เงินเศรษฐีน้ำมัน มหันตภัยใหม่ถึงไทย


ผู้จัดการรายสัปดาห์(14 กรกฎาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

มันมาอีกแล้ว ! ตัวการใหม่ป่วนเศรษฐกิจ การเมือง
พลังการเงินเหลือเฟือ ฟาดฟันตั้งแต่ยอดหญ้า จนถึงรากหญ้า
คนชั้นกลางยันชนชั้นล่างกระอักแน่ เหตุปัจจัย 4 โดนกระทบหนัก
นักวิชาการชี้ชัดๆ หากไม่รีบป้องกัน อาจป่วนถึงขั้นกลียุค

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา มีข่าวการรุกเข้ามาในประเทศไทยของ โซเวอเรน ฮอสปิตัลลิตี โฮลดิ้งส์ (Sovereign Hospitality Holdings : SHH) บริษัทด้านการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวพักผ่อน และอสังหาริมทรัพย์ โดยเป็นบริษัทอิสระในเครือ เอ็ม.เอ.คาราฟีกรุ๊ป (M.A.Kharafi Group : CAKG) แห่งคูเวต

บริษัทดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มทุนน้ำมันที่ร่ำรวยมหาศาลจากการขายน้ำมัน จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทะยานขึ้นทำลายสถิติไม่เว้นแต่ละวัน ก่ออานิสงส์ให้กับประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อส่งออก โดยเฉพาะแถบอ่าวเปอร์เซียในตะวันออกกลาง ได้มีทุนจากการขายน้ำมัน หรือที่เรียกว่า “ปิโตรดอลลาร์” (Petrol dollar) นำไปใช้ต่อยอดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในฐานะศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจการเงินของโลกแห่งใหม่

ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรอบอ่าวเปอร์เซีย 6 ชาติ ซึ่งประกอบด้วยบาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ในปี 2550 ที่ผ่านมา มีรายได้จากการขายน้ำมันคิดเป็นมูลค่ารวมกันถึง 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีนโยบายต้องการส่งเสริมตลาดหุ้นในภูมิภาคให้มีการเติบโตและดึงดูดธนาคารต่างชาติเข้ามาลงทุน ในฐานะฮับทางการเงินไม่ต่างจากโตเกียว ฮ่องกง และสิงคโปร์ที่แจ้งเกิดขึ้นมาในฐานะฮับการเงินในขณะที่ภูมิภาคเอเชียมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

อันที่จริง “ปิโตรดอลลาร์” หาใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่คำนี้เริ่มเป็นที่รู้จัก และโด่งดังมากเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน หลังจากน้ำมันขึ้นราคาระลอกใหญ่ ทำให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันมีเงินเหลือมาก จึงเกิดการรีไซเคิลเงินเหลือใช้จำนวนนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของการให้กู้ยืม ผ่านตลาดออฟชอร์ในลอนดอน นิวยอร์ก ฮ่องกง และสิงคโปร์ ไปยังประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

แต่หลังจากนั้น ราคาน้ำมันก็ทรงกับทรุดอยู่ร่วม 20 ปี และถูกกัดกร่อนด้วยเงินเฟ้อ ในขณะที่การใช้จ่ายของกลุ่มประเทศที่ส่งออกน้ำมันเองก็สูงขึ้น ปริมาณเงินเหลือใช้จึงลดลงเป็นลำดับ จนคำว่าปิโตรดอลลาร์เกือบจะถูกลบเลือนไปจากความทรงจำของชาวโลก

ทว่า นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาราคาน้ำมันเริ่มขยับตัวสูงขึ้น-สูงขึ้นทุกวัน จนกระทั่งวันนี้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว จาก 20 กว่าดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่วันนี้เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2551 ราคาน้ำมันขยับไปยืนอยู่ที่ 145.29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ประเทศที่ส่งออกน้ำมันกลับมามีเงินเหลือใช้เป็นจำนวนมากอีกครั้งหนึ่ง คำว่า “ปิโตรดอลลาร์” เริ่มกลับมาแพร่หลาย แต่รูปแบบของการรีไซเคิล “เงินจากน้ำมัน” มีแนวโน้มว่าจะแตกต่างจากที่เคยเป็นในอดีต

ว่ากันว่า หากคิดตามการบ่งชี้แบบคร่าวๆ ทุกครั้งที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น 1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะทำให้บรรดาประเทศตะวันออกกลางมีรายได้เพิ่มเป็นพิเศษอีกต่างหากถึง 6 พันล้านดอลลาร์ ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การถือครองปิโตรดอลลาร์ ภายใต้การบริหารจัดการของสถาบันการเงินอิสลามิกไฟแนนซ์ต่างๆ ทั่วโลกจึงเพิ่มขึ้นขนานใหญ่ และส่งผลให้การดำเนินงานขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากโลกมุสลิมไปสู่ยังตลาดการเงินสากลและโลกาภิวัตน์

ที่สำคัญเงินพวกนี้เริ่มเข้ามามีผลกระทบกับคนไทยมากขึ้น–มากขึ้น จากเดิมอาจเพียงแค่ระดับ “ยอดหญ้า” แต่วันนี้เริ่มเข้ามาแทรกซึมในระดับ “รากหญ้า” กันแล้ว

แทรกทุกที่จากตวต.-ตวอ. จากยอดหญ้าถึงรากหญ้า

ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่า การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันทำให้ปิโตรดอลลาร์เพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งเงินจำนวนนี้ไปเกาะอยู่ในทุกที่ของโลก อย่างประเทศทางตะวันตกก็ไปจ้างบรรดาฟันด์ แมเนเจอร์ มาบริหารจัดการ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของปิโตรดอลลาร์ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือทำให้ทรัพยากรการเงินของโลกเฟื่องฟูอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ใครสามารถเก็บเกี่ยวทรัพยากรการเงินเหล่านี้ไปใช้ได้ก็จะเกิดการเติบโตอย่างเรียนลัด

“คนอื่นใช้เวลา 30 ปี แต่คุณใช้เวลาเพียง 3-5 ปี เช่นการเติบโตอย่างรวดเร็วของจีน เวียดนาม อินเดีย”

ดร.สมภพ ยังกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันเงินก้อนนี้ยังสร้างปัญหา เพราะทำให้สภาวะเศรษฐกิจเกิดความไม่แน่นอน เกิดภาวะที่เรียกว่าการไร้ความสมดุลทางเศรษฐกิจโลก หรือ Global Imbalance อันเนื่องมาจากทรัพยากรการเงินของโลกที่มีมากเกินไป ที่สำคัญเงินเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น ปิโตรดอลลาร์ หรือเซอเวอเรน ฟันด์ อยู่นิ่งไม่ได้ มันต้องหมุน ซึ่งการหมุนจะมุ่งเน้นที่การเก็งกำไรเป็นหลัก

เดิมความไร้สมดุลนี้มันไร้สมดุลเฉพาะที่ยอดหญ้า เหมือนกับเหล่าบรรดานักเก็งกำไรทั้งหลายมาสู้กัน สถาบันการเงินต่างๆมาสู้กัน แต่ขณะนี้ที่สร้างปัญหาก็เพราะมันถูกลากมาสู่รากหญ้าแล้ว ดูได้จากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหาร และที่ราคาอาหารเพิ่มขึ้นเพราะ ประการแรก ต้นทุนการผลิตอาหารมันเพิ่มขึ้น ที่เพิ่มเพราะน้ำมันเพิ่ม น้ำมันเกี่ยวกับการผลิตอาหาร การขนส่งอาหาร เกี่ยวกับการผลิตปุ๋ย สารเคมี ยาฆ่าศัตรูพืช ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

ประการที่สอง เมื่อน้ำมันเพิ่มมันเกิดขบวนการใช้พืชเป็นพลังงานทดแทน ทำให้พื้นที่เพาะปลูกพืชพรรณธัญญาหารของโลกบางตัวมันถูกลดจำนวนลง เพื่อนำมาผลิตพืชกลุ่มที่ใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ดี เพราะราคามันดีกว่า ตัวอย่างเช่น นำพื้นที่ไปปลูกข้าวโพดเพราะราคาที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวน้อยลง เมื่อพื้นที่ปลูกข้าวน้อยลง ข้าวเลยแพงขึ้น

“จึงกล่าวได้เลยว่าขณะนี้สภาวะของความไร้สมดุลทางเศรษฐกิจโลกมันลงไปสู่ระดับรากหญ้าที่กระทบต่อคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับรากหญ้าของโลกอย่างกว้างขวาง ซึ่งในปีที่ผ่านมามันชัดเป็นพิเศษ ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจเก็งกำไรมันฟาดฟันกันอยู่ในระดับยอดหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนน้อย อย่างไรก็ตาม ปิโตรดอลลาร์ไม่ใช่จำเลยตัวเดียว แต่มันเป็นตัวแปรใหม่ที่ถูกสร้างขึ้น และเป็นผลพวงของภาวะเศรษฐกิจโลกที่มันเสียศูนย์ ทำให้บรรดาประเทศผู้ส่งออกน้ำมันทั้งหลายสามารถสะสมกระสุนดอลลาร์ไว้ได้มหาศาล”

ปิโตรฯเปลี่ยนทิศทางจับตาแรงปะทุรอบใหม่

หากมองการเคลื่อนที่ของปิโตรดอลลาร์ในช่วงเวลานี้จะเห็นได้ว่าเริ่มมีการเปลี่ยนทิศทาง หลังจากที่เงินเหล่านี้ไปลงทุนในภาคของการเก็งกำไร หรือลงทุนในประเทศทางตะวันตก ซึ่งสาเหตุของการเปลี่ยนทิศทางการลงทุนเป็นเพราะ ประการแรก การลงทุนในประเทศตะวันตกใช่ว่าจะสามารถลงทุนได้อย่างสะดวกโยธิน เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าประเทศตะวันตกหาได้ไว้วางใจเงินทุนจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันมากสักเท่าไร ดังจะเห็นได้จากข่าวที่ทรัสต์ฟันด์ อย่าง อัล เบอร์ดา เฮอร์ริเทจ ของแคนาดา ออกมาปฏิเสธการร่วมลงทุนของกองทุนแมคโคร อีโคโนมิค สตาบิไลเซชั่นของเวเนซุเอล่า หรือการที่สภาคองเกรสสหรัฐฯ ขัดขวางการเข้าซื้อท่าเรือสหรัฐฯ ของดูไบ พอร์ท เวิลด์ เจ้าของกิจการท่าเรือรายใหญ่ของสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์

แม้ตะวันตกยังคาใจกับพฤติกรรมการลงทุนที่ขาดความโปร่งใสของประเทศเศรษฐีน้ำมัน กระนั้น นักเศรษฐศาสตร์ลงความเห็นว่า ยุคแห่งปิโตรดอลลาร์ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะช่วยเพิ่มสภาพคล่องสมทบกับที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของชาติผู้ส่งออกสำคัญในเอเชียกำลังท่วมตลาดโลก

ประการที่สอง เมื่อธุรกิจเก็งกำไรขึ้นไปมากๆ อีกไม่นานย่อมปรับฐานลง อีกทั้งที่ผ่านมาเงินของกลุ่มทุนน้ำมันเริ่มร่อยหรอลงไปมากจากแรงปะทุของซัปไพร์ม

จากกรณีดังกล่าวจึงทำให้เงินทุนพวกนี้จึงเปลี่ยนทิศทางมาลงทุนในประเทศที่กำลังพัฒนามากขึ้น และที่มามากเป็นพิเศษคือที่เอเชีย เนื่องจากมีแหล่งที่สามารถนำเงินไปลงทุนได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย เวียดนาม และไทย ด้วยมีความเชื่อว่าต่อไปเอเชียจะกลายเป็นเครื่องจักรกลในการผลักดันความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก

“การที่เงินก้อนนี้เข้ามาในบ้านเราผมว่าน่าจะมีข้อเสียมากกว่าข้อดี เพราะเงินที่มากเกินไปเหล่านี้ยิ่งไปทำให้เกิดสภาวะการไร้ความสมดุลทางเศรษฐกิจโลกมากขึ้น เช่น หากเข้ามาในตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยเข้ามาลงทุนเอง หรือผ่าน property fund ทั้งหลาย มันจะไปแหย่ให้ราคาของอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายขยายตัวแพงขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้หมายความว่า 2 ตัวแปรที่เป็นปัจจัย 4 ที่สำคัญของมนุษย์ทุกคนในโลก โดยเฉพาะคนจนจะเกิดปัญหา เพราะคนจะอยู่ได้ต้องบริหารปัจจัย 4 คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ให้ลงตัว ซึ่งขณะนี้ราคาขยับขึ้นไปแล้ว 2 ตัวคือ อาหาร กับที่อยู่อาศัย จากนี้ต่อไปยารักษาโรคกำลังจะตามมา ส่วนเครื่องนุ่งห่มอาจไม่มีการปรับราคาเนื่องจากมีการผลิตออกมาจนล้นโลกไปหมด อีกทั้งเสื้อผ้ายังเป็นผลผลิตของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย”

ดร.สมภพ กล่าวว่า ทุกวันนี้มีทั้งการปั่นหุ้น ปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์ให้ขึ้นไปถึง 3.4 แสนบาทต่อตารางเมตรเข้าไปแล้ว ซึ่งราคาเช่นนี้กลายเป็นตัวชี้วัดใหม่ว่าคอนโดใหม่ต้องราคาเท่านี้ ทำให้คนไทยต้องเสียเงินซื้อของที่ราคาแพงเกินจริง เพราะราคาพวกนี้เป็นราคาที่สร้างขึ้นเพื่อเก็งกำไร แม้บางคนบอกว่าไม่น่าจะกระทบกับคนที่อยู่ในตลาดระดับล่าง แต่อย่าลืมว่ามันจะมีการแย่งทรัพยากรเกิดขึ้น เพราะถามว่าแหล่งที่ขายวัสดุอิฐ หิน ดิน ทราย เหล็ก ซื้อจากแหล่งเดียวกับที่ขายให้กับผู้ก่อสร้างคอนโดราคาตารางเมตรละ 3 แสนกว่าบาทหรือไม่

“เราจะเห็นได้ว่าแม้แต่จะบริหารปัจจัย 4 ให้ลงตัวของคนส่วนใหญ่ของโลกยังยากลำบาก ซึ่งมันจะทำให้เกิดความขัดแย้ง การเผชิญหน้าทางเศรษฐกิจของสังคม และการเมืองอย่างรุนแรง ซึ่งผมยังมองไม่เห็นเลยว่าจะมีเครื่องมืออะไรในการจะทำ global imbalance คือการปรับสมดุลใหม่ให้กับเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางที่มันไร้สมดุลอย่างมากมาย และมีปัจจัยอีกมากที่จะทำให้มันไร้สมดุลหนักขึ้นไปอีก เช่น การออกมาหนุนเวียนของปิโตรดอลลาร์ และ Sovereign Wealth Fund ซึ่งต่างก็มุ่งเก็งกำไรเป็นเป้าหมายหลักทั้งสิ้น

ตอนนี้เราจะเห็นว่าเริ่มเข้ามาปั่นในบริเวณที่เป็นไพร์ม แอเรีย เพราะบ้านเราราคาอสังหาฯยังต่ำกว่าที่อื่นในเชิงเปรียบเทียบ แถมยังมีข่าวว่าจะสร้างเมกะ โพรเจค เช่น แลนด์บริดจ์ ทำให้คนเริ่มเห็นโอกาสในการเก็งกำไรมากยิ่งขึ้น”

สิ่งที่น่าสนใจ และน่าจับตาต่อจากนี้ไปก็คือ จากสภาวะน้ำมันที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างไร้วี่แววว่าจะติดเบรกเช่นนี้ยิ่งจะทำให้ บรรดาผู้ค้าน้ำมันยิ่งสะสมกระสุนดอลลาร์ไว้ในกระเป๋าเป็นจำนวนมาก ถามว่าเงินจำนวนมากนี้จะถูกนำไปทำอะไร ถ้าไม่ใช่การเก็งกำไร จากสภาวะเช่นนี้ ดร. สมภพ ให้ความเห็นไว้ว่า เงินพวกนี้จะแหย่ให้โลกนี้ชุลมุนไปหมด และหากจัดการไม่ดีอาจเกิดกลียุคได้ เพราะผู้คนเริ่มอดอยาก

ที่สำคัญคำว่า “อดอยาก” ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ในสังคมไทย เพราะอย่าลืมว่าเมื่อไม่นานมานี้กลุ่มทุนน้ำมันเพิ่งให้ความสนใจที่จะปลูกข้าวกันแล้ว โดยจะเข้ามาซื้อที่ดินแล้วจ้างคนไทยทำนา ทำให้ต่อจากนี้ไปชาวนาไทยจะแปรสภาพกลายเป็นลูกจ้างที่กินเงินเดือนของชาวต่างชาติเท่านั้น แม้บางคนจะออกมาปฏิเสธว่าเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะเมืองไทยมี พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ที่จะสกัดกั้นกลุ่มทุนต่างชาติไม่ให้เข้ามาประกอบกิจการที่เป็นอาชีพสงวนของคนไทย โดยเฉพาะอาชีพทำนา ซึ่งถือเป็นอาชีพสงวนที่อยู่ในบัญชีแนบท้าย 1 แต่อย่าลืมว่า เงินจำนวนมหาศาลนี้สามารถทำอะไรกับการเมืองของไทยก็ได้ ซึ่งต่างชาติเองก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเข้ามาในเรื่องของการเมืองด้วยเช่นกัน

การเข้ามาของเศรษฐีน้ำมันในระดับรากหญ้าของประเทศจึงเป็นประเด็นสำคัญที่น่าจับตา และจะละเลยไม่ได้ เพราะเชื่อว่าจะกระทบการต่อบริโภคของคนไทยทุกภาคส่วน เนื่องจากการลงทุนด้านเกษตรกรรมเป็นทิศทางการลงทุนใหม่ที่เศรษฐีจำนวนมากกำลังให้ความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะหลังจากเกิดวิกฤตอาหารโลกขึ้น

นี่คือข้อสันนิษฐานที่อาจเกิดขึ้นได้ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เตรียมตัวเอาไว้ แต่ภาวนาว่าขออย่าให้เหตุการณ์เหล่านี้เป็นจริงเลย

ย้อนรอยทางเดินก่อนทุนน้ำมันครองโลก

จุดเริ่มต้นของ “ปิโตรดอลลาร์ หรือ ดอลลาร์ในตลาดน้ำมันและพลังงานของโลก น่าจะเกิดขึ้น ท่ามกลางวิกฤตน้ำมัน ค.ศ. 1973 หรือ พ.ศ. 2516

ทว่าจะย้อนหลังเพื่อลำดับความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้น เพราะจริงแล้วสถานการณ์ที่เป็น “ชนวน” ให้เกิดปิโตรดอลลาร์ขึ้นน่าจะเป็นเมื่อครั้งที่สหรัฐอเมริกาลอยตัวค่าเงินเมื่อประมาณ 15 ส.ค 1971 ด้วยการเลิกผูกค่าดอลลาร์ของตนไว้กับทองคำ

แม้ว่ากลุ่มโอเปคจะก่อตั้งขึ้นประมาณปี 1960 ก่อนหน้าที่สหรัฐฯจะลอยตัวค่าเงินถึง 10 ปี แต่ราคาน้ำมันในช่วงนั้นยืนในระดับไม่ถึง 2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะตอนนั้นค่าดอลลาร์ถูกผูกไว้กับทองคำ ขณะนั้นดอลลาร์ 35 เหรียญเท่ากับทองคำ 1 ออนซ์

ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่เราเรียกว่ามาตรฐานปริวรรตทองคำ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Gold Exchange Standard คือเงินตราสกุลต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งสกุลหลักของโลก เช่น ดอลลาร์ เยน ปอนด์ สวิส ต้องผูกไว้กับทองคำตายตัว ทำให้อาหรับยินดีที่จะขายน้ำมัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธมิตรส่วนใหญ่ของโอเปคขายน้ำมันในราคาเท่าเดิม เพราะได้ดอลลาร์มาแล้วอำนาจซื้อไม่เปลี่ยน

เพราะตามมาตรฐานอัตราแลกเปลี่ยนแบบปริวรรตทองคำนี้ หมายความว่าสหรัฐฯให้คำมั่นสัญญาว่าหากคุณไม่อยากจะถือดอลลาร์ของเขา ทุก 35 ดอลลาร์สามารถไปแลกทองคำคืนจากอเมริกาได้ 1 ออนซ์ ทำให้ผู้คนเชื่อมั่นในดอลลาร์

แต่พอเริ่มครึ่งหลังของทศวรรษ 1960 หลังปี 1965 เป็นต้นมา เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มมีปัญหามากขึ้นอย่างชัดเจน เพราะมีการปล่อยดอลลาร์ออกมามากเกินไป อันเนื่องมาจากเหตุผลหลายๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความมั่นคง จากการทำตัวเป็นตำรวจโลก ต้องไปทำสงครามกับประเทศต่างๆ ซึ่งการปล่อยดอลลาร์ออกมามากเกินไปนี้เอง ทำให้ดอลลาร์ไม่สามารถที่จะผูกไว้กับทองคำอีกต่อไปแล้ว เพราะทองคำมีไม่เพียงพอ ไม่สามารถที่จะรักษาคำมั่นสัญญากับผู้ถือดอลลาร์ได้อีกต่อไป ในที่สุดสหรัฐฯ เริ่มขยับลอยตัวค่าเงิน ดีเดย์ 15 ส.ค.1971 หลังจากนั้นดอลลาร์ก็เริ่มร่วงลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเงินตราสกุลหลักอื่นๆ

แม้ว่าแบงก์ชาติของประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เยอรมัน และอื่นๆ จะพยายามยันค่าเงินของตนเองให้ผูกค่าเงินไว้กับทองคำต่อไป แต่ในที่สุดก็ล้มเหลวต้องปล่อยค่าเงินให้ลอยตัวตามสหรัฐฯในปี 1973 และปีนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน คือ ในปี 2516 ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นไปเป็น 10-20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายในระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปี (1971-1973) ส่งผลให้กลุ่มโอเปคเริ่มตระหนักถึงพลังอำนาจการต่อรองของตนว่า มีอำนาจผูกขาดน้ำมัน เพราะเมื่อขึ้นราคาน้ำมันไปแล้วโลกก็ไม่ได้ลดอัตราการใช้น้ำมันลงไปสักเท่าไร

ดังนั้น การใช้อำนาจของน้ำมันเป็นเกมในการบริหารเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของกลุ่มโอเปคจึงเริ่มเกิดขึ้นอย่างจริงจัง และยิ่งขายน้ำมันได้ราคาสูงก็จะยิ่งได้ ปิโตรเลียมดอลลาร์ คือดอลลาร์จากการขายน้ำมันที่เพิ่มมากขึ้น

ช่วงตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา จึงเป็นการเริ่มต้นของการเกิดสิ่งที่เราเรียกว่า ปิโตรดอลลาร์ ที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างมากมาย นั่นคือระลอกแรก

ระลอกต่อมาที่ทำให้มีการสะสมปิโตรดอลลาร์ขึ้นมามาก คือ ช่วงต้นทศวรรษ 1980 อันเนื่องมาจากมีสงครามระหว่างอิหร่านกับอิรัก ขณะนั้นซัดดัม ฮุสเซน เพิ่งขึ้นมาเป็นผู้นำของอิรักได้หมาดๆ แถมยังได้รับการหนุนช่วยจากสหรัฐฯอย่างเต็มที่ เพื่อรบกับอิหร่านที่ขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของ อยาตุลเลาะห์ โคไมมี

เมื่อ 2 ประเทศรบกับทำให้ราคาน้ำมันยิ่งพุ่งทะยาน เพราะทั้งคู่เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันท็อป 5 ของโลก ส่งผลให้น้ำมันขณะนั้นทะยานขึ้นไปอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะเดียวกันราคาทองคำพุ่งขึ้นมาเป็น 800 กว่าเหรียญต่อออนซ์

ทว่า วิกฤตการณ์น้ำมันรอบนี้อาละวาดได้เพียงไม่กี่ปี ประมาณปี 1984-1985 ก็เริ่มชะลอตัวลงจากการปรับตัวการใช้ของประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนายังเติบโตขึ้นมาไม่ทัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันได้ขยับขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ซัดดัมส่งทหารไปบุกคูเวตในช่วงเดือนส.ค.1990 จากนั้นเพียงไม่นานสหรัฐฯกับอังกฤษจึงรุกกลับบ้าง ซึ่งการรบครั้งนี้มิเพียงจะทำให้ราคาน้ำมันขึ้นไปมากเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดฟองสบู่แตกในหลายประเทศ

จากการแตกตัวของฟองสบู่ไปทั่วโลกที่เริ่มจากญี่ปุ่นเมื่อประมาณปี 1990 เป็นต้นมา และลามไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงไทยในปี 1997 และทำท่าจะลามเข้าไปในสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงค่อนข้างมากอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งปี 1998 ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยน หรือหลักไมล์ใหม่ของเศรษฐกิจจีน นับตั้งแต่ จู หลง จี ที่ถือว่าเป็นซาร์เศรษฐกิจของจีนก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เศรษฐกิจของจีนมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่เศรษฐกิจจีนเติบโต อีกฟากหนึ่งเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ตกอยู่ในสภาพย่ำแย่จากวิกฤตฟองสบู่ อันเกิดจาก dotcom crisis ส่งผลให้เศรษฐกิจเมืองลุงแซมติดลบถึง 3 ไตรมาสซ้อน และเพื่อเป็นการเยียวยาแก้ไขวิกฤต อลัน กรีนสแปน จึงปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเป็นสิบครั้ง จาก 6.5% ในปี 2000 เหลือเพียง 1% ในปี 2003 ซึ่งการลดดอกเบี้ยอย่างแรงนี้เองส่งผลให้เกิด Supply of Dollar หรืออุปทานดอลลาร์ของสหรัฐฯออกมาท่วมทั้งสหรัฐฯ และท่วมโลก

เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ดอลลาร์อ่อนตัวลงอย่างมาก สิ่งที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ จากเมื่อปี 2000 ค่าเงินยูโรมีมูลค่าเพียง 0.8 ดอลลาร์ต่อยูโร แต่หลังจากปี 2002-2003 เป็นต้นมา เงินยูโรขยับแข็งค่าขึ้นไปยืนที่ 1.6 ดอลลาร์ต่อยูโร เท่ากับว่าค่าของดอลลาร์เมื่อเทียบกับยูโรหายไป 1 เท่าตัว

จากภาวการณ์นี้ส่งผลให้อาหรับไม่พอใจอย่างมากที่ตนเองต้องขายน้ำมันในจำนวนเท่าเดิมแต่มูลค่าของเงินน้อยลง ทั้งที่ดีมานด์ของน้ำมันพุ่งพรวดพราดอันเนื่องมาจากกรณีของ China Factor

เม็ดเงินการลงทุนที่หลั่งไหลเข้าไปส่งให้จีดีพีของจีนโต 8-10% เป็นอย่างน้อย เฉพาะตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นไปเศรษฐกิจจีนเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักทุกปี กระทั่งปีที่ผ่านมาก็เติบโตถึง 11.9% อันเนื่องมาจากการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรอย่างมหาศาล เช่น การลงทุนในกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐาน การตัดถนนใหม่ 4-5 แสนกิโลเมตรสร้างทางรถไฟ สร้างสนามบิน40-50 สนามบิน สร้างระบบการสื่อสาร ไฟฟ้า ประปา ซึ่งการลงทุนที่มากมายขนาดนี้ทำให้จีนต้องนำเข้าทรัพยากรจำนวนมาก และที่นำเข้ามากเป็นพิเศษคือพลังงาน

เมื่อจีนมีความต้องการบริโภคน้ำมันเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ทางฟากอาหรับต้องการขายน้ำมันเพิ่มอยู่แล้วเพราะเริ่มหงุดหงิดกับดอลลาร์ที่ค่อนค่าลงไปมาก ผนวกกับเกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบเก็งกำไร (casino economy หรือ speculation economy) อย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นพวก Hedge Fund, Mutual Fund, Private Equity Fund, Property Fund สมทบด้วย Sovereign Wealth Fund ซึ่งมีทั้งกองทุนอาบูดาบี กองทุนดูไบ กองทุนซาอุดิอาระเบีย กองทุนคูเวต ที่เริ่มมีบทบาทในเศรษฐกิจโลกมากขึ้น

ดังจะเห็นในช่วงเวลาที่ผ่านมา กองทุนเพื่อการลงทุนของภาครัฐ (Sovereign Wealth Fund : SWF) กลายเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง ไม่เฉพาะกรณีกองทุนเทมาเส็กแห่งสิงคโปร์ที่เข้ามาซื้อหุ้นชินคอร์ปในไทยเท่านั้น แต่ในระดับโลกก็มีความหวั่นผวาของสหรัฐฯ และยุโรปต่อการเข้ารุกซื้อของพวกกองทุนภาครัฐแห่งย่านตะวันออกกลางด้วยเช่นกัน เพราะการผงาดขึ้นมาของกองทุนประเภทนี้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันอย่างมาก ด้วยหลายคนหวดผวาว่าการตัดสินใจที่จะลงทุนของพวกเขาไม่ใช่มาจากแรงจูงใจทางการเงินเท่านั้น แต่เป็นแรงจูงใจที่มุ่งประเด็นทางการเมือง

หากเรื่องเป็นแบบนี้ ปิโตรดอลลาร์ จึงน่าจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะทุกวันนี้เงินเหล่านี้เริ่มไหลเข้ามาเมืองไทยมากขึ้นทุกที-ทุกที

กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติหัวหอกอาหรับรุกตลาดโลก

Sovereign Wealth Fund (SWF) หรือ กองทุนความมั่งคั่งของชาติ เป็นหนึ่งในกองทุนที่ได้รับการจับตาจากหลายๆประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะบรรดาประเทศในกลุ่มอาหรับที่มีการใช้กองทุนดังกล่าวในการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคต่างๆทั่วโลก โดย SWF เป็นกองทุนของรัฐบาลที่เข้ามาบริหารจัดการเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อนำไปลงทุนแสวงหากำไรในลักษณะที่มีความเสี่ยงแต่ให้อัตราผลตอบแทนที่สูง

ล่าสุด โซเวอเรน ฮอสปิตัลลิตี โฮลดิ้งส์ (Soverreign Hospitality Holdings : SHH) บริษัทด้านการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยว พักผ่อน และอสังหาริมทรัพย์ ในเครือ เอ็ม. เอ. คาราฟีกรุ๊ป (M.A Kharafi Group : CAKG) แห่งคูเวต ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ได้ประกาศรุกธุรกิจระดับโลกด้วยการเข้าซื้อ และให้สนับสนุนการเงิน และพัฒนาสินทรัพย์ในกลุ่มธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ และท่องเที่ยวทั้งในไทย และอีกหลายประเทศทั่วโลกที่มีศักยภาพสูง

“เรามีเป้าหมายที่จะขยายเครือข่ายธุรกิจเชิงยุทธศาสตร์ทั้งในไทยและทั่วโลก โดยได้รับการสนับสนุนจากเอ็ม.เอ.คาราฟี กรุ๊ป เพื่อต่อยอดจากผลงานความสำเร็จ และสายสัมพันธ์ระยะยาวกับกลุ่มพันธมิตร เราเชื่อว่าการขยายธุรกิจครั้งใหญ่ของเราจะสร้างผลตอบแทนการลงทุนในโครงการที่มีศักยภาพสูงทั้งในตลาดเกิดใหม่และตลาดพัฒนาแล้วได้เป็นอย่างดี” โมฮัมเมด ฟาห์มี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โซเวอเรน ฮอสปิตัลลิตี โฮลดิ้งส์ หรือ SHH กล่าว

ปัจจุบัน SHH เป็นเจ้าของผู้ดำเนินธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท 21 แห่งทั่วโลก ซึ่งมีห้องพักรวมกันกว่า 4,000 ห้อง อยู่ในอียิปต์ แอฟริกาใต้ แกมเบีย ซีเรีย เลบานอน และแอลเบเนีย รวมทั้งกำลังพัฒนาอีกหลายโครงการในลิเบีย เซเนกัล เอธิโอเปีย และมอริเตเนีย โดยบริษัทฯ วางลู่ทางขยายการลงทุนในตลาดเกิดใหม่และตลาดพัฒนาแล้วทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก โดยใช้วิธีให้การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการพัฒนา หรือซื้อกิจการ และส่งเสริมการบริหารจัดการเชิงรุก

บริษัทตั้งเป้าว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีการเปิดตัวโครงการโรงแรม รีสอร์ท และอสังหาริมทรัพย์ในเครือเพิ่มขึ้นอีก 32 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้อง 5,800 ห้อง โดยโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ 11 แห่ง มีห้องพักรวมกว่า 1,800 ห้อง นอกจากบริหารโรงแรมด้วยตนเองแล้ว SHH ยังเซ็นสัญญาว่าจ้างเครือโรงแรมชื่อดังให้มาบริหารบางส่วน เช่น โฟร์ซีซั่นส์โฮเต็ลส์แอนด์รีสอร์ทส์, อินเตอร์คอนติเนนตัลโฮเต็ลส์กรุ๊ป, ไฮแอทอินเตอร์เนชั่นแนล, โรตานาโฮเต็ลส์แอนด์รีสอร์ทส์, สตาร์วู้ดโฮเต็ลส์แอนด์รีสอร์ทส์, และซิกซ์เซนเซ็สสปา รวมทั้งกำลังหาลู่ทางร่วมมือระยะยาวกับพันธมิตรอื่นในลักษณะเดียวกันเพื่อให้บริษัทฯ มีโรงแรมหลากหลายทั่วโลกให้ลูกค้าเลือกได้สะดวก

ปัจจุบัน SHH มีสินทรัพย์ครบวงจรมูลค่า 800 ล้านเหรียญ (26,400 ล้านบาท) มีการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยว พักผ่อน และอสังหาริมทรัพย์ เป็นบริษัทในเครือของ เอ็ม. เอ. คาราฟี กรุ๊ป จากประเทศคูเวต ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำติดอันดับ Fortune 500 ที่มียอดขายปีละ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (132,000 ล้านบาท) มีเครือข่ายธุรกิจใน 25 ประเทศ และว่าจ้างพนักงานกว่า 100,000 คนทั่วโลก

ทั้งนี้มีการประมาณกันว่า SWF มีไม่ต่ำกว่า 50 กองทุนทั่วโลก มีตั้งแต่กองทุนขนาดเล็ก 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ไปจนถึงกองทุนใหญ่ขนาด 900,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยมีมูลค่าสินทรัพย์รวมประมาณ 2.5-3.1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ.มากกว่าเฮดจ์ฟันด์ถึง 2 เท่า โดย 10 อันดับแรกมีสินทรัพย์คิดเป็น 80% ของ SWF ทั้งหมด ขณะที่มอแกนสแตนเลย์คาดว่ามูลค่า SWF จะสูงถึง 12 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในปี 2558

โดย SWF มีมานานกว่า 50 ปี มีจุดเริ่มต้นที่ประเทศคูเวต ภายใต้ชื่อ Reserves Fund for Future Generation ในปี 2496 จนกระทั่งปัจจุบัน SWF เริ่มเป็นที่สนใจของประเทศต่างๆทั่วโลก เนื่องจากการที่เงินทุนสำรองของประเทศต่างๆเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน และประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดในเอเชีย มีการจัดตั้ง SWF ขึ้น เช่น จีน มีการจัดตั้ง China’s Investment Corporation (CIC) เมื่อปีที่แล้ว โดย SWF บางแห่งมีการซื้อหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ และยุโรป ส่วนอินเดียก็กำลังพิจารณาที่จะจัดตั้ง SWF

นอกจากนี้ยังมี สิงคโปร์ เกาหลี คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และนอร์เวย์ เป็นต้น ซึ่งเป็น ประเทศที่มีการเพิ่มขึ้นของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างรวดเร็ว จึงมีการจัดตั้งกองทุน SWF เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการบริหารเงินทุนที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เมอร์ริล ลินช์ ประเมินว่า กองทุน โซเวอเรน ฟันด์ 7 กองทุนรายใหญ่ ได้แก่ กองทุนจากอาบูดาบี และ ดูไบ ของยูเออี กองทุนของ รัสเซีย และเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์-จีไอซี ของ สิงคโปร์ จะมีขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ เพิ่มจาก 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ เป็น 7.9 ล้านล้านดอลลาร์ ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยในปีที่ผ่านมากองทุนเหล่านี้ได้ซื้อกิจการ หรือหุ้นบางส่วนของกลุ่มทุนอเมริกัน เช่น ไชน่า อินเวสต์เมนต์ คอร์ป เข้าซื้อหุ้นเกือบ 10% ในแบล็กสโตน บริษัทที่เน้นการลงทุนในบริษัทเอกชน หรือ private equity firm ของสหรัฐ จากนั้น อิสติทม์ หน่วยงานเพื่อการลงทุนของสหรัฐอาหรับเอมิเรต ก็เป็นอีกหนึ่งรายที่ซื้อ กิจการบาร์นีย์ ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ด้วยวงเงิน 942 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังมี มูบาดาลา ดีเวลอปเมนต์ ในเครืออาบูดาบี ที่ทุ่มงบ 622 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซื้อหุ้นส่วนหนึ่งในบริษัทผลิตชิปคอมพิวเตอร์ "เอเอ็มดี"

สำหรับประเทศไทย มีการกล่าวถึง SWF เช่นกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่มากกว่าการบริหารเงินสำรองฯ แบบดั้งเดิมที่เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยประเทศไทย มีดุลการค้าและบริการเกินดุล อีกทั้งยังมีเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่องจนเงินสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 128.200 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ.(ตัวเลข ณ 16 พฤษภาคม 2551) เพียงพอที่จะนำบางส่วนมาพัฒนากองทุนความมั่งคั่งของชาติ

“รูปแบบการลงทุนของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในบริษัท หรือธุรกิจเรียลเซกเตอร์มากขึ้น และยังต่อเนื่องไปถึงการลงทุนในกองทุนต่างประเทศด้วย จากเดิมที่นิยมลงทุนในพันธบัตรสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่หลังจากพันธบัตรดังกล่าวเริ่มเสื่อมค่าลง ก็มีการลดการถือครองลง นอกจากนี้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ก็เป็นหนึ่งในการลงทุนที่กองทุน SWF มองหาเช่นกัน ซึ่งไทยเองถือเป็นประเทศที่กำลังมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างมาก แต่ประเทศไทยอาจจะไม่จำเป็นต้องตั้งกองทุน SWF แต่มีส่วนในการหาสินทรัพย์ให้กองทุนเหล่านี้เข้ามาลงทุน เช่น โครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ อสังหาริมทรัพย์ในแหล่งท่องเที่ยว เราไม่จำเป็นต้องมีกองทุน SWF เหมือนประเทศอื่นๆ แต่เราต้องหาอะไรที่มีขนาดใหญ่ น่าสนใจพอที่จะดึงกลุ่มกองทุนเหล่านี้ให้เข้ามาลงทุน เพราะถ้าการลงทุนเพียง 1% ของเขา ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่สูงมากแล้ว เนื่องจากกองทุนเหล่านี้จะมีขนาดใหญ่มาก” ศุภกร สุนทรกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี กล่าว

ทุนอาหรับ ดาหน้า ฮุบธุรกิจไทย

ความยิ่งใหญ่ของทุนอาหรับจาก 6 ประเทศที่ประกอบด้วย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และ บาห์เรน กำลังเป็นที่สนใจ เนื่องจากเม็ดเงินของ 6 ประเทศรวมกัน มีมากกว่าสินทรัพย์ในการบริหารของกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund : SWF) รวมกัน โดยคาดว่าเม็ดเงินของกลุ่มทุนอาหรับดังกล่าวสูงถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งยังไม่นับสินทรัพย์ในมือของโฮลดิ้งเอกชน

ในบรรดาทุนอาหรับทั้งหมด กลุ่มทุนที่ได้รับการจัดอันดับว่า ทรงอิทธิพลมากที่สุด ในเวลานี้ ได้แก่ กลุ่มทุนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเฉพาะ "อาบู ดาบี อิเวสต์เมนต์ ออทอริตีส์" หรือ ADIA ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุด โดยมีเงินทุนตั้งแต่ 6.50 แสนล้านดอลลาร์ ไปจนถึงมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์

ทว่าการลงทุนของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไม่ได้มีแค่กองทุนอาบู ดาบี แต่ยังมีกลุ่มทุนดูไบ โดยกลุ่มของอาบู ดาบี นอกจาก ADIA แล้ว ยังมีมูบาดาลา ดีเวลอปเมนต์ คอมปะนี ส่วนกลุ่มทุนดูไบ มี ดูไบ บริการกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ และยังมีทุนเอกชนอย่าง ดูไบ เวิรลด์ โฮลดิ้ง คอมปะนี ที่ดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์เป็นหลัก และยังมีกิจการท่าเรือ ส่วนกลุ่มอีมาร์ จะเชี่ยวชาญในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

สำหรับ คูเวตและกาตาร์ มีรูปแบบการลงทุนคล้ายๆ กัน โดยพัฒนามาจากคณะกรรมการการลงทุนแห่งชาติ คืออ คูเวต อินเวสต์เมนต์ ออทอริตีส์ และกาตาร์ อินเวสต์เมนต์ ออทอริตีส์ ส่วนบาห์เรน มีบาห์เรน มุมตาลากัต โฮลดิ้งส์ ขณะที่ ซาอุดีอาระเบีย มี 5 กองทุนเพื่อความมั่งคั่ง โดยรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย มี แซมบา และเอสทีซี เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการลงทุน

โดยในช่วงเริ่มต้น ทุนอาหรับเหล่านี้จะเน้นการลงทุนในภูมิภาค จากนั้นขยายอาณาจักรไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ในซีกโลกตะวันตก ทั้งอเมริกา และยุโรป โดยหลังจากมีรายได้จากการค้าน้ำมันสูงขึ้นก็มีการขยายการลงทุนมาสู่ประเทศในแถบเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย รวมถึงอาเซียน โดยประเทศไทยถือเป็นจุดหมายหนึ่งในการลงทุนของกลุ่มทุนอาหรับ ทั้งที่มาจากหน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน โดยมีมูลค่าการลงทุนไม่แพ้ สิงคโปร์ และชาติตะวันตก

ชื่อของ วาลิด อาเหม็ด จัฟฟาลี รองประธานบริษัท ซาอุดีซีเมนต์ (SCC) ซึ่งเป็นบริษัทซีเมนต์รายใหญ่ที่สุดในซาอุดีอาระเบีย และเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของกลุ่มบริษัท EA Juffali & Brothers กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมและพาณิชย์รายใหญ่ที่สุดในซาอุดีอาระเบียและภูมิภาคตะวันออกกลาง เริ่มเป็นที่จับตามองในบ้านเรา หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้พากลุ่มทุนอาหรับดังกล่าวเข้ามาดูวิถีชีวิตชาวนาไทยที่บ้าน อนุรักษ์ควายไทย แห่งถิ่นศรีประจันต์ สุพรรณบุรี พร้อมกับข่าวลือว่าจะมีการตั้งบริษัทรวมใจชาวนาเพื่อจ้างเกษตรกรไทยปลูกข้าว จนเกิดกระแสต่อต้านมาแล้ว

โดยเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มหาเศรษฐีซาอุดิอาระเบียสนใจธุรกิจการเกษตรก็เนื่องมาจากราคาพืชผลในตลาดโลกสูงขึ้น เนื่องมาจากปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะหยุดนิ่งเมื่อไร ดังนั้นจึงมีการหันมาลงทุนเพาะปลูกพืชพลังงานเพื่อผลิตไบโอดีเซล ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกเพื่อเลี้ยงชีพของมนุษย์ลดน้อยลง ประกอบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติล้วนสงผลต่อผลิตผลทางการเกษตร ทำให้เก็บเกี่ยวได้น้อยลง ขณะที่ปริมาณความต้องการมีมาก ราคาสินค้าเกษตรจึงแพงขึ้น

ชีค วาลิด อาเหม็ด จัฟฟาลี (Sheik Walid Ahmed Juffali) เป็นผู้บริหารกลุ่มบริษัท EA Juffali & Brothers ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจครอบคลุมเกือบทุกด้าน ตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้า อสังหาริมทรัพย์ ประกันภัย การสื่อสารโทรคมนาคม และยานยนต์ และได้ร่วมทุนกับบริษัทข้ามชาติรายใหญ่อย่าง เดมเลอร์-เบนซ์ โดว์ เคมิคัล ดูปองต์ ไอบีเอ็ม มิชลิน และซีเมนส์ เอจี และยังเป็นบุตรชายของ ชีค อาเหม็ด จัฟฟาลี ผู้ก่อตั้งบริษัท

โดยปัจจุบัน ชีค วาลิด อาเหม็ด จัฟฟาลี ดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัท ซาอุดิ ซีเมต์ (SCC) ซึ่งเป็นบริษัทซีเมนต์รายใหญ่ที่สุดในซาอุดีอาระเบีย ในเครือของจัฟฟาลี แอนด์ บราเธอร์ส และยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในกลุ่มบริษัทแม่ โดยตระกูลจัฟฟาลี ได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้มั่งคั่งที่สุดในโลกลำดับที่ 71 ของหนังสือพิมพ์ซันเดย์ ไทมส์ โดยมีทรัพย์สินเป็นมูลค่า ถึงราว 1,000 ล้านปอนด์ หรือราว 6.19 หมื่นล้านบาท

นอกจากกลุ่มทุนของ ชีค วาลิด อาเหม็ด จัฟฟาลี ที่คิดจะจัดตั้งบริษัทรวมใจชาวนาแล้ว ยังมีกลุ่มของเจ้าหญิงโครินนา ซู ซายิน วิตเกนสไตน์ (Corinna zu Sayn-Wittgenstein) กรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บอส แอนด์ โค สปอร์ตติง ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่เป็นหนึ่งในโผผู้ร่วมลงทุนในบริษัทรวมใจชาวนา เพียงแต่ไม่ได้ร่วมเดินทางมาเยือนวิถีชาวนาไทยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนอื่นๆอย่าง "อิสทิทมาร์ โฮเต็ล เอฟแซดอี" หรือ "Istithmar Hotels FZE" ซึ่งเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนของ "ดูไบ" ที่เข้ามาลงทุนพัฒนาโรงแรมในโครงการสาธร สแควร์ โดยร่วมทุนกับบริษัท โกลเด้นแลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เมื่อกลางปี 2550 ที่ผ่านมา ด้วยการจัดตั้งบริษัท นอร์ท สาธร โฮเต็ล จำกัด โดย "อิสทิทมาร์ฯ" ถือหุ้น 80% ส่วนอีก 20% ถือหุ้นโดย โกลเด้นแลนด์ฯ รูปแบบโครงการเป็นโครงการสูง 30 ชั้น มีจำนวนห้องพัก 400 ห้อง ภายในโครงการเพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย และมีศูนย์การประชุมรองรับการจัดประชุมของลูกค้าระดับไฮเอนด์และชาวต่างชาติ จะเปิดให้บริการประมาณปี 2553 ขณะเดียวกันก็เข้าถือหุ้นในบริษัท ไรมอนแลนด์ จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน เพื่อบุกตลาดอสังหาฯ ในไทยอย่างเต็มที่ ทั้งโรงแรม รีสอร์ต โดยผ่านทางกองทุนรวมอสังหาฯ ที่กลุ่มนี้จัดตั้งร่วมกับกลุ่มซิตี้ ดีเวลอปเมนต์ จากสิงคโปร์

เดป้า ยูไนเต็ด บริษัทออกแบบและตกแต่งภายใน จากประเทศดูไบ ใหญ่เป็นอัน 5 ของโลก ด้วยทุนจดทะเบียน 4,500 ล้านบาท เป็นอีกกลุ่มทุนอาหรับที่ได้ร่วมทุนกับบริษัทอุตสาหกรรมพรมไทย จำกัด (มหาชน) หรือพรมไทปิงของตระกูล "ศรีวิกรม์" ด้วยสัดส่วน 20% และยังมีแผนเข้าไปถือหุ้นในบริษัทเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำของเมืองไทย ในสัดส่วน 20-49% ตลอดจนมีแผนการลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งประเภทวิลล่าและโรงแรม

ส่วน ทีจีอาร์ กรุ๊ป มีการลงทุนที่ภูเก็ต ผุดโครงการ Barama Bay วิลล่าหรู ราคา 40-60 ล้านบาทต่อยูนิต และยังเตรียมทำโครงการรีสอร์ต Jumeirah Phuket Private Island Resort ทุนดูไบอีกกลุ่มคือ กลุ่มโรงแรมและรีสอร์ตในเครือ "IFA" ที่จับมือกับกลุ่ม"Istithmar" ทำธุรกิจโรงแรม โดยถือหุ้น 25% ในบริษัท ไรมอนแลนด์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของโครงการคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ที่พัทยาและภูเก็ต

นอกจากนี้เครือ Al Mulla Group ซึ่งมีฐานการลงทุนอยู่ในดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้วางแผนการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมหรู และโรงแรมแบบประหยัด โดยผุดแนวคิดในการพัฒนาโรงแรมสไตล์ "อิสลามิก โฮเต็ล เชน" ตามหลักวิถีชีวิตชาวมุสลิมซึ่งมีกำลังซื้อสูงและเป็นกลุ่มที่มีเดินทางการท่องเที่ยวไปทั่วโลก

ทั้งนี้มีรายงานว่าในระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้ กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีนโยบายที่จะทุ่มงบลงทุนเมกะโปรเจ็กต์โรงแรมและเมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบโดยธุรกิจโรงแรมจะมีการแยกตลาดออกเป็น 2 แบรนด์ คือ แบรนด์โรงแรมหรูหรา (luxury hotels) และแบรนด์โรงแรมประหยัด (budget hotels) โดย กลุ่มทุนที่น่าจับตาคือ Nakheel ของผู้ครองนครดูไบ เจ้าของเมกะโปรเจ็กต์ปาล์มจูเมียราห์และเบิร์กอัลอาหรับ ที่ร่วมทุนกับกลุ่ม Rotana Hotels ตั้งเป้ารุกธุรกิจโรงแรมใน 18 ประเทศ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ เวิรลด์ ออฟ ดิสคัฟเวอรี่ ใน Palm Jebel Ali เป็น Sea World Aquatica พิพิธภัณฑ์โลกใต้ทะเลแห่งแรกในดินแดนแห่งทุ่งทะเลทรายระหว่างรอยต่อเมือง ดูไบกับอาบูดาบี กำหนดเปิดบริการปี 2555

เจอรัลด์ ลอว์เลส รองประธานบริหาร จูเมียราห์ กรุ๊ป ให้ทัศนะว่าภายในปี 2555 ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางจะกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ โรงแรม รีสอร์ต โรงพยาบาล เมดิคัลซิตี้ และจะเป็นเกตเวย์ตลาดของ ไทย เอเชีย ยุโรป อเมริกา เนื่องจากมีเม็ดเงินมูลค่ากว่า 3.63 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ไหลเข้าสู่ประเทศในแถบเอเชีย โดยประเทศไทย และอาเซียนจะได้รับอานิสงส์จากเงินทุนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 1-2%

ก่อนหน้านี้ สุลต่าน อะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม ประธานกรรมการบริหารของกลุ่มบริษัท ดูไบเวิลด์ ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย พร้อมกับแสดงความสนใจตลาดเมืองไทย ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า กลุ่มทุนอื่นๆ จากแถบตะวันออกกลางจะเริ่มหันมามองเมืองไทยเหมือนเช่นกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่จากดูไบเวิลด์ที่สนใจตลาดเมืองไทย

นอกจากนี้ยังมีข่าวคราวที่บ่งชี้ว่ากลุ่มทุนอาหรับเตรียมที่จะทุ่มงบลงทุนเข้าสู่ตลาดเมืองไทย ซึ่ง เก่งกล้า รักษ์เผ่าพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานศูนย์ระดมทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่าจากการที่ ตลท.ได้เดินทางไปโรดโชว์กลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พบว่าผู้บริหารกองทุนต่างให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มบริการ สุขภาพ และโรงพยาบาล โดยจะมีการลงทุนผ่านทางตลาดทุน ตลอดจนการลงุทนโดยตรงกับธุรกิจที่สนใจ โดยเฉพาะธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งรูปแบบของกองทุนที่อยู่ภายใต้การบริหารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มี 2 กองทุน คือ Abu Dhabi Investment ซึ่งเป็นกองทุนที่มีการนำรายได้จากน้ำมันไปลงทุนทั่วโลกและกองทุนไอซีดี (Investment Corporate Abu Dhabi) ซึ่งเป็นกองทุนที่นำเงินของทางภาครัฐไปลงทุนในต่างประเทศ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.