เผยธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนฟื้นตัว หลังรัฐบาลเตรียมเดินหน้าดันไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพในเอเชีย
ขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพดุสิตเวชการมาแรง เดินเกมเงียบวางเป้าขยายฐาน โรงพยาบาลเพิ่มทั่วประเทศ
หวังสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลในภูมิภาค ส่วนโรงพยาบาลรามคำแหง เล็งจับมือโรงพยาบาลในภูมิภาคที่มีกลุ่มแพทย์
ถือหุ้น พร้อมเข้าร่วมทุนบริหารสร้างเครือข่ายเพิ่ม
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน"
ถึงแนวโน้มของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในช่วงปีที่ ผ่านมาว่า เริ่มกระเตื้องขึ้น เนื่องจาก
มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่าเดิมกว่า 20-30% โดยภาพรวมแล้วธุรกิจโรงพยาบาลที่จดทะเบียนในตลาด
หลักทรัพย์ 10 แห่ง มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น ประมาณ 19% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของ
ปี 2544 ซึ่งมีอัตราการเติบโตเพียง 14%
สาเหตุที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มกระเตื้องและฟื้นตัว
และผู้ใช้บริการโรงพยาบาลมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับผู้ใช้บริการต้องการความสะดวกและบริการ
ที่ดีของโรงพยาบาลเอกชนจึง หันมาใช้บริการของเอกชนแทน นอกจากนี้รัฐบาลได้กำหนดกลยุทธ์ศาสตร์หลักให้กับธุรกิจที่จะหารายได้เข้าประเทศ
ซึ่งมีธุรกิจด้านสุขภาพร่วมอยู่ด้วย ทำให้โรงพยาบาลเอกชนเริ่มตื่นตัวและคึกคักอีกครั้ง
โดยล่าสุดทางกระทรวงสาธารณสุขได้เดินหน้าและผลักดันโครงการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการให้บริการด้านสุขภาพในแถบภูมิภาคเอเชีย
โดยตั้งเป้าหมายที่จะนำรายได้เข้าประเทศนับหมื่นล้านบาท โรงพยาบาลหลายแห่งมีการดึงตัวบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะด้านเข้ามาเสริมทีมงาน
มีการทุ่มซื้อตัวแพทย์และพยาบาล ด้วยการเสนอผลประโยชน์ให้เพิ่มขึ้นหลาย เท่าตัวจากเดิมที่เคยได้อยู่
2-3 เท่า จากโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน
รุมซื้อตัวแพทย์ดึงเข้า รพ.เอกชน
ว่าไปแล้วตอนนี้แพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งสมองไหลมาอยู่กับโรงพยาบาลเอกชน
เนื่องจากโรงพยาบาลบางแห่งมีปัญหาเรื่องโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ส่งผลให้แพทย์และพยาบาลมีความอึดอัดในการทำงาน
เพราะงบประมาณที่ได้รับนั้นไม่เพียงพอ โรงพยาบาลรัฐหลายแห่งต้องประสบภาวะขาดทุนทำให้แพทย์และพยาบาลจำนวนมากหนีมาร่วมงานกับโรงพยาบาลเอกชนในตอนนี้
ประกอบกับเป็นช่วงที่โรงพยาบาลเอกชนกำลังจะฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง
"ตอนนี้มีกลุ่มทุนต่างๆ หันมามองธุรกิจโรงพยาบาลว่ามีศักยภาพในการทำกำไรและน่าลงทุน
ซึ่งเห็นว่ากลุ่มของชินคอร์ป ซึ่งลงทุนในด้านการสื่อสารยังได้ลงทุนซื้อหุ้นในโรงพยาบาลพระราม
9 และ เจรจาซื้อหุ้นของโรงพยาบาลพญาไทเพิ่มซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา เพราะเห็นศักยภาพและแนวโน้มที่ดีของธุรกิจโรงพยาบาลซึ่งรัฐบาลเองก็จะส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการรักษาพยาบาล"
แหล่งข่าวคนเดียวกัน กล่าว
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่าขณะนี้กลุ่มโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงและมีความพร้อมในการประกอบธุรกิจโรงพยาบาลนั้นจะต้องเป็น
กลุ่มโรงพยาบาลที่มีเครือข่ายครอบคลุมและมีสภาพคล่องทางการเงิน จึงได้เปรียบในการบริหารงาน
โรงพยาบาลกรุงเทพดุสิตเวชการ ซึ่งมีนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของโรงพยาบาล
ว่ากันว่าเป็นกลุ่มโรงพยาบาลที่มีความพร้อมและมีโครงการที่จะขยายฐานโรงพยาบาลให้มีเครือข่ายในภูมิภาคมากที่สุด
ซึ่งคาดว่าขณะนี้มีเครือข่ายโรงพยาบาลไม่น้อยกว่า 10 แห่งในภูมิภาค และตั้งเป้าที่จะขยายโรงพยาบาลให้มีเครือข่ายถึง
15 แห่ง
ผู้บริหารรพ.กรุงเทพ เผยแผนขยายงาน
นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิทยากร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายวัน"
ว่า กลุ่มของโรงพยาบาลกรุงเทพ จึงยึดหลักที่จะต้องเข้าถือหุ้นส่วนข้างมาก จึงสามารถเข้าไปพัฒนาองค์กรและระบบได้อย่างเต็มที่
"ผมมุ่งสร้างเครือข่ายมา 7-8 ปีแล้ว ตอนนี้จึงมี 11 แห่ง แต่การจะทำให้มีประสิทธิภาพ
จะต้องมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ IT ที่ดี ซึ่งต้องลงทุน"
นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายโรงพยาบาลกรุงเทพได้เปลี่ยนระบบ
IT ทั้งหมด โดยทุกแห่งสามารถเชื่อมต่อ Online และติดต่อกันได้ ทั้งด้านการบริหารภายใน
การจัดซื้อ และการฝึกอบรม
นพ.พงษ์ศักดิ์ ชี้แจงว่า การพิจารณาระบบดังกล่าวช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก เพราะมีการใช้ทรัพยากรและดำเนินการร่วมกันเช่น
การจัดซื้อ การใช้ห้องปฏิบัติการ ระบบบัญชี การฝึกอบรม การขนส่งและส่งต่อคนไข้ไปยังจุดที่มีแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะ
การทำตลาดต่างประเทศ
"อย่างที่สมิติเวช เราสามารถลดค่าใช้จ่ายทางตรง ซึ่งมีสัดส่วนถึง 67% ลดลงเหลือ
60% ก็เท่ากับลดลงปีละ 100 ล้านบาท" นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าว
นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจการรักษาพยาบาลว่า ถ้ารัฐบาลไทยเอาจริงกับการยกระดับการรักษาคุณภาพเหมือนอย่างสิงคโปร์ธุรกิจโรงพยาบาลจะไปได้ดี
เพราะประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานดีกว่า
อย่างไรก็ตาม การรักษาพยาบาลที่ได้จากการใช้จ่ายด้านสุขภาพจากงบประมาณภาครัฐมีเพียง
35% อีก 65% เป็นการใช้จ่ายภาคเอกชนในลักษณะต่างๆ และจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 2
แสนล้านบาท จะเป็นส่วนที่ผ่านโรงพยาบาลเอกชนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท
นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อไปถึงโครงการที่จะทำโรงพยาบาลศูนย์โรคหัวใจขึ้นโดยเฉพาะ
ซึ่งก่อนหน้านี้ศูนย์โรคหัวใจเป็นหน่วยงานหนึ่งในโรงพยาบาลกรุงเทพ แต่ถ้าแยกออกมาเป็นโรคพยาบาลเฉพาะก็จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน
ประกอบกับลูกค้าที่ที่มาใช้บริการมีความมั่นใจที่จะเข้ารับบริการกับโรงพยาบาลเฉพาะด้าน
ซึ่งมีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญให้บริการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลอยู่
ปัจจุบันโรงพยาบาลในเครือข่ายของโรงพยาบาลกรุงเทพมี 11 แห่ง ได้แก่
1. รพ.กรุงเทพ 2. รพ.สมิติเวช (สุขุมวิท) 3. รพ.สมิติเวช (ศรีนครินทร์) 4. บางกอกเนิร์สซิ่งโฮม
5. รพ.กรุงเทพ (พระประแดง) 6. รพ.สมิติเวช (ศรีราชา) 7. รพ.กรุงเทพ (พัทยา) 8.
รพ.ตากสิน (จันทบุรี) 9. รพ.กรุงเทพ (ตราด) 10. รพ.กรุงเทพ (ภูเก็ต) 11. รพ.กรุงเทพ
(หาดใหญ่)
รุกลงทุนในรพ.ภูมิภาคเพิ่ม
ในช่วงที่ผ่านมาโรงพยาบาลกรุงเทพฯ มีการลงทุนซื้อโรงพยาบาลหาดใหญ่ เมื่อวันที่
29 เม.ย. 2546 และซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ โรงพยาบาลรวมแพทย์ระยอง ซึ่งเห็นว่ากลุ่ม
โรงพยาบาลกรุงเทพ มีการลงทุนเพิ่มในธุรกิจโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพดุสิตเวชการ ยังถือหุ้นใหญ่ในกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช
ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ และเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ
โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ถึง 36.79% คิดเป็นสัดส่วน 36,794,017 หุ้น
รพ.เครือข่ายมีต่างชาติถือหุ้นได้ลูกค้าเพิ่ม
สำหรับโรงพยาบาลสมิติเวชนั้นมีกลุ่มผู้ถือหุ้นต่างชาติหลากหลาย เช่น สวิส สิงค์โปร์
เยอรมัน ญี่ปุ่น อเมริกัน อินเดีย มาเลเซีย จีน ทำให้กลุ่มผู้ใช้บริการของโรงพยาบาลแห่งนี้มีลูกค้าจากต่างประเทศมาใช้บริการมาก
และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ถึงแม้ใช่ช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โรงพยาบาลก็มีลูกค้าจากต่างชาติเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งมูลค่าตลาดรวมประมาณ 12,000 ล้านบาท และในปี 46 คาดว่าจะมีอัตราเพิ่มขึ้นเป็น
19,000 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลมาจากอัตราค่าบริการในโรงพยาบาล เอกชนของไทยมีราคาถูกกว่าในต่างประเทศ
ทำให้ลูกค้าต่างประเทศเดินทางเข้ามาเพื่อรักษาพยาบาลในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
"ความได้เปรียบของโรงพยาบาลที่มีเครือข่ายมากและเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทำให้สามารถลดต้นทุนในการบริหารได้
นอกจากนี้แก้ปัญหาบุคลากรด้านการแพทย์ที่ขาดแคลนสามารถนำมาทดแทนในโรงพยาบาลเครือข่ายได้
ด้วยจึงเป็นข้อได้เปรียบของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพฯและเครือข่าย" แหล่งข่าวคนเดียวกัน
กล่าว
แผนถือหุ้นต้องเข้าบริหารงานกิจการเอง
แหล่งข่าวคนเดียวกันกล่าวต่อไปถึงสาเหตุที่กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพพยายามที่จะเข้าไปถือหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลเครือข่ายในภูมิภาคว่าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มโรงพยาบาลที่เปิดให้บริการแล้ว
ประสบปัญหาเรื่องเงินทุนและสภาพคล่องจึงต้องดึงกลุ่มทุนที่มีประสการณ์ ในการบริหารงานเข้ามาร่วม
เพื่อแกัปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพฯ เห็นว่าเมื่อเข้าไปร่วมลงทุนหรือถือหุ้นแล้วจะต้องสามารถเข้าไปบริหารงานและควบคุมได้จึงตัดสินใจที่จะเข้าไปร่วมดำเนินธุรกิจด้วย
ซึ่งแนวโน้มโรงพยาบาลขนาดกลางถึงเล็กกำลังประสบปัญหาการขาดทุนจำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
ซึ่งมีสาเหตุมาจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เพราะต้องเสียส่วนแบ่งการตลาดไปกับโครงการ
30 บาท จาก สถิตติโรงพยาบาลเอกชนขนาดเล็กที่มีเตียง ต่ำกว่า 100 เตียงมีอยู่ประมาณ
101 แห่ง มีสัดส่วนลดลง โดย ปี 2543 เหลือเพียง 74 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนที่ลดลงจากเดิมอยู่ที่
72% มา อยู่ที่ 62%
รพ.รามคำแหงจับมือกลุ่มแพทย์ต่างจังหวัด
แหล่งข่าวจากโรงพยาบาลรามคำแหง เปิดเผยว่านโยบายของโรงพยาบาลรามคำแหงในการขยายเครือข่ายนั้นจะเข้าร่วมทุนกับโรงพยาบาลในภูมิภาค
ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 5 แห่งคือ โรงพยาบาลพะเยาราม ,ชัยภูมิราม, เชียงใหม่ราม,เมืองเลยราม,สินแพทย์
นอกจากนี้ยังมีบริษัทรังสิภัณฑ์ ซึ่งเป็นตัวแทนขายและซ่อมเครื่องมือแพทย์ ซึ่งหลักการในการบริหารงาน
โรงพยาบาลจะเข้าไปช่วยบริหารจัดการมีลักษณะเช่นเดียวกันกับโรงพยาบาลกรุงเทพฯ แต่จะเป็นโรงพยาบาลที่มีขนาดเล็ก
และเป็นโรงพยาบาลในภูมิภาค
"โรงพยาบาลเครือรามในภูมิภาคจะเป็น กลุ่มแพทย์ในจังหวัดนั้น ๆ รวมตัวกันก่อตั้ง
ขึ้นมา แต่เมื่อประสบปัญหาในการบริหารจัดการ ก็ต้องการให้ทางโรงพยาบาลรามเข้าไปช่วยบริหาร
ซึ่งตรงนี้โรงพยาบาลรามเห็นว่ามีจุดแข็งที่จะเข้าไปรับบริหาจึงเข้าร่วมลงทุนด้วยเพราะเห็นโอกาสในการทำธุรกิจ
ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ของธุรกิจโรงพยาบาลในภูมิภาคคือเรื่องของบุคลากรด้านการแพทย์
แต่เมื่อมีกลุ่มแพทย์ถือหุ้นอยู่ปัญหาดังกล่าวก็ลดน้อยลง" แหล่งข่าวคนเดียวกัน
กล่าว