การฟื้นตัวไทยผลิตภัณฑ์ยิบซั่ม

โดย ขุนทอง ลอเสรีวานิช
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

ยี่สิบสองปีที่แล้ว ไทยผลิตภัณฑ์ยิบซั่มเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจของเจ้าของเหมืองแร่ยิบซั่มหญิงคนหนึ่ง ที่ต้องการพัฒนาแร่ที่ขุดขึ้นมาให้มีค่ามากกว่าการส่งไปขายเมืองนอก แต่การยกระดับจากการขุดแร่ขายขึ้นมาเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นยิบซั่มซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ยี่สิบสองปีของไทยฯ ยิบซั่มจึงเป็นเรื่องราวของการเรียนรู้และต่อสู้เพื่อที่จะอยู่รอดในโลกธุรกิจ

"เรากำลังอยู่ในช่วงการขยายตัวครั้งสำคัญ" กฤษฎากัมปนาทแสนยากร กรรมการผู้ อำนวยการของบริษัทไทยผลิตภัณฑ์ยิบซั่มพูดถึงทิศทางของกิจการที่เขารับช่วงการเป็นผู้นำต่อจากแม่

ไทยฯ.ยิบซั่มเพิ่งจะย้ายที่ทำการใหม่จากที่ตั้งเดิมบนถนนศรีอยุธยามาอยู่บนตึกหกชั้นริมถนนวิภาวดีรังสิต เป็นการย้ายชั่วคราวในระหว่างที่กำลังก่อสร้างตึกใหม่ในที่ดินเดิมซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างไทยฯ.ยิบซั่มกับโตโยต้า มหานครตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาชื่อมหานครยิบซั่มบอร์ดเพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานสูง 24 ชั้น มูลค่าลงทุน 700 ล้านบาทและจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2535

แต่การลงทุนในโครงการนี้เป็นเพียงการลงทุนใหม่ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักจากเงื่อนไขที่ทั้งไทยฯ.ยิบซั่มกับโตโยต้ามหานครเป็นเจ้าของที่ดินอยู่แล้ว เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพย์สินเดิมที่มีอยู่ตามกระแสการลงทุนพัฒนาทีดิ่นในปัจจุบัน การขยายตัวครั้งสำคัญที่กฤษฎาพูดถึงคือการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจดั้งเดิมของไทยฯ.ยิบซั่ม

ทิศทางแรกคือการขยายตัวเข้าไปสู่การผลิตวัสดุก่อสร้างให้หลากหลายประเภทมากขึ้น จากเดิมที่มีแผ่นยิบซั่มสำหรับทำฝ้าเพดานเป็นหลักขยายไปสู่ระบบผนังกันความร้อนภายนอก ฉากกั้นและโครงคร่าวเหล็กชุบสังกะสีสำหรับฝ้าและเพดาน

แนวคิดในการขยายตัวแบบนี้คือ การสร้างตลาดใหม่ทั้งในรูปแบบของการเพิ่มวัสดุก่อสร้างที่ทำจากแผ่นยิบซั่มให้มากขึ้น คือเพิ่มแผ่นผนังและฉากกั้นห้อง และการเพิ่มประเภทของวัสดุก่อสร้างจากเดิมที่เคยมีเฉพาะวัสดุที่ทำจากแผ่นยิบซัมไปสู่วัสดุที่ใช้วัตถุดิบอื่นเช่นโครงคร่าวเหล็กด้วย

"เราจะไม่ขายแต่ภายในประเทศไทยเท่านั้นแต่จะเป็นผู้ขายที่พร้อมจะแข่งขันในตลาดต่างประเทศด้วย" กฤษฎาพูดถึงทิศทางที่สองของไทยฯ.ยิบซั่มคือการบุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งวัสดุก่อสร้างที่ทำจากยิบซั่มได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากกว่าตลาดในประเทศมาเป็นเวลานานแล้ว

ปัจจุบันไทยฯ.ยิบซั่มส่งออกแผ่นยิบซั่มไปที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และประเทศในกลุ่มเอเซี่ยนและตะวันออกกลาง มียอดขายในส่วนนี้ประมาณ 100 ล้านบาทจากยอดขายรวมเกือบ 500 ล้านบาทต่อปี

ปี 2535 โรงงานผลิตยิบซั่มบอร์ดแห่งที่สองของไทยฯ.ยิบซั่มที่นิคมอุตสหากรรมแหลมฉบังจะเสร็จเรียบร้อย สามารถผลิตได้ปีละ 12 ล้านแผ่นซึ่งจะส่งออกประมาณ 80% ตลาดใหญ่ยังคงเป็นประเทศในเอเชียที่ไทยฯ.ยิบซั่มเชื่อว่าตัวเองสามารถแข่งขันกับผู้ส่งออกจากชาติอื่น ๆ ได้

"เราเป็นประเทศผู้ผลิตแผ่นยิบซั่มที่ต้นทุนถูกที่สุดในแถบนี้" กฤษฎาพูดถึงจุดแข็งในการแข่งขันซึ่งประเทศไทยมีข้อได้เปรียบคือมีแหล่งแร่ยิบซั่มของตัวเอง อีกประเทศหนึ่งที่มีคือจีนแต่ก็อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ซึ่งไม่สะดวกกับการขนส่ง

ผู้ผลิตแผ่นยิบซั่มจากประเทศอื่นโดยเฉพาะญี่ปุ่นจึงต้องสั่งซื้อแร่ยิบซั่มจากประเทศไทย ประมาณปีละ 4 ล้านตัน เพื่อนำไปเผาไล่น้ำออกก่อนที่จะใช้ผลิตแผ่นยิบซั่มได้ ซึ่งทำให้มีต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้นมาก

ในแผนประมาณการรายได้ห้าปีข้างหน้าของไทยฯ.ยิบซั่ม ในปี 2535 เมื่อสามารถส่งออกได้แล้ว จะมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 100% คือเพิ่มจาก 694.9 ล้านบาทในปี 2534 เป็น 1,280.1 ล้านบาทและมีกำไรตามประมาณการเพิ่มขึ้นจาก 63 ล้านบาทเป็น 130.6 ล้านบาท

เทียบกับเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วที่ไทยฯ.ยิบซั่มยังขาดทุนสะสมอยู่ซึ่งเกิดจากปัญหาเรื้อรังที่สะสมมานานปีนับตั้งแต่การเกิดขึ้นของบริษัทแล้ว ไทยฯ.ยิบซั่มในวันนี้เรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าแข็งแรง ยืนได้อย่างมั่นคงแล้ว

อัตราการเติบโตของความต้องการใช้แผ่นยิบซั่มระหว่างปี 2527-2532 มีอัตราเฉลี่ยสูงถึง 25% ต่อปี และการขยายตัวจะยังคงอยู่ในอัตรานี้ต่อไปในอนาคต ในขณะที่ผู้ผลิตแผ่นยิบซั่มนอกจากไทยฯ.ยิบซั่มแล้วก็มีบริษัทกระเบื้องกระดาษไทยในเครือปูนซิเมนต์ไทยอีกรายหนึ่งเท่านั้น ทั้งสองรายมีส่วนแบ่งตลาดเท่า ๆ กัน

แน่นอนว่าการขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการก่อสร้างเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลอย่างสำคัญต่อฐานะของไทยฯยิบซั่ม แต่แม้ว่าสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีก็ใช่ว่าใคร ๆ จะฉกฉวยโอกาสมาเป็นประโยชน์ให้กับตัวเองได้เสมอไปหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นจากภายในเป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย

เส้นทางของไทยฯ.ยิบซั่มซึ่งมีอายุ 22 ปีแล้วนั้นกว่าค่อนทางก่อนจะถึงวันนี้เป็นเส้นทางที่ขรุขระเรียงรายด้วยขวากหนาม "เราต่อสู้มาตลอดฝ่ายมรสุมครั้งแล้วครั้งเล่า" กฤษฎาพูดถึงความยากลำบากที่เขาเองมีส่วนร่วมฝ่าฟันมาด้วยไม่น้อย

ตระกูลกัปนาทแสนยากรเป็นตระกูลข้าราชการเก่าแก่ พลเอกหลวงกัปนาทแสนยากร ผู้เป็นปู่ของกฤษฎานั้น เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยระหว่างพ.ศ. 2500-2501 ในรัฐบาลที่มีนายพจน์ สารสิน และพลโทถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรี พ่อของกฤษฎาคือพลตำรวจโทบันเทิง กัมปนาทแสนยากร อดีตผู้บังคับการกองตำรวจทางหลวง

กฤษฎาเป็นกัมปนาทแสนยากรรุ่นที่สองที่ก้าวเข้ามาสู่วงการธุรกิจ คนแรกที่เข้ามาก่อนและปูทางไว้ให้คือบุญชู กัมปนาทแสนยากรแม่ของเขาเอง

แม่ไม่รู้ว่จะเริ่มต้นทำมาหากินตรงไหน เพราะตระกูลของเราไม่เคยค้าขายมาก่อนเลย" กฤษฎาเท้าความถึงจุดเริ่มแรกของการเข้ามาสู่สังคมธุรกิจของแม่ ว่ากันว่าบุญชูนั้นมีความฝังใจกับนวนิยายบางเรื่องที่มีเรื่องเหมืองแร่เข้ามาเกี่ยวข้องว่าคนเป็นนายเหมืองนั้นคือคนรวย ก็เลยตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจเหมืองแร่ทั้ง ๆ ที่ไม่มีพื้นฐานในด้านนี้มาก่อน

ประกอบกับความกว้างขวางของตระกูลที่อยู่ในวงราชการ การสืบเสาะหาพื้นที่แหล่งแร่ไม่ใช่เรื่องยากนัก บุญชูเริ่มต้นชีวิตนายเหมืองของตนราว ๆ ปี 2500 ที่จังหวัดพิจิตรซึ่งเป็นแหล่งแร่ยิบซั่มใหญ่ของประเทศไทย และปัจจุบันไทยฯ.ยิบซั่มก็ยังใช้แร่จากเหมืองที่พิจิตรนี้เป็นวัตถุดิบในการทำแผ่นยิบซั่ม รวมกับแร่จากเหมืองที่นครสวรรค์ที่ได้ประทานบัตรมาในภายหลัง

แร่ยิบซั่มจากเหมืองพิจิตรพอขุดขึ้นมาได้ก็ส่งไปขายในรูปแร่โดยไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปอื่น ๆ เลย ผู้รับซื้อรายสำคัญคือบริษัทปูนซิเมนต์ไทยซึ่งต้องใช้แร่ยิบซั่มเป็นวัตถุดิบในการทำปูนซิเมนต์อีกส่วนหนึ่งส่งไปขายที่ญี่ปุ่น

ปัจจุบันไทยฯ.ยิบซั่มส่งแร่ไปขายญี่ปุ่นปีละหนึ่งแสนตัน โดยขายผ่านบริษัทมิตซูบิชิซึ่งเป็นบริษัทการค้ายักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น มิตซุบิชิขายแร่ยิบซั่มให้กับบริษัทโอโยดะ ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซิเมนต์หนึ่งในญี่ปุ่น

ปัจจุบันไทยฯ.ยิบซั่มส่งแร่ไปขายญี่ปุ่นปีละหนึ่งแสนตัน โดยขายผ่านบริษัทมิตซูบิชิซึ่งเป็นบริษัทการค้ายักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น มิตซูบิชิขายแร่ยิบซั่มให้กับบริษัทโอโยดะซึ่งเป็นผู้ผิลตปูนซิเมนต์รายหนึ่งในญี่ปุ่น

แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ไทยฯยิบซั่มได้ทำสัญญาส่งแร่ยิบซั่มใหม่กับบริษัทชิโนดะ ผู้ผลิตแผ่นยิบซั่มใหญ่เป็นอันดับสองของญี่ปุ่น โดยจะส่งให้ในรูปปูนปลาสเตอร์ซึ่งเป็นผลิตผลจากการเผาแร่ยิบซั่มเพื่อไล่น้ำให้หมดไป เป็นการแปรรูปวัตถุดิบขั้นต้นก่อนจะนำไปทำแผ่นยิบซั่ม

ตามสัญญาที่ทำกับชิโนดะนี้ ไทยฯ.ยิบซั่มจะส่งปูนปลาสเตอร์ให้ปีละห้าแสนตัน เป็นเวลาสิบปีกฤษฎาเรียกการเปลี่ยนแปลงของลักษณะการส่งออกในครั้งนี้ ว่าเป็นความก้าวหน้าในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยยกระดับจากแร่ขึ้นเป็นปูนปลาสเตอร์

ย้อนหลังกลับไป 22 ปี แนวคิดในเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าหรือวัตถุดิบเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดอุตสาหกรรมแผ่นยิบซั่มในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

ตอนที่เริ่มส่งแร่ออกนอกนั้น ไทยฯ.ยิบซั่มถูกบีบในเรื่องราคาอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะเป็นผู้ครอบครองวัตถุดิบที่ผู้ผลิตปูนซิเมนต์และแผ่นยิบซั่มในต่างประเทศต้องพึ่งพา แต่ตราบใจที่ยังไม่มีวิธีอื่นที่จะใช้ประโยชน์จากแร่ยิบซั่ม ให้มากกว่าการขายออกไปในรูปแร่ความได้เปรียบในแง่ที่เป็นเจ้าของวัตถุดิบก็ไม่มีความหมายอะไรที่จะใช้เป็นอำนาจไปต่อรองกับผู้ซื้อได้

"แม่เสียดายและมีความเชื่อว่าคนไทยน่าจะทำได้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มแล้วส่งออกในรูปสินค้าสำเร็จรูป"

เดือนกุมภาพันธ์ 2511 บริาทไทยผลิตภัณฑ์ยิบซั่มบอร์ดจึงเกิดขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท เพื่อผลิตแผ่นยิบซั่มออกขาย โดยใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีในการผลิตจากบริาทออสเตรเลียยิบซั่ม จำกัด ซึ่งบริษัทนี้ได้เข้ามาถือหุ้นด้วย 15% มีที่ตั้งโรงงานอยู่ที่อำเภอบางปะอิน อยุธยา แต่กว่าการก่อสร้างโรงงานและการติดตั้งเครื่องจักรจะเรียบร้อยก็ต้องใช้เวลาถึงปลายปี 2514 จึงสามารถเดินเครื่องผลิตได้

สิบปีแรกของไทยฯ.ยิบซั่มคือความพยายามทำให้ตลาดยอมรับแผ่นยิบซั่มบอร์ด เนื่องจากเป็นของใหม่ในขณะนั้นที่มีราคาสูงกว่าวัสดุชนิดอื่นลักษณะที่เป็นแผ่นบาง ๆ น้ำหนักเบาถึงแม้ว่าจะมีการโฆษณาสรรพคุณว่าทนไฟ รวมทั้งการ สร้างบ้านตัวอย่างที่ใช้แผ่นยิบซั่มเป็นฝ้าเพดานให้ดูเป็นตัวอย่าง ก็ยากที่จะทำให้คนไทยที่คุ้นกับความแข็งแรงแน่นหนาของไม้และซีเมนต์ยอมรับได้ในระยะแรกของการทำตลาด จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแนวความคิดในการโฆษณา จากทนไฟมาเป็นทนความร้อนรวมทั้งการโฆษณาอย่างต่อเนื่องแผ่นยิบซั่มจึงเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นตามลำดับ

ในขณะที่ตลาดให้การยอมรับมากขึ้นยอดขาดทุนของไทยฯ.ยิบซั่มก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกทีเพราะว่าขนาดของตลาดที่ยังเล็กอยู่ทำให้ไม่อาจผลิตในระดับที่ทำให้เกิด ECONOMY OF SCALE ได้ไทยฯ.ยิบซั่มใช้กำลังการผลิตเพียงแต่ 20% ของประสิทธิภาพเครื่องจักรเท่านั้น จึงทำให้มีต้นทุนต่อหน่วยที่สูงมาก

สิ้นปี 2518 ยอดขาดทุนสะสมของไทยฯ.ยิบซั่มสูงถึง 15 ล้านบาท หักลบกับทุนจดทะเบียนแล้วเงิน 20 ล้านบาทในกระเป๋าร่อยหลอเหลือเพียง 5 ล้านบาทในชั่วเวลา 4 ปีของการผลิตแผ่นยิบซั่ม

นอกจากต้นทุนการผลิตสูงที่เป็นสาเหตุของการขาดทุนแล้ว สิ่งที่มีผลทำให้ยอดขายทุนสะสมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วคือดอกเบี้ยเงินกู้ การทำแผ่นยิบซั่มเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องลงทุนในเรื่องเครื่องจักรสูง (CAPITAL INTENSIVE) จำเป็นต้องลงทุนในระยะแรกเป็นเงินจำนวนมาก แต่ไทยฯ.ยิบซั่มมีเงินทุนจดทะเบียนแค่ 20 ล้านบาทแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานจึงต้องพึ่งเงินกู้จำนวนมาก

ไทยฯ.ยิบซั่มในปี 2519 มีหนี้สินที่เป็นเงินกู้อยู่ 25 ล้านบาท เป็นเงินกู้จากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม 20 ล้านบาทรวมกับเงินกู้จากแหล่งอื่น มีภาระดอกเบี้ยปีละ 3 ล้านบาท

เปรียบเทียบกับมูลค่าเงินกองทุนที่เหลืออยู่ 5 ล้านบาท อัตราส่วนระหว่างหนี้ต่อเงินกองทุนของไทยฯ.ยิบซั่มสูงถึง 5:1 ขณะที่ผลประกอบการแหล่งอื่น มีภาระดอกเบี้ยปีละ 3 ล้านบาท

"เราเจอปัญหาสภาพคล่องอยู่เป็นประจำ" กฤษฎาเล่าให้ฟัง บุญชูแลตัวแทนจากออสเตรเลียยิบซั่มพยายามโน้มน้าวให้ผู้ถือหุ้นยอมเพิ่มทุนขึ้นมาอีก 20 ล้านบาทเพื่อชำระคืนเงินกู้ และลดดอกเบี้ยแต่ไม่เป็นผล มีผู้ถือหุ้นเพียง 11% ของผู้ถือหุ้นทั้งหมดที่เห็นด้วยกับการเพิ่มทุน

นอกจากนั้นแล้วยังมีปัญหาทีระบบการผลิตมีการสูญเสียระหว่างการผลิตมาก รวมทั้งระบบการปล่อยสินเชื่อก็ไม่รัดกุม ไม่มีระบบ CREDIT CONTROL ทำให้มีหนี้สูญเป็นจำนวนมาก

อีกจุดหนึ่งคือขาดการบริหารงานด้านการตลาดที่ดี ถึงแม้สินค้าจะเริ่มเป็นที่ยอมรับแต่ก็ยังไม่มีระบบการจัดจำหน่าย และการส่งเสริมการขายที่ดีความต้องการที่จะเพิ่มทุนของบุญชูส่วนหนึ่งก็เพราะต้องการเงินมาลงุทนทางด้านการตลาด แต่เมื่อไม่สามารถเพิ่มทุนได้ จึงลงทุนตั้งบริษัทการตลาดขึ้นมาเองชื่อยิบซั่ม อินเตอร์เนชั่นแนลเมื่อปี 2519 เพื่อขายสินค้าทั้งหมดของไทยฯ.ยิบซั่ม

การเกิดขึ้นของไทยฯ.ยิบซั่มเป็นการเคลื่อนตัวจากธุรกิจเหมืองแร่ซึ่งมีกิจกรรมหลักคือขุดแร่ขายเมื่อยกระดับขึ้นเป็นผู้ผลิตและขาย แม้จะยังไม่มีคู่แข่งในตลาดแต่องค์กรและระบบการบริหารมีความซับซ้อนขึ้น ต้องใช้ความสามารถทางการบริหารธุรกิจมากขึ้น ประสิทธิภาพทางการบริหารจึงเป็นปัญหาสำคัญด้วย

กฤษฎาเข้ามาช่วยแม่และพี่ชายแก้ปัญหาของไทยฯ.ยิบซั่มในปี 2521 หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากนิด้า เขาจบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์จากมหาวทิยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2519 แล้วทำงานเป็นผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพีพร้อม ๆ กับดูแลงานด้านขายแร่ของครบอครัวไปด้วยก่อนที่จะไปเรียนต่อ

ปี 2521 ไทยฯ.ยิบซั่มลดทุนเหลือ 5 ล้านบาทเพื่อตัดยอดขาดทุนสะสม ก่อนที่จะเพิ่มทุนขึ้นเป็น 35 ล้านบาทในปีเดียวกัน แต่ปัญหาสภาพคล่องก็ยังเกิดขึ้นเป็นประจำ ต้องอาศัยเงินจากการขายแร่และนำแอลซีไปแพ็คกิ้งเครดิตมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน

"สาเหตุจริง ๆ คือเรากู้มาก มีกำไรเท่าไหรพอหักดอกเบี้ยแล้วหายหมด" กฤษฎากล่าว ในช่วงปี 2527-2528 ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึงปีละ 30 ล้านบาทเงินกู้ส่วนใหญ่เป็นเงินระยะสั้นที่เรียกกว่า CALLLOAN แต่นำไปใช้ขยายโรงงานซึ่งเป็นการลงทุนในระยะยาว

ปี 2523 ไทยฯ.ยิบซั่มเข้าเป็นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่จุดประสงค์ไม่ใช่เพื่อระดมทุนจากตลาดเพราะตลาดหลักทรัพย์ในขณะนั้ยังไได้รับความสนใจมาก ควมต้องการจริง ๆ คือต้องการลดภาษีจากปีละ 40% เหลือ 30%

"เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับโครงสร้างเงินกู้ให้ได้โดยเร็ว แต่การปรับโครงสร้างคงจะกเดไม่ได้ถ้าหากว่าเราไม่เพิ่มทุน" เดือนตุลาคม 2528 ไทยฯ.ยิบซั่มจึงเพิ่มทุนอีกครั้งหนึ่งจาก 35 ล้านบาทเป็น 70 ล้านบาท

สถานการณ์ของไทยฯ.ยิบซั่มหลังจากปี 2528 เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ เมื่อสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องเงินทุนได้ ในขณะที่ขายสินค้าได้มากขึ้น มีการปรับปรุงระบบการผลิตให้ต้นทุนต่ำลงและระบบการบริหารภายในดีขึ้น พอดีกับบริษัทกระเบื้องกระดาษไทยของค่ายปูนซิเมนต์ไทยเริ่มผลิตแผ่นยิบซั่มออกมาขายแข่งกับไทยฯ.ยิบซั่ม

กระเบื้องกระดาษไทยซื้อเหมืองยิบซั่มที่พิจิตรจากไทยฯ.ยิบซั่ม ซึ่งขายให้เพราะต้องการเงินมาหมุนเวียน

การเข้าสู่ตลาดของกระเบื้องกระดาษทไยทำให้เกิดสงครามราคา เมื่อู้มาใหม่เปิดเกมรุกแย่งส่วนแบ่งตลาดด้วยการตัดราคาจาก 138 บาทต่อแผ่นเหลือเพียง 87 บาทเท่านั้น ทำให้ไทยฯ.ยิบซั่มต้องลดราคาตามด้วย

สงครามราคาครั้งนี้กินเวลาประมาณ 2 ปีแล้วต่างฝ่ายก็เลิกราไปเพราะเจ็บตัวด้วยกันทั้งคู่ประกอบกับกระเบื้องกระดาษไทยก็ได้ตลาดไปตามที่ต้องการด้วย ไทยฯ.ยิบซั่มซึ่งเพิ่งจะฟื้นตัวได้เมื่อมาเจอกับการแข่งขันในรูปแบบนี้ต้องประสบกับการขาดทุนอีกครั้งหนึ่ง

แต่ในงบการเงินของไทยฯ. ยิบซั่มตั้งแต่ปี 2528 มานั้นไม่ปรากฎยอดขาดทุนเลย "มีการย้ายการขาดทุนไปไว้ในบัญชีของยิบซั่ม อินเตอร์เนชั่นแนล" แหล่งข่าวในวงการการเงินรายหนึ่งเปิดเผย

ในงบการเงินของยิบซั่ม อินเตอร์เนชั่นแนลในปี 2529-2530และ 2531 นั้นมียอดขาดทุนสะสมอยู่ 40,39 และ 36 ล้านบาทตามลำดับ แหล่งข่าวรายเดิมให้ความเห็นว่าการย้ายบัญชีขาดทุนก็เพื่อผลประโยชน์ ทางด้านภาษีของยิบซั่ม อินเตอร์เนชั่นแนลซึ่งมีฐานะ เป็นบริษัทส่วนตัวของบุญชูและครอบครัวกัมปนาทแสนยากร

ขณะเดียวกันยิบซั่ม อินเตอร์เนชั่นแนลก็เป็นหนี้ไทยฯ.ยิบซั่มอยู่ถึง 73 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2528 ซึ่งเป็นหนี้การค้าที่ไทยฯ.ยิบซั่มขายสินค้าให้กับยิบซั่ม อินเตอร์ฯแต่เพียงผู้เดียว

"ใคร ๆ ก็หาว่า เราดูดเงินไปใส่บริษัทส่วนตัว" กฤษฎกล่าวถึงข้อครหาในเรื่องนี้ซึ่งเขาอธิบายว่า การขาดทุนและหนี้สินนั้นเกิดขึ้นเพราะปัญหาจากสงครามราคาเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในเรื่องนี้บุญชูยอมนำทรัพย์สินส่วนตัวมาค้ำประกันหนี้ 73 ล้านบาทนี้รวมทั้งเซ็นต้ำประกันเป็นการส่วนตัวด้วยพร้อมกับทำสัญญาชำระหนี้คืนภายในเวลา 4 ปีนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2529 ซึ่งยอดหนี้ลดลงมาเหลอสิบกว่าล้านบาทในตอนนี้

ความจำเป็นที่บุญชูต้องสะสางหนี้สินที่ยิบซั่ม อินเตอร์ฯ.มีกับไทยนิบซั่มนั้นก็เพื่อให้การจัดหาเงินกู้ระยะยาวในรูปซินดิเคตโลนแลการร่วมทุน กับบริษัท UNITERD STATES GYPSUM CORPORATION (U.S.G) สำเร็จลงได้

ช่วงปี 2530 ซึ่งบริษัทเริ่มดีขึ้นและธุรกิจวัสดุก่อสร้างขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วตามการเติบโตาของอุตสาหกรรมก่อสร้าง มีกลุ่มธุรกิจทั้งในและนอกประเทศหลายกลุ่มพยายามเทคโอเวอร์ไทยฯ.ยิบซั่ม แต่บุญชูไม่ยอมขายหุ้นให้

ปลายปี 2530 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จีเอฟมีหนังสือถึงไทย.ยิบซั่มให้ชำระเงินกู้ 59 ล้านบาทคืนภายใน 24 ชั่วโมงเงินกู้จำนวนนี้เป็นเงินกู้แบบ CALLLOAN

"เราไม่เคยผิดเรือ่งการจ่ายเงินคืนเลยตลอดช่วง 13 เดือน" กฤษฎาเชื่อว่าการเรียกเงินคืนครั้งนี้จีเอฟทำไปตามความต้องการของกลุ่มที่ต้องการเทคโอเวอร์รายหนึ่ง "เราปรักปรำตรง ๆ คงลำบาก แต่ความเห็นส่วนตัวเป็นอย่างนี้เพราะไม่มีเหตุผลอื่น"

ช่วงที่ถูกเรียกเงินคืน ไทย.ยิบซั่มกำลังปรับโครงสร้างสภาพเงินกู้ โดยให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติเป็นผู้จัดการระดมเงินจากสถาบันการเงินอีกหลายแห่งในรูปซินดิเคตโลนจำนวน 120 ล้านบาทเงินจำนวนนี้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาถูกเรียกเงิน 59 ล้านบาทได้ทันท่วงปี

เงิน 120 ล้านบาทนี้มีกำหนดคืนใน 6 ปี มาจากธนาคารนครหลวงไทย 20 ล้านาบาท บงล. สหธนกิจไทย 20 ล้านบาท ไทยเม็กซ์ 10 ล้านบาท ศรีมิตร 10 ล้านาบาท ภัทรธนกิจและธนชาติแห่งละ 30 ล้านบาท

การรอดพ้นจากการถูกเทคโอเวอร์เป็นเหมือนมรสุมลูกสุดท้ายที่ไทยฯ.ยิบซั่มฝ่าฟันมาได้ก่อนที่จะมาถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปี 2531 คือการร่วมทุนกับบริษัทยูเอสจีขงสหรัฐอเมริกา

"เราเป็นบริษัทเล็ก ต้องแข่งขันกับยักษ์ใหญ่เราคงต้องพยายามหาจุดแข็งขึ้นมา มิฉะนั้นคงยากที่จะอยู่ในตลาดได้" กฤษฎาพูดถึงแนวความคิดที่ผลักดันการร่วมทุนครั้งนี้

ยูเอสจีเป็นผู้ผลิตแผ่นยิบซั่มรายใหญ่รายหนึ่งของสหรัฐ.มีโรงงานอยู่ถึง 122 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศในต่างประเทศมีโรงงานที่แคนาดาและเม็กซิโก

การเข้ามาร่วมทุนกับไทยฯ.ยิบซั่มนั้นเป็นการเข้ามาในเอเชียเป็นครั้งแรกของยูเอสจี หลังจากที่ใช้เวลาเจรจากันประมาณสองปี ยูเอสจีจะให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคการผลิต และการตลาดเป็นเวลา 10 ปีและ 3 ปีตามลำดับจากปี 2531 โดยไทยฯ.ยิบซั่มต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในช่วงห้าปีแรกเป็นเงิน 17 ล้านบาท

เงื่อนไขข้อหนึ่งของยูเอสจีในการขายเทคโนโลยีให้คือเข้ามาถือหุ้นในไทยฯ.ยิบซั่มประมาณ 10% โดยซื้อไปในราคาหุ้นละ 550 บาท ซึ่งไทยฯ.ยิบซั่มได้เพิ่มทุนจากเดิม 70 ล้านบาทเป็น 80.5 ล้านบาท

ต้นปี 2532 บุญชูเสียชีวิตลง เป็นการจากไปในขณะที่ไทยฯ.ยิบซั่มเริ่มจะดีขึ้นมาแล้วกฤษฎาเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการแทน

หลังจากที่ยูเอสจีเข้ามาแล้วได้ช่วยในเรื่อง เพิ่มกำลังการผลิตของโรงานที่บางปะอินซึ่งเดิมผลิตได้ 80 ฟุตต่อนาทีเพิ่มขึ้นเป็น 120 ฟุตต่อนาที "เราผลิตด้วยระบบ CONTINUOUS PROCESS เครื่องเดิน 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นผลผลิตที่ได้ ขึ้นอยู่กับความเร็วทำได้เร็วมาก้ช่วยลดต้นทุนต่อหน่วยได้" กฤษฎาอธิบายถึงสิ่งที่ได้จากยูเอสจี

ตามแผนการเพิ่มกำลังการผลิต สิ้นปี 2533 กำลังการผลิตของโรงงานที่บางปะอินจะเพิ่มจาก 4 ล้านแผ่นเป็น 8 ล้านแผ่นต่อปี

สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือเทคโนโลยีที่ได้จากยูเสอจี จะช่วยให้ไทยฯ.ยิบซั่มขยายสินค้าวัสดุก่อสร้าง ที่ทำจากแผ่นยิบซั่มจากเดิมที่เคยมีเฉพาะฝ้าเพดานออกไปเป็นฝาผนัง และพื้นซึ่งเท่ากับเป็นการขยายตลาดไปในตัว เพราะในเมืองไทยใช้แผ่นยิบซั่มสำหรับทำฝ้าเป็นส่วนใหญ่ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของจำนวนวัสดุก่อสร้างที่สามารถใช้แผ่นยิบซั่มได้ ในขณะที่ในอเมริกาใช้ถึง 90%

"เราจะใช้วิธีการขายแบบ SYSTEM APPROACH" วิธีการขายแบบที่กฤษฎาพูดถึงคือการขายแผ่นยิบซั่มโดยแบ่งตลาดออกเป็นส่วน ๆ ตามจุดมุ่งหมายของการใช้ซึ่งจะมีทั้งระบบฝ้าเพดาน ระบบผนังและระบบพื้น ในแต่ละระบบนั้นจะมีสเป็คแตกต่างกันออกไปในเรื่องของการกันความร้อน ไฟและเสียง เป็นวิธีการขายที่มีรายละเอียดทางเทคนิคซับซ้อนกว่าการขายเป็นแผ่น ๆ ที่เคยทำมาซึ่งไทยฯ.ยิบซั่มจะได้เทคโนโลยีทางด้านนี้จากยูเอสจี

การเข้ามาของยูเอสจีจึงเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ที่จะทำให้ไทยฯ.ยิบซั่มเข้มแข็งขึ้นในอุตสาหกรรมนี้หลังจากที่ผ่านพ้นอุปสรรคทางด้านการตลาดและการบริหารมาได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.