ปัญหากากเคมีใต้แผ่นดินเมืองกาญจน์ ยังไม่จบแต่ถูกกลบไว้

โดย นฤมล อภินิเวศ โสภิดา วีรกุลเทวัญ สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

กากสารเคมีถูกฝังไว้ ณ เมืองกาญจน์ ท่ามกลางความไม่ยินยอมของ "เจ้าของบ้าน" จนกระทั่งถึงวันนี้ ในขณะที่ฝ่ายรัฐเร่งยุติเรื่องโดยปิดตายหลุมฝังไปแล้ว แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงมาก ถึงความไม่ปลอดภัยในอนาคต เพราะความรู้ทางวิชาการยังล้าหลังอยู่มาก ซ้ำความรับผิดชอบและการตระหนักถึงพิษภัยจากสารเคมีก็น้อยเกินไป ปัญหาหลายข้อเกี่ยวกับกากเคมีที่กาญจนบุรีจึงเพียงแต่ถูกกลบไว้เท่านั้นมิใช่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

เหตุการณ์สารเคมีระเบิดลุกไหม้เริ่มเปิดฉากแรกเมื่อบ่ายวันที่ 2 มีนาคม ก่อผลเสียหายมากมายให้กับชาวชุมชนเกาะลาว คลองเตย และการท่าเรือกรุงเทพ ตลอดจนยังส่งผลกระทบถึงสภาพแวดล้อมในย่านใกล้เคียงด้วยฝุ่นละอองและเขม่าอันตราย

หลังจากนั้น ในวันที่ 19 มีนาคม ฉากที่สองของเรื่องนี้ก็เริ่มย้ายไปยังจังหวัดกาญจนบุรี กากสารเคมีบรรจุภายในถังอะลูมิเนียมจำนวนหลายคันรถถูกลำเลียงไปอย่างเงียบ ๆ กว่าที่ชาวกาญจนบุรีจะได้รับรู้และออกมายับยั้งทุกอย่างก็สายเกินไป เพราะบนพื้นที่กว่า 4,000 ตารางเมตร บริเวณเชิงเขาแหลม ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง ได้กลายเป็นแหล่งฝังกากสารเคมีเหล่านั้นไปเสียแล้ว ...

เรื่องของการจัดการกากสารเคมีนับว่าเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย ทั้ง ๆ ที่มีการใช้สารเคมีกันมานานแล้ว และกำลังจะใช้มากยิ่งขึ้นทุกที เมื่อทิศทางการพัฒนาประเทศมุ่งไปในทางอุตสาหกรรม

สารเคมีที่ถูกนำมาใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งจะเข้าสู่กระบวนการผลิตได้รับการแปรรูปออกมาเป็นสินค้า บางส่วนแปรเป็นกากของเสียในรูปของสินค้าไม่ได้มาตรฐาน และบางส่วนก็เป็นกากที่ถูกระบายปะปนออกมาสู่สิ่งแวดล้อม เป็นส่วนที่จะต้องได้รับการดูแลจัดการที่ถูกต้อง มิเช่นนั้น จะสร้างความเสื่อมโทรมแก่สภาวะแวดล้อมทั้งยังก่ออันตรายต่อสุขภาพของคน สัตว์ และพืชได้ด้วย

สำหรับประเทศไทย ในหลายปีที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงถึงประมาณ 10% ต่อปี มีความมุ่งหมายจะก้าวสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ มีการนำเข้าสินค้าอันตรายในอัตราที่สูงขึ้นกว่า 10% ทุก ๆ ปี ปริมาณสารเคมีที่นำเข้ามาใช้ในแต่ละปีสูงกว่า 700,000 เมตริกตัน ส่งผลให้มีปริมาณกากหลังการใช้สูงเป็นเงาตามตัว แต่กลับมีสถานบำบัดของเสียเพียง 1 แห่ง คือ ที่แขวงแสมดำ เขนบางขุนเทียน ซึ่งต้องรองรับกากของเสียที่มีปริมาณรวมแล้วปีละประมาณ 2 ล้านตัน !

กากสารเคมีเป็นส่วนหนึ่งของกากของเสียที่เป็นอันตรายที่จำเป็นต้องได้รับการบำบัดพิเศษ

โดยทั่วไป วิธีการจัดการกากของเสียที่เป็นอันตรายมีอยู่หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นโดยวิธีทางกายภาพ โดยวิธีทางเคมี หรือโดยการปรับสภาพให้เป็นกลาง ฯลฯ แต่วิธีเหล่านี้เป็นเพียงขั้นของการบำบัดที่มีเป้าหมายมุ่งที่จะปรับสภาพทางกายภาพและเคมี คือ ลดปริมาตรให้น้อยลง และทำลายหรือลดความเป็นพิษก่อนที่จะดำเนินการกำจัดทิ้งในขั้นสุดท้าย ซึ่งมีวิธีการที่ปลอดภัยอยู่ 2 วิธี คือ การฝังกลบ และการเผา

โรงกำจัดที่บางขุนเทียน มีประสิทธิภาพเพียงทำลายพิษของสารบางอย่างให้เบาบางลงได้ จากนั้นก็ต้องเก็บไว้รอระบบสมบูรณ์ที่ยังเป็นเรื่องของอนาคต โรงกำจัดบางขุนเทียนไม่สามารถกำจัดกากทั้งหมดได้เพราะไม่มีทั้งระบบหอกลั่นและระบบเตาเผา !

นี่คือภาพความเป็นจริง ณ พ.ศ. นี้ สำหรับปัญหาร้ายแรงอย่างเรื่องกากสารเคมีที่ยังไม่มีระบบ "กำจัด" ที่ถูกต้อง - เหมาะสม หรือแม้แต่ในแง่ของการควบคุมกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง กับการควบคุมกากสารเคมีก็มีอยู่เพียง 2 ฉบับเท่านั้น คือ พระราชบัญญัติโรงงาน และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ควบคุมแต่เฉพาะบางส่วนเท่านั้น

ส่วนที่พระราชบัญญัติโรงงานควบคุมก็คือ กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจำนวน 103 ประเภทตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติต้องดูแลป้องกันมิให้น้ำทิ้ง ควัน ฝุ่นก๊าซ กากตะกอน และภาชนะบรรจุสารเคมีที่ผ่านกระบวนการผลิตแล้ว ก่อปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกโรงงาน

ในขณะที่พระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมกำหนดในเรื่องของการทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่รวมถึงการต้องแสดงวิธีกำจัดกากของเสีย ตลอดจนติดตามตรวจสอบผลกระทบที่อาจเกิดต่อสิ่งแวดล้อมในภายหลัง แต่กิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายควบคุมก็มีเพียง 8 ประเภท

"ในต่างประเทศเขาจะมีกฎหมายเฉพาะเรื่องพวกนี้เลย แต่การทำกฎหมายเฉพาะมีปัญหาอยู่ว่าองค์กรใดจะเป็นคนดูแล ตอนนี้กากเคมีที่เป็นอันตรายมาจากโรงงานอุตสาหกรรมมาก ซึ่งกฎหมายโรงงานก็คลุมอยู่ระบุไว้หมดว่าไม่มีสิทธิเอา WASTE ออกมาทิ้งแต่ขณะเดียวกันก็เกิดมีช่องว่างระหว่างประสิทธิภาพการกำจัดกับปริมาณของ WASTE" อดิศักดิ์ ทองไข่มุกต์ หัวหน้าฝ่ายจัดการกากของเสีย กองมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กล่าวถึงปัญหาในภาพรวม

จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เมื่อเกิดโศกนาฎกรรมขึ้นที่ท่าเรือคลองเตย สิ่งที่เหลือตามมาจึงหาที่ลงไม่ได้ !!

"ตอนนั้นผมคิดถึงเตาเผาที่ใหญ่ที่สุดก็ที่ปูนซิเมนต์ไทย แต่เตานั้นสำหรับทำปูน ไม่ใช่สำหรับเผา คิดทุกทางออกไม่ใช่ไม่ได้คิด คิดว่าจะเอาไปทิ้งทะเลหลวง แต่ไป ๆ มา ๆ ก็ว่าอย่าเลย แย่ มันก็คงหายวับไปกับตาจริง ไม่เหลือเป็นปัญหาอย่างทุกวันนี้ แต่ก็ไม่ดี เป็นความไม่รับผิดชอบ และตอนนั้นก็ต้องแข่งกับเวลาเพราะตั้งทิ้งไว้ที่คลองเตยคนแถวนั้นก็ว่าไม่จัดการเสียที" ภิญโญ พานิชพันธ์ นายกสมาคมเคมีผู้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้แก่ รสช. ในการแก้ไขปัญหากล่าวเปิดใจกับ "ผู้จัดการ"

นั่นคือเบื้องหลังและข้อจำกัดที่ไม่อาจใช้วิธีเผาในการจัดการกากสารเคมี ส่วนเบื้องหลังที่ว่าทำไมสถานที่ต้องเป็นจังหวัดกาญจนบุรีนั้น นายกสมาคมเคมีกล่าวว่า

"เรื่องนี้ ทหารเขาประชุมกันเอง แล้วคงมองหาหลายแหล่ง ตัดสินใจได้ว่าเมืองกาญจน์ดีที่สุด ผมจำได้แม่นเลยว่า ได้แนะนำว่าขอให้มีชั้นหินที่ดี ดินต้องเป็นชนิดที่ฝนตกแล้วไม่ชะเข้าไปยังแหล่งน้ำที่ใกล้เคียง และต้องรู้เรื่องระดับน้ำใต้ดินด้วย พูดแบบไปแล้ว ทหารเขาก็เป็นคนดู ก็เลือกเมืองกาญจน์มา"

ส่วนสุทธิเวช ต.แสงจันทร์ นักวิทยาศาสตร์ระดับ 6 แห่งกรมวิทยาศาสตร์บริการ 1 ในคณะทำงานการทำลายกากสารเคมีชุดเดียวกับ ดร.ภิญโญ กล่าวว่า

"ที่ราชบุรีไม่เหมาะในการฝัง เพราะว่าเป็นที่ลุ่มดินเป็นดินปนทราย ส่วนที่กาญจนบุรีใช้ได้เพราะเป็นดินแดง มีความเป็นกลาง ไม่มีความชื้นอยู่ใกล้ภูเขา"

ไม่ว่าพื้นที่เชิงเขาแหลมจะได้รับการตรวจสอบว่ามีความเหมาะสมในเชิงเทคนิควิชาการดังกล่าวจริงหรือไม่ นี่เป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ย่อมไม่ใช่เหตุผลข้อเดียวที่ทำให้เมืองกาญจนบุรีถูกเลือก

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลทางการเมืองมีส่วนกำหนดในเรื่องนี้อย่างสำคัญ เนื่องจากเมื่อแรกที่มีการกำหนดว่า จะขนย้ายกากสารอันตรายไปไว้ในพื้นที่ 300 ไร่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จังหวัดราชบุรี โดยมิได้ตั้งใจว่าจะนำไปฝัง แต่จะเก็บไว้ภายในอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อรอการเผาหลังจากที่ประเทศไทยมีโรงเผาเรียบร้อยแล้ว ในครั้งนั้นปรากฏว่าชาวจังหวัดราชบุรีได้ลุกขึ้นประท้วงอย่างมากมาย รวมทั้งตัวผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย กระแสต่อต้านส่วนนี้แรงมากเกินกว่าที่คณะรสช.จะมองข้ามจึงทำให้แผนการต้องปรับเปลี่ยนไปในที่สุด

การขนย้ายกากเคมีเข้าจังหวัดกาญจนบุรีไม่มีการประกาศออกมาล่วงหน้าอีกจึงไม่มีการต่อต้านใด ๆ แม้กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีเองก็ยืนยันว่าไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อนเลย กว่าชาวเมืองกาญจน์จะรู้ความจริงก็เมื่อผิดสังเกตกับขบวนรถทหารผ่านเข้าเมืองมาติดต่อกันถึง 4 วัน

แต่การลุกขึ้นค้านในตอนนั้นนับว่าช้าไป ไม่ว่าจะเรียกร้องกันเพียงใด ด้วยรูปแบบไหน ตอลดเวลากว่า 6 เดือนที่ผ่านมา กากสารเคมีจากท่าเรือคลอดเตยก็ยังคงฝังอยู่ใต้แผ่นดินแควน้อย ในเขตที่ดินของทหาร

...ที่นั่นถือว่าเป็นสถานที่ฝังกากสารพิษแหล่งแรกของเมืองไทย !!!

ในเรื่องของการกำจัดกากสารเคมีอย่างปลอดภัยด้วยวิธีฝังกลบนั้น โดยหลักสากลถือว่าเป็นเทคโนโลยีสุดท้ายที่จะใช้ภายหลังจากหาวิธีอื่นที่เหมาะสมไม่ได้อีกแล้ว เพราะวิธีนี้เป็นวิธีที่ยากต่อการควบคุม และต้องมีการดูแลรักษาต่อเนื่องยาวนาน

"วิธีฝังใช้ได้ แต่วิธีที่ถูกต้องที่สุดและเป็นวิธีที่สมบูรณ์ที่สุดก็คือ การเผาเป็นระบบ INCINERATOR ต้องใช้อุณหภูมิสูงตั้งแต่ 500 องศาขึ้นไป โดยเฉพาะสารเคมีอุณหภูมิต้องสูงมากนับ 1,000 องศา แต่วิธีเผาจะเป็นวิธีการที่แพงที่สุด" ชมพูศักดิ์ พูนเกตุ ผู้อำนวยการศูนย์พิษวิทยาประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในเชิงหลักวิชาการ

อย่างไรก็ดี ตามสภาพความเป็นจริง การฝังกากสารเคมีเป็นวิธีที่ถูกใช้อยู่อย่างกว้างขวาง มากกว่า 50% ของปริมาณของเสียอันตรายในสหรัฐฯ ก็ได้รับการกำจัดด้วยวิธีนี้ สำหรับประเทศไทยเองก็มีการฝังกากน้ำมันมาบ้าง แต่ยังไม่เคยมีการฝังกากสารเคมีโดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องปฏิบัติตามวิธีการอย่างเคร่งครัดและมีการพิจารณาเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม มีการศึกษาถึงสภาพดิน ระดับน้ำใต้ดิน ความห่างไกลจากแหล่งน้ำ ฯลฯ

ข้อพิจารณาที่สำคัญของระบบการฝังก็คือ ต้องป้องกันการปนเปื้อนต่อน้ำบาดาล และการแพร่กระจายสู่ดิน ดังนั้นวิธีป้องกันที่เป็นสูตรหลัก ๆ จึงได้แก่ ประการแรก ของที่ฝังไม่เป็นของเหลว ประการที่สอง ต้องเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำชะผิวดิน ประการที่สาม ใช้วัสดุกันซึมทุกชั้นที่ฝังกลบ รวมทั้งในขั้นสุดท้าย และประการที่สี่ มีการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดินอย่างสม่ำเสมอ

"ในการฝังแต่แรกก็จะให้มีการเทคอนกรีตก่อน แต่ต้องใช้เวลานาน ทหารบอกว่าช้าไปเพราะการท่าเรือต้องการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ก็เลยขุดหลุมฝังเลย แต่สารเหล่านี้อยู่ในถังอลูมิเนียมอย่างดี แน่ใจว่าภายใน 2-3 ปีจะไม่มีการผุหรือซึมออกมา" สุทธิเวช ต.แสงจันทร์ กล่าว

จากการขุดหลุมฝังอย่างเปลือย ๆ ในครั้งแรกนี้ คือ ข้อที่ได้รับการโจมตีและคัดค้านอย่างมากมายในภายหลังจึงต้องปรับปรุง โดยล่าสุดมีการจัดการก่อคอนกรีตล้อมรอบบริเวณพื้นที่ฝังสารเคมีและเทปูนฉาบหน้าด้านบน ปิดตายโกดังสารเคมีใต้ดินเพื่อความปลอดภัย หน่วยงานผู้รับผิดชอบดำเนินการก็คือ กองพลทหารราบที่ 9

"โครงการนี้เกิดจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี ท่านมาตรวจเยี่ยมแล้วสั่งการว่า ให้ทำตามที่ผู้เรียกร้องต้องการ จนตั้งคณะกรรมการกันขึ้นมา เสนอแบบไป ท่านก็อนุมัติเข้ามา โดยขอรับงบจากการท่าเรือมาดำเนินการประมาณ 1 ล้านกว่าบาท ทั้งค่าแรง ค่าน้ำมันการขนย้าย วัสดุ ทุกอย่าง" พันเอกพิเศษ ทวีปสุวรรณสิงห์ รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 ได้กล่าวไว้กับ "ผู้จัดการ"

ในการจัดการครั้งนี้ ทหารช่างใช้วิธีขุดเจาะบริเวณพื้นที่ฝังโดยรอบทุก ๆ ด้านตามการฝังที่ได้ทำไว้เป็นรูปตัวแอล จากนั้นก่อกำแพงคอนกรีตหนา 10 เซนติเมตร ในขนาดความลึกที่ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับการขุดในจุดต่าง ๆ ว่าลึกเพียงใด ซึ่งทางผู้ทำกล่าวว่าทุกจุดได้เจาะลึกจนกระทั่งถึงชั้นหิน ไม่มีทางที่จะมีการซึมทางด้านล่าง ส่วนด้านบนนอกจากมีซีเมนต์ฉาบกันแล้ว ทางด้านเชิงเขาก่อนถึงพื้นที่ยังได้มีการทำคูดักน้ำให้ไหลอ้อมออก 2 ข้างทาง

"คอนกรีตไม่ใช่จะกันน้ำได้ มันอาจแตกหรือรั่วทำให้น้ำซึมได้ และสารเคมีแบบที่เป็นสารอินทรีย์ย่อมผ่านคอนกรีตได้ เพราะฉะนั้นการลงทุนอย่างนี้ไม่เป็นประโยชน์" ปรีชา ยอดเณร ผู้เชี่ยวชาญด้านกากของเสียอันตรายของบริษัท GAI CONSULTANTS แห่งเมืองพิตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ปรีชา ชี้ว่า ผืนดินที่พอจะรับประกันการฝังได้ต้องเป็นดินเหนียว ซ้ำยังจะต้องอัดดินนั้นจนแน่นก่อนปูทับอีกชั้นด้วยพลาสติกที่เรียกว่า HDPE-HIGH DENSITY POLYETHELENE หนาประมาณ 60 มิลลิเมตร ประกบด้วยเยื่อ (TEXTILE) หรือทรายเพื่อป้องกันการขาดจากชั้นทรายมีท่อพลาสติกวางเป็นแขนงโผล่ออกภายนอกเป็นช่องสำหรับการสำรวจว่ามีการรั่งซึมหรือไม่ แล้วปูพลาสติกอีกชั้นหนึ่งจึงใส่สารลงไป ส่วนด้านบนก็กลบด้วยดินเหนียวอัดแน่นตามด้วยพลาสติกแบบเดิมอีกครั้ง และชั้นบนสุดเป็นดินเหนียวที่มีการปลูกหญ้าไว้ด้วย เช่นนี้ถึงจะเรียกว่าวิธีที่ปลอดภัย

"ถ้าทำไม่ได้อย่างถูกต้อง การเอาไปฝังเป็นความคิดที่ผิดตั้งแต่ต้น หากว่ามีปัญหาจริง ๆ ก็ควรส่งไปเผาที่อื่นหรือเผาไม่ได้จริง ๆ ก็ควรเก็บไว้ก่อนในโกดังดี ๆ คอนกรีตนั้นอาจจะช่วยได้หน่อย แต่ว่า 2-4 ปีก็ไหลออกมาได้ ก่อนหน้านี้แทนที่จะเสีย 2-3 ล้านบาทขนออกไปเผา อาจจะเสียเป็น 10 ล้านในอนาคต"

แท้จริงชาวกาญจนบุรีคัดค้านต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อย่างเอาจริงเอาจังด้วยเสียงอันดัง นับตั้งแต่เมื่อเริ่มรู้จนกระทั่งบัดนี้ โดยวัตถุประสงค์ไม่เคยเปลี่ยนเลย นั่นคือเรียกร้องให้มีการจัดการกากเคมีให้ถูกต้องปลอดภัยด้วยการนำขึ้นมาเสียจากใต้ดิน สร้างโกดังเก็บไว้รอการนำไปเผา หรือถ้าจะฝังไว้ก่อนก็ขอให้มีการปรึกษาหารือกันระหว่างนักวิชาการผู้มีความรู้ทั้งหลายให้ได้ข้อตกลงเป็นเอกฉันท์ว่าจะจัดการฝังอย่างไร ไม่ใช่เก็บไว้ในลักษณะที่เป็นอยู่ เพราะไม่ใช่เพิ่งมีแต่ปรีชาเท่านั้นที่ท้วงติง แต่มีนักเคมีและนักวิชาการทางสิ่งแวดล้อมต่างท้วงติงมาแล้วมากมาย

แผ่นผ้าคัดค้านยังคงมีให้เห็นตามชายคาบ้าน แม้จะถูกปลดลงไปหนแล้วหนเล่าหนังสือร้องเรียนยังคงเวียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนการร้องเรียนด้วยถ้อยคำจากปากคนกาญจนบุรีเองกับ "ผู้ใหญ่" หลาย ๆ คนของบ้านเมืองก็เกิดขึ้นหนแล้วหนเล่า แต่ยังไม่เคยได้รับการขานตอบที่น่าพึงพอใจ

การที่ข้อเรียกร้องทั้งหลายไม่เป็นผลก็เพราะสมมติฐานเกี่ยวกับความเป็นพิษของกากเคมีที่ฝังอยู่แตกต่างกัน ขณะที่ผู้มีอำนาจจัดการปัญหายืนยันว่า กากเหล่านั้นปราศจากพิษสงแล้ว แต่ฝ่ายผู้เรียกร้องยังคงคลางแคลงสงสัย

"บอกว่าไม่มีพิษ ๆ แต่กลับต้องรีบร้อนขนมาจากท่าเรือคลองเตย ถ้าไม่มีพิษจริงก็ต้องไว้ที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเอามากาญจนบุรีเลย" นี่คือข้อสังเกตของฝ่ายค้าน

ส่วนคำอธิบายของนักวิชาการเคมีผู้ร่วมจัดการปัญหามีอยู่ว่า "สิ่งที่เหลือไม่มีอันตรายอะไรมากมายอีกแล้ว ตอนที่ผมเข้าไปเห็นแต่กองทราย ของจริง ๆ หายไปเกือบหมดในการเผาไหม้ตั้งวันกว่า สิ่งที่ผมเป็นห่วงกว่าคือพิษสะสมที่ตรงบริเวณคลองเตยนั้น" ภิญโญ พานิชพันธ์ เล่าถึงสภาพที่พบเห็นเมื่อแรกเดินเข้าไปยังที่เกิดเหตุเมื่อ 10 วันหลังจากเกิดเหตุโดยกล่าวว่า เหตุที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องนี้นั้น เพราะเฝ้าดูเหตุการณ์มาแต่ต้นแล้วแต่ไม่เห็นมีนักเคมีคนใดเข้าไปจัดการ

นอกจากนี้ ความมั่นใจอีกประการหนึ่งของภิญโญ และคงรวมไปถึงว่าเป็นความมั่นใจของคณะทำงานฯ ทั้งหมดก็คือ กากสารที่เหลือทั้งหลายนั้นผ่านการบำบัดด้วยการปรับสภาพให้เป็นกลางและด้วยวิธีทางเคมีบางประการไปแล้ว

แต่ในแง่ของการบำบัดนี้ก็ยังมีข้อคลางแคลง เพราะเหตุว่า ในการจะจัดการกับสารเคมีแต่ละชนิดให้บรรเทาพิษหรือลดความเป็นกรด-ด่างได้จะต้องใช้วิธีการที่แตกต่างกันไปตามคุณสมบัติทางเคมี ไม่สามารถที่จะจัดการรวม ๆ กันในขณะที่สภาพของกากสารที่เลหือจากไฟไหม้นั้นกลับคลุกเคล้าปนกันไปหมด และเหนืออื่นใดก็คือ ไม่มีใครบอกได้อย่างชัดเจนว่า สารเคมีในจุดที่เกิดเหตุ (คือที่คลังสินค้า 2, 3, 4 ที่ท่าเรือคลองเตย) มีอะไร

กล่าวกันว่า สำหรับคณะทำงานการทำลายกากสารเคมีได้รับรายชื่อสารเหล่านั้นจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย บ่งบอกถึงชนิดสารประมาณ 40-50 รายการ ทว่ารายชื่อเหล่านี้ไม่เป็นที่เปิดเผยออกมา ส่วนที่เปิดเผยมีแต่เพียงรายชื่อสาร 21 รายการจากการท่าเรือฯ เช่นเดียวกัน

เรือเอกพงษ์ศักดิ์ วงศ์สมุทร ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ ก็ได้เคยกล่าวยอมรับกับ "ผู้จัดการ" เอาไว้ว่า "ฉลากที่ติดหน้าสินค้ากับของข้างในอาจเป็นคนละอย่างก็ได้ และก็ไม่มีทางจะรู้ได้จนกว่าศุลกากรจะมาดู ท่าเรือเหมือนกับเป็นแค่ยามเฝ้าของให้เท่านั้น"

ความผิดพลาดของกรณีนี้ดูเหมือนจะเริ่มมาตั้งแต่แรกในจุดนี้นี่เอง และก็ผิดพลาดต่อมาอีกทุกขั้นตอนจนกระทั่งสุดท้าย โดยทุกฝ่ายต่างก็เจ็บปวดและเสียหาย แม้จะมากน้อยไม่เท่ากันก็ตาม

ชาวชุมชนเกาะลาว ผู้ประสบเหตุโดยตรงและชาวกาญจนบุรีผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่นั้น คือ เหยื่ออย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนผู้จัดการปัญหาอย่าง รสช. กองพลทหารราบที่ 9 หรือแม้แต่นักวิชาการที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยต่างก็ถูกประฌามโดยถ้วนหน้า

คนที่รอดตัวไปอย่างไม่น่าเชื่อกลับเป็นเจ้าของสารเคมีเหล่านั้น

ทั้งหมดของเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ไม่นับว่าง่ายนัก สำหรับประเทศที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกอย่างแท้จริงที่ปัญหาทั้งหลายได้ฟ้องเอาการขาดระบบ ขาดความรู้ และขาดเทคโนโลยีออกมา แต่ในการแก้ปัญหาก็ได้ฟ้องอีกว่า ยังคงมีการใช้ระบบและแบบแผนอันเป็นเหตุของปัญหาอยู่นั่นเอง

...คนกรุงกลัวพิษภัยเคมีจึงเร่งให้มีการขนออกไปโดยเร็วที่สุด ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบบ้านเมืองขณะนั้นก็กระทำตามเสียงของคนเมืองหลวงอันเป็นประชาชนชั้นที่มีเสียงดังที่สุด จัดการเรื่องละเอียดอย่างหยาบ และเร่งร้อนแล้วปัญหาก็เกิดขึ้นอีกที่กาญจนบุรีแล้วก็แก้กันอีกทีเท่าที่พอทำได้โดยหวังว่าเรื่องราวครั้งนี้คงจะจบลงเสียที

และดูเหมือนเรื่องราวก็ราวกับจะจบลงจริง ๆ จบทั้ง ๆ ที่ปัญหายังมีอยู่และบทเรียนใด ๆ ก็ยังไม่มีการเก็บเกี่ยว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.