นายห้างกมล สุโกศล ธุรกิจทุกอย่างเกิดจากความชอบ

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

นายห้างกมล สุโกศล เกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2456 เป็นลูกโทนคนเดียวของคหนบดีชาวจีน ชื่อ "ใจ แซ่ตั้ง" กับ "เทียบ" พ่อของนายห้างกมล ดำเนินธุรกิจขายยาและรองเท้าเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อร้านว่า "ตั้งฮวดใช้" ขณะเดียวกัน ก็มีธุรกิจโรงแรมอันมีชื่อเสียงโด่งดังว่า "โรงแรมสยามโฮเต็ล" ซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าวังบูรพา ตำบลสามยอด ตรงข้ามกับห้องโชว์สินค้าไฟฟ้าของบริษัทกมลสุโกศลที่ถนนมหาไชยในปัจจุบัน

"ชื่อในเครือดรงแรมสยามก็มาจากสยามโฮเต็ลของคุณปู่ ซึ่งรื้อทิ้งไปนานแล้วหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงก็ไม่มีแล้วเป็นโรงแรมที่ดังมาก เพราะมีนางระบำสมัยก่อนคุณพ่อกับองค์ชายกลาง (พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร) ก็เคยหกคะเมนตีลังกากันที่นั่น" กมลา สุโกศล บุตรสาวคนโตของนายห้างกมลเล่าให้ฟังถึงอดีต

ชีวิตปฐมวัยของนายห้างกมลเพียบพร้อมด้วยความสมบูรณ์พูนสุข มีแต่พ่อแม่ที่คอยตามใจในฐานะทายาทคนเดียวส่งเสริมให้บุตรชายได้เรียนสูง ๆ และคบหาเพื่อนฝูงระดับเดียวกัน กมลจบการศึกษา ม.6 จากโรงเรียนอัสสัมชัญในปี 2472 และจบชั้น ม.8 จากโรงเรียนเทพศิรินทร์

เมื่อจบการศึกษา กมลหนุ่มเนื้อหอมคนนี้อายุได้ 18 ปี มีการงานทำเป็นหลักแหล่งที่ OVERSEAS CHINESE BANK ซึ่งตั้งอยู่ละแวกใกล้บ้าน คือ สามแยกถนนเจริญกรุง เงินเดือนที่นายห้างกมลได้รับ 40 บาทต่อเดือน ด้วยนิสัยใจคอกว้างขวาง นายห้างกมลก็นำมาใช้จ่ายเที่ยวเตร่กับเพื่อนฝูง

ในยามว่าง นายห้างกมลได้ชื่อว่าเป็นมือหนึ่งติดอันดับทางด้านบิลเลียดที่หาตัวจับได้ยากในสมัยนั้น ความคลั่งไคล้ในบิลเลียดได้จุดประกายความคิดของนายห้างกมลที่จะดำเนินการค้าโต๊ะบิลเลียดแทนที่จะเป็นมนุษย์เงินเดือนทำงานแบงก์ นายห้างกมลจึงตัดสินใจลาออกหลังจากทำงานมานาน 4 ปี และมาประกอบกิจการค้าตัวเองด้วยทุนเริ่มต้น 30,000 บาทในสมัยนั้น

ชีวิตพ่อค้าของนายห้างกมลเริ่มต้นเมื่อวัยหนุ่ม 22 ปี ซึ่งเป็นปีที่เขาได้สมรสกับสาวสวย "เรียม เธียรประสิทธิ์" ซึ่งเป็นน้องสาวแท้ ๆ ของคุณหญิงล้อม โอสถานุเคราะห์ มารดาของสุวิทย์-สุรัตน์-เสรี โอสถานุเคราะห์

นายห้างกมลมีทายาทสี่คน แต่เสียชีวิตแล้วสองคนเป็นเด็กผู้ชาย ส่วนที่ยังมาชิวตอยู่เป็นผู้หญิงทั้งคู่ คือ บุตรสาวคนโต - กมลา สุโกศล และกมลี สุโกศล ปัจฉิมสวัสดิ์ ซึ่งมีอายุห่างกับกมลา 6 ปี

"นายห้างกมลเกลียดเด็กผู้ชายมาก ดิฉันเคยมีน้องผู้ชายอีกสองคน คนหนึ่งตายตั้งแต่ยังอายุสิบเดือนสมัยที่อพยพหนีทางเรือไปอยุธยา ตอนที่ญี่ปุ่นบุกไทย อีกคนตายเพราะแม่คลอดก่อนกำหนด ก็เป็นเด็กผู้ชายเหมือนกัน นายห้างกมลบอกว่า ช่างมัน ผู้ชาย ! พอดิฉันคลอดลูกชายคนที่สอง แกก็บอกว่าทิ้งไปฉันไม่เอา สามีฝรั่งดิฉันเคยถามว่าทำไมเกลียดเด็กผู้ชายนัก ? แกก็ตอบว่าไม่รู้" ความรู้สึกแปลกใจยังปรากฏในสิ่งที่กมลาเล่าให้ฟังถึงความไม่รู้สาเหตุ

อาจจะเป็นจิตใต้สำนึกลึก ๆ ที่นายห้างกมลคาดหวังต่อลูกคนแรกว่า จะเป็นผู้ชายก็ได้ จึงปรากฏว่าในวัยเด็กการอบรมเลี้ยงดูกมลากลับผิดแผกไปจากเด็กผู้หญิงทั่วไป กิตติศัพท์ของความแก่นแก้วแบบทอมบอยของกมลาเป็นที่เลื่องลือถึงเรื่องชกตีต่อย

"เท่าที่จำความได้ตั้งแต่เล็กจนถึง 7-8 ขวบ ตัวเองก็แต่งตัวเป็นเด็กผู้ชาย ตัดผมสั้น ใส่กางเกงมาตลอด เมื่อเล็ก ๆ ก็ต้องต่อยกับเขาทุกที เพราะถูกล้อชื่อพิมพาซึ่งเป็นชื่อผู้หญิงแต่ท่าทางเราเหมือนผู้ชายเขามองไม่ออก คุณแม่จับแก้ผ้าบ่อย พิมพาเป็นชื่อเดิมของกมลา เหมือนกับชื่อดารนีซึ่งเป็นชื่อเดิมของกมลี แต่ตอนหลังนายห้างกมลบอกว่าไม่เหมือนชื่อท่าน ท่านจับเปลี่ยนใหม่หมด" กมลาเล่าให้ฟังความโลดโผนในวัยเด็ก

หลังจากทำการค้าโต๊ะบิลเลียดได้สามปี ความชอบของกมลก็เปลี่ยนไปนิยมฟังเพลง เล่นเปียโน ที่ชักนำให้เป็นตัวแทนจำหน่ายวิทยุ เครื่องเสียง เครื่องบันทึกเสียง และตู้เย็นของบริษัทเยนเนอราล อีเล็คทริ๊ค อเมริกา

จนในที่สุด ก็นำไปสู่การสถาปนา "ห้างกมลสุโกศล" ในปี 2482 และได้จดทะเบียนเป็นรูป "บริษัท กมล สุโกศล จำกัด" ในปี 2492 ขณะที่นายห้างกมลมีอายุได้เพียง 36 ปี เริ่มแรกห้างกมลสุโกศลตั้งอยู่ที่ถนนตรีเพชร เยื้องโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง และได้ย้ายมาอยู่ที่หน้าวังบูรพาในเวลาต่อมา

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง การติดต่อการค้ากับต่างประเทศต้องหยุดชะงักไป เศรษฐกิจทั่วประเทศตกต่ำ แต่ความไม่หยุดนิ่งตามวิสัยพ่อค้าทำให้นายห้างกมลขวนขวายหารับซื้อของเก่ามาดัดแปลงเพื่อขายต่อไป เช่น รถจักรยานเก่า รถจักรยานยนต์เก่า และจักรเย็บผ้าเก่า

นิสัยรักการเดินทางผจญภัย ทำให้นายห้างกมลนับว่าเป็นนักธุรกิจไทยคนแรกคนหนึ่งที่เดินทางไปสหรัฐฯ หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง โดยที่ยุคนั้นไม่มีอัตราแลกเปลี่ยน กมลจึงนำพลอยติดตัวไปจำหน่ายด้วยในปี 2490

การเดินทางในครั้งนั้นต้องโดยสารเครื่องบินทหาร ระหว่างที่แวะพักเพื่อเปลี่ยนเครื่องบินในฟิลิปปินส์ ต้องนอนกลางดินกินกลางทรายอยู่หลายวัน จึงได้บินไปต่อถึงฮาวาย เนื่องจากมีเงินติดตัวไปเพียง 500 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไม่เพียงพอที่จะชำระค่าภาษีขาเข้าสำหรับพลอย จึงได้เก็บพลอยไว้ในคลังทัณฑ์บนที่ฮาวาย และบินต่อไปยังนิวยอร์ค ในที่สุดกมลก็ขายพลอยได้กะรัตละ 1.50 เหรียญสหรัฐฯ โดยคนซื้อต้องรับภาระจ่ายค่าภาษีขาเข้าที่ค้างให้ก่อน

ด้วยเงินที่ขายพลอยได้นี้นายห้างกมลได้ซื้อสินค้าต่าง ๆ เช่น วิทยุ เครื่องฉายหนังกลับมาเมืองไทยเพื่อขายต่อไป นับว่าเป็นความอุตสาหะที่ต้องเดินทางรอนแรมไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนนับแรมเดือน

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความตื่นตัวในสินค้าต่างประเทศที่อำนวยความสะดวกสบายมีสูงมากในปี 2494 นายห้างกมลจึงได้ตั้งอีกบริษัทหนึ่งชื่อ "บริษัทไทยบริติชพาณิชย์" จำหน่ายผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าจากอังกฤษ และได้ตั้งบริษัทอุตสาหกรรมแผ่นเสียงไทยในปีเดียวกัน เพราะคลุกคลีในวงการนี้ด้วยใจรัก

นายห้างกมลเป็นคนมองการณ์ไกลด้วยเล็งเห็นว่า รถยนต์น่าจะเป็นสินค้าที่มีอนาคต ประกอบตัวเองก็ชอบขับขี่รถยนต์มาตั้งแต่รุ่นหนุ่ม จึงเริ่มกิจการค้ารถยนต์หลายยี่ห้อในปี 2499 เช่น ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ STUDEBAKER ของสหรัฐฯ รถ TRIUMP และ SINGER ของอังกฤษ รถยี่ห้อ DAF ของเนเธอร์แลนด์ และ N.S.U. ของเยอรมัน

แต่ธุรกิจค้ารถยนต์ยี่ห้อต่างประเทศดังกล่าวไม่เป็นที่นิยมของตลาดเมืองไทย จึงไม่ประสบความสำเร็จ

ในปี 2502 ยูนยิโร นิชิโน ประธานบริษัทโตโยเมนก้า ไกซา (ประเทศไทย) ได้แนะนำนายห้างกมลให้ติดต่อกับบริษัท TOYO KOGYO ผู้ผลิตรถยนต์ "มาสด้า" ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบัน คือ บริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น

ความสัมพันธ์ทางการค้ากับโตโยเมนก้านี่เองที่ทำให้บริษัทกมล สุโกศล ได้กลายเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มาสด้าแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

เป็นเวลาไม่ต่ำกว่าสิบปีที่ความสำเร็จทางการตลาดของรถยนต์ญี่ปุ่นจะประจักษ์ขึ้นในสายตาญี่ปุ่น ความสำเร็จทางการค้านี้ทำให้ในปี 2516 บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นดำริจะตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ขึ้นในไทย และโครงการนี้ก็สำเร็จลงในปี 2516 โดยการเข้าร่วมทุนระหว่างนายห้างกมลกับมาสด้า มอเตอร์ และบริษัทโตโยเมนก้า ไกซา

ในปี 2516 เป็นปีที่นายห้างกมลได้ขยายกิจการมากที่สุดแตกแขนงไปสู่ธุรกิจการค้ารถยนต์ครบวงจร ตั้งแต่ประกอบ-ขาย-ประกัน-ผ่อนส่ง หลายบริษัทได้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน คือ บริษัทกมลสุโกศลประกันภัย บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กมลสุโกศล

เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยในเมืองมีมากขึ้น ความเป็นพอค้าที่มองเห็นลูางทำมาหากิน จึงทำให้นายห้างกมลคิดก่อตั้งบริษัทสุกมลก่อสร้างขึ้นมาสร้างแฟลตขนาด 290 ห้องให้คนมีรายได้น้อยเช่า ที่ตำบลบ้านบาตร ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ หลังจากนั้นไม่นานก็ได้สร้างอพาร์ทเมนท์ชื่อ ESMARALDA APARTMENT สำหรับผู้มีรายได้สูงที่ซอยอรรถการประสิทธิ์ ถนนสาธร

การลงทุนในด้านอื่น ๆ ที่สำคัญและเป็นรากฐานให้ลูกได้ทำต่อไปก็คือ การทำธุรกิจโรงแรม ซึ่งนายห้างกมลได้ซื้อโรงแรมเจ้าพระยา ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนศรีอยุธยา อันเป็นที่ตั้งปัจจุบันของโรงแรมระดับห้าดาว "สยามซิตี้" ที่กมลา สุโกศล บริหารกิจการอยู่

"เมื่อก่อนนี้ โรงแรมเจ้าพระยาเป็นที่พักแรมของทหารอเมริกันในสงครามเวียดนาม แต่เมื่อนายห้างกมลท่านซื้อโรงแรมเจ้าพระยาแล้วจะมาทำเอง ดิแนก็กำลังยุ่งอยู่กับโรงแรมสยามเบย์ซอร์ที่พัทยา เพราะไม่เคยจับธุรกิจนี้มาก่อน เจอปัญหาสารพัดอย่าง นายห้างกมลก็เลยให้ญี่ปุ่นเช่าที่ตรงนั้นไปทำเป็นชื่อใหม่ว่า โรงแรมนิวอัมรินทร์ พอทำไปได้สักพัก ก็มีการสไตร์คใหญ่ ญี่ปุ่นหนีไปไหนไม่รู้ ในฐานะเราเป็นเจ้าของสถานที่ เราก็ต้องจ่าย หนีแล้วปิดโรงแรมนิวอัมรินทร์ไป" กมลา สุโกศล เล่าให้ฟัง

เนื่องจากอุปนิสัยใจคอของนายห้างกมลที่ชอบสิ่งไหนก็ประกอบธุรกิจสิ่งนั้น เช่น ชอบบิลเลียด-ค้าโต๊ะบิลเลียด ชอบฟังเพลง-ขายวิทยุ สร้างห้องบันทึกเสียง และโรงงานทำแผ่นเสียง ชอบรถยนต์-เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ชอบดูหนัง-ร่วมถือหุ้นโรงภาพยนต์เฉลิมไทย ชอบท่องเที่ยว-ก็สร้างโรงแรม และคิดจะทำธุรกิจค้าปากกา นาฬิกา และแว่นตา เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน แต่โครงการนี้ก็ไม่เกิดขึ้นเพราะโอกาสไม่อำนวย

เมื่อถามถึงนิสัยส่วนตัวในความเห็นของ กมลา สุโกศล เธอได้เล่าว่า "ท่านเป็นเผด็จการ ทำงานด้วยยาก ถ้าหากท่านยังมีชีวิตต่อไปเรื่อย ๆ เราก็ไม่มีโอกาสเติบโต ไม่มีโอกาสเป็นตัวของตัวเอง ท่านต้องสั่งอยู่ตลอดเวลา จะต้องทำโน่นทำนี่" ลักษณะที่ DOMINATE ในตัวของนายห้างกมลตามคำบอกเล่าของลูกสาวที่บ่งบอกบางสิ่งบางอย่างได้

"นายห้างกมลท่านเป็นคนชอบเย็น ไม่ชอบร้อน ก่อนเขาจะเสียเคยสั่งไว้ว่า อย่าเผา ฉันก็เลยต้องเก็บศพไว้นานถึง 11 ปี และเหตุผลอีกอย่างคือเราไม่มีลูกชายเลยไม่มีใครไปไหว้ ไม่มีใครถือกระถางธูป จึงคิดว่าจะจัดการให้เรียบร้อย ถึงได้มีงานพระราชทานเพลิงศพขึ้นมาปีนี้" เรียม สุโกศล ภรรยาคู่ชีวิตของนายห้างกมล เล่าให้ฟัง

ตำนานชีวิตของนายห้างกมลในหลายหลากลักษณะที่เป็นทั้งพ่อค้าผู้ไม่หยุดนิ่ง เป็นศิลปินสร้างสรรค์ และเป็นจอมเผด็จการในครอบครัว ได้จบชีวิตลงด้วยโรคหัวใจกำเริบที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเช้าวันที่ 25 สิงหาคม 2523 และเพิ่งผ่านพิธีพระราชเพลิงศพเมื่อ 14 สิงหาคม 2534 นี่เอง !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.