เปิดประชุม NGO โลก


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นเวลา 5 ปี มาแล้วที่มีการประชุมกันของบรรดาองค์กรพัฒนาเอกชนหรือที่เรียกว่า NGO (NON GOVERNMENT ORGANIZATION) นานาชาติในช่วงเวลาเดีวยกันและในเมืองเดีวยกันกับการประชุมใหญ่ประจำปีของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน

โครงการสัมมนา "เวทีชาวบ้าน 34" หรือ "1991 PEOPLES FORUM" เป็นงานที่คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชนบท (กป.อพช.) ริเริ่มจัดขึ้นโดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทบทวนถึงการพัฒนาตามแนวทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่าได้ก่อให้เกิดผลอะไรขึ้นบ้าง พร้อมกับจะได้เสนอข้อมูลและประสบการณ์จากการทำงานพัฒนาที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านของฝ่ายเอกชน ในลักษณะที่เป็นทางออกหรือทางเลือกอีกแนวหนึ่งโดยเสนอผ่านกรณีศึกษาต่าง ๆ

"ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็นเลข 2 หลักต่อเนื่องมา ทำให้ถูกกล่าวขานว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวย แต่เมื่อตรวจสอบดูแล้วพบว่าการกระจายยังไม่น่าพอใจ และเราได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติประเภทดิน น้ำ ป่า หมดไปอย่างมากมาย ซึ่งแม้แต่คำอารัมภบทแผน 7 ก็ได้ว่าไว้อย่างนี้ ที่น่าสนใจก็คือว่าก่อนการใช้แผน 5 นั้น กลุ่มคนยากจนมีประมาณ 13 ล้านคนแต่หลังจากแผน 6 นี้ตัวเลขขึ้นไปถึง 15 ล้านคน นี่เป็นเหตุการณ์ที่เราจะต้องทบทวน วิพากษ์วิจารณ์ต่อการพัฒนา 30 ปีที่ผ่านมา" เดช พุ่มคชา เลขานุการ กป.อพช. กล่าวถึงแนวคิดอันเป็นที่มาของโครงการเวทีชาวบ้าน

กป.อพช.คือองค์กรประสานงานขององค์กรพัฒนาเอกชนที่มีกิจกรรมทำงานพัฒนาร่วมกับประชาชนในชนบทและหัวเมือง ก่อตั้งขึ้นจากข้อตกลงในการประชุมระดับชาติของ NGO 106องค์กรเมื่อปลายปี 2528 ปัจจุบันมีสมาชิก 220 องค์กร

เดชเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในแนวทางของกป.อพช.มาตั้งแต่ต้นและมีส่วนผลักดันให้

เกิดกป.อพช.ภาคอีสานขึ้นในสมัยที่เจาทำงานพัฒนาอยู่บนแผ่นดินที่ราบสูง

ด้วยวัย 46 ปีเดชคลุกคลีอยู่กับวงการพัฒนานานถึง 20 ปี ตั้งแต่เมื่อจบจากนิเทศศาสตร์

จุฬา ฯ โดยเริ่มจากการเป็นบัณฑิตอาสา 2 ปี แล้วไปเป็นอาสาสมัครกรมการพัฒนาชุมชน 1 ปีก่อนจะเข้ารับราชการที่สำคัญบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ถึง 10 ปี ได้ทำงานคลุกคลีกับบรรดาคนหนุ่มสาวก้าวหน้ารุ่นใหม่ ๆ ตลอดมาจนกระทั่งอิ่มเต็มกับการทำงานพัฒนาของสถาบันวิชาการก็ผันตัวเองไปสัมผัสกับการทำงานพัฒนาในพื้นที่จริง ๆ ที่อำเภอไพสาลี จังหวัดนครสวรรค์

ที่องค์กรชื่อ SAVE THE CHILDREN ในตำแน่งหัวหน้าฝ่ายสนาม เดชได้เรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาสังคมในระดับรากเหง้าอย่างมากมาย ขณะเดียวกันก็พบว่าองค์กรพัฒนาที่เป็นเครือข่ายของต่างประเทศนั้นมีข้อจำกัดในการทำงานอย่าวนึกไม่ถึง

"จากองค์ SAVE ผมยังคงทำงานกับองค์กรฝรั่งอีกแห่งหนึ่งได้เข้าไปอยู่ในตำแหน่งสูง คือ เป็น INTERNATIONAL STAFF กินเงินเดือนตรงจากสำนักงานใหญ่และตอนหลังสุดผมก็เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ ถือเป็นคนไทยคนแรกที่องค์กรแห่งนั้นยอมรับ ซึ่งการที่ได้ตำแหน่งเหล่านี้ทำให้ได้รู้ระบบของมัน ได้รู้ว่ากว่าที่การพัฒนาจะเกิดขึ้นในบ้านเรา มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง" ในที่สุดเดชก็หันกลับมาหาองค์กรไทย แต่ยังคงอยู่ในวงการพัฒนา

ปัจจุบันนอกจากการเป็นเลขาฯ ก.ป.อพช. แล้ว ยังเป็นผู้อำนวยการของมูลนิธิอาสาสมัครพัฒนาสังคมด้วย

สำหรับกิจกรรมของโครงการเวทีชาวบ้าน จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน โดยเวทีที่เสนอเกี่ยวกับเรื่องราวภายในประเทศ เรียกว่า เวทีไทย ประกอบไปด้วยกรณีศึกษาทั้งสิ้น 9 กรณี ได้แก่ เรื่องที่ดิน ทรัพยากรป่า ระบบนิเวศชายฝั่ง นโยบายพลังงาน เกษตรกรรม ทรัพยากรน้ำ หัตถกรรมการทอผ้า ชาวเขา และชุมชนแออัด

อีกส่วนหนึ่งคือเวทีสากลจะเป็นกรณีศึกษาที่ส่งมาจากหลาย ๆ ประเทศภายใต้ 4 ประเด็นใหญ่ คือ ทรัพยากรป่า ทรัพยากรน้ำ เกษตรกรรม และการพัฒนาของเขตเมืองและอุตสาหกรรมเป็นเชิงของการเปรียบเทียบและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่อกัน โดยจะมีเรื่องของไทยในทุกๆ ประเด็น

ในรายละเอียดของเนื้อหากรณีศึกษาต่าง ๆ จะประกอบไปด้วยการกล่าวถึงสถานการณ์ของเรื่องนั้น ๆ ไล่เรียงพัฒนาการจากอดีตสู่ปัจจุบันเพื่อสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงที่มาจากทิศทางการพัฒนา ซึ่งแน่นอนว่า ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดคงจะออกมาในลักษณะที่เป็นปัญหา จากนั้นจึงเป็นเรื่องของการเสนอแนะแนวทางอื่น

ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีศึกษาที่ว่าด้วยเรื่องเกษตรกรรมก็เป็นการกล่าวถึงแบบแผนการผลิตไล่มาตั้งแต่อดีตที่ทำเพื่อยังชีพ เปลี่ยนเป็นเพื่อขายแล้ว เข้าสู่ยุคปฏิบัติเขียว มีการใช้สารเคมี เครื่องจักร เทคโนโลยี จนกระทั่งถึงระบบเกษตรครบวงจร ต่อจากนี้ก็กล่าวถึงผลกระทบและสภาพปัญหาทั้งกับคนและสภาพแวดล้อม แล้วจึงจบด้วยเรื่องของเกษตรกรรมทางเลือกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรมธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร ฯลฯ

แนวโน้มการให้น้ำหนักก็คือ ให้ความสำคัญกับเรื่องของคน สิ่งแวดล้อมและการมีทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในการทำงานมีการแบ่งเป็น 2 ส่วนเช่นกัน โดยคณะกรรมการอำนวยการจะเป็นที่ปรึกษาผู้ให้ความคิด และเป็นเสมือนร่มในการทำงาน ประกอบไปด้วยผู้ใหญ่ใน NGO นักวิชาการและปัญญาชนผู้มีบทบาทในเชิงพัฒนาสังคม เช่น ศ.เสน่ห์ จามริก, ศ.นพ.ประเวศ วะสี, ศ.ระพี สาคริก, ศรีสว่าง พั่ววงศ์แพทย์, ดร.วทัญญู ณ ถลาง, ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, ดร.อมรา พงศาพิชญ์, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ไพบูลย์ วัฒนศิริ ฯลฯ

ส่วนคณะกรรมการดำเนินงานคือผู้ที่ทำหน้าที่จัดการและผลักงานให้เคลื่อนออกมาให้ได้ หลัก ๆ แล้วมาจากองค์กร กอ.อพช., โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติและคณะกรรมการเผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.)

นอกจากนั้น NGO อื่น ๆ ก็ล้วนเป็นแนวร่วมและบางส่วนรับผิดชอบในแง่ของการเป็นผู้จัดทำกรณีศึกษา

สำหรับเดช พุ่มคชา ถือว่าเป็น KEYMAN คนหนึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนของเวทีไทยทั้งหมด ในขณะที่ศรีสุวรรณ ควรขจรเป็นผู้รับผิดชอบเวทีสากล และทั้งสองก็ยังดูแลเรื่องการหาทุนร่วมกันด้วย

"ทั้ง 2 เวทีบวกลบแล้วคงใช้เงินประมาณ 6,000,000 บาท ซึ่งเราได้มาจากองค์กรทุนต่างประเทศร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้วยกันเอง บางส่วนตอนนี้ที่มีการติดต่อมาอย่างเป็นทางการก็เท่ากับ 5,000,000 เศษแล้ว" เดชเปิดเผย

การเลือกองค์กรทุนที่จะให้การนับสนุนการจัดงานครั้งนี้เป็นเรื่องหนึ่งท่ทางผู้จัดงานตีกรอบไว้พอสมควร ที่สำคัญก็คือ ไม่ยอมรับเงินจากองค์กรธุรกิจและจากองค์กรที่มีเป้าหมายเป็นอื่น บรรดาแทบทั้งหมดที่ให้ความช่วยเหลือมาล้วนแล้วแต่คือ แนวร่วมทางการพัฒนาที่เกื้อหนุนกันมาตลอด ไม่ว่าจะเป็น NOVIB, BREAD FOR THE WORLD หรือ NORAD

"ทุนพวกนี้เอามาใช้ในการจัดการที่เราต้องทำในฐานะเจ้าภาพ พวกเรื่องที่พัก ค่าสถานที่จัดงาน ค่าอาหารชาวบ้าน และเพื่อน NGO ต่างประเทศที่เดินทางมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แล้วก็ค่าเตรียมงานต่าง ๆ ซึ่งส่วนหนึ่ง FACIBILITY ก็ได้จากทางจุฬาฯ มาก" เงิน 6,000,000 บาทสำหรับการจัดงานที่กินเวลาถึง 6 วัน คือ ระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคมสำหรับเวทีไทย และ 13-15 สำหรับเวทีสากล ไม่เปิดโอกาสให้จับจ่ายอย่างไรก็ได้

แม้จะประชุมในประเทศเดียวกัน ช่วงเวลาเดียวกัน แต่ศักยภาพและการโอบอุ้มจากรัฐก็แตกต่างกันลิบลับ

สถานที่ประชุมที่ใช้งานเวทีไทยก็คือ หอประชุมใหญ่จุฬาฯ ส่วนเวทีสากลต้องการเทคโนโลยีพอสมควรเพื่อช่วยในการสื่อความจึงต้องใช้ที่อาคารศศปาฐศาลา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ส่วนที่พักนั้นสำหรับชาวต่างประเทศจะเป็นที่โรงแรมเวียงใต้ ซึ่งคนเหล่านี้บางทีก็ช่วยเหลือตัวเองโดยองค์กรสังกัดออกค่าใช้จ่ายให้ ในขณะที่ชาวบ้านที่จะมาร่วมคงจะต้องพักในสถานที่ที่ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากที่สุด

ในเดือนตุลาคมนี้ ณ กรุงเทพมหานคร จึงเท่ากับมีการประชุมใหญ่ถึง 2 รายการด้วยกัน สำหรับบรรดานักการเงินการธนาคารนั้น เสมือนเป็นแขกของรัฐบาล ส่วนบรรดา NGO ทั้งหลายก็จะมีเพื่อนร่วมแนวทางและประชาชนจากชนบทมาเป็นแขก ฝ่ายแรกพูดกันถึงเรื่องการจะเร่งรัดพัฒนากันไปอย่างไร ขณะที่ฝ่ายหลังตั้งใจจะทบทวนการพัฒนาที่ผ่านมาใน 3 ทศวรรษเพราะเห็นว่าได้มีการสะสมตัวของปัญหาไม่น้อย

อย่างไรก็ตามเดช พุ่มคชายยืนยันหนักแน่นว่ารายการนี้ไม่ใช่เรื่องของการประชันหรือต่อต้านกัน แม้ว่าเนื้อหาจะตรงกันข้าม

"จริง ๆ แล้ว WORLD BANK มีอิทธิพลต่อแนวนโยบายการพัฒนาประเทศเราตลอดมาโดยผ่านนโยบายรัฐ ผ่านกลไกราชการ แต่หลักของงานนี้ไม่ใช่การวิจารณ์ WORLD BANK จะไม่มีการบอกว่ารัฐบาลไม่ดี WORLD BANK ไม่ดีโจมตีกันจะไม่เอา นี่คือจุดยืนของเราเพราะ WORLD BANK ไม่ได้เป็นตัวการเดียว แต่ WORLD BANK ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สำหรับเมืองไทย 30 ปีที่ผ่านมาเขามีส่วนในการสร้างสิ่งที่เป็นอยู่" เดชกล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.