|
"TKS"หวั่นขาใหญ่ทิ้งหุ้น ดึงรายย่อย-สถาบันเสียบ
ผู้จัดการรายวัน(14 กรกฎาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ที.เค.เอส. เทคโนโลยี เข็ดขาใหญ่ถือหุ้น หวังให้นักลงทุนรายย่อย-กองทุนถือแทน เหตุพอขาใหญ่ถอนการลงทุนถล่มราคาหุ้นร่วงต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน จนต้องรับซื้อหุ้นคืน เบนเข็มนำหุ้นโครงการซื้อคืนขายนักลงทุนสถาบัน ขณะต้นเดือนที่ผ่านมารายใหญ่ทิ้งอีเอ็มซี เกือบเกลี้ยงพอร์ต
แหล่งข่าวจากหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บริษัท ที.เค.เอส. เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)หรือ TKS เปิดเผยว่า การที่บริษัท ที.เค.เอส. เทคโนโลยี มีการจัดโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารการเงิน เพื่อรับซื้อหุ้นจากนักลงทุนรายใหญ่บางรายของบริษัทที่จะมีการขายหุ้นออกมา เพื่อที่จะถือเงินสดให้มากที่สุด เพราะต้องการสภาพคล่องของพอร์ตและลดความสียหายจากการลงทุนหุ้นเก็งกำไรในช่วงที่ผ่านมา และมีบางส่วนที่เข้าไปเก็งกำไรในหุ้นบริษัทอื่น
สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ถือหุ้นของบริษัททั้งทางตรงและผ่านนอมินีประมาณ 10% โดยที่ผ่านมา นักลงทุนรายใหญ่เริ่มที่จะขายหุ้นออกแล้ว และบริษัทเข้าไปทยอยซื้อในราคาที่สมเหตุสมผลเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทไม่ต้องการที่จะเร่งซื้อเพื่อที่จะได้ราคาที่ถูกและเหมาะสม โดยขณะนี้บริษัทได้ซื้อหุ้นคืนแล้วจำนวน 52.06 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.1% มูลค่ารวม 18.27 ล้านบาท จากมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติวงเงินในการซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 60.77 ล้านบาท และจำนวนหุ้นไม่เกิน 7.00% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
"ก่อนหน้านี้ทางเราได้คุยกับนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งเขาอยากถอนการลงทุนเราก็ยินดีที่จะเข้าไปรับซื้อ ถ้าหากไม่เข้าไปรับซื้อ ปล่อยให้อยู่อย่างเดิมก็จะไม่มีใครได้ประโยชน์ และป้องกันไม่ให้ราคาหุ้นปรับลดลงมาก จะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้มีการซื้อบิ๊กล็อตTKS ก็เป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมเข้าไปรับไว้" แหล่งข่าวจากผู้ถือหุ้นใหญ่กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อนักลงทุนรายใหญ่มีความต้องการที่จะขายหุ้นออกมา ก็จะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของบริษัททำให้ราคาหุ้นไม่เป็นไปตามความกลไกตลาด ซึ่งบริษัทต้องการที่จะกลับมาถือหุ้นของบริษัทเองให้มากที่สุดหรือให้นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันให้ถือหุ้นมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคาหุ้นของบริษัทให้เคลื่อนไหวไปตามความเหมาสะสมมากกว่าการให้นักลงทุนรายใหญ่ถือหุ้น เพื่อทำราคา
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทนั้นต้องการที่จะถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วน 60-70% จากกลุ่ม นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ถือหุ้นอยู่ที่ 50% และเมื่อบริษัทถึงกำหนดโครงการรับซื้อหุ้นคืนแล้วก็จะมีการขายหุ้นให้กับนักลงทุนสถาบันแทน ซึ่งเชื่อว่าจะหากองทุนเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทได้ไม่ลำบาก เพราะบริษัทดำเนินธุรกิจที่มีการเติบโตที่ดีและจ่ายปันผลให้กับนักลงทุน และเมื่อภาวะตลาดดีราคาหุ้นของบริษัทก็จะเข้ามาในระดับที่เหมาะสม
จากการรวบรวมข้อมูลจากแบบรายงาน พบว่า นางสีฟ้า แจ่มวุฒิปรีชา นักลงทุนรายใหญ่ได้มีการขายหุ้น บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน)หรือ EMC เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 จำนวน 258.32 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 5.10% จากก่อนหน้านี้ถือหุ้น 288.04 ล้านหุ้นหรือคิดเป็น 5.22% ทำให้ภายหลังการขายหุ้นครั้งนี้เหลือถือหุ้น 6.72 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 0.12%
ทั้งนี้พบน.ส.ฉัตร์สุดา เบ็ญจนิรัตน์ นักลงทุนรายใหญ่ได้มีการขายหุ้นEMC เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 จำนวน 460.96 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 8.35% จากก่อนหน้าที่ถือหุ้นอยู่ 689.05 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 12.49% ทำให้ภายหลังการขายหุ้นครั้งนี้เหลือถืออยู่จำนวน 228.09 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 4.13% โดยเป็นการขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯผ่านบล.นครหลวงไทย และบล.ฟาร์อีสท์
สำหรับความเคลื่อนไหวราคาหุ้นEMC ตั้งแต่ 2-10 กรกฎาคม 2551 ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมา0.60 บาท หรือลดลง 63.16% ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันราคาหุ้นปรับตัวลดลง4.05 บาท หรือปรับตัวลดลง 92.05%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|