ยักษ์บริติช แก๊ส เปิดฉากรุกโรงไฟฟ้าไทย


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

วันที่ 8 เดือน 8 เป็นฤกษ์เปิดตัวของยักษ์ก๊าซผู้ดีอังกฤษหลังจากเก็บตัวรอจังหวะมาพักใหญ่….!

บริติชแก๊สสำหรับอังกฤษโด่งดังมากทางธุรกิจแก๊ส พีแอลซี เรียกว่าเป็นบริษัทก๊าซที่ใหญ่ที่สุดนอกสหภาพโซเวียต

เดิมทีบริติชแก๊สเป็นรัฐวิสาหกิจ และได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเมื่อปี 2529 และเป็นสมาชิกในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ขณะนี้มีผู้ถือหุ้นร่วม 2.3 ล้านราย

ปัจจุบันเป็นผู้จัดจำหน่ายและขนส่งก๊าซธรรมชาติให้ลูกค้าทั้งภาคอุตสาหกรรมพาณิชย์รวมไปถึงครัวเรือนรวม 18 ล้านรายในอังกฤษ และยังเน้นทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับก๊าซทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจการผลิตก๊าซและน้ำมันทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก ตลอดจนธุรกิจผลิตไฟฟ้า

เมื่อบริติชแก๊สแปรรูปมาเป็นเอกชนเต็มรูปแบบแล้วก็ได้ขยายกิจการออกสู่ตลาดโลกอย่างรวดเร็ว

ตั้งแต่การจัดส่งก๊าซด้วยการเข้าไปถือหุ้นใน "คาตาลานาเดอ แก๊ส" บริษัทจัดส่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในสเปน 10% หรือเทกโอเวอร์ "คอนซูเมอร์ส แก๊ส" บริษัทส่งก๊าซรายใหญ่ที่สุดของแคนาดาในมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญ หรือไปร่วมทุนใน "แก๊สแฟซอร์กุงซาคเซน อันฮาล์ท" ในเยอรมนี 24 %

จากนั้นก็เปิดแนวรบธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าครั้งใหญ่หลังจากที่ได้ร่วมกับยูทิลิคอมโฮลดิ้งส์ ตั้งบริษัทใหม่ชื่อ "ซิติเจน" เพื่อมุ่งงานก่อสร้างและดำเนินกิจการโรงงานผลิตพลังงานความร้อนร่วมกับกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ในเมืองสำคัญๆ พร้อมทั้งประกาศตั้ง "แก๊ส เวนเจอร์ แอดไวเซอร์ส" ให้เป็นบริษัทที่รับผิดชอบการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในวงเงิน 200 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 5,000 ล้านบาทโดยประมาณ

นอกจากนี้ยังขยายธุรกิจการให้คคำปรึกษาและจัดการโครงการเกี่ยวกับก๊าซตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอิตาลี ตุรกี อินเดีย และอินโดนีเซีย

สำหรับอินโดนีเซีย บริติชแก๊สได้ส่งวิศวกรเข้าไปช่วยด้านการจัดการแก่บริษาทก๊าซท้องถิ่นตั้งแต่ปี 2529

ขณะที่ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาและมีการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ดังที่จอร์จ แลงชอว์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายโกลบัล แก๊สของบริติชแก๊สกล่าวในวันงาน ซึ่งบินมาเปิดตัวบริษัทพร้อมกับโฮเวิร์ด ดาลตัน กรรมการฝ่ายสำรวจและผลิตด้วยตนเองที่โรงแรมฮิลตัน อินเตอร์เนชั่นแนล ท่ามกลางเพื่อนผู้ค้าก๊าซและเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของรัฐอย่างคับคั่ง รวมไปถึงลิปปนนท์ เกตุทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย

บริติชแก๊สรุกเข้ามาในธุรกิจสำรวจและผลิตก๊าซในไทยอย่างเงียบๆ และได้สิทธิร่วมพัฒนาแปลงสัมปทานสำคัญในอ่าวไทย 2 แหล่ง คือ แปลงสำรวจ 5/27 อยู่นอกฝั่งทะเลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นแปลงสัมปทานที่ใหญ่ที่สุดแปลงหนึ่งด้วยการรวมทุนกับบริษัทปตท.สผ.ของไทยในสัดส่วน 50 ต่อ 50 เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว

แปลงสัมปทานนี้ครอบคลุมพื้นที่ 15,554 ตารางเมตร กำลังอยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อมูลเตรียมโครงการขุดเจาะขนาดใหญ่ต่อไป โดยคาดว่าจะเริ่มสำรวจหลุมแรกในปีหน้า

แหล่งที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งคือ แหล่งก๊าซบงกชมีปริมาณก๊าซสำรองกว่าหนึ่งล้านล้านลูกบาศก์ฟุต โดยบริติชแก๊สได้เข้าร่วมโครงการนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคมปีก่อน ด้วยการเข้าถือหุ้น 20 % ปตท.สผ. 40 % โทเทิล 30 % และสเตทออยล์ 10 % ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตก๊าซและส่งขายป้อนโรงแยกก๊าซขนองปตท.ได้ในปี 2536

สำหรับกิจการของบริติชแก๊สในไทยมีจี.ดี.(เคลลีเป็นผู้จัดการทั่วไป รับบทรรุกธุรกิจก๊าซในไทย

เมื่อมีโอกาส บริติชแก๊สก็ไม่รอช้า เมื่อทางบริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (ททีโอซี) เปิดให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการสร้างระบบไฟฟ้าสำรองที่จะป้อนให้กับทีโอซีและโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 2 ทั้งหมด บริติชแก๊สก็ร่วมวงด้วยทันที

งานนี้มีบริษัทเอนรอนเสนอตัวเข้าชิงด้วย แต่เสนอในขนาดใหญ่ขนาด 300-400 เมกะวัตต์ซึ่งสูงกว่าความต้องการของโรงงานปิโตเคมีทั้งหมดที่ต้องการเพียงประมาณ 150 เมกะวัตต์ จึงถูกบอกปัดข้อเสนอไป

ตอนหลังมีบริษัทมิสชั่นเอนเนอยีเสนอเข้ามาในขนาด 180 เมกะวัตต์ ขณะที่บริติชแก๊สเสนอขนาด 150 เมกะวัตต์ ซึ่งใกล้เคียงความต้องการที่สุด และจะนำระบบ CO-GENERATION เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการผลิตสูงสุดมาใช้เป็นแห่งแรก

โดยบริติชแก๊สเสนอจะผลิตไฟและไอน้ำให้กับทีโอซีและโรงงานปิโตรเคมีได้ตั้งแต่ปี 2537 คิดค่าไฟ2.44 บาทต่อกิโลวัตต์ ค่าไอน้ำ 444 บาทต่อตัน และจะปรับตามอัตราเงินเฟ้อ ถือเป็นระดับราคาที่จะถูกกว่าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่น้อยกว่า 10 % สอดคล้องกันนโยบายที่ทางรัฐบาลจะให้เอกชนมาลงทุนโรงไฟฟ้าเพื่อให้มีการแข่งขันมากขึ้รในอนาคต

บริติชแก๊สจึงกลายเป็นตัวเต็งที่จะเป็นผู้ชนะในการสร้างโรงไฟฟ้าสำรองที่นี่

"เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าบริติชแก๊สจะได้ เพราะเงื่อนไขและสเปกตรงมากที่สุด" แหล่งวงการปิโตรเคมีกล่าว

ทั้งจอร์จ แลงชอร์และจี.ดี.(ดอน) เคลลี ต่างยิ้มแก้มปริและตอบด้วยเสียงเดียวกันว่า "ตอนนี้รอทางทีโอซีเรียกไปเจรจา ยังไม่มีอะไรยืนยันแน่นอน แต่ถ้าได้เรียกว่าวิเศษไปเลย"

แน่ละ…เพราะนั่นหมายความว่า บริติชแก๊สเริ่มย่างเข้ามายึดหัวหาดธุรกิจโรงไฟฟ้าเอกชน ธุรกิจที่ตัวเองถนัดได้ก่อนใครอื่น…!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.