ปตท.มูลค่าวูบ4แสนล. หุ้นไทยผันผวนติดลบ โบรกฯแนะถือเงินสด


ผู้จัดการรายวัน(21 กรกฎาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดหุ้นไทยผันผวนตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกที่ทรงตัวอยู่ในแดนลบ ลุ้นราคาน้ำมันโลก-กำไรกลุ่มแบงก์ไตรมาส 2 ระบุตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติแห่ทิ้งหุ้นกลุ่ม ปตท. กดดันมาร์เกตแคปลดเหลือแค่ 6.7 แสนล้านบาท ลดลงเกือบ 4 แสนล้าน หรือกว่า 36% ขณะที่มาร์เกตแคปตลาดวูบ 1.40 ล้านล้านบาท หรือ 21% ด้านโบรกเกอร์ แนะชะลอลงทุน ถือเงินสดเกิน 50% ของพอร์ตทั้งหมด

ตั้งแต่ต้นปี 2551 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยต้องประสบสารพัดปัจจัยลบทั้งเรื่องของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่อึมครึม ผสมโรงด้วยปัจจัยต่างประเทศทั้งเรื่องของปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ของสหรัฐฯ จนส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก รวมถึงปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นแรงผลักดันที่สำคัญให้อัตราเงินเฟ้อทยานเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง โดยการเปรียบเทียบดัชนีตลาดหุ้นระหว่างช่วงปลายปี (31 ธ.ค. 50) และล่าสุด (18 ก.ค. 51) พบว่าดัชนีปรับตัวลดลงจาก 858.10 จุด มาอยู่ที่ระดับ 664.52 จุด หรือลดลง 193.58 จุด คิดเป็น 22.56% ขณะที่มูลค่าตลาดรวม (มาร์เกตแคป) ลดจาก 6.64 ล้านล้านบาท เหลือ 5.24 ล้านล้านบาท หรือลดไป 1.40 ล้านล้านบาท คิดเป็น 21.08%

ผู้จัดการรายวัน ได้สำรวจความเคลื่อนไหวราคาหุ้นในกลุ่มปตท. ทั้ง 7 บริษัท ได้แก่ บมจ.ปตท (PTT) บมจ. บางจากปิโตรเลียม (BCP) บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) บมจ ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR) บมจ. ปตท.เคมิคอล (PTTCH) PTTEP บมจ ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บมจ ไทยออยล์ (TOP) ซึ่งเป็นหุ้นที่มีมูลค่าตลาดรวมสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของมูลค่าตลาดรวม ขณะที่ PTT เพียงบริษัทเดียวยังคิดเป็นสัดส่วนสูงกว่า 10%

ทั้งนี้ มูลค่าตลาดรวมของกลุ่มปตท. ปรับตัวลดลงจาก 2.23 ล้านล้านบาท เหลือ 1.50 ล้านล้านบาท หรือลดลงประมาณ 7.26 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 32.56% โดย PTTAR มีสัดส่วนมาร์เกตแคปลดลงมากสุดถึง 52.86% และ PTTEP สัดส่วนลดลงน้อยสุดแค่ 12.77% ส่วน PTT บริษัทเดียวมาร์เกตแคปลดลงจาก 1.06 ล้านล้านบาท เหลือ 0.67 ล้านล้านบาท ลดลง 3.88 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 36.66%

ตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวน

นางสาวปองรัตน์ รัตนะตวณานนท์ ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นในช่วงต้นสัปดาห์มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นระยะสั้น แต่ยังมีโอกาสปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แม้ผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จะทยอยออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศยังคงอยู่ รวมทั้งตลาดหุ้นทั่วโลกยังทรงตัวอยู่ในแดนลบ โดยแนะนำให้ชะลอการลงทุน หรือถือเงินสดมากกว่า 50% ของพอร์ดเพื่อรอดูสถานการณ์ก่อน แนวรับอยู่ที่ 650 จุด และแนวต้าน 680 จุด

นายวีระชัย ครองสามสี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์ บล.ฟาร์อีสท์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวนจากวิกฤตซับไพรม์รอบใหม่ที่จะมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลลบต่อตลาดการเงินและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) รวมถึงสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนในภาคธุรกิจทั่วโลก จนอาจเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่คุกคามต่อตลาดการเงินในระดับมหภาค ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังคงเทขายหุ้นเพื่อนำเงินไปสำรองผลขาดทุนและป้องกันปัญหาขาดสภาพคล่อง

ขณะเดียวกันนักลงทุนจะต้องติดตามทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลก แม้จะปรับตัวลดลงมาค่อนข้างแรงติดต่อกันหลายวัน แต่คาดว่าจะเป็นแค่การขายทำกำไรในช่วงสั้นๆ หลังจากนี้ยังคาดว่าราคาน้ำมันอาจดีดตัวขึ้นแรงและนำพาความกังวลต่อเงินเฟ้อสูงขึ้นอีกครั้ง ดังนั้นจึงแนะนำให้ชะลอการลงทุน แนวรับที่ 660 จุด และแนวต้านที่ 700 จุด

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้จะยังคงผันผวนโดยอาจจะมีการเก็งกำไรในผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทำให้ดัชนีปรับขึ้นได้ในกรอบแคบๆ เท่านั้น ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันว่าเป็นไปในทิศทางใดด้วย เพราะหุ้นกลุ่มพลังงานถือเป็นกลุ่มที่มีน้ำหนักมากที่สุดในตลาดหุ้นของไทย

ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินแนวโน้มตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ ว่า ดัชนีตลาดหุ้นอาจปรับตัวผันผวนและเคลื่อนไหวตามทิศทางของราคาน้ำมันและแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศ แม้ว่าอาจจะมีแรงซื้อเก็งกำไรในผลประกอบการในกลุ่มแบงก์อย่างต่อเนื่อง โดยประเมินแนวรับไว้ที่ 660 และ 595 จุด และแนวต้าน 704 และ 734 จุดตามลำดับ

ขณะเดียวกัน ยังต้องรอดูการแก้ปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ รวมถึงประเด็นทางการเมืองในประเทศด้วย ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การปรับตัวของตลาดหุ้นในภูมิภาค และการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ อาทิ การเปิดเผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. 51 ตัวเลขสตอกน้ำมัน ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รวมถึงยอกขายบ้านใหม่ เป็นต้น

ปตท.ราคามีสิทธิรูดลงต่อ

นางสาวจิตรา อมรธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไซรัส กล่าวว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ รูดลงหนักเป็นผลจากกาเทขายของหุ้นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มปตท. ที่ลงแรงเกินคาด สืบเนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นออกมาโดยไม่สนใจปัจจัยพื้นฐานแล้ว เพราะนักลงทุนต่างชาติกังวลวิกฤตซับไพรม์ที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินสหรัฐฯ

"เราแนะนำให้ลงทุนหุ้นบิ๊กแคป พื้นฐานดี เพราะถือว่าคุ้มทุน หลังจากราคาลงมาหนักมาก ต่ำเกินปัจจัยพื้นฐาน ยกตัวอย่างหุ้นกลุ่มปตท. ที่เหมือนกับซื้อหุ้นแม่แล้วได้หุ้นลูกแถม และเชื่อว่าราคาจะลงอีก และควรลงทุนในระยะกลางและยาว ถือเป็นการลงทุนซื้ออนาคต"

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ประเมินราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานว่า ช่วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างประเทศได้ทยอยขายหุ้นกลุ่มพลังงานออกมาเป็นจำนวนมาก กดดันให้ดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลง และ P/E Ratio ค่อนข้างต่ำ หรืออยู่ประมาณแค่ 9 เท่า และคาดว่าจะปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 8 เท่าในปี 2552 ซึ่งถือว่าราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจและกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง

ขณะที่ปัจจัยลบอีกประการหนึ่งคือ ในวันที่ 25 ก.ค. 51 เวลา 10.00 น. กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ได้นัดรวมตัวกันที่ ปตท. สำนักงานใหญ่ เพื่อเรียกร้องและทวงคืนบมจ.ปตท. ที่ตกอยู่ในมือของกลุ่มทุนการเมืองคือในกับประชาชนทั่วไป

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. (PTT) เคยกล่าวยอมรับว่า ขณะนี้มีปัจจัยลบในประทศเรื่องของการเมือง และเศรษฐกิจที่สร้าความกังวลให้กับนักลงทุนต่างประเทศจึงได้เทขายหุ้นกลุ่มปตท. ออกมา ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาก แต่ยังมั่นใจนักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นกลุ่มปตท.แน่นอน หากกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง

ด้านผลการดำเนินงานของปตท. นั้น ในปี 51 นี้ ปตท. คาดว่าจะต้องแบกรับภาระค่าพลังงานประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท จากกรณีที่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาพลังงานทั้งน้ำมัน, ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (NGV) ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.