เหตุการณ์ที่พนักงานโรงงานซีเกทเทคโนโลยี (ประเทศไทย) ราว 2,000 คน ยื่นหนังสือถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ
โดยผ่านสถานทูตอเมริกันในกรุงเทพเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการประท้วงเรื่องการฆ่าพระไทยในรัฐอริโซน่า
ทำให้ประเด็นในการประท้วงที่ปรากฏต่อสายตาสาธารณชนไม่ชัดเจนนัก
จากจดหมายเปิดผนึกของพนักงาน ได้กล่าวถึงปัญหาสุขภาพอันเกิดจากสารตะกั่วและการใช้สายตาเพ่งในการทำงาน
รวมทั้งการไม่ได้รับความเป็นธรรมที่นายจ้างไล่พนักงานที่เป้นแกนนำในการเรียกร้องออกไป
เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นตัวกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงอุตสาหกรรม และแม้กระทั่งกรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ตื่นตัวส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบ
ซึ่งผลของแต่ละหน่วยงานออกมาคล้ายกันว่า สารตะกั่วนั้นมีอยู่จริงเพียงแต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต
อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนได้ขานรับกับประเด็นนี้เป็นอย่างมาก และถือว่าเป็นครั้งแรกที่ปรากฏการณ์ของปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรมปะทุออกสู่การรับรู้สาธารณะ
!
ย้อนกลับไปดูสภาพปัญหาภายในของโรงงานซีเกทเมื่อจุดเริ่มต้นก่อนตกเป็นข่าว
พนักงาน 3,605 คนจากทั้งหมดเกือบหมื่นคนได้รวมตัวยื่นข้อเรียกร้องถึงผู้บริหารบริษัทจำนวน
13 ข้อ โดยที่ประเด็นเกี่ยวกับสารตะกั่วนั้นอยู่ในข้อแรกคือเรียกร้องในเรื่องความปลอดภัย
ขอให้ทางบริษัทตรวจสายตาพนักงานที่ทำงานกับกล้องเป็นประจำ และให้มีการตรวจสารตะกั่วจากร่างกายพนักงนทุกคนในทุก
3 เดือน พร้อมทั้งแจ้งผลการเช็คให้พนักงานทราบด้วย ส่วนอีก 12 ข้อที่เหลือล้วนแต่เป็นเรื่องสวัสดิการทั่ว
ๆ ไป และการขอเพิ่มรายได้
อีกสิ่งหนึ่งที่หมู่พนักงานและผู้บริหารต่างรู้ดีก็คือ ในการรวมตัวครั้งนี้ได้มีการล่าลายเซ็นเพื่อจะยื่นเรื่องขอตั้งสหภาพแรงงาน
และนั่นเองดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของฝ่ายพนักงานในการชุมนุมครั้งนี้
เพราะถ้ามีองค์กรเกิดขึ้น การต่อรองไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ย่อมทำได้ดีกว่าทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว
แต่นี่เป็นเรื่องที่บริษัทไม่ต้องการอย่างยิ่ง
รุ่งขึ้น บริษัทได้ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 7 ผู้เป็นหัวหอกการเรียกร้องภายใต้เหตุผลที่ว่าบุคคลเหล่านี้ได้ลักลอบเข้ามาในบริษัท
เพื่อติดต่อเรื่องส่วนตัวกับเพื่อนพนักงานโดยไม่ได้รับอนุญาต เป้าหมายของพนักงานราวจะล้มเหลว
ประเด็นข้อขัดแย้งจึงขยายวงออกสู่ภายนอก
ข่าวที่ว่าสารพิษแพร่กระจายในซีเกทดำเนินไปอย่างเข้มข้น มีรูปธรรมข่าวทั้งในแง่ว่ามีคนงานตาย
สถิติการแท้งลูก ตลอดจนกรณีของคนงานหญิงคนหนึ่งไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลตำรวจ
แล้วพบว่าเด็กที่เกิดมีระดับสารตะกั่วในเลือดสูงมากถึงกับต้องถ่ายเลือด เหล่านี้คือน้ำหนักยืนยันที่ทำลายภาพความยิ่งใหญ่ของบริษัทระดับชาติอย่างซีเกทจนไม่มีอะไรเหลือ
ซีเกทเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนประกอบคอมพิวเตอร์รายใหญ่ติดอันดับต้น ๆ ของโลกที่มีตะกั่วเป็นวัตถุดิบที่สำคัญมากในการประกอบฮาร์ดดิสไดร์ฟ
ในกระบวนการผลิตส่วนนี้คนงานต้องเชื่อมชิ้นงานด้วยลวดตะกั่วโดยจะต้องใช้หัวแร้งละลายลวดตะกั่วซึ่งทำให้เกิดไอระเหยออกมา
รวมทั้งแผนกชุบตะกั่วที่ต้องต้มในหม้อให้ละเลยเป็นของเหลวก็อยู่ในข่ายได้รับสารตะกั่วด้วย
ทั้งทางการหายใจ ผิวหนัง และทางเดินอาหาร
ผู้บริหารของซีเกทพยายามยืนยันตลอดมาว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องเป็นราวขยายใหญ่โตมิได้มีสาเหตุมาจากผลกระทบทางสุขภาพของคนงาน
และซีเกทเองก็มีระบบการควบคุมด้านปลอดภัยเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย รวมถึงสิ่งแวดล้อมในโรงงานเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ โดยมีรางวัลโรงงานดีเด่นที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมมอบให้เมื่อปีที่แล้วเป็นเครื่องการันตี
ระดับบริหารของซีเกทเชื่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากคนนอกเข้ามายุยงสร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นในหมู่คนงาน
แต่ก็หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงกรณีที่คนงานขอตั้งสหภาพแรงงาน พร้อมทั้งอ้างถึง
QCG (QUALITY CONTROL GROUP) ที่บริษัทตั้งขึ้น โดยให้คนงานเลือกตัวแทนกันขึ้นมาเองเพื่อจะได้มีโอกาสพบกับผู้บริหารระดับสูงในการเจรจาเรื่องสวัสดิการและปัญหาต่างๆ
อย่างไรก็ตาม QCG นี้เพิ่งจะตั้งขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์ประท้วง ! ?
นอกจากนี้ สำหรับผลการตรวจสอบทางด้านสาธารณสุขที่ทางสำนักงานอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม
กรมการแพทย์ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจเลือดคนงานโดยการสุ่มตัวอย่างคนงานทุกแผนกจำนวน
1,175 คน พบว่า 36.42% ของคนงานมีระดับตะกั่วในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 20
ไมโครกรัม ซึ่งโดยปกติถ้าระดับตะกั่วในเลือดสูง 25 ไมโครกรัมถือว่าดูดซึมตะกั่วเข้าไปในร่างกายมากเกินไป
แต่ยังมีข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมอีกฝ่ายหนึ่ง ชี้ประเด็นต่างออกไปโดยกล่าวว่า
เครื่องดูอากาศที่บริษัทใช้มีคุณภาพดีมา ด้านในอาคารจึงไม่พบตะกั่วในอากาศเลย
และได้แย้งในเรื่องค่ามาตรฐานสารตะกั่วในเลือดด้วยว่า ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดใช้อย่างเป็นทางการ
แม้แต่กรมแรงงานก็กำหนดค่ามาตรฐานไว้ที่ 60 ไมโครกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร
ขณะที่ระดับบริหารของซีเกทยังคงมั่นใจในระบบความปลอดภัยของโรงงานและเชื่อว่า
ความวุ่ยวายที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากบุคคลภายนอกที่พยายามสร้างความปั่นป่วน
คนงานหลายพันคนก็ต่อสู้เรียกร้องอย่างไม่อาจชี้ชัดนักว่า ห่วงใยต่อพิษภัยสารตะกั่วหรืออยากได้สหภาพมากกว่ากัน
และผลการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐก็ขัดแย้งกันเอง ไม่มีผู้ใดหรือหน่วยงานใดที่จะให้ผลอย่างรวบยอดที่กระจ่ายชัดเจนได้
ซ้ำยังไม่รู้จะต้องเถียงกันอีกเพียงใดว่าจะยึดเลขตัวใดมาเป็นมาตรฐานชี้วัดความเป็นความตาย
ส่วนเจ้าสารตะกั่วก็คงมีบทบาทอยู่ในโรงงานทั้งที่ซีเกทและอื่น ๆ ...ใกล้ชิดกับลมหายใจและร่างกายของคนงานจำนวนมากมาย
มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถสะสมตัวเองอยู่กับมนุษย์เงียบ ๆ โดยไม่อาจรู้
ถ้าไม่มีการตรวจอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
แท้จริงจนถึงวันนี้ เมืองไทยก็ยังไม่ได้ตื่นตัวกับมหันตภัยที่ย่างกรายใกล้เข้ามา