|
ควบ2บลจ.ยุบINGใส่TMBAM
ผู้จัดการรายวัน(14 กรกฎาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
"มาริษ" เผยยังไม่ทราบความชัดเจน เรื่องควบรวม 'บลจ.ไอเอ็นจี' กับ 'บลจ.ทหารไทย' เหตุต้องรอให้แบงก์ดำเนินการระหว่างกลุ่มให้เสร็จก่อน เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงที่กำลังเรียนรู้ ด้านแหล่งข่าววงการกองทุนรวมระบุความเป็นไปได้ น่าเป็นการรวมกันในลักษณะของการโอนย้ายกองทุนทั้งหมดของค่ายสิงโตมาหใอีกฝั่ง เนื่องจากยังขาดทุน ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ต้องตั้ง TMBAM เป็นแกน
นายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทยังไม่รู้ว่าจะต้องมีการควบรวมกิจการหรือปรับแผนกลยุทธ์ด้วยกับ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด หรือ TMBAM หรือไม่ เนื่องจากต้องรอให้ทางธนาคารทหารไทยและกลุ่มไอเอ็นจีดำเนินการระหว่างกลุ่มให้เสร็จก่อน ถึงจะรู้เป้าหมายการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท และจะเห็นกลยุทธ์และนโยบายการดำเนินงานที่ชัดเจนมากขึ้น
โดยระหว่างนี้ เหมือนบลจ.ไอเอ็นจีและกลุ่มของธนาคารทหารไทย อยู่ในช่วงที่กำลังเรียนรู้กันอยู่ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางบริษัทก็เริ่มนำ 2 กองทุน คือกองทุนเปิด ไอเอ็นจีไทยทีเอ็มบีไพรม์ 3M1และกองทุนเปิดไอเอ็นจีไทยทีเอ็มบีพรีเมียม 3M1 มาเสนอขายในสาขาของธนาคารททารไทย ซึ่งเป็นหนทางให้เข้าถึงกลุ่มผู้ลงทุนรายย่อยมากขึ้น ก่อนจะส่งกองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย ทีเอ็ม พรีเมี่ยม 3M1 และกองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย ทีเอ็ม พรีเมี่ยม 6M1 ซึ่งเป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศเปิดขายต่อเนื่อง
“เสียงตอบรับจากผู้ลงทุนหลังจากที่บริษัทเริ่มขายกองทุนในสาขาของธนาคารทหารไทยนั่นเป็นไปด้วยดี เพราะจากที่นำไปขายเพียง 2 กอง ก็ทำให้มียอดปริมาณการซื้อของเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว”นายมาริษกล่าว
ในขณะที่แหล่งข่าวในธุรกิจกองทุนรวมมองว่าในกรณีที่มีการควบรวมกันระหว่างบลจ.ไอเอ็นจี(ประเทศไทย)และบลจ.ทหารไทยนั้น ไม่น่าจะเป็นไปในลักษณะของการควบรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัทเข้าด้วยกัน เนื่องจากทางบลจ.ไอเอ็นจี(ประเทศไทย) มีผลขาดทุนจากการดำเนินธุรกิจอยู่ในขณะที่ทางบลจ.ทหารไทยไม่มี ซึ่งการควบรวมกิจการในลักษณะนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อบลจ.ทหารไทยแน่นอน แต่น่าจะเป็นการรวมกันในลักษณะของการโอนย้ายกองทุนจากบลจ.ไอเอ็นจี(ประเทศไทย)มาให้บลจ.ทหารไทยบริหารมากกว่า เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจกองทุนรวมถึง 2 ใบ ในส่วนที่บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย)มีอาจจะขายใบอนุญาตให้ผู้ที่สนใจจะทำธุรกิจต่อไปก็ได้ ซึ่งน่าจะเป็นการควบรวมในลักษณะนี้มากกว่าหากจะมีการควบรวม 2 บลจ.เข้าด้วยกัน
“อย่างไรตามแนวคิดในการรวมยังไม่ชัดเจน แต่ถ้ารวมกันน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ซึ่งถ้ามองจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารทหารไทยแล้ว การควบรวมน่าจะให้บลจ.ไอเอ็นจี(ประเทศไทย)เป็นแกนหลักในการรวม แต่ถ้าจะใช้บลจ.ทหารไทยเป็นแกนหลักในการรวม น่าจะมาจากเหตุผลเดียวคือ ผลการดำเนินธุรกิจที่ไม่ดีของบลจ.ไอเอ็นจี(ประเทศไทย)เองที่มีอยู่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีการควบรวมของ 2 บลจ.หรือไม่ แต่ก็น่าจะช่วยเพิ่มขนาดสินทรัพย์หลังควบรวมให้ขยับขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของอุตสาหกรรมกองทุนรวมอย่างแน่นอน”แหล่งข่าวกล่าว
ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวว่า คณะกรรมการธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB กำลังอยู่ระหว่างหารือร่วมกันในการควบรวมกิจการระหว่าง บลจ. ทหารไทย และ บลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำงานภายใต้เครือธนาคารทหารไทย เนื่องจากปัจจุบันธนาคารมี บลจ.ในเครือถึง 2 ราย จากการเข้ามาของบลจ.ไอเอ็นจี หลังจากกลุ่มไอเอ็นจีได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร
โดยเมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารทหารไทยเองได้ลดการถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC ไปแล้ว โดยเป็นการขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ให้กับ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แอ็คคินซัน จำกัด (มหาชน) หรือ ASL ซึ่งเป็นการทยอยลดความซ้ำซ้อนในการมี บลจ. ในเครือถึง 3 บริษัทด้วยกัน และให้เป็นไปตามนโยบายการกำกับแบบรวมกลุ่มของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย
รายงานข่าวระบุว่า การควบรวมกิจการดังกล่าว บลจ.ทหารไทยจะเป็นแกนในการจัดตั้ง เพราะเป็นบริษัทในเครือของธนาคารทหารไทย โดยตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ จะยังเป็นนางโชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทยคนปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ยังอยู่ระหว่างการสรรหาประธานบริษัทด้วย โดยรายงานข่าวระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่ นายสุภัค ศิวะรักษ์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยคนปัจจุบัน จะเข้ามารับหน้าที่ดังกล่าว ส่วนนายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ไอเอ็นจี นั้น ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะนั่งตำแหน่งใด
ส่วนนางโชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การควบรวมระหว่าง บลจ.ทหารไทย กับบลจ.ไอเอ็นจี ซึ่งธนาคารทหารไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่นั้นน่าจะมีโอกาสเป็นไปได้ และคงต้องมีการรวบรวมข้อมูล พร้อมศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ และผลประโยชน์ ด้านดีและเสียของเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้วยังไม่ทราบเรื่องแต่อย่างใด ซึ่งเป็นเรื่องของแบงก์แม่ในการดำเนินการดังกล่าว โดยอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควรเนื่องจาก อาจติดในส่วนของผู้ถือหุ้นอื่นๆ ด้วย
“จะควบรวมกันหรือไม่ คงเป็นเรื่องของแบงก์แม่ แต่ถ้าบอกว่ามีโอกาสไหม ก็มีอยู่ ส่วนตัวแล้วไม่ทราบรายละเอียด แต่มีได้ยินมาว่า มีการวางแนวทาง และต้องดูด้วยว่าแผนดังกล่าวจะดีไหม ควรทำไหม น่าจะเป็นแบบนั้น”นางโชติกากล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|