โรงหนังเฉลิมกรุงมีอายุครบ 60 ปีในเดือนตุลาคมนี้ ความเก่าแก่ของมันคงจะเป็นที่มักคุ้นของคนรุ่นเก่าๆแต่ก็เป็นที่น่าเสีนดาย
เมื่อโรงหนังเฉลิมกรุงจำเป็นต้องปลดเกษียณอายุราชการตนเองเมื่อวาระอันควรมาถึง
การปิดฉากของโรงหนังเฉลิมกรุงคราวนี้ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม เหมือนเช่นเฉลิมไทยที่จำเป็นต้องรื้อถอนหักโค่นทิ้ง
เพราะการบดบังรัศมีความสวยงามของวัดราชนัดดาที่นักผังเมืองมองว่าการเปิดที่ว่าง
เพื่อให้เห็นบริเวณความสวยงามอันอยู่บริเวณที่มีาชื่อว่าเกาะรัตนโกสินทร์นั้น
การที่ต้องสูญเสียบางสิ่งบางอย่างไปเพื่อแลกกับการที่ได้มาในสิ่งที่เป็นหน้าเป็นตาของบ้านเมืองมันคุ้มยิ่งกว่าคุ้มเสียอีก
นั่นคือที่มาของการปิดฉากโรงหนังเฉลิมไทยหรือศาลาเฉลิมไทย ที่คนกรุงเทพรู้จักกันเป็นอย่างดี!
ในทำนองเดียวกันการปิดฉากอำลาโรงของโรงหนังเฉลิมกรุงก็เข้าทำนองเดียวกันกับศาลาเฉลิมไทย
จะผิดเพี้ยนกันอยู่ตรงที่ว่าเฉลิมกรุงในวันนี้ ยังคงมีสภาพเช่นเดิมเหมือนที่เคยเป็นมาแต่จะสิ้นสภาพของการเป็นโรงมหรสพที่ใช้ในการฉายโรงภาพยนตร์
โดยจะเปลี่ยนบทบาทและหน้าที่ของตนเองใหม่ให้ดูโอ่อ่าและโอ่โถงมากขึ้นกว่าเดิม
กลายเป็นโรงละครที่ทันสมัยที่สุดเป็นแห่งแรกของเมืองไทยและเป็นแห่งที่สองของโรงละคร
ศาลาเฉลิมกรุงเป็นอาคารที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชการที่7 เป็นการสร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เมื่อปี
พ.ศ.2476 ด้วยพระประสงค์ต้องการให้เป็นโรงมหรสพสำหรับประชาชนทั่วไปไว้พักผ่อนหย่อนใจ
ปัจจุบัน มีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในศาลาเฉลิมกรุงเต็มที่
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนั้นทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็เห็นด้วยกับการปรับปรุงรูปโฉมใหม่ของโรงหนังให้สดใสกว่าเดิม
ถึงขนาดร่วมลงทุนกับกลุ่มนักลงทุนที่มีชื่อเสียงมักคุ้นกันดี ไม่ว่าจะเป็นบริษัท
สยามพานิชพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด (แลนด์แอนด์เฮาส์) ซึ่งจับคู่ร่วมกับธนาคารไทยพานิชย์และมณีทัศน์โดยมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นร่วมอยู่ด้วย
ในนามของบริษัทสหศินีมามีสัดส่วนใในการถือหุ้น 45% ,45%และ 10 %ตามลำดับ
ภายใต้การบริหารงานของบริษัทเฉลิมกรุงมณีทัศน์ จำกัด
ถึงแม้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาถือหุ้นร่วมในโครงการ"เฉลิมกรุงมณีทัศน์"
โดยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในรูปของเงินปันผลแล้วยังได้รับค่าเช่าอีกประมาณ
106 ล้านบาทจากากรให้สัมปทานมมีอายุ 30ปีจากบริษัทเฉลิมกรุงมณีทัศน์ด้วยโดยได้รับค่าเช่าเป็นงวดๆ
จุดเปลี่ยนของโรงหนังเฉลิมกรุงที่จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในราวเดือนกันยายน
ปี 35 นี้คือ โรงมหรสพที่ใช้แสดงโขนสด ที่มีพร้อมทั้ง แสง สี เสียง ซึ่งเทคนิคดังกล่าวจะเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น
"แหล่งที่มาของเทคโนโลยีตามคาดหมายคืออเมริกาและอิตาลี ทั้ง 2 ประเทศนี้ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งของความเจริญทางด้านเทคนิคที่หาตัวจับได้ยาก
ซึ่งเราจะนำเข้ามาจากที่นี่" มานิต รัตนสุวรรณ ประธานกรรมการบริษัทมณีทัศน์
จำกัด ผู้จัดประกายความคิดโครงการเฉลิมกรุงมณีทัศน์ ให้เป็นโรงละครที่ทันสมัยของเมืองไทยตามความฝันที่กำลังเป็นจริงขึ้นมาให้ได้กล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
มานิต รัตนสุวรรณ กับวัย 48 ปีของเขาในวันนี้มีชื่อเสียงโด่งดังในวงการตลาดอย่างมากมาย
เคยเป็นนักบัญชี นักโฆษณา นักขาย นายกสมาคมการตลาดแม้กระทั่งนักกลอนก็เคยเป็นมาแล้ว
ล่าสุดก่อนออกมาดำเนินกิจการส่วนตัวเคยบริหารให้กับบริษัทพรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง
จำกัดในเครือโอสถสภาในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ว่ากันว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
รายได้ที่เริ่มจากหลักศูนย์พุ่งทะยานสู่ 500 ล้านบาทภายในเวลา 5 ปี
ปัจจุบันมีกิจการส่วนตัวคือบริษัทเอ็มจีเอ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นบริษัทการตลาดจัดจำหน่ายสินค้ามากมาย
ประเด็นที่น่าสนใจคือทำไมถึงหันมาลงทุนทำธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนท์โดยเฉพาะโครงการเฉลิมกรุงมณีทัศน์ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องโขน
เรื่องละครเช่นนี้
มานิตบอกว่า มันเป็นความฝันของเขาที่ต้องการสานฝันให้เป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งเป็นความชอบส่วนตัวในการดูโขนรวมทั้งเฝ้าศึกษาเรื่องนี้มาเป็นเวลานานพอสมควร
นอกจากนี้เขาเฝ้ามองมานานแล้วว่าในเมืองไทยยังไม่มีสถานที่ที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้สึกเคารพและให้เกียรติในสถานที่นั้นๆ
ถึงขนาดแต่งตัวดีๆ เช่นใส่สูทหรือแต่งตัวเต็มยศเข้าในสถานที่นั้นๆสักแห่งเดียว
ดังนั้น โครงการเฉลิมกรุงมณีทัศน์นี้ จะเป็นสถานที่แห่งแรกที่ชาวต่างชาติจะต้องเข้ามาในลักษณะของคนที่เคารพสถานที่เหมือนอย่างที่เวลาเราเข้าชมบอร์เวย์ยังไงยังงั้น
การปรับปรุงเฉลิมกรุงฯให้เป็นโรงละครที่สมบูรย์แบบนี้ต้องใช้งบประมาณในการปรับโครงสร้างภายในใหม่
40 ล้านบาท เพื่อปรับระบบเครื่องปรับอากาศ ตกแต่งภายใน น้ำไฟ ที่นั่ง ฯลฯ
ทางด้านเป้าหมายการตลาดหรือกลุ่มเป้าหมาย มานิตกล่าวว่าได้วางกลุ่มเป้าหมายไว้
2 ประเภทคือ คนไทยที่มีความสนใจในการแสดงโขนกับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวยุโรป
มานิตมองว่านักท่องเที่ยชาวยุโรปจะมีความเป็นอิสระในการทัวร์มากกว่านักท่องเที่ยวที่มาจากเอเชีย
ซึ่งต้องซื้อเป็นแบบแพกเกจทัวร์เข้ามาการตลาดเช่นนี้ต้องทำให้เราต้องไปผูกสัมพันธ์กับบริษัทททัวร์เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายนี้
ถ้าเราต้องการกลุ่มเป้าหมายเพิ่ม
"แต่ในขณะนี้รายการแสดงที่วางไว้ก็เป็นที่น่าสนใจของบริษัททัวร์อยู่ไม่น้อยเช่นกัน"
มานิตกล่าวถึงกลุ่มเป้าหมายทางการตลาด
ปีหนึ่ง ๆ มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าเมืองไทยอย่างน้อยประมาณ 120,000 คน
(เฉพาะนักท่องเที่ยวชาวยุโรป) หรือ 4-5 ล้านคนต่อปีจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด
จำนวนที่นั่งของโรงละครแห่งนี้จุได้ประมาณ 700 ที่นั่งซึ่งยังไม่ถึง 10 %
ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าเมืองไทยจึงเป็นตัวเลขเป้าหมายที่มานิตหวังไว้เท่านั้นว่าเพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายทางการตลาดดังกล่าวมานิตไม่ได้หวังเพียงความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น
แต่เขาหวังที่จะได้รับควาสนใจจากคนไทยด้วยกันเองอีกด้วยจึงได้แบ่งรอบของการจัดการแสดงไว้เป็น
2 รอบด้วยกันคือรอบการแสดงของคนไทยและรอบของคนต่างชาติ ซึ่งรอบนี้จะมีการแปรภาษาเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สื่อความหมายของการแสดงโขนนี้อย่างเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น
การลงทุนปรับปรุงศาลาเฉลิมกรุงเพื่อสร้างโครงการเฉลิมกรุงมณีทัศน์ขึ้นมานี้ต้องใช้งบประมาณลงทุนเป็นจำนวนร่วม
80 ล้านบาท (ไม่รวมค่าเช่า)มานิตโต้โผใหญ่คาดว่าจะต้องใช้เวลา 5 ปี ในการคืนทุน
ซึ่งจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ขึ้นกับตัวแปรที่สำคัญคือการแสดง!
ทั้งนี้เพราะการแสดงโขนที่ได้รับความช่วยเหลือจากวิทยาลัยนาฏศิลปนี้ เป็นศิลปชั้นสูงที่นับวันจะหาดูได้ยาก
และกลุ่มคนที่อนุรักษ์การแสดงโขนก็เหลือน้อยเต็มทีสำหรับคนไทย แต่เชื่อว่า
นอกจากธรรมชาติและศิลปะอย่างอื่นที่ต่างชาติต้องการหาดูได้จากเมืองไทยแล้ว
โขนก็น่าจะเป็นศิลปวัฒนธรรมตัวหนึ่งที่จะขายนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีกแหล่งหนึ่งด้วย
นอกจากนี้บริเวณรอบๆศาลาเฉลิมกรุงเดิมเคยเป็น ร้านค้า ร้านกาแฟ ฯลฯ ในอนาคตคาดว่ารูปแบบของการค้าขายย่านนี้จะเปลี่ยนแปลงเพื่อรับกับสถานะของโครงการใหม่
เช่น จะมีร้านขายของที่ระลึกเกิดขึ้น นอกจากนี้ในตัวโครงการจะมีพิพิธภัณฑ์ตัวละครเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโขนมาตั้งโชว์ให้กลุ่มผู้สนใจได้ชมกันอีกด้วย
ส่วนผู้ที่ให้การสนับสนุนโครงการเพื่อให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ตามที่ต้องกา
คือครบเครื่องเรื่องเทคนิคแสงสี เสียงนี้ มานิตเล่าว่า ได้คณะผู้มีความชำนาญการจากสถาบันต่างๆอาทิ
อาจารย์สุไลมานจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไชโย จากถ่ายไชโย
ด้านเทคนิค แจ๊คซาวน์ด้านเสียง ไลท์ ซอส ด้านแสงเป็นต้น
มานิตโด่งดังมาจาการทำตลาดสินค้ามากมาให้รุ่งพุ่งแรงสุดขีดมาแล้วหลายยี่ห้อเมื่อฉีกแนวของอาชีพออกมาเช่นนี้
งานนี้ก็น่าจะเป็นบทพิสูจน์กลายๆได้ว่าเขาจะทำให้โครงการนี้รุ่งได้เหมือนอย่างที่เคยทำสินค้าที่เคยดับให้ฟื้นคืนชีพมาแล้ว
หรือมีอันต้องอำลาจากวางมือเหมือนที่เคยคิดจะทำโครงการนารายณ์ภัณฑ์พาวิลเลี่ยนมาแล้วครั้งหนึ่ง
เพราะต่อจากโครงการนี้มานิตตั้งเป้าสู่การผลิตสินค้าไทยส่งออกหากโครงการเฉลิมกรุงมณีทัศน์สัมฤทธิ์ผล