โกร่งชี้ปีหน้าเงินตึง-บาท40 จี้ธปท.ผ่อนกฎคุมแบงก์อุ๋ยย้ำขึ้นดอกเบี้ยแก้เฟ้อ


ผู้จัดการรายวัน(10 กรกฎาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

พ้นเก้าอี้ ผู้ว่าฯ แล้วแต่ยังรักแบงก์ชาติสุดลิ่ม หม่อมอุ๋ยกางปีกป้อง กนง.ต้องขึ้นดอกเบี้ยแก้เงินเฟ้อ ขณะที่ "ดร.โกร่ง" ตัวแทนเอกชนจวกเป็นริดสีดวงแต่ใช้ยาหยอดตารักษา เตือนหากยังดื้อแพ่งขึ้นดอกเบี้ย ปีหน้าเศรษฐกิจไทยเจอภาวะเงินตึงตัว เงินบาทอ่อนค่าถึง 40 จี้ผ่อนปรนมาตรการควบคุมสถาบันการเงินก่อนหายนะ หากยังเข้มงวดเกินไปผู้ประกอบการล้ม ไม่เพียงกระทบแบงก์ แต่ "ธาริษา" ก็อาจตกเก้าอี้ผู้ว่าฯ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอดีต รมว.คลัง กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 16 กรกฎาคมนี้ ว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องในแวดวงการเงิน ทราบอยู่แล้วถึงความจำเป็นที่ต้องใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 8.9 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตนจึงมั่นใจในการตัดสินใจของ กนง. เพราะ กนง.ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา และเชื่อว่าจะมีการพิจารณาอย่างระมัดระวัง ไว้ใจได้ (อ่าน...ธปท.เรียกแบงก์แจงขึ้นดบ.คุมเฟ้อแนะดูแลสภาพคล่อง-NPL-ค่าเงิน...หน้า 31)

ขณะที่นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง"ปัญหาเงินเฟ้อและมาตรการแก้ไขที่เหมาะสม" ในงาน “EXIM Forum ครั้งที่ 2” ที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) วานนี้

นายวีรพงษ์ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริษัทเอกชนหลายแห่ง เช่น บริษัททางด่วนกรุงเทพ บริษัทแอ๊ดวานซ์ อะโกร บริษัทฟินันซ่า เป็นต้น ได้ตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ไม่ควรถูกซ้ำเติมด้วยการขึ้นดอกเบี้ย

นายวีรพงษ์อธิบายว่า ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปัจจุบันนี้เมื่อพิจารณาในรายละเอียดที่แท้จริงแล้วจะพบว่าเป็นเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากต้นทุน ซึ่งการที่ ธปท.ได้ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง.ในสัปดาห์นั้นจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาเงินเฟ้อนั้นจะมีผลกระทบต่อทั้งภาคการเงินและภาคการผลิตแต่จะกระทบมากหรือน้อย ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับว่าสภาวะดังกล่าวมีความยืดเยื้อมากน้อยเพียงใดแต่คนส่วนใหญ่ก็คาดการณ์ไว้แล้วว่าอาจมีความรุนแรง

โดยในการประชุมของ กนง.สัปดาห์หน้านั้นตลาดได้คาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อไว้แล้วไม่ว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% หรือ 0.50% ก็คงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการคาดการณ์ดังกล่าวได้

“ไม่ว่าการประชุมของกนง.ในสัปดาห์หน้าจะมีผลออกมาอย่างไร จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% หรือ 0.50% ก็ตามก็คงจะไม่ทันแล้วเพราะตลาดคาดการณ์เรื่องนี้ไว้แล้ว และการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้หากมีการประกาศออกมาแทนที่จะช่วยแก้ไขปัญหาจะกลับเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่หนักหนาอยู่ในขณะนี้มากกว่า ทางที่ดีหากเป็นไปได้อยากให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยด้วยซ้ำ” นายวีรพงษ์กล่าวและว่า ย้ำว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นได้ เนื่องจากจะกระทบภาระประชาชนและเป็นแรงกดดันให้การบริโภคชะลอตัว จนทำให้เศรษฐกิจซบเซา ขณะเดียวกันถือเป็นการเพิ่มภาระผู้ผลิตด้วย และหากยังมีการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยไม่หยุดอย่างช้าภายในไตรมาสที่ 3 ของปีหน้าจะเกิดภาวะเงินตึงตัวขึ้นแน่นอน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมทุกภาคส่วนผลักดันให้ต้นทุนการผลิต การเกษตร อุตสาหกรรมและบริการได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

"ปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนคนเป็นริดสีดวงแต่ไม่กล้าอึเพราะกลัวเลือดออกโดยที่ไม่รู้ตัวว่าการไม่อึนั้นอันตรายกว่า ซึ่งการรักษาที่ถูกต้องคือการไปซื้อยาเหน็บมาใช้แต่ที่ ธปท.กลับจะเอายาหยอดตามารักษาโรคริดสีดวงก็คงไม่หายแน่นอน"

แนะเอกชนออกหุ้นกู้แทนกู้แบงก์

นายวีรพงษ์กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนี้จะเห็นว่าเงินฝากในระบบสถาบันการเงินอยู่ในช่วงที่ชะลอตัวซึ่งตรงกันข้ามกับความต้องการสินเชื่อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงแนะนำบริษัทขนาดใหญ่หลายๆ แห่งให้เปลี่ยนแปลงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนจากที่กู้แบงก์ก็แนะนำให้ไปออกหุ้นกู้หรือระดมทุนระยะยาวในตลาดทุนแทน เพราะแนวโน้มเงินตึงตัวจะลากให้ดอกเบี้ยเพิ่มสูงตามและส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ดังนั้นวิธีรับมือต่อเรื่องนี้อีกทางหนึ่งคือหาแหล่งเงินทุนหมุนเวียนระยะยาวที่ต้นทุนต่ำกว่าเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

สิ้นปีบาทอ่อนแตะ 35 ปีหน้า 40

นายวีรพงษ์กล่าวต่อว่า ปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจะส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออก เนื่องจากต้นทุนในการดำเนินงานสูงขึ้นและเมื่อเทียบกับคู่แข่งในภูมิภาคที่พึ่งพาการส่งออกน้อยกว่าไทย ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศลดลง เนื่องจากประเทศจีนและอินเดียการเติบโตของเศรษฐกิจพึ่งพาในประเทศมากกว่าการส่งออกจึงได้รับผลกระทบน้อยกว่าไทย

“ประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจเล็กและพึ่งพาการส่งออกมากจะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่า ทำให้การนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบทำให้ค่าเงินอ่อนลงอีก ซึ่งผมเชื่อว่าก่อนสิ้นปีนี้เห็นค่าเงินต่ำกว่า 35 บาทต่อดอลลาร์และปีหน้าทะลุ 40 บาทแน่นอน ซึ่งสถานการณ์ที่ผมคาดการณ์ไว้นั้นจะมีผลกระทบเป็นรอบที่ 2 ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจะแพงขึ้นเร่งเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้น กระทบเป็นลูกโซ่ต่อไป” นายวีรพงษ์กล่าว

เตือน “ธาริษา” ระวังตกเก้าอี้

นายวีรพงษ์กล่าวต่อว่า การทำหน้าที่ของธปท.นอกจากจะกำกับดูแลให้สถาบันการเงินให้มีความมั่นคงแล้วจะต้องพิจารณาถึงความมั่นคงของลูกค้าสถาบันการเงินเหล่านี้ด้วย เพราะแนวโน้มเงินตึงตัวที่กำลังเกิดขึ้นหากธปท.เข้มงวดในการกำกับดูแลมากเกินไปจะส่งผลให้เดือดร้อนกันถ้วนหน้าทั้งสถาบันการเงินและลูกค้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงระบบบัญชีตามเกณฑ์ IAS39 ยิ่งจะผลักให้เอ็นพีแอลในระบบเพิ่มมากขึ้นผลกระทบที่จะตามมาอาจน่ากลัวกว่าที่ทุกคนคาดไว้

“แต่เดิมการบันทึกบัญชีของแบงก์จะโชว์ผลกำไรออกมา แต่ระบบใหม่นี้ให้ตั้งสำรองเพิ่มตัวเลขทางบัญชีกลับขาดทุน ทำให้แบงก์ต้องมีภาระตั้งสำรองเพิ่มขึ้นใช้เงินเพิ่มทุนมากขึ้นทั้งที่ภาวะตลาดหลักทรัพย์ฯ ของประเทศอยู่ในภาวะเช่นนี้การเพิ่มทุนของแบงก์ก็จะลำบากมูลค่าหุ้นก็จะลดลงกระทบต่อเสถียรภาพของสถาบันการเงิน แม่แบงก์ชาติเข้มงวดกับแบงก์ แล้วแบงก์ก็เข้มงวดกับลูกค้าแล้วลูกค้าไป แบงก์ก็ต้องไปและเชื่อว่าสุดท้ายผู้ว่าแบงก์ชาติก็ต้องตามไป” นายวีรพงษ์กล่าว

ทำนายปฏิวัติเกิดขึ้นได้เสมอ

นายวีรพงษ์กล่าวว่า สำหรับปัญหาทางการเมืองในขณะนี้มีความไม่แน่นอนสูงมากโดยเฉพาะคนที่จะเดินทางไปต่างประเทศจะต้องยึดขาเก้าอี้เอาไว้ให้ดีเพราะตอนที่กลับมาประเทศไทยอาจไม่มีเก้าอี้ให้นั่งแล้วก็ได้ ซึ่งข่าวลือที่จะมีการปฏิวัติรัฐประหารนั้นสำหรับประเทศไทยแล้วไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันอาจเกิดขึ้นก็ได้ไม่มีใครสามารถตอบได้

“การเมืองแบบไทยๆ อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอทั้งที่ยืนยันจะไม่ปฏิวัติแต่ก็ยังปฏิวัติ ตัวผมเองก็ยังเคยอยู่ในคณะปฏิวัติในสมันคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) และก่อนหน้านั้นที่มีการปฏิวัติผมเองไม่รู้เรื่องแต่ก็ยังมีชื่อผมร่วมอยู่ในคณะปฏิวัติด้วยเลย แต่เที่ยวนี้ผมต่อต้านการปฏิวัติหากมีการปฏิวัติเกิดขึ้นจริงคณะปฏิวัติเขาอาจจับผมก็ได้” นายวีรพงษ์กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.