจจากสถาบันการเงินอย่างไอเอ็มเอฟ
"ผู้จัดการ" รายเดือนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ "บัณฑิต นิจถาวร"
เศรษฐกรของไอเอ็มเอฟที่มีส่วนในการศึกษา เพื่อหาเหตุผลในการร่างกฎหมายจัดตั้งเอ็กซิมแบงก์นี้
ในประเด็นถึงความจำเป็นที่ขีดขั้นการพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้มาถึงจุดที่จำเป็นต้องมีสถาบันการเงินพิเศษนี้
"ผู้จัดการ" ในต่างประเทศ บทบาทของเอ็กซิมแบงก์ โดยทั่วไปเป็นอย่างไร
"บัณฑิต" - เอ็กซิมแบงก์เป็นสถาบันการเงินพิเศษที่มีขอบเขตการทำธุรกิจไม่เหมือนแบงก์พาณิชย์ทั่วไป
จุดที่เน้น คือ เอ็กซิมแบงก์จะไม่เข้ามาแข่งขันในธุรกิจที่แบงก์พาณิชย์ทำอยู่แล้ว
แต่จะเข้ามาเสริมด้านการให้บริการทางการเงินให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกที่ตลาดยังไม่สามารถตอบสนองได้อย่างเต็มที่
เหตุนี้ธุรกิจของเอ็กซิมแบงก์จึงมุ่งไปที่การให้สินเชื่อระยะปานกลางและระยะยาวแก่ผู้ส่งออกที่ต้องการขายสินค้าแบบผ่อนชำระ
หรือเพื่อการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อการผลิตเพื่อส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างฐานการส่งออก
นอกจากนี้ เอ็กซิมแบงก์ยังครอบคลุมการให้บริการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อการส่งออกแก่แบงก์พาณิชย์
และการรับประกันภัยสินค้าส่งออกจากความเสี่ยงทางการค้าและการเมืองแก่ผู้ส่งออกโดยตรง
เนื่องจากธุรกิจแบบนี้ในตลาดไม่มีสถาบันการเงินไหนกล้าเสี่ยงที่จะทำ ในฐานะที่เป็นองค์กรของรัฐที่ใช้ทุนจากงบประมาณ
และการกู้ยืมจากตลาดเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ เอ็กซิมแบงก์จึงเข้ามาทำหน้าที่นี้
เช่น เอ็กซิมแบงก์ในญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน
จากการศึกษาประสบการณ์ในประเทศต่าง ๆ พบว่า บทบาทของเอ็กซิมแบงก์มีความสำคัญในการช่วยเหลือการส่งออกสินค้าทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมประเภททุน
หลายประเทศเมื่อมาถึงจุดที่โครงสร้างการส่งออกเปลี่ยนจากสินค้าอุปโภคบริโภคมาเป็นสินค้าทุนมากขึ้น
ก็จะมีการจัดตั้งสถาบันการเงินประเภทนี้ขึ้นมา เช่น ญี่ปุ่นตั้งมาประมาณ
40 ปีแล้ว เกาหลีตั้งมา 15 ปี ไต้หวัน 12 ปี
ในทัศนะของผม บทบาทของเอ็กซิมแบงก์ไม่ใช่จำกัดอยู่ที่การขยายการส่งออก อันนี้เป็น
END RESULTS แต่หัวใจจริง ๆ ก็คือ การช่วยให้อุตสาหกรรมประเภททุนได้พัฒนา
คือ ถ้ามีสถาบันการเงินเกิดขึ้นมา เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าทุนโดยเฉพาะ
การพัฒนาอุตสาหกรรมทางด้านนี้ก็จะมีข้อจำกัดน้อยลง ก็จะมีคนหันมาทำอุตสาหกรรมด้านนี้มากขึ้น
ที่เกาะหลีก็ยอมรับกันว่า เอ็กซิมแบงก์มีบทบาทมากในการช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเรือ
คือ สินเชื่อของเอ็กซิมบแงก์ในระยะแรก ๆ ไปช่วยสนับสนุนการขายเรือที่ต่อขึ้นในเกาหลีเกือบทั้งหมด
ในกรณีของไต้หวัน ทางเจ้าหน้าที่ก็ยอมรับว่า เอ็กซิมแบงก์มีบทบาทมากในการพัฒนาอุตสาหกรรมประเภทก่อสร้างโรงงานแบบเทอร์นคีย์
เช่น โรงงานกระดาษ ซีเมนต์ นอกจากนี้ การให้บริการทางด้านค้ำประกัน และรับประกันสินค้าเกี่ยวกับความเสี่ยงทางการค้าและการเมืองก็เป็นสิ่งที่จะให้ประโยชน์ต่อการขยายการส่งออก
และการเจาะตลาดเพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น
ในภาพยาว ถ้าจะดูจากประสบการณ์ในต่างประเทศ บทบาทของเอ็กซิมแบงก์ในตอนเริ่มต้น
คงจะอยู่ที่การเข้ามาเสริมเพื่อให้ธุรกิจส่งออกสามารถได้รับบริการทางการเงินอย่างครบวงจร
บทบาทของธนาคารจะมีมากหรือน้อยก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับขนาดของทุนถึงระดับหนึ่งเมื่อการส่งออกมีความสำเร็จ
ประเทศมีดุลการค้าเกินดุล บทบาทของเอ็กซิมแบงก์ก็อาจจะหันมาให้ความสำคัญต่อการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อการปรับโครงสร้างการผลิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
มีมลภาวะน้อยลง รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อย้ายฐานการผลิตที่ต้องใช้แรงงานมากไปอยู่ต่างประเทศ
อยากจะบอกว่า ขบวนการนี้กำลังเกิดขึ้นในเกาหลีและไต้หวัน
เมื่อผ่านระดับนี้ไปแล้ว อีกระดับหนึ่งคงจะเป็นหน้าที่ของการทำตัวเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับสากล
โดยให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินในรูปของสินเชื่อระยะยาว อัตราดอกเบี้ยต่ำแบบโออีซีเอฟของญี่ปุ่น
"ผู้จัดการ" - มีข้อสังเกตว่า สินค้าทุน เรายังมีน้อย การจัดตั้งเอ็กซิมแบงก์
อาจจะยังไม่ถึงเวลา และจะให้ประโยชน์น้อยในเวลานี้
"บัณฑิต" - ตรงข้ามผมคิดว่า มันน่าจะให้ประโยชน์มาก และเวลาตอนนี้ก็เหมาะสมแล้ว
คือ ปัจจุบันต่างประเทศ เขาตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ส่งออกไทยตอนนี้เสียเปรียบมากในเรื่องการหาบริการทางการเงิน
เช่น ประกันภัย มาช่วยลดความเสี่ยงในการส่งออกเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ
ดังนั้น การให้บริการทางด้านนี้ในรูปของการจัดตั้งเอ็กซิมแบงก์จึงเป็นเรื่องจำเป็น
และควรทำโดยเร็วที่สุดเพื่อลดความเสียเปรียบอันนี้จะรวมไปถึงนักลงทุนต่างประเทศที่มาตั้งโรงงานในประเทศเราพอผลิตแล้วจะส่งออก
ก็ไม่สามารถหาบริการทางด้านการประกันภัยได้ ทำให้แรงกระตุ้นการส่งออกขาดหายไป
อาจพูดได้ว่า นอกเหนือจากจะช่วยการส่งเสริมการผลิตสินค้าทุนและการส่งออกแล้ว
เอ็กซิมแบงก์จะยังมีบทบาทในทางอ้อมที่จะทำให้การลงทุนเพื่อการส่งออกมีข้อจำกัดน้อยลง
และมีความพร้อมมากขึ้น
ประเด็นต่อมา ก็คือ ในเรื่องความต้องการ
ผมอยากจะกล่าวว่า เวลานี้ปัญหาทางด้านสินเชื่อเพื่อการส่งออกมีอะไรบ้าง
จากการศึกษา เราพบว่า ปัญหาหลักมีอยู่ 3 ข้อ คือ หนึ่ง - ความไม่เพียงพอของสินเชื่อ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการสินเชื่อระยะปานกลางและยาวเพื่อสนับสนุนการขาย
สอง - การขาดบริการทางด้านค้ำประกัน และสาม - การไม่มีบริการทางด้านประกันภัย
จุดต่าง ๆ เหล่านี้ จะเป็นงานหลักที่เอ็กซิมแบงก์จะเข้าไปขณะที่ความต้องการนี้ยังไม่ได้รับการตอบสนอง
ส่วนเรื่องสินค้าทุนที่ยังมีน้อย ผมว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องธรรมดาและเคยเกิดขึ้นที่เกาหลีและไต้หวันมาแล้ว
เพราะในตอนแรกอุตสาหกรรมสินค้าทุนยังไม่ได้รับการพัฒนามาก ไม่มีสินค้าที่จะให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อระยะยาว
แต่การให้บริการทางด้านอื่น ๆ ทำได้อย่างเต็มมือ ในกรณีของไทย ปัจจุบันการส่งออกร้อยละ
12 เป็นสินค้าทุน นี่คือความจิรง และมีแนวโน้มว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเรื่อย
ๆ ในช่วงแผนพัฒนาที่ 7
จากการลงทุนที่ผ่านมา ผมว่าส่วนใหญ่เรานึกไม่ออกว่า เป็นสินค้าอะไร เพราะไม่ได้อยู่ในวงการ
แต่ที่แน่นอนก็คือ สินค้าทุนตอนนี้เรามีพอสมควร และมีศักยภาพด้วย เช่น เครื่องจักร
อุปกรณ์ทางด้านไฟฟ้า สายไฟฟ้า อุปกรณ์การรับสัญญาณดาวเทียม พวกเทอร์นคีย์แพล้นอย่างโรงสีข้าว
สิ่งเหล่านี้มีทำกันอยู่ ส่งออกกันอยู่ ประเด็นสำคัญคือ บทบาทของเอ็กซิมแบงก์จะมีส่วนช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมทางด้านนี้ให้สามารถเติบโตโดยเร็ว
ผมมองว่า ประโยชน์มันอยู่ตรงนี้ และช่วงนี้ก็เป็นเวลาที่ดี เพราะจะเริ่มมีการส่งออกสินค้าที่ผลิตขึ้นจากการลงทุนที่ผ่านมา