คลังตั้งพละ CEO - ปกรณ์ CFO เจ้าหนี้ตปท.TPI ท่าทียอมรับ


ผู้จัดการรายวัน(4 กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

คลังเปิดให้เจ้าหนี้ทีพีไอทั้งหมดพบ 5 ตัวแทนกระทรวงการคลังวานนี้ (3 ก.ค.) ที่จะเป็นบอร์ดบริหาร แผนฟื้นฟูกิจการบริษัท ก่อนจะตัดสินใจว่าจะโหวตรับคณะกรรมการชุดนี้หรือไม่ ด้าน "บิ๊กหมง" ระบุบอร์ดบริหารแผนฟื้นฟูฯทีพีไอ จะใช้เวลาแก้ไขแผนฟื้นฟูฯให้เสร็จภายใน 90 วัน นับจากที่ได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่บริหารแผนฯ ขณะที่เจ้าหนี้ท่าทีรับบอร์ด 5 คนของคลัง ที่จะให้พละเป็นซีอีโอ และปกรณ์เป็นซีเอฟโอบริษัท

ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีคลัง กล่าวว่ากระทรวงการคลังเชิญเจ้าหน้าที่บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (ทีพีไอ) พบกับผู้แทนคลัง 5 คน วานนี้ (3 ก.ค.) ประกอบด้วย พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ประธานกรรมการธนาคารกรุงไทย ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) นายพละ สุขเวช อดีตผู้ว่าการ ปตท. นายอารีย์ วงศ์อารยะ ประธานกรรมการธนาคารอิสลาม นายทนง พิทยะ ประธานกรรมการบริษัท การบินไทย

ในฐานะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ ตามที่ศาลล้มละลายกลางสั่ง พร้อมชี้แจงเหตุผลและนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับกรณีทีพีไอ การตั้งตัวแทน 5 คน เพื่อต้องการบริหารกิจการนี้ให้ดี อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และน้ำมัน จะได้อยู่ได้ เป็นประโยชน์ต่อเจ้าหนี้ทีพีไอและพนักงานบริษัท 7,000 คน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องถึงล้านคน ฝ่ายเจ้าหนี้สอบถามทุกเรื่องที่สนใจ ซึ่งชี้แจงทุกอย่าง

ประโยชน์ของเจ้าหนี้จะได้รับหนี้คืน ฝ่ายลูกหนี้ก็ได้รับความเป็นธรรม แรงงาน 7,000 กว่าคน ก็ไม่ต้องถูก Lay off (ออกจากงาน) ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ และทีพีไอจะกลับมาเป็นผู้นำทางด้านอุตสหกรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง

"วันนี้ (3 ก.ค.) ดูจากสีหน้าเจ้าหนี้ทุกคนพอใจ แต่ผลการโหวตในวันที่ 7 ก.ค. นั้นผมไม่สามารถคาดเดาได้ เชื่อว่าไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์ที่เจ้าหนี้ไม่พอใจ จนเกิดการถอนตัวจากการสนับสนุนทางด้านการเงิน" ร.อ.สุชาติกล่าว

ทางด้าน พล.อ.มงคลกล่าวว่าบอร์ด 5 คน ชี้แจงโครงสร้างกรรมการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอให้ทราบว่า คณะกรรมการมี 2 คน ที่เคยทำงานด้านบริหารมาแล้ว คือนายอารีย์ เคยเป็นอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ดูแลการปกครองประเทศมาแล้ว และเขาที่เคยควบคุมกองทัพ ขณะที่นายทนง ก็ทำงานด้านการเงินการคลังมาแล้ว

ด้านนายปกรณ์ ก็เคยทำงานตำแหน่งสุดท้ายคือ รองผู้ว่าการธปท. และนายพละ อดีตผู้ว่าการปตท. ที่จะเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ทีพีไอ

นอกจากนี้ ยังแจ้งให้ทราบถึงนโยบายนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และรัฐมนตรีคลัง ที่สั่งการให้คณะกรรมการตัวแทนทั้ง 5 คน ดำเนินการ ซึ่งมีนโยบายว่า ทีพีไอต้องดำเนินกิจการต่อไป เพราะจะเป็นผลดี กล่าวคือ เจ้าหนี้ได้หนี้คืน ด้านลูกหนี้ ก็ได้รับการปฏิบัติเป็นธรรม

พนักงาน 7,000 คน ก็ไม่ต้องออกจากงาน เศรษฐกิจไทยก็จะดี อุตสาหกรรมนี้ ซึ่งเคยใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ยังอยู่ในประเทศไทย

คณะกรรมการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทั้ง 5 คน จะเป็นผู้แทนคลัง ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการเดิมไปก่อน จะทบทวนแผนเดิมให้เหมาะสม และเสนอที่ประชุมเจ้าหนี้ เพื่อดำเนินการต่อไป ด้านทีมงานบริหาร ชั้นต้น นายพละจะเป็นซีอีโอ ซึ่งมีลูกน้องหลายคน ยังคงทำงานอยู่ในทีพีไอ จึงสามารถจะบริหารงานต่อไป โดยการดำเนินการจะไม่หยุดชะงัก

ขณะที่นายปกรณ์จะเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ดูแลด้านกิจการการเงิน บริษัท หลังจากนี้จะจ้างบริษัทที่เป็นที่ยอมรับทั่วไป ทำหน้าที่ทำสำรวจสินทรัพย์และหนี้สิน (ดิวดิลิเจนท์) บริษัทชัดเจนว่า สถานภาพการเงินบริษัทเป็นอย่างไร จากนั้น คณะกรรมการจะสรรหาซีอีโอและซีเอฟโอ ที่เหมาะสมต่อไป

ส่วนรายละเอียดอื่นๆ หลังจากศาลมีคำสั่ง ตั้งกรรมการตัวแทนกระทรวงการคลังทั้ง 5 คนบริหารแผนฟื้นฟูฯทีพีไอแล้ว จะรีบดำเนินการ ในรายละเอียด และปรึกษาเจ้าหนี้ต่อไป

พล.อ.มงคลคาดว่า คณะกรรมการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ จะใช้เวลาแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ให้เสร็จภายใน 90 วัน นับจากที่ได้รับแต่งตั้งเข้าไปทำหน้าที่บริหารแผนฯ

ด้านนายแอนเตรียส์ คลอค (Andreas Klocke) ประธานสำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เคเอฟดับบลิว ธนาคารพัฒนาจากเยอรมนี 1 ใน เจ้าหนี้ใหญ่ทีพีไอ กล่าวว่าในฐานะของเจ้าหนี้รายหนึ่งของบริษัท จะปรึกษากับสำนักงานใหญ่ก่อนว่า จะโหวตให้คณะกรรมการตัวแทน 5 คนของกระทรวงการคลังหรือไม่ จึงจะทราบว่า จะลงมติอย่างไร 7 ก.ค. นี้

แต่จากการที่ได้พบกับตัวแทนทั้ง 5 คน ของคลัง รู้สึกชื่นชมและวางใจ ยินดีที่กระทรวง การคลังช่วยดูแลเรื่องนี้

ด้านนายฮิวโก้ วาสซิงห์ ตัวแทนบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) เจ้าหนี้อันดับ 2 กล่าวว่าจะพยายามทำงานร่วมกับคณะกรรมการ ทั้ง 5 คนอย่างดี

นายเดชา ตุลานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ตัวแทนฝ่าย เจ้าหนี้ใหญ่ กล่าวว่าการร่วมประชุมครั้งนี้ เป็นเพียงทำความรู้จักกับคณะกรรมการผู้บริหารแผนฯ เท่านั้น ส่วนข่าวจะถอนตัวของเจ้าหนี้ เท่าที่ทราบยังไม่มีเจ้าหนี้รายใดแสดงท่าทีเช่นนั้น ทุกฝ่ายเห็นด้วย เพราะเรื่องนี้จะได้จบเสียที

ด้านนายอารีย์เปิดเผยความรู้สึกการเป็น 1 ใน 5 คณะกรรมการผู้บริหารแผนที่กระทรวง การคลังตั้งว่า รู้สึกหนักใจการทำงาน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ส่วนแนวทางการทำงานของเขา นจะถือความถูกต้องเป็นสำคัญ และมองความประสงค์ของรัฐบาล ที่ต้องการจะฟื้นฟูให้บริษัทอยู่รอดได้

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่าธนาคารกรุงเทพ ในฐานะเจ้าหนี้ใหญ่สุดของบริษัท เข้าใจและเห็นด้วยว่ากระทรวงการคลังเหมาะสมที่จะดูแล ในฐานะคนกลาง ส่วน ข้อเสนอลูกหนี้ที่ขอลดภาระหนี้ เชื่อว่า คณะกรรมการของคลัง จะต้องพิจารณาและวินิจฉัย

ถ้าคลังเห็นด้วย จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการเจ้าหนี้ และเป็นเรื่องเจ้าหนี้ ที่จะสามารถแสดงสิทธิ์ได้ ส่วนเรื่องแผนฟื้นฟูกิจการฯ เชื่อว่าคงต้องแก้ไข และดำเนินการตามแนวทางที่กระทรวงการคลังเสนอ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.