ผู้จัดการธุรกิจบริการท่อส่งน้ำมันคนแรก


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

เพื่อลดปัญหาการจราจรที่คับคั่งและสร้างระบบการขนส่งน้ำมันอันทรงประสิทธิภาพมากขึ้น บริษัทท่อส่งปิโตรเลียมไทย (THAI PETROLEUM PIPELINE CO.,LTD) ซึ่งใช้ชื่อย่อว่า "THAPPLINE" จึงเกิดขึ้นตามนโยบายองรัฐบาลเมื่อปลายปี 2533 โดยมีสุโรจน์ จงวรนนท์ เป็นกรรมการผู้อำนวยการ

บริษัทนี้รับผิดชอบโครงการท่อน้ำมันขนาดใหญ่เส้นแรกของไทย เพื่อขนน้ำมันจากศรีราชากระจายไปสู่พื้นที่ภาคตะวันออกในระยะต้น และขยายออกไปสู่ทางภาคเหนือหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอนาคต

เส้นทางท่อจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกจากดอนเมือง-ศรีราชา ระยะ 160 กิโลเมตร ซึ่งกำหนดสร้างเสร็จต้นปี 2536 ทำให้ส่งน้ำมันอากาศยานจากโรงกลั่นไทยออยล์และเอสโซ่ซึ่งอยู่ที่ศรีราชาเข้ามายังอดนเมืองได้โดยตรง ไม่ต้องวิ่งกลับไปกลับมาเหมือนตอนนี้ ซึ่งจะขนส่งทางเรือมายังช่องนนทรี แล้วขนส่งโดยรถยนต์ไปยังดอนเมืองจากดอนเมืองวิ่งกลับเข้าเมืองและจะวิ่งได้ตั้งแต่ 3 ทุ่มขึ้นไปรวมแล้วตกวันละพันกว่าเที่ยว

ส่วนช่วงที่ 2 จากศรีราชา-สระบุรี ระยะทาง 86 กิโลเมตรกำหนดสร้างเสร็จในปลายปีเดียวกัน

โดยระบบท่อจะเริ่มต้นจากศรีราชา ไปยังชลบุรี ผ่านฉะเชิงเทรา ไปถึงสถานีรถไฟคลองหลวง ซึ่งเป็นจุดพื้นที่ใกล้จะสร้างสนามบินหนองงูเห่าหากมีการสร้างก็เชื่อมต่อท่อเข้าด้วยกันได้ เพราะห่างกันเพียง 11 กิโลเมตร จากนั้นก็ผ่านรามอินทราไปยังคลังลำลูกกาซึ่งจะสร้างขึ้นใหม่ในบริเวณปทุมธานีเพื่อตอบสนองความต้องการน้ำมันในเขตกรุงเทพตะวันออก

จากคลังลำลูกกาผ่านไปยังจุดใกล้สถานีรถไฟรังสิต จากจุดนี้จะมีท่อแยกแถวเขตหนองจอก กรุงเทพไปเชื่อมกับคลังน้ำมันที่ดอนเมือง แล้วไปบางปะอิน อยุธยา บ้านภาชี แล้วไปสุดปลายทางที่คลังน้ำมันสระบุรี

รถที่เคยรับน้ำมันในเขตกรรุงเทพไปขายทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็จะเปลี่ยนมารับจากสระบุรีแทน

ท่อเส้นนี้จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 นิ้ว ภายในท่อจะออกแบบให้แยกส่งน้ำมันประเภทต่างๆ ทั้งเบนซิน ดีเซล และน้ำมันอากาศยานได้ในท่อเดียวกันเรียกว่า MULTI PIPE LINE SYSTEM ซึ่งเป็นระบบที่มีชื่อเสียงในวงการท่อน้ำมัน

ดังนั้นเมื่อสร้างระบบท่อเรียบร้อยททั้งโครงการก็จะทำหน้าที่ขนส่งน้ำมัน จากศรีราชารวมไปถึงน้ำมันจากโรงกลั่นคาลเท็กซ์และของเชลล์ที่จะสร้างขึ้นที่มาบตาพุดทั้งหมด

"เราจ้าง บริษัท จอห์นบราวน์ คอนสตรัคเตอร์ เป็นวิศวกรที่ปรึกษา วงเงิน 4 แสนเหรียญสหรัฐ การออกแบบสเปกท่อจะรับความดันได้ถึง 1,500 ปอนด์ ซึ่งเป็นมาตรฐานของระบบท่อ พวกนี้จะต้องนำเข้าทั้งหมด" สุโรจน์เล่าถึงส่วนสำคัญของสเปกท่อที่จะทนทานและรองรับความดันได้สูงเพื่อป้องกันการระเบิด

ขณะเดียวกัน ก็จะมีระบบควบคุมที่เรียกว่า "SCADA" ระบบที่รวมศูนย์การคอนโทรลและเรียกข้อมูลที่ต้องการได้ทั้งหมด ซึ่งสุโรจน์พูดถึงระบบ "SCADA" ว่าเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่มีชื่อเสียงในยุโรป "ทำเรารู้ข้อมูลได้ทุกส่วนในทุกเวลา และตรวจเช็คได้ทั้งหมดว่า ระบบการทำงานในขณะนั้นเป็นอย่างไร เรียกขึ้นมาดูหน้าจอได้เลยหรือหามีปัญหา สมมติว่ามีจุดรั่ว ก็จะมี LOCK VAULUE เป็นตัวปิดอัตโนมัติ เรียกว่าเป็น การเริ่มต้นระบบท่อน้ำมันของไทยตามมาตรฐานชั้นสูงของโลก"

สุโรจน์ ซึ่งเคยรักษาการนายช่างใหญ่ของ บริษัท คอลเกตปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดการฝ่ายวางแผน บริษัท เอสโซ่แสตนดาร์ด ประเทศไทย จำกัด และจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าฯ ด้านการจัดหาและกลั่นน้ำมันของปตท. ในช่วงล่าสุด ก่อนที่จะรับงานชิ้นใหม่ที่นี่ยังเล่าถึงความคืบหน้าว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบก่อสร้าง ซึ่งจะเริ่มประมูลได้ในต้นปีหน้า

สำหรับแนวท่อน้ำมัน 80 % จะยึดแนวเขตทางรถไฟ อีก 20% จะอิงแนวสถานีสายส่งแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งเป็นแนวพื้นที่ชานเมือง นอกเขสตชุมชน "จึงมั่นใจได้ว่าไม่สร้างปัญหาด้านจราจรระหว่างการก่อสร้างประชาชนก็ไม่เดือดร้อน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมากและพยายามหลีกเลี่ยงผลกระทบนี้"ผู้จัดการ"ต่อปัญหาที่หลายพันคนกังวล

โครงการนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท มีบริษัทน้ำมันร่วมทุนอย่างคับคั่ง

โดยบริษัทมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นประกอบด้วย ปตท. 25.5% เชลล์และเอสโซ่รายละ 15 % คาลเท็กซ์บีพีและคูเวตออยล์รายละ 10 % โมบิล 4.5 % และบาฟส์ 5 %

ผู้ร่วมทุนเหล่านี้ก็คือลูกค้าที่จะใช้บริการขนส่งทางท่อเมื่อสร้างเสร็จ ซึ่งในปีแรกประมาณการว่าจะมีน้ำมันของลูกค้าไหลผ่านราว 30 ล้านลิตรและจะเพิ่มขึ้นเป็น 70 ล้านลิตรใน20 ปี ซึ่งเป็นตัวเลขน้ำมานไหลผ่านท่อเต็มประสิทธิภาพตามที่วางสเปกไว้

พร้อมกันนั้น บริษัทก็จะต้องเป็นผู้จัดสรรลำดับการขนส่งน้ำมันให้ลูกค้าก่อน ซึ่งเรื่องนี้สุโรจน์กล่าวว่าจะต้องจัดระบบและกติกาอีกครั้งหนึ่ง

ทางด้านราคาบริการในช่วง 4-5 ปีแรกจะคิดในอัตราที่ไม่สูงกว่าค่าขนส่งทางรถยนต์และรถไฟ และหลังจากนั้นราคาก็จะถูกกว่า ซึ่งสุโรจน์ย้ำว่าอัตราค่าบริการจะเป็นตัวเลขที่แข่งขันกับค่าขนส่งทางอื่นได้และดึงดูดลูกค้ามากที่สุด

เนื่องธุรกิจการขนส่งน้ำมันทางท่อไม่ใช่มุ่งค้ากำไร จึงมีหลักดำเนินการเพื่อให้อยู่ได้ในฐานะที่เป็นโครงการเพื่อส่วนรวม โดยจะเน้นให้อยู่ในฐานะทัดเทียมกับบริษัทน้ำมันระหว่างประเทศ เนื่องจากผู้ร่วมทุนแต่ละรายล้วนแต่เป็นบริษัทรายใหญ่ในตลาดโลกทั้งสิ้น มาตรฐานความต้องการเชิงบริหารก็ย่อมสูงขึ้นด้วย

การบริหารท่อโครงการนี้จึงใช้หลักว่าจะใช้คนให้น้อยที่สุดแต่เน้นประสิทธิภาพและปริมาณความรับผิดชอบของแต่ละคนสูง รวมไปถึงการนำเครื่องมืออุปกรณ์สมัยเข้ามาใช้

จากบุคลากร 15 คน ในขณะนี้ เมื่อเริ่มก่อสร้างจะเพิ่มเป็น 48 คน และเมื่อเปิดบริการแล้ว ได้กำหนดกำลังคนไว้ไม่เกิน 100 คน ซึ่งพูดได้ว่าเป็นอิทธิพลที่เข้าได้รับจากเอสโซ่ "เราจะใช้คนน้อย เพราะจะใช้ระบบการควบคุมอัตโนมัติเป็น UNAMNSTATION ระบบควบคุมจะรวมศูนย์อยู่ที่นี่ (สำนักงานในกรุงเทพ-ตึกแปซิฟิกทาวเวอร์) ส่วนวิศวกรก็เพียง 6-7 คน ซึ่งจะต้องสรรหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในระบบขนส่งท่อจริงๆ"

งานนี้จึงเป็นการท้าทายฝีมือการบริหารขนองสุโรจน์ว่า จะเป็นผู้ถือหุ้นยอมรับและชื่นชมได้แค่ไหน…!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.