นโยบายที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของอินโดจีนเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย
ชุณหวัณ ที่มีความพยายามที่จะให้เงินบาทเป็นสกุลเงินที่ใช้ได้ในตลาดไทย-เขมร-ลาว-ญวน
ความพยายามในรัฐบาลชุดนั้นไม่ใช่ไร้ค่าเสียทีเดียว พร้อม ๆ กันไปกับการผลักดันนโยบายเพื่อการแก้ปัญหาต่าง
ๆ ในอินโดจีน รัฐบาลก็มีนโยบายที่จะตัดทอนกฎระเบียบทั้งหลายเพื่อพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน
(DEREGULATION) ในประเทศให้ผงาดเป็นศูนย์กลางทางการเงินของอินโดจีนขึ้นมาให้ได้
เมื่อมาถึงรัฐบาลโปร่งใสที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นที่คาดหมายกันอย่างมากว่า
ร่างกฎหมายที่จะใช้พัฒนาตลาดทุนและตลาดเงินของไทยจะผ่านขั้นตอนการพิจารณาต่าง
ๆ ในสภาฯ ออกมาใช้กันเสียที
กฎหมายที่ว่าคือพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ (SECURITY
AND EXCHANGE COMMISSION) ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยกัน 3 ฉบับ คือ กฎหมายมหาชน
กฎหมายตราสารทางการเงิน และกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ หรือ พรบ.ตลาดหลักทรัพย์ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
กฎหมายทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวจะยุบลงเหลือเพียง พรบ.บริษัทมหาชนฉบับหนึ่ง และพรบ.
SEC อีกเป็น 2 ฉบับเท่านั้น โดยกฎหมาย SEC จะมีมาตราจำนวนมากถึง 346 มาตรา
สาระสำคัญในตัวกฎหมาย SEC นั้นแทบจะเรียกได้ว่า บัญญัติเรื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไว้ทั้งหมด
อาทิเช่น รูปแบบของใบหุ้น การเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบครองกิจการ
(TAKE OVER) การควบคุมการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งจะมีการแยกธุรกิจเงินทุนออกไป
การจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ ตลาด OTC ตลาดซื้อขายล่วงหน้า สถาบันที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
เรื่องที่ถกเถียงกันมาก็คือ เรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(SECURITIES INVESTMENT BOARD หรือ SIB) โดยเฉพาะผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการฯ
ซึ่งแต่เดิมมีการเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานฯ โดยตำแหน่ง
แต่มีฝ่ายที่คัดค้านมองว่าไม่ควร เพราะตำแหน่ง รมต.เป็นตำแหน่งทางการเมือง
อาจจะมีการนำผลประโยชน์ส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
คณะกรรมการ SIB ทำหน้าที่กำกับควบคุมการประกอบธุรกิจและการดำเนินงานของสถาบันต่าง
ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นอกจากประธานฯ มารจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว
มีกรรมการโดยตำแหน่งอีก 3 คน คือ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์
และผู้ว่าการแบงก์ชาติ และกรรมการที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีก
3-5 คน รวมเป็นกรรมการทั้งสิ้นไม่เกิน 9 คน
ต่อมา หลังจากที่มีการโต้เถียงกันอย่างมากในสภาฯ จึงได้มีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง
ชื่อ คณะกรรมการควบคุมหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มีหน้าที่ควบคุมให้มีการปฏิบัติตาม
พรบ.นี้ กรรมการชุดนี้ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่ รมต.ว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งไม่เกิน
4 คน
การดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ทั้งสองชุดจะได้รับทุนสนับสนุนจาก 3 แห่งใหญ่
คือ กองทุนแก้ไขปัญหาธุรกิจหลักทรัพย์จำนวน 535.56 ล้านบาท กองทุนพัฒนาตลาดทุนหลังจากที่มีการชำระบัญชีเรียบร้อยแล้วจำนวน
330.91 ล้านบาท และรายได้ส่วนหนึ่งจากการประมูลโบรกเกอร์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
จำนวน 505.51 ล้านบาท รวมเป็นทุนเบื้องต้นทั้งสิ้น 1,350 ล้านบาท
พิจารณาดูแล้ว ผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในคณะกรรมการทั้งสองชุดก็คือ รมต.คลัง
เพราะเป็นผู้ที่เสนอรายชื่อคณะกรรมการให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ
เป็นเรื่องแปลกไม่น้อยที่ทุกฝ่ายต่างเห็นข้อบกพร่องตรงจุดนี้ ทว่ามีผู้ออกมาแสดงการคัดค้านเพียงคนเดียว
คือ ไพจิตร เอื้อทวีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ไพจิตร คัดค้านการที่รวมเรื่องตราสารทางการเงินทั้งหลายเข้าไว้ใน พรบ. SEC
ซึ่งในเวลาต่อมาเรียกว่า พรบ.SIB ด้วย
แต่หลายฝ่ายมองว่า ไม่ควรจะแยกเพราะหลักทรัพย์ก็เป็นตราสารการเงินประเภทหนึ่ง
ประเด็นที่ควรสนใจคือเรื่องการเปิดเผยข้อมูลมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นตราสารฯ
ระยะสั้นหรือยาวก็ควรจะมีการเปิดเผยข้อมูลเท่าเทียมกันทั้งหมด
หลังจากที่ รมต.คลังสุธี สิงห์เสน่ห์ นำร่าง พรบ.SIB ไปแก้ไขอยู่หลายหน
ครั้งล่าสุดที่เสนอเข้า ครม.เมื่อ 3 กันยายน สุธีใช้เวลาเสนอเพียงไม่กี่นาทีร่างกฎหมายเพื่อการปฏิวัติตลาดทุนฉบับนี้ก็ผ่านความเห็นชอบอย่างสะดวกง่ายดาย
ส่วนประเด็นที่ไพจิตรติติงไว้นั้น ถูกผลักไปสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติในอีก
3 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมาพิจารณากลั่นกรองกฎหมายฉบับนี้
นายกฯ อานันท์พยายามเร่งให้มีการประกาศใช้กฎหมาย SIB ก่อนที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะหมดอายุ
นั่นเท่ากับไม่นานเกินรอที่จะมีการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ ขึ้นมาในตลาด
รวมทั้งการพัฒนาตลาดอื่น ๆ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นตลาดแรกทั้งหลาย
ความหวังที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางทางการเงินเริ่มเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นแล้ว