|
แบงก์ชาติยอมคลังลากยาว สรุปขายหุ้นไทยธนาคารพ.ย.
ผู้จัดการรายวัน(23 กรกฎาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ธปท.ยอมคลังลากยาวพิจารณากรณีขายหุ้นบีทีให้ CIMB Group เสร็จสิ้นปลายพ.ย. ระบุหากคลังไม่อนุมัติต้องมีเหตุผลชี้แจงได้ เพราะการตัดสินใจมีผลทั้งด้านบวกและลบ ด้าน"ไทยธนาคาร"ปลื้ม CIMB Group มั่นใจในอนาคต พร้อมใส่เงินเพิ่มทุนให้อีก 6 พันล้าน
นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยถึงกรณีความคืบหน้าการส่งหนังสือขอเพิ่มสัดส่วนให้ต่างชาติถือหุ้นของธนาคารไทยธนาคาร จำกัด(มหาชน) หรือบีที หลังจากที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้ลงนามสัญญาขายหุ้นของไทยธนาคารที่ถืออยู่ 42.13% ให้แก่กลุ่มซีไอเอ็มบี จากประเทศมาเลเซียว่า เอกสารและข้อมูลต่างๆ ที่ส่งให้แก่กระทรวงการคลังน่าจะได้รับแล้วเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่ผู้ว่าการธปท.ได้ลงนามในเอกสารดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา และเชื่อว่าหลังจากนี้ขั้นตอนทุกอย่างจะเสร็จสิ้นภายในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้
“ในช่วง 5 เดือนนี้หรือภายในเดือนพ.ย.หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติให้ ทางกลุ่มซีไอเอ็มบีสามารถตกลงจ่ายเงินให้แก่กองทุนฟื้นฟูฯ ได้ ต่อจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ซึ่งรวมถึงการทำคำเสนอซื้อหุ้นจากรายย่อย(เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) นอกจากนี้ต้องแจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกของไทยธนาคารด้วย หลังจากนั้นถึงจะเป็นแผนการดำเนินธุรกิจในอนาคตและการเพิ่มทุน ซึ่งสายกำกับสถาบันการเงินมองว่าต้องให้แผนครอบคลุมอย่างน้อย 3 ปี”นายสรสิทธิ์กล่าว
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการเพิ่มทุนนั้นทางไทยธนาคารได้เสนอแผนธุรกิจระยะต่อไปส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาด้วยในลักษณะเพ็คเก็จ ขณะที่สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท.ก็มองว่าเมื่อมีการเพิ่มทุนครั้งนี้แล้วจะต้องทำให้เงินกองทุนของไทยธนาคารไม่น้อยกว่าสัดส่วนของค่าเฉลี่ยในระบบ คือ 12% ด้วย ซึ่งการเพิ่มทุนดังกล่าวนี้พิจารณาจากฐานะ ผลการดำเนินงาน การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ
“หนังสือที่ส่งเรื่องไปนั้นได้อธิบายเงื่อนไขที่กองทุนฟื้นฯและกลุ่มซีไอเอ็มบีได้ตกลงกันไว้ในช่วง 5 เดือน ซึ่งจะให้รัฐมนตรีตัดสินใจสิ้นเดือนที่ 5 คงไม่ใช่ และจากเอกสารและข้อมูลต่างๆ ที่เราส่งไปไม่ว่าจะเป็นการขออนุญาตให้รายย่อยเข้าถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์เกิน 5% และทุกรายที่เป็นต่างชาติรวมกันถือหุ้นเกิน 49% รวมทั้งแนบเอกสารอื่นๆ ตามไปด้วยไม่ว่าจะเป็นการรายงานสถานการณ์ของบีทีในปัจจุบัน ปัญหาที่เกิดขึ้น วิธีการแก้ไขปัญหา เหตุผลที่กองทุนฟื้นฟูฯ ขายหุ้น มาตรการที่ควรดำเนินการทำต่อไป ดังนั้น หากคลังไม่อนุมัติให้ก็ต้องมีเหตุผล แต่เชื่อว่าคนตัดสินใจจะต้องดูทุกเรื่องอย่างรอบคอบ เพราะการตัดสินใจมีผลทั้งด้านบวกและลบ”
ด้านธนาคารไทยธนาคารได้แจ้งว่า จากที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฯ) ได้เข้าทำสัญญาขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ในไทยธนาคาร ให้กับกลุ่ม CIMB แห่งประเทศมาเลเชียนั้น ไทยธนาคารมีความยินดีที่จะร่วมงานกับ CIMB ในฐานะผู้ถือหุ้นหลักของธนาคาร และพร้อมที่จะร่วมกันเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับไทยธนาคารในระยะยาว และขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อขออนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการที่ CIMB Group จะเข้ามาถือหุ้นไทยธนาคาร
นอกจากนี้ ธนาคารได้รับจดหมายแสดงเจตจำนงจาก CIMB Group ซึ่งได้ระบุว่า CIMB Group มีความเชื่อมั่นในอนาคตของไทยธนาคาร และมีเจตจำนงค์ยึดมั่นที่จะให้การสนับสนุนแผนการระดมทุนของไทยธนาคารในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาท โดย CIMB จะเข้าร่วมในการเพิ่มทุนของไทยธนาคาร ภายหลังจากได้ดำเนินการซื้อหุ้นจากกองทุนฯ แล้วเสร็จ และ CIMB เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของไทยธนาคาร แล้ว รวมไปถึงการทำคำเสนอซื้อหุ้นไทยธนาคารทั้งหมด (Mandatory Tender Offer) จากผู้ถือหุ้นรายอื่นทุกรายแล้วเสร็จ ซึ่งจะได้มีการหารือกับไทยธนาคารต่อไป
ในส่วนของไทยธนาคารนั้น ธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนในการเพิ่มความแข็งแกร่งของเงินกองทุน โดยเจตจำนงของ CIMB ในการเพิ่มทุนในธนาคารนั้น สอดคล้องกับแผนที่ธนาคารได้วางไว้ ซึ่งจะมีการพิจารณารายละเอียดและหาข้อสรุปกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ทั้งนี้ แผนเพิ่มทุนของไทยธนาคาร จะขึ้นกับการได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคารและผู้ถือหุ้น ซึ่งในขณะนี้ ไทยธนาคารอยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อการขออนุมัติดังกล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2551 ธนาคารมีผลประกอบการตามงบการเงินรวม มีกำไรสุทธิ 214 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทย่อยมีผลกำไรจากการขายเงินลงทุนจำนวน 1,145 ล้านบาท สำหรับงบการเงินเฉพาะธนาคาร ธนาคารมีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 571 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2 เปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมาซึ่งมีผลขาดทุน 2,186 ล้านบาท โดยผลขาดทุนสุทธิจำนวน 571 ล้านบาทเป็นผลกระทบมาจากการตั้งสำรองเผื่อการด้อยค่าของตราสาร CDO เป็นหลัก ซึ่งก่อนการตั้งสำรองเผื่อการด้อยค่า CDO ธนาคารมีผลขาดทุนจำนวน 43 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2 สำหรับผลการดำเนินงานโดยรวมในครึ่งปีแรก ธนาคารมีผลประกอบการตามงบการเงินรวมก่อนการตั้งสำรองเผื่อการด้อยค่า CDO เป็นกำไรสุทธิ 1,069 ล้านบาท ในขณะที่งบการเงินเฉพาะธนาคาร ธนาคารมีกำไรก่อนการตั้งสำรองเผื่อการด้อยค่า CDO 186 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 2,757 ล้านบาท (หลังหักสำรองเผื่อการด้อยค่า CDO จำนวน 2,943 ล้านบาท)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|