การต่อสู้ของกลุ่มสยาม เมื่อ"คุณหญิงพรทิพย์"บุกคลัง


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

"ไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่มาขอข้าวกินเท่านั้น" คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช เอ่ยปากตอบผู้สื่อข่าวที่รุมล้อมในบ่ายวันหนึ่งที่กระทรวงการคลังหลังจากคุฯหญิงพรทิพย์และคณะที่ประกอบด้วยกวี วสุวัตเออร์วิน มูลเลอร์ได้ปรึกษาหารือถึงทุกข์อันเกิดจากภาษีรถยนต์ใหม่กับพนัส สิมะเสถียรปลัดกระทรวงการคลังเป็นเวลาถึงสองชั่วโมง

การพลิกกลับไปกลับมาของภาษีรถยนต์ใหม่ที่กระทรวงการคลังประกาศ เมื่อวันที่ 3 กันยายนศกนี้ เป็นปัญหาของการตัดสินใจของทางการที่ยังไม่ลงตัว ทำให้ช่องว่างภาาระหว่างรถยนต์ประกอบภายในประเทศกับรถยนต์ที่นำเข้าอยู่ในอัตราไม่เหมาะสม

คราวที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 กันยายนผู้ประกอบรถยนต์ในประเทศโดยเฉพาะกลุ่มสยาม

ภายใต้การนำของคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ก็ร้องเรียนบ่อยๆว่า "แคบเกินไป" เพราะห่างกันเพียง 5-10%

"ความห่างนี่ควรจะห่างกันพอที่อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศนี้ จะอยู่ได้ และมีกำไรมีเงินพอที่จะไปขยายกิจการ" คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดชผู้จัดการใหญ่/CEOกลุ่มสยามเล่าให้ฟัง

แต่ครั้นมีการเปลี่ยนแปลงสูตรคิดคำนวณภาษีใหม่ตั้งแต่ 27 สิงหาคม 2534 ผู้นำเข้าก็ร้องคร่ำครวญว่า "ห่างมากเกินไป" จนไม่มีใครกล้านำเข้าและที่นำเข้ามาแล้ว ก็ค้างเติ่งอยู่ที่ท่าเรือเสียหายหลายล้านบาท เพราะภาษีรถยนต์นำเข้าต้องเสียเพิ่มขึ้นเนื่องจากคิดจากฐานราคาขายปลีกซึ่งเป็นฐานเดียวกับรถในประเทศแทนที่คิดจากฐานที่ท่าเรือ ทำให้รถยนต์นำเข้าแพงกว่าในประเทศ 15-20% คือรถยนต์เกิน 2,300 ซีซีที่เสีย 210.88% ก็เพิ่มเป็น 298% หรือเพิ่มอีก 87.12% และรถยนต์ที่ต่ำกว่า 2,300 ซีซีที่เก็บ 137.67% ก็เพิ่มเป็น186.08% หรือเสียเพิ่มขึ้นอีก 48.41% ในขณะที่ภาษีนำเข้าชิ้นส่วน (ซีเคดี) เสียภาษีเพียง 112% ของราคาซีไอเอฟ

วิกฤตได้เกิดขึ้นแล้วในอุตสาหกรรมรถยนต์จากความผิดพลาดของการบริหารที่รัฐทำ ซึ่งอาจเป็นเพราะตั้งใจดีมากเกินไปของรัฐบาลที่มีนโยบายเปิดเสรีรถยนต์ โดยเจตนาจะให้มีการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศเข้ามาแข่ง และต้องการให้ราคารถยนต์ลดลงกว่าเดิมที่มีการขึ้นราคากันมากจนต้องมีการขายใบจองกัน

แต่ปรากฏการณ์ชักเย่อไปมาระหว่างกลุ่มพลังผลประโยชน์ทั้งสองกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มสยามกับกลุ่มผู้นำ เข้าไม่ต่ำกว่า 20 ราย ทำให้นายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน มีนโยบายให้หาข้อยุติด่วน

ในที่สุดเมื่อ 3 กันยายนที่ผ่านมานี้ สุธี สิงห์เสน่ห์ รมว.กระทรวงการคลังก็ตัดสินใจยืนในหลักการเดิมตามประกาศภาษีรถยนต์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ทันทีที่กระทรวงการคลังยืนยันการเก็บภาษีรถยนต์อย่างชัดเจน คุณหญิงพรทิพย์ก็ให้สัมภาษณ์ในเชิงประท้วงถึงความไม่แน่นอนของนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของรัฐบาลว่า กลุ่มสยามจะเลื่อนแผนการลงทุนในช่วงปี 2535-38 ซึ่งคาดว่าจะมีการลงทุน 5,900 ล้านบาทออกไป และหยุดแผนเดิมที่จะลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งโครงการร่วมลงทุนสร้างโรงงานประกอบรถยนต์แห่งใหม่กับบริษัทนิสสันมอเตอร์ของญี่ปุ่นด้วย

ความฝันของคุณหญิงที่จะกู่ร้องให้ก้องโลกถึงความยิ่งใหญ่มั่นคง "กลุ่มสยาม" ก็มีทีท่าจะฝันค้าง ทั้ง ๆ ที่กลุ่มสยามเกิดจากรวมกิจการ 32 บริษัทอย่างเป็นทางการ ในวันเกิดของคุณหญิงพรทิพย์เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมนี้เอง

"ตัวเองเป็นคนถือโชคลางวันที่เปิดกลุ่มสยามก็เอาวันเกิดตัวเองเป็นฤกษ์ซึ่งคิดว่าเป็นวันดีที่สุด ที่เราต้องการให้การเปิดตัวกลุ่มสยามนี้เป็นข่าวระดับโลกเช่นข่าวรอยเตอร์ข่าวอาซาฮีชิมบุน เขาจะได้ทึ่งว่าเมืองไทยมีกลุ่มที่ใหญ่มากไม่แพ้กลุ่มซูมิโตโม กลุ่มมิตซุย" ความภาคภูมิใจปราฏกในน้ำเสียงและใบหน้าเอิบอิ่มบุญของคุณหญิงพรทิพย์ในวันนั้น และมีการโฆษณา CORPORATE IMAGE ของกลุ่มสยามเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ไทยและต่างประเทศต่อเนื่องกันมา

แต่วันนี้ดูเหมือนคุณหญิงพรทิพย์จะเป็นทุกข์กับภาษีรถยนต์ใหม่ที่ก่อผลสะเทือนถึงกับต้องขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เพื่อวิงวอนขอความเป็นธรรมให้กับกลุ่มสยามที่เป็นสมบัติของคนไทยด้วย กลุ่มสยามได้ยอมรับว่า ขาดทุนไป 600 ล้านบาทสำหรับสต็อกวัตถุดิบและสินค้ารถยนต์ที่ค้างอยู่จำนวนมาก

ในปลายเดือนสิงหาคมกลุ่มสยามได้เซ็นสัญญากู้ยืมเงิน SYNDICATEDLOAN จ่ำนวน 30 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 750 ล้านบาทจากกลุ่มธนาคารประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนำโดยธนาคารฟูจิ เพื่อนำไปใช้ในบริษัทสยามสิสสันออโตโมบิลโรงงานประกอบรถยนต์ที่เดิมชื่อบริษัทสยามอุตสาหกรรมถือหุ้นโดยญี่ปุ่นอยู่ 25% นอกนั้นเป็นของตระกูลพรประภา

"ตอนนี้ เราให้คนงานประกอบรถยนต์บางส่วนพักงานแต่ยังจ่ายเงินเดือนตามปกติเพราะลดกำลังผลิตลงจากเดิม 3 กะเหลือเพียง 1 กะ เหลือเพียงเดือนละ 1,900 คันจากเดิม 5,000 คันต่อเดือน" นี่คือทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของคุณหญิงพรทิพย์

ความเหน็ดเหนื่อยในภารกิจนี้ยังไม่หยุด กลุ่มสยามภายใต้การนำของคุณหญิงพรทิพย์ต้องต่อสู้ระวังตัวเอง มิให้เพลี่ยงพล้ำใภาวะผันผวนของนโยบายที่รัฐยืนยันช่วงห่างของรถยนต์นำเข้ากับรถประกอบในประเทศประมาณ 5 - 10% ซึ่งอาจจะทำให้กลุ่มสยามต้องปรับตัวและบางทีอาจต้องลดบทบาทลง เนื่องจากต้องไปพึ่งพาบริษัทนิสสันมอเตอร์แห่งญี่ปุ่นมากขึ้นในการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป แทนที่จะเสริมสร้างความแข็งเกร่งในตลาดอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ได้ดังใฝ่ฝัน ตรงนี้เองที่อำนาจต่อรองของนิสสันญี่ปุ่นอาจเข้ามามีบทบาททั้งการตลาดแะการผลิตรถยนต์ในหลุ่มสยามมากขึ้นในอนาคต

ความพยายามต่อสู้ของกลุ่มสยามภายใต้การนำของคุณหญิงพรทิพย์ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องท้าทายความสามารถในเชิงผู้นำของคุณหญิงพรทิพย์ว่า จะมีแรงต้านการรุกเร้าของปัญหาที่สำคัญยิ่งยวดต่ออนาคตของกลุ่มสยามที่เพิ่งเกิดขึ้นหรือไม่?!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.