Value-Driven Intellectual Capital


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

มีคำถามเกิดขึ้นว่าทำไมบริษัทต่างๆ เช่น Hewlett-Packard, Du Pont, Dow Chemical, IBM และ Texas Instruments สามารถแปลงทรัพยากรความคิดของพนักงานในองค์กรไปสู่ผลกำไร ที่สามารถหล่อเลี้ยงองค์กรให้อยู่รอดได้อย่างไร? ด้วยวิธีการใด ที่ผู้ซื้อ และผู้ขายจะสามารถคำนวณมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัท ที่จะเข้าควบกิจการ (Merger & Acquisi-tion : M&A) ได้?

องค์กรต่างๆ จะสามารถใช้การเพิ่มสินทรัพย์ทางปัญญา (intellectual assets-the proprietary knowledge) เพื่อก่อให้เกิดผลกระทบต่อมูลค่าหุ้น ได้อย่างไร?

การระบุทรัพย์สินขององค์กรโดยเฉพาะทรัพย์สินทางปัญญา เช่น สูตรอาหาร สูตรนม ความลับทางการค้า และโปรแกรมการประดิษฐ์ ได้กลายเป็นสิ่งสำคัญต่อวิสัยทัศน์ และแผนกลยุทธ์ในอนาคต และมีความจำเป็นอย่างยิ่งในกรณี ที่มีการขายหุ้นเพิ่มทุนหรือมีการควบกิจการ

ในยุคที่ความโดดเด่นของบริษัทหนึ่งบริษัทใด และอนาคตของบริษัทนั้น ขึ้นอยู่กับทรัพยากรความคิดขององค์กรทักษะความชำนาญ ที่รวบรวมสะสมในองค์กรนั้น จะกลายเป็นสิ่งที่สามารถวัดเป็นมูลค่าได้เช่นเดียวกับทรัพย์สินอื่น ที่ได้นำมาลงทุน อาทิ เงินสด อาคาร หรือ เครื่องจักรอุปกรณ์

ดังนั้น การวัดมูลค่า ที่แท้จริงของทรัพยากรความรู้ในองค์กรนั้น เป็นสิ่งจำเป็นต่อการรับทราบถึงสถานภาพความเสี่ยงในการอยู่รอดขององค์กรในยุคแห่งข่าวสารข้อมูล ยุคที่ทรัพยากรความคิดมีค่ามากเทียบเท่ากับทอง

Value-Driven Intellectual Capital เขียนโดย Dr.Patrick H. Sullivan เปรียบได้กับคู่มือเกี่ยวกับความหมายของทรัพย์สินความรู้ และวิธีการที่จะประเมินเป็นมูลค่าในรูปตัวเงิน หรือสถานภาพทางธุรกิจ ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริหารองค์กร และผู้บริหารการเงิน

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จะอธิบายถึงขอบข่ายของทรัพย์สินทางปัญญา โดย Sullivan กล่าวว่าการแปลงทรัพยากรความคิดให้อยู่ในรูปของผลกำไรนั้น จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีวิธีการที่ชัดเจน และแน่นอน ซึ่งสามารถเปลี่ยนขุมทรัพย์ทางปัญญา ทักษะ และทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทให้เป็นอาวุธ ที่ช่วยสร้างความมีชื่อเสียงเช่นเดียวกับช่วยสร้างส่วนแบ่งการตลาดให้กับองค์กร เรื่องต่างๆ ต่อไปนี้ถูก Sullivan หยิบยกนำมากล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้

- หลักพื้นฐานเกี่ยวกับทุนทรัพยากรความคิด และการสร้างมูลค่าขององค์กร

- ความสัมพันธ์ระหว่างทุนทรัพยากรความคิด กลยุทธ์ทางธุรกิจ และผลกำไร

- ประโยชน์ต่างๆ ทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ ที่องค์กรได้ จากทุนทรัพยากรทางปัญญา

- วิธีการในการที่องค์กรจะสามารถสร้างประโยชน์แบบ ที่องค์กรต้องการ

- วิธีการคำนวณมูลค่าของบริษัทในกรณีการเพิ่มทุนหรือการควบกิจการ

- แบบแผนทางเศรษฐกิจของบริษัท ที่มี ทุนทรัพยากรทางปัญญา

อีกทั้ง Sullivan ยังได้สรุปหลักการพื้นฐาน และความหมายของทุนทรัพยากรทางปัญญา หลักการสร้างมูลค่า และการคิดมูลค่า กลยุทธ์ของบริษัทต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ ประโยชน์ขององค์กร ที่มีทรัพยากรปัญญา และ สิ่งที่ใช้แปลงประโยชน์จากทรัพยากรนั้น ให้เป็นผลกำไร

ในยุคที่องค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญอย่างมากแก่ผู้ถือหุ้น และยุคความสำเร็จต่างๆ นั้น ถูกวัดจากมูลค่าหุ้นเช่นนี้ การเรียนรู้ ที่จะวัด และคำนวณมูลค่าสินทรัพย์ทางปัญญาได้กลายเป็นทักษะ ที่สำคัญ และจำเป็นต่อผู้บริหารองค์กร

หนังสือ Value-Driven Intel-lectual Capital น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้บริหารการเงิน คู่ค้าทางธุรกิจขององค์กรใดๆ หรือนักลงทุน ที่ตระหนักได้ว่า ความอยู่รอดขององค์กร และความสำเร็จนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณทรัพยากรความคิด ที่มีอยู่ในองค์กร และความพยายาม ที่จะแปลงทรัพยากรนั้น ให้ เป็นมูลค่าได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.