ศูนย์อนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อนด้วยการผลักดันของกรอ.และแรงสนับสนุนจากรัฐบาลให้เป็นผู้ดูแลการปฏิบัติ
เพื่อถนอมพลังงานที่มีอยู่ให้ใช้ได้อย่างทรงประสิทธิภาพและยาวนานที่สุด เนื่องจากพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันนั้นเป็นพลังงานที่มีวันหมด
โดยมีพินิจ กฤติยรังสรรค์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ในการรณรงค์และส่งเสริมการประหยัดพลังงานทุกรูปแบบ
การใช้น้ำมันของไทยในช่วงที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวสูงมาก ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าการขยายตัวถึง
1.5 เท่าของอัตราเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะอยู่ในระดับไม่เกินหนึ่งเท่า
ยิ่งถ้าเป็นประเทศอุตสาหกรรมแถบยุโรปจะอยู่ในระดับเพียง 0.2-0.3 เท่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการใช้น้ำมีนที่สูงกว่าของไทยอย่างชัดเจน
ความต้องการน้ำมันพลังงานหลักที่สูงเป็นเท่าทวีเกิดขึ้นเพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
แต่อีกด้านหนึ่งก็เนื่องจากการใช้น้ำมันที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ร.ท.ศุลี มหาสันทนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับผิกชอบด้านพลังงานของประเทศให้ความสำคัญในเรื่องของการประหยัดพลังงานอย่างมากและอยู่เยื้องหลังการเกิดขึ้นของศูนย์
โดยบทบาทของศูนย์ฯก็คือให้คำแนะนำปรึกษา ตลอดจนการฝึกอบรมบุคลากรเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน
แก่ทั้งโรงงานและอาคารบ้านเรือนแต่จะเน้นหนักส่วนโรงงานส่วนอุตสาหกรรมใในช่วงแรก
ทั้งนี้ ศูนย์ฯจะดำเนินการภายใต้พ.ร.บ.อนุรักษ์พลังงานที่เพิ่งจะผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองด้านเศรษฐกิจเมื่อปลายเดือนสิงหาคมศกนี้
สาระสำคัญของพ.ร.บ.ก็คือ กำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมและอาคารที่ทใช้น้ำมันหรือถ่านหินเททียบเท่ามากกว่าหนึ่งล้านลิตรหรือไฟฟ้าตั้งแต่
500 กิโลวัตต์ ต้องส่งข้อมูลการใช้เชื้อเพลิงและการผลิตให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯทราบต้องทำ
ENERGY AUDIT หรือส่งรายงานการใช้เชื้อเพลิงทุกปีและแต่งตั้งผู้รับผิดชอบด้านอนุรักษ์พลังงานประจำโรงงาน
รวมโรงงานและอาคารในข่ายนี้ประมาณ 2,000 ราย ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย"เป็นลักษณะขอความร่วมมือมากกว่า"
พินิจกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฯที่จะต้องปฏิบัติงานให้เป็นไปตามพ.ร.บ.
"จะเห็นว่ามีโทษน้อยโรงงานเหล่านี้จะเป็นโรงงานขนาดกลางขึ้นไปถ้าไม่ส่งรายงานจะถูกให้ปรับค่า
AUDIT แห่งละ 2 หมื่นบาท"
ด้วยประสบการณ์ที่พินิจเคยเป็นวิศวกรฝ่ายขายของบริษัท เดลต้า เทรดดิ้งผู้ค้าเครื่องออโตเมติก
คอนโทรลและผู้จัดการฝ่ายวางแผนในโรงงานโซดาไฟของบริษัท ไทยอาซาฮี กระทั่งออกมาทำธุรกิจส่วนตัวได้ตั้งบริษัท
ออโตโมชั่น เซอร์วิส จำกัด ซึ่งจำหน่ายอุปกรณ์ควบคุมการใช้เชื้อเพลิงในโรงงานโดยตรงพินิจจึงเข้าใจภาพการทำงานในโรงงานทั่วไปได้ดี
พินิจเห็นว่า ทั้งโรงงานขนาดใหญ่และเล็กมีส่วนที่จะประหยัดพลังงานได้อีก
โดยเฉพาะในส่วนอุปกรณ์ การเดินเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพตลอดจนการซ่อมบำรุงที่ยังปรับปรุงได้
โรงงานใหญ่บางแห่ง แม้จะใหญ่จริง ซึ่งส่วนมากจะมีการใช้เชื้อเพลิงอย่างประหยัดแล้วก็ตาม
แต่บางแห่งเครื่องจักรล้าสมัย หรือดูแลไม่ทั่วถึงเนื่องจากคนมักไปสนใจกับเครื่องจักรใหม่แต่พอทำ
ENERGY AUDIT จะเห็นข้อบกพร่องนี่จุดที่หลายโรงงานมักจะละเลย
พินิจยังชี้ถึงผลดีการทำ ENERGY AUDIT ว่าถ้าโรงงานทำได้ในปีแรกแค่ 3-4
% ก็คุ้มค่าซึ่งถ้าทำทั้งหมดจะลดปริมาณการใช้พลังงานในภาพรวมได้ถึง 20-30
% ไม่รวมถึงโรงงานบางแห่งที่ใช้มาตรการหลายอย่างพร้อมกันจะช่วยประหยัดได้สูงกว่า
3-4 % หลายเท่า
ข้อกำหนดสำหรับโรงงานนั้น พินิจย้ำว่าที่สำคัญศูนย์ฯต้องข้อมูลการใช้ข้อมูลการใช้เชื้อเพลิงเพื่อช่วยประหยัดมากกว่า
"เราจะชี้ให้เห็นว่า การทำงานในโรงงานมีจุดอ่อนตรงไหนจะเสริมการประหยัดเชื้อเพลิงในส่วนใดได้บ้าง"
ไม่ว่าจะเป็นการช่วยแนะนำการทำงานในโรงงานหรือการจัดอบรมความรู้ในการประหยัดพลังงานให้คนของโรงงาน
ซึ่งในขณะนี้ศูนย์กำลังจัดโครงการอบรมผู้อนุรักษ์พลังงานแก่โรงงาน 1,000
คน โดยการพลังงานแห่งชาติในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯผู้วางแผนดูแลนโยบายเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
1,000 บาทต่อราย
นับเป็นตัวอย่างที่ทางรัฐบาลพยามส่งเสริมให้โรงงานเห็นความสำคัญและร่วมมือในการประหยัดพลังงาน
เพื่อมิให้โรงงานรู้สึกว่าการที่ศูนย์ฯเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะต้องการจับผิด
"ที่จัดบริการฟรี โรงงานจะได้ไม่เห็นว่าเป็นภาระในการประหยัดพลังงาน
และต่อไปโรงงานจะได้ให้ความร่วมมือในโครงการต่างๆต่อไปอีก"พินิจกล่าว
ทางด้านอาคาร ศูนย์ฯเริ่มเข้าไปเก็บข้อมูลเมื่อปีก่อนโดยเริ่มจากอาคารราชการทั้งที่เป็นสำนักงานทั่วไป
โรงพยาบาลและสถานศึสกษาพบว่าการใช้ไฟไม่ค่อยมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะแอร์ ส่วนใหญ่เก่ามากมีอายุ
10 ปีขึ้นไป ซึ่งถึงเวลาเปลี่ยนแล้ว ถ้าถ้ายังไม่ อยู่ในสถานที่จะเปลี่ยนได้
ก็ต้องใช้เครื่องเก่าให้ดีที่สุดไปก่อน
ส่วนใหญ่หน่วยราชการจะขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ไฟใช้แอร์ ตัดสินใจไม่ถูกรวมถึงการจัดซื้อ
แม้จะให้ซื้อได้กรณีมีราคาแพง แต่เวลาปฏิบัติก็ต้องซื้อราคาถูก ขณะนี้ทางสำนักงบประมาณกำลังเสนอขอเปลี่ยนการจัดซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้า
โดยจะเริ่มจากแอร์ก่อนซึ่งมีการทำอิเลกทรอนิก เทอร์โมสแตท เป็นการควบคุมแบบเรียบจะช่วยปรับอุณหภูมิให้คงที่ในระดับ
25 องศาเซลเซียสเมื่อปรับใช้กับเครื่องแอร์ จะประหยัดพลังงานได้ 40 %
เวลานี้ การพลังงานฯกำลังขอโอนงบเหลือใช้ของปี 2534 จำนวน 130 ล้านบาทเพื่อติดตั้งเทอร์โมสแตทจำนวน
25,000 เครื่อง เครื่องละ 3,000 บาท ซึ่งศูนย์ฯจะเป็นผู้รับมาปฏิบัติ
เท่ากับเป็นการลงทุนเพื่อประหยัดพลังงาน เพราะการที่ใช้อุปกรณ์เก่าเกินอายุ
แม้จะดูเหมือนเป็นการประหยัดในสายตาคนทั่วไป แต่ความเป็นจริงแล้วจะสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายมากกว่าการใช้เครื่องใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่า
นอกจากการให้คำแนะนำปรึกษาแล้ว ศูนย์ฯ ยังบริการออกแบบและตรวจสอบอุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดพลังงาน
แก่โรงงานและอาคาร ซึ่งเป็นส่วนที่ทำรายได้แก่ศูนย์ฯ
ขณะเดียวกัน ศูนย์ฯมีโชว์รูมตรวจอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ใครไม่แน่ใจว่าดีจริงตามคำโฆษณา
หรือก็เอามาทดสอบที่นี่ได้
ด้านรายได้ของศูนย์นั้น ที่ผ่านจะได้รับงบ 40 ล้านบาทจากกระทรวงการคลังเพื่อใช้จ่ายในระยะ
5 ปี ซึ่งผ่านมาแล้ว 4 ปี เมื่อครบ 5 ปีแล้วศูนย์ฯจะต้องยืนด้วยขาตัวเองให้ได้
พินิจกล่าวว่ารายได้ของศูนย์ฯจะมาจากค่าบริการสมาชิก ค่าศึกษาในโครงการประหยัดพลังงานเป็นหลัก
ไม่รวมถึงความช่วยเหลือจากองค์การต่างประเทศ โดยเฉพาะจากฝั่งยุโรป ซึ่งมีมาตรฐานการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่ร่วมส่งเสริมงานด้านนี้
ทั้งมีแนวโน้มว่า ศูนย์ฯจะเตรียมปรับโครงสร้างการบริหารมาเป็นบริษัทจำกัดเพื่อความคล่องตัวใในการดำเนินงานยิ่งขึ้นในระยะยาวด้วย
นี่เป็นฝันที่พินิจอยากให้เป็นจริง…!