โครงสร้างการบริหารของซีพีเทเลคอม จะมีคณะกรรมการ 2 ชุด ๆ แรกเป็นผู้ถือหุ้น
ซึ่งมีธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นประธานฯ และคณะกรรมการประกอบไปด้วยผู้ถือหุ้น
ซึ่งตรงนี้อาจจะมีคนของบริติช เทเลคอม เข้ามาร่วมด้วย
กรรมการชุดแรกไม่มีคนจากองค์การโทรศัพท์ฯ และไม่มีการระบุไว้ในสัญญาแต่อย่างใด
เว้นเสียแต่ว่าซีพีจะเชิญเข้ามาร่วมเท่านั้น
กรรมการชุดที่สองเป็นคณะกรรมการบริหารที่แต่ละคนล้วนมีภูมิหลังทางการศึกษาระดับ
PH.D. ทั้งนั้น มีทองฉัตร หงส์ลดารมย์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารคณะนี้
หรือที่เรียกว่า CEO ร่วมกับกรรมการหน้าเก่า คือ เฉลียว สุวรรณกิตติ, วีรวัฒน์
กาญจนดุล และวัลลภ วิมลวณิชย์
การแบ่งงานกัน คือ วีรวัฒน์ดูแลด้านการเงิน วัลลภดูด้านเทคนิคและทองฉัตรดูแลทั้งหมดในเรื่องของงานบริหาร
ผู้ที่ดึงทองฉัตรเข้ามาอยู่ใต้ร่มธงซีพี คือ วัลลภ ซึ่งเป็นรุ่นน้องวิศวฯ
จุฬาฯ ของทองฉัตรเพียง 3 รุ่น ว่ากันว่า สิ่งที่ซีพีต้องการคือฝีมือในงานบริหารโครงการ
ประเภทผู้บุกเบิกของทองฉัตรที่พิสูจน์ผลงานที่ ปตท.มาแล้ว โครงการโทรศัพท์ของซีพีต้องการผู้มีฝีมือทำนองนี้
!!
นอกจากนี้ ทองฉัตรน่าจะอยู่รุ่นใกล้เคียงกับ ไพบูลย์ ลิมปพยอม ผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์คนปัจจุบันที่จบวิศวฯ
จากจุฬาฯ เหมือนกัน
อีกข้อหนึ่งที่เป็นจุดเด่น คือ ความกว้างขวางในหมู่นักธุรกิจต่างชาติ นักการเงิน
นายธนาคาร ซึ่งโครงการซีพีต้องติดต่อกับบรรดาเอ็กซิมแบงก์และสถาบันการเงินหลายแห่ง
นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทองฉัตรคงจะได้ใช้ซีพีเป็นสนามแสดงฝีมือของตน
ในส่วนรองลงมาจากทองฉัตร ซีพีอยู่ระหว่างการให้บริษัทต่างชาติหาตัวฝรั่งที่มีประสบการณ์ในงานบริหารเครือข่ายโทรศัพท์มาจากอังกฤษหรืออเมริกา
เพื่อมารับตำแหน่ง CHIEF OPERATING OFFICER / COO
ซีพีได้คนของบริติช เทเลคอม มาร่วมงานแล้วด้วย 4 คน คือ
" พอล แลสเซล ดูแลการจัดทำแผนแม่บท
" ลินดอน คอลลินส์ ทำเกี่ยวกับการประมาณตัวเลขผู้ใช้บริการ ความต้องการใช้บริการโทรศัพท์
" จอห์น โจนส์ รับผิดชอบการออกแบบจัดวางระบบชุมสาย
" เรย์ จีราด ดูแลเรื่องทรานสมิชชั่น
บริษัท ซีพี เทเลคอม เวลานี้มีพนักงานประมาณ 100 คน ส่วนมากเป็นวิศวกรซึ่งดูแลเกี่ยวกับเรื่องการวางแผนการดำเนินงานและการออกแบบต่าง
ๆ