เปลี่ยนแบงก์คิด-ทำใหม่ ปล่อยกู้ด "แนวโน้มกำไร"


ผู้จัดการรายวัน(7 กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ธปท. เดินหน้าผลักดันเปลี่ยนแปลงระบบพิจารณา สินเชื่อแบงก์ จากปัจจุบันใช้หลักประกันเป็นหลัก เป็นการพิจารณา ควบคู่กับความสามารถดำเนินการ และกำไรธุรกิจ รวมถึงเงินทุนหมุน เวียน ลักษณะเดียวกับปรับโครงสร้างหนี้ ขณะที่คลังเร่งปรับโครงสร้างและระบบการบริหารใหม่ เพื่อ ก้าวสู่ระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์อนาคต ตามนโยบายทักษิณ

นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยความคืบหน้าแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (มาสเตอร์แพลน) แบงก์ชาติว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังเห็นชอบแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินแล้ว หลังจากธปท. ส่งให้พิจารณาก่อนหน้านี้

ธปท.จะนำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ผ่านการพิจารณาดังกล่าวมาปฏิบัติ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเร็วๆ นี้ ธปท. จะเชิญผู้บริหารสถาบันการเงินประชุม เพื่อชี้แจงรายละเอียด ทำ ความเข้าใจแผนดังกล่าวอีกครั้ง

เปลี่ยนให้กู้ธุรกิจอิงแนวโน้มกำไร

ธปท.จะพยายามเปลี่ยนแปลง ระบบพิจารณาสินเชื่อ จากปัจจุบันที่ใช้หลักประกันเป็นหลัก เป็นการพิจารณาควบคู่กับความสามารถดำเนินการ และทำกำไรธุรกิจ รวมถึงพิจารณาจากเงินทุนหมุนเวียน ลักษณะเดียวกับการปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งยังจะปรับปรุงการเก็บค่าธรรมเนียมของสถาบันการเงินให้เหมาะสม และเป็นระบบมากขึ้น

ส่วนบริษัทเงินทุนและบริษัท เครดิตฟองซิเอร์ หลังช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา ระบบสถาบันการเงินเหล่านี้เล็กลงมาก โดยบริษัทเงินทุน ธุรกิจหลักยังเป็นสินเชื่อเช่าซื้อ แต่ละเน้นกระจายไป ภูมิภาคมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจบริษัท เครดิตฟองซิเอร์ ขณะนี้ยังมีปัญหา เรื่องฐานะ และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปริมาณสูงมาก แต่อยู่ระหว่างแก้ปัญหา ซึ่งเชื่อว่าจะดำเนินการต่อไปได้

สำหรับธุรกิจวิเทศธนกิจที่ผ่านมา สินเชื่อลดลงมาก แต่ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจวิเทศธนกิจเริ่มดีขึ้น จากเงินที่เริ่มไหลเข้ามาจากต่างประเทศมากขึ้น แต่ธปท.กำหนดในมาสเตอร์แพลนแล้วว่า การเข้ามาของเงินจะต้องมีแบบแผน และวงเงินเหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบเศรษฐกิจไทยโดยรวม ซึ่งอยู่ระหว่างทำกฎเกณฑ์ และดำเนินการในทางปฏิบัติ

แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินดังกล่าว จะแบ่งการดำเนินงานเป็นทั้งระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว ซึ่งคาดว่าในไม่ช้าจะสามารถปฏิบัติ ตามแผนระยะสั้นได้เลย โดยจะเริ่มเรื่องการให้บริการการเงิน สำหรับประชาชนท้องถิ่นที่ห่างไกล หรือในชนบทได้ ขณะที่แผนระยะยาวจะพัฒนาสถาบันการเงินที่จำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควร

"คลังเพิ่งเห็นชอบมา ขณะนี้ ขอเวลาตั้งหลักก่อน คาดว่าอีกไม่นาน ก็จะมีการชี้แจงรายละเอียดของแผนทั้งหมดให้ทราบ แต่โดยหลักการแล้ว ตามแผนไม่ได้มีจุดที่ต้องเร่งดำเนินการ เพียงแต่จะทำเท่าที่ทำได้ก่อน" เธอกล่าว

ส่วนเรื่องที่กระทรวงการคลังจะทำแผนเพื่อพัฒนาสถาบันการเงินรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคาร อาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นาง ธาริษากล่าวว่า เพื่อสร้างสถาบันการเงินเหล่านั้นเป็นเครื่องมือ หรือกลไก ทางการเพิ่มขึ้น ตลอด จนเพื่อขยายให้บริการประชาชน ถือว่าไม่ซ้ำซ้อน กันเชิงธุรกิจ

แหล่งข่าวธปท.กล่าวเพิ่มเติมว่า รายละเอียดมาสเตอร์แพลนที่ธปท.ทำ จะแบ่งบทบาทการทำงาน สถาบันการเงินแต่ละประเภท ให้ชัดเจน เป็นลักษณะสถาบันการเงินเฉพาะทางมากขึ้น โดยธนาคารพาณิชย์ จะเพิ่มเติมการให้บริการสินเชื่อ ตอบสนองประชาชนมากขึ้น

คลังปรับโครงสร้างสู่อี-กัฟเวอร์นเมนต์

แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างและระบบการบริหารกระทรวงการคลัง ทำโครงสร้าง และระบบบริหารกระทรวงใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยส่งเรื่องให้ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีคลัง รับทราบปลายมิ.ย. และส่งเรื่องต่อไปสำนักงาน คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และภาครัฐ (ก.พ.ร.) ซึ่งก.พ.ร.ส่งหนังสือมากระทรวง การคลัง เพื่อชี้แจงว่า หากต้องการแก้ไขให้เสนอ เรื่องกลับ ก.พ.ร. เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.

สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างและระบบบริหารกระทรวงการคลัง เป็นไปตามนโยบาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการ เพื่อปรับองค์กรให้เข้าสู่รูปแบบบริหารการจัดการภาครัฐแนวใหม่ ตอบสนองระบบบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี หรือระบบธรรมาภิบาล (Good Governance) เพื่อ เตรียมพร้อมที่จะก้าวสู่ระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ต่อไป

แนวทางปรับปรุงโครงสร้างและระบบบริหารกระทรวงการคลังใหม่ แบ่งเป็น 2 ทบวง 3 กลุ่มภารกิจ รวมถึงคณะกรรมการส่วนต่างๆ เพื่อให้มีระบบบริหารงานชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน และรองรับภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล

โครงสร้างใหม่ทั้ง 2 ทบวง แบ่งเป็น ทบวงรายได้ ประกอบด้วย กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และหน่วยงานใหม่ เช่น สำนักงานคณะกรรมการภาษี สำนักพัฒนารายได้ และฐานภาษี ภายใต้การกำกับการบริหารงานโดยคณะกรรมการภาษี

ทบวงทรัพย์สิน และหนี้สินสาธารณะ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรมธนารักษ์ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ และหน่วยงานใหม่ คือสำนักงานพัฒนามาตรฐานระบบพัสดุภาครัฐ ภายใต้การกำกับการบริหารของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการนโยบายหนี้สาธารณะ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ

ส่วนกลุ่มภารกิจ ได้แก่ กลุ่มภารกิจด้าน นโยบายเศรษฐกิจการคลังประกอบด้วย สำนักงานพัฒนามาตรฐานระบบพัสดุภาครัฐ ภายใต้การกำกับการบริหารของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการนโยบายหนี้สาธารณะ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ

กลุ่มภารกิจด้านการบริหารรายรับรายจ่าย ประกอบด้วย กรมบัญชีกลาง หน่วยงานด้านงบประมาณ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถ่ายโอนมาจากสำนักงบประมาณ และกลุ่มภารกิจด้านตรวจสอบ เป็นหน่วยงานตั้งใหม่ ประกอบด้วย สำนัก ตรวจสอบกลาง สำนักประเมินผลภาครัฐ และสำนักงานการเงินนอกระบบ

การบริหารงานโครงสร้างใหม่ จะอยู่ภายใต้ การกำกับการบริหารของคณะกรรมการนโยบาย การคลัง และสำนักงานรัฐมนตรี และสำนักปลัดกระทรวงการคลัง โดยมีสำนักงานข้อมูลสารสนเทศด้านการคลังเป็นหน่วยงานกลางของกระทรวง

กระทรวงการคลังเสนอแนวทางปรับโครงสร้างใหม่ไป ก.พ.ร. แล้ว พร้อมทั้งยังเสนอ ตัวจะเป็นหน่วยงานแรก ที่ปรับโครงสร้าง เพื่อให้ เป็นแบบอย่างกับหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งเมื่อได้รับอนุมัติจากก.พ.ร.และคณะรัฐมนตรีจะดำเนินการ ได้

เนื่องจากมีบางส่วนที่ต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้รักษาการตามกฎหมาย ที่บางฉบับให้อธิบดีเป็นผู้รักษาการเป็นปลัดกระทรวงแทน ซึ่งจะดำเนินการได้หรือไม่ ต้องพิจารณาต่อไป อาจต้องยกระดับหน่วยงานบางหน่วยเป็น นิติบุคคล คาดว่า การดำเนินการต่างๆ ต้องใช้เวลา 1-2 ปีอย่างน้อย" แหล่งข่าวกล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.