จุดหัวเลี้ยวหัวต่อของเซนต์จอห์นกรุ๊ป

โดย บุญธรรม พิกุลศรี
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

สมัย ชินะภา ผู้ก่อตั้งและเจ้าของโรงเรียน เซนต์จอห์นหรือตำแหน่ง ที่เรียกขานเป็นทางการว่าผู้ประสาทการบอกกับ "ผู้จัดการ"ว่าเขาแทบจะร้องไห้มาไม่น้อยกว่า 3 ครั้งในการสร้างสถาบันแห่งนี้ขึ้นมาจนอายุครบ 30 ปีในเดือนเมษายน 2533 นี้

สมัยบอกว่าเขาเป็นเด็กบ้านนอกจากอำเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรี อาศัยความพากเพียรในการเรียนเป็นบันไดไต่เต้าสู่ความสำเร็จของชีวิต เขาเป็นคริสตังคาทอลิคที่เคยบวชเณรที่วัดใกล้บ้าน เมื่ออายุได้เพียง 10 ขวบจากความคิดที่ว่าเมื่อโตขึ้นมาแล้วอยากจะเป็นบาทหลวง ทำให้เขาได้มีโอกาสเรียนหนังสือต่ออีกจนจบชั้นประถมปีที่ 7 เมื่อถูกส่งมาประจำที่วัดที่ชลบุรี ซึ่งเขาบอกว่า คือโรงเรียนดาราสมุทรในปัจจุบัน

พรหมลิขิตหักเหทำให้เขาต้องสึกออกมาจากบวชเณร กลับมาอยู่ที่สองพี่น้องเช่นเดิม มีความหวังอยู่ตลอดเวลาว่าจะเรียนต่อให้ได้

"ผมสึกจากเณรแล้วก็ยังกลับมาทำงานรับใช้วัดที่อำเภอสองพี่น้อง โดยดีออร์แกนวัด และก็ขวนขวายเรียนหนังสือเองจนขึ้นระดับ ม.2 ก่อนที่จะถูกส่งเข้ามาเรียนต่อม.3 ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ซึ่งก็อยู่ในฐานะเด็กกำพร้าเป็นนักเรียนประจำ เขาให้เงินช่วยเหลือกินอยู่วันละ 5 สตางค์ ในขณะที่ลูกเถ้าแก่โรงสีโรงเลื่อยในขณะนั้นเขาได้เงินไปโรงเรียนวันละบาท ผมใช้เงิน 25 สตางค์ต่อสัปดาห์ในขณะที่คนอื่นๆเขาได้กันคนละ 6 บาท"สมัย ชินะผา กล่าวถึงอดีต

ผลเรียนของสมัยเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี สอบได้มาอันดับ สามมาทั้งปี โดยเขาเลือกเรียนแผนกภาษาฝรั่งเศษรุ่นเดียวกับ พลเอก เทียนชัย สิริสัมพันธ์ ซึ่งเรียนแผนกภาษาอังกฤษ

เมื่อเรียนจบในปี 2485เขาก็กลับอำเภอสองพี่น้อง อีกครั้งหนึ่งโดยไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดที่เขาเคยอยู่มาก่อน ทำหน้าที่เป็นทั้งครูใหญ่ ผู้จัดการ เสมียน ภารโรง ด้วยตัวเองหมดทุกอย่าง เพราะว่าทั้งโรงเรียนมีเขาเพียงคนเดียวที่เป็นครู เคยย้ายงานออกไปเป็นพนักงานของ บริษัทญี่ปุ่น เคยเป้นพนักงานเทศบาล แต่ดูเหมือนว่างานที่กล่าวมานั้นจะไม่เหมาะกับเขาเอาทีเดียว

สมัยยังคงดีดออร์แกนให้วัดอยู่เช่นเคย แม้จะอายุผ่านการเกณฑ์ทหารไปแล้วเรียบร้อย จนวนหนนึ่งมีบาทหลวงจากกรุงเทพชื่อว่าตาปีได้เดินทางไปร่วมฉลองวัดที่อำเภอสองพี่น้องแล้วไปเห็นฝีมือการดีดออร์แกนของสมัย ชินะผา แล้วรู้สึกติดอกติดใจจึงชวนเข้ามาอยู่ที่วัดด้วยที่วัดสามเสนพร้อมกับฝากงานให้เข้าเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ซึ่งนับว่าเป้นจุดเปลี่ยนแปลงของชีวิตของเขาครั้งสำคัญอย่างมากทีเดียว

หลวงพ่อตาปีนั้นสมัยถือว่าเป็นผู้มีพระคุณ อย่างใหญ่หลวงในชีวิตของเขา จนกระทั่งสองสามปีก่อนวาระสุดท้ายในชีวิตของหลวงพ่อตาปีสมัยก็ได้เชิญมาพำนักอยู่ที่วัดเซนต์จอห์นที่เขาตั้งขึ้นมาด้วยเงินกว่า 20 ล้านบาทภายในบริเวณโรงเรียนเซนต์จอห์นนั่นเอง

หลวงพ่อตาปีเป็นจำนวนหนึ่งในจำนวนสองคนที่ผู้ประสาทการโรงเรียนเซนต์จอห์น ให้การเทอดทูนบูชามากขึ้น ซึ่งเขาบอกว่าทั้งสองคนนั้นคือตัวแทนแห่งคุณธรรมอีกคนหนึ่งก็คือ นายห้างชิน โสภณพนิช ผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ

สมัย ชินะผา ไม่ได้เทอดทูนบุคคลทั้งสองเฉพาะเขาเพียงคนเดียวเท่านั้น เขายังแสดงให้เห้นแก่ลูกศิษย์ของเขาทุกคนว่าถ้าไม่มีบุคคลทื้งสองนี้แล้วโรงเรียนเซนต์จอห์นก็อาจจะไม่มีวันนี้

อาชีพครูดูเหมือนจะเป็นอาชีพที่สมัยรัก มันมาก และเป็นอาชีพที่ให่โอกาสและความเชื่อมั่นแก่เขาอย่างมาก ในการที่จะก้าวเดินเข้ามาสู่ความเป็นนักธุรกิจจัดการศึกษาเอกชนในระดับแนวหน้าของประเทศในปัจจุบัน

"เพราะออร์แกนแท้ๆ ที่ทำให้ชีวิตของผมหันเหมาอยู่ในจุดนี้" ผู้ประสาทการกลุ่มโรงเรียนเซนต์จอห์นกล่าว พร้อมกับชี้ให้ดูออร์แกนที่ตั้งอยู่หลายตัวในห้องรับแขกของเขา

ในระหว่างที่เป็นครูสอนหนังสืออยูที่เซนต์คาเบรียลนั้นสมัยก็อยู่ในฐานะผู้อาศัยใต้ถุนวัดเป็นที่พำนัก และต้องดีดออร์แกนในโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ แต่ความฝันที่จะเรียนต่อของเขายังไม่สลายไป

สมัยเป็นคนคงแก่เรียน เขาเข้าเรียนทุกอย่างที่จะเกี่ยวข้องกับความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานของเขา ทั้งเรียนด้วยตนเอง เข้าโรงเรียนกวดวิชา และสอบเทียบระดับการศึกษา เขาสอบเทียบได้วุฒิ ป.ม.(ประโยคครูมัธยม)และพ.ม.(พิเศษครูมัธยม และก็เรียนทางด้านภาษาทั้ง อังกฤษ ฝรั่งเศส และลาติน เพราะความใฝ่ฝันสูงสุดของเขานั้นคืออักษรศาสตร์บัณฑิตและศึกษาต่อต่างประเทศ

"ผมทุ่มเททื้งเงินทองที่หามาได้และเวลาที่มีทั้งหมดกับการศึกษาเล่าเรียนของตนเอง พอผมได้ พ.ม.ซึ่งเทียบเท่าอนุปริญญาแล้วผมก็สมัครเข้าเรียนกฎหมาย และสังคมศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์และสอบเข้าเรียนอักษรศาสตร์จุฬาได้ ซึ่งตอนแรกเขาก็จะไม่ให้ผมเรียนเพราะขาดคุณสมบัติหลายอย่าง อายุก็มากและก็ไม่สามารถเรียนประจำได้ แต่ท้ายที่สุดเขาก็ทนลูกตื้อของผมไม่ได้อนุญาตให้เรียน แต่จะเข้าห้องเรียนไม่ได้ เพราะอายุมากแล้ว ผมก็ใช้วิธีไปลอกจากลูกศิษย์ที่ผมเคยสอนคนหนึ่งซึ่งเขาสอบเข้าเรียนอักษรศาสตร์จุฬาได้ รุ่นเดียวกับ ผมทำอยู่อย่างนั้นทุกเย็นและก็หาเรียนภาษาเพิ่มเติมตามโรงเรียนสอนภาษาต่างๆ จนเรียนจบ " สมัยพูดถึงความแร้นแค้นโอกาสทางการศึกษาของเขาในวัยเยาว์

2500 เขาเรียนจบอักษรศาสตร์บัณฑิตสมความมุ่งหมาย ซึ่งมันมีความหมายต่อเขาอย่างมากถึงกับไปตั้งเป็นชื่อของบุตรชายของเขาว่า "จุฬาเกษม" เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่เขาเรียนจบและระลึกถึงผู้มีพระคุณที่ช่วยเหลือแนะนำเขามาตลอดในช่วงเรียนหนังสือคือ อาจารย์จิตรเกษม ศรีบุญเรือง ในปีต่อมาเขาก็เรียนจบคุรุศาสตร์บัณฑิตของจุฬาอีกใบหนึ่ง

เขากล่าวว่าเมื่อเรียนจบชั้นปริญญาตรีแล้วโอกาสที่จะได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศนั้นก็มีมากขึ้น เพียงปีเดียวต่อมาเขาก็ได้ทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อเรียนทางด้านบริหารการศึกษา ความฝันสูงสุดของสมัยก็เป็นจริงเมื่ออายุล่วงเลยมาถึง 36 ปี และก็ได้ตั้งชื่อลูกชายคนที่สามของเขาว่า "เทมส์นที" เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่เขาได้มีโอกาสเห็นแม่น้ำเทมส์เป็นครั้งในชีวิตสมดั่งที่เขาปรารถนา

สมัย ชินะผา เป็นครูเล็กไต่เต้าขึ้นจนมาเป็นครูใหญ่เป็นเวลาทั้งสิ้น 15 ปี แต่การเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนเซนต์คาเบรียลไม่ได้มีอำนาจอะไรมากไปกว่าการจัดการศึกษา การบริหารโรงเรียนทั้งหมดเป็นของอธิการบดี ในชีวิตของเขาพบแต่พ่อแม่ ผู้ปกครองมาขอความช่วยเหลือให้รับลูกของตัวเองเข้าเรียนในโรงเรียนเซนต์คาเบรียล แต่เขาก็ไม่สามารถให้ความช่วยเหลืออะไรได้

และเหตุการณ์อย่างนี้มันได้สะสมมาเรื่อยปีแล้วปีเล่า จนเป็นเหตุสำคัญให้เขาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลเพื่อที่จะมาตั้งโรงเรียนเป็นของตนเอง

"ผมยื่นใบลาออกมารู้แต่ว่าอยากจะมาตั้งโรงเรียนเอง แต่ไม่มีเงินเลย คนเขารู้ก็ยักไหล่เย้ยหยันว่าจะทำได้อย่างไร ไม่มีใครเชื่อว่าผมจะทำได้ ทุกคนบอกว่าเจ้งตั้งแต่ยังไม่ได้ทำเสียอีก "ผู้ประสาทการโรงเรียนเซนต์จอห์นกล่าวถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตเมื่อ 30 ปีก่อน

เขาบอกว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาอยากจะตั้งโรงเรียนเป็นของตัวเองขึ้นมานั้น ก็เพราะสงสารพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กที่หาที่เรียนดีๆอย่างเซนต์คาเบีรยล ให้กับลูกหลานของตัวเองไม่ได้ ซึ่งมีจำนวนมากมายปีแล้วปีเล่า บางคนบอกว่าสมัยก็มีความคิดเหมือนพระ เขาเป็นคาทอลิกที่เคร่งคัดมากคนหนึ่ง ซึ่งบางคนก็อธิบายว่าจริงๆแล้วสมัยกำลังคิดจะทำธุรกิจโดยสั่งสมจากช่องทางที่เขาเห็นอยู่นนั้นปีแล้วปีเล่า เพียงแต่เขาไม่เคยทำธุรกิจมาก่อนตลอดช่วงอายุเกือบ 40 ปีของเขาก็เลยไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี

สิ่งที่มีติดตัวสมัยก็คือวิชาความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารการศึกษาในฐานะอาจารย์ใหญ่ในโรงเรียนเซนต์คาเบรียลทำให้เขามีความเชื่อมมั่นตัวเองสูงมากขึ้น

แต่เพียงก้าวแรกที่เขาก้าวออกมาก็ถูกพ่อค้าหลอกเอาเสียแล้ว อย่างที่เขาจะพูดอยู่เสมอว่าครูพูดสิบก็หมายถึงสิบ ครูพูดร้อยก็หมายถึงร้อย แต่พ่อค้าพูดร้อยก็อาจเหลือเพียงสิบ พ่อค้าพูดสิบอาจไม่เหลืออะไรเลย

สมัยถูกหลอกให้เข้าไปซื้อที่ดินจัดสรรกลางทุ่งนาร่วม 20 ไร่ที่ห้วยขวาง ซึ่งเมื่อก่อนอยู่ห่างจากสุทธิสารเข้าไปอีก 7 กิโลเมตร เขาเริ่มประกาศรับสมัครนักเรียนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2504 มีนักเรียนมาสมัครเรียนถึง 4,500 คนพร้อมๆกับการเร่งสร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้นมา จนเหลือเวลาเพียง 12 วัน เขาจะเปิดโรงเรียนจึงทราบว่าที่ดินที่เขาตกลงซื้อนั้นไม่มีทางออกได้เลย แต่ถ่าอยากจะได้ทางเข้าออกจะต้องซื้อที่ดินแปลงเล็กๆเพื่อเปิดทางเข้าออกอีกในราคาแพงขึ้นเท่าตัว

"ผมมารู้เอาทีหลังๆจากที่เราได้ประชาสัมพันธ์อออกไปแล้ว เปิดรับสมัครนักเรียนแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เปิดเรียนไม่ได้ คนเขาก็โจมตีผมใหญ่หาว่าเราหลอกลวง คนมาสมัครเป็นสี่ห้าพันคนแต่หาที่เรียนไม่ได้ แต่บางคนก็เข้าใจผมยังอยู่กับผมจนสามารถหาที่ใหม่ได้ใน 12 วันและเปิดการเรียนการสอนได้ในเวลาต่อมา "อาจารย์สมัยกล่าว

โชคเข้าข้างสมัยเมื่อมีผู้ปกครองเด็กคนหนึ่งเสนอที่ดินให้เขาใช้เปล่าๆตรงหน้าวัดไผ่ตันสะพานควายจำนวน 2 ไร่ เขาใช้เวลา 12 วันที่เหลือสร้างอาคารชั่วคราวขึ้นมาทั้งกลางวันกลางคืน

"ผมตั้งเป้าจำนวนนักเรียนไว้ในตอนแรกเพียง 7 คนเท่านั้น แม้จะเกดปัญหาขึ้นมาก็ยังมีคนเข้าเรียนกับเราสูงถึง 350 คน ก็ถือว่าเกนคาดแล้ว"ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเซนต์จอห์นกล่าว

แม้จะมีความเป็นพระและครูอยู่สูงในตัวสมัย ชินะผา ก็ยังมีความเป็นนักกลยุทธและนักการตลาดอยู่สูงมากเหมือนกัน และจุดนี้นี่เองซึ่งนำมาซึ่งความสำเร็จของเซนต์จอห์นกรุ๊ปมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนการบริหารการเงินนั้นสมัยเรียนรู้เอาเองจากการปฏิบัติจริงแบบวันต่อวัน

ที่กล่าวเช่นนั้นก็เพราะการที่สมัยตั้งชื่อโรงเรียนที่เขาก่อตั้งขึ้นมานั้นว่า "เซนต์จอห์น" เป็นเจตนาโดยตรงที่จะให้มันชื่อเป็นแบบฝรั่งไว้ก่อนเป็นการดีที่สุด และ"เซนต์จอห์น" นั้นก็เป็นชื่อนักบวชที่มีชื่อในคริสศาสนา ในขณะที่ "เซนต์คาเบรียล" นั้นเป็นชื่อเทวดา ก็เพราะเขาอยากให้โรงเรียนของเขาเป็นโรงเรียนของคาทอลิกอย่างชัดเจน เพราะเขาทราบดีถึงค่านิยมหรือความเชื่อถือของพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กกลุ่มหนึ่งนั้นต้องการให้บุตรหลานของตัวเองเข่าเรียนในโรงเรียนฝรั่ง โดยเฉพาะโรงเรียนของคาทอลิกซึ่งสร้างเชื่อถือศรัทธาแก่พ่อแม่ผู้ปกครองในเมืองไทยมานับสิบๆปี

นั่นหมายความว่าแม้โรงเรียนของเขาเป็นของคนไทยและเป็นโรงเรียนเอกชนแท้ๆ ไม่ใช่ของมูลนิธิคาทอลิก แต่เขาก็สามารถสร้างภาพพจน์โรงเรีนยของเขาด้วยชื่อเพียงอย่างเดียวก็ได้ผลเกินคาดแล้ว นอกจากนั้นยังประกาศแถมท้ายอีกว่าอำนวยการสอนโดยอดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ยิ่งทำให้กลยุทธของเขาเพียงแค่นี้ตอบสนองความสำเร็จของเขาไปแล้วเกินกว่าครึ่ง

นั่นหมายความว่ากลุ่มเป้าหมายของโรงเรียนเซนต์จอห์นที่สมัยตั้งขึ้นมานั้นมุ่งเจาะเด็กที่พลาดหวังจากเซนต์คาเบรียล อัสสัมชัญ และมาแตร์โดยเฉพาะ

โปรแกรมการเรียนการสอนในระยะเริ่มต้นนอกจากปฏิบัติตามที่กระทรวงศึกษากำหนดแล้วก็ใช้หลักสูตรของเซนต์คาเบรียลเกือบจะเรียกว่าทั้งหมด

หลักสูตรการศึกษาเมื่อตอนเริ่มต้นก็รับตั้งแต่อนุบาล ระดับประถม และระดับมัธยม โดยแยกกันเป็น 2 โรงเรียนระหว่างโรงเรียนเซนต์จอห์นที่เป็นโรงเรียนชายล้วนๆ กับโรงเรียนสตรีเซนต์จอห์นระดับการศึกษาเหล่านี้ยกเว้นโรงเรียนอนุบาลเป็นโรงเรียนที่อยู่ในการควบคุมและสนับสนุนจากรัฐบาล รวมทั้งการเก็บค่าเล่าเรียนก็จะต้องอยู่ในเพดานตามที่กระทรวงศึกษากำหนดด้วย

อย่างไรก็ตามแม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดเพดานค่าเล่าเรียนไว้ต่ำ แต่ก็สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ถ้ามีจำนวนนักเรียนมากพอในระดับหนึ่ง ซึ่ง ดร.ชัยณรงค์ มณเทียรฉาย ผู้อำนวยการกลุ่มโรงเรียนเซนต์จอห์นบอกว่าจะต้องมีจำนวนนักเรียนประมาณ 2,000 คน จึงจะอยู่ในจุดคุ้มทุนสำหรับระดับการศึกษาภาคบังคับ (ป.1-6) และสามัญศึกษา (ม.1-6)ที่จะต้องเก็บค่าเล่าเรียนตามที่กระทรวงกำหนด

เป็นที่น่าเชื่อถือได้ว่าการทำธุรกิจโรงเรียนเอกชนนั้นไม่ใช่เรื่องหมูๆ เพราะต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะด้านอย่างมาก แต่เป็นธุรกิจที่น่าสนใจไม่น้อยตามที่ สมัย ชินะผา บอกว่าเขาเริ่มตั้งโรงเรียนขึ้นมาโดยไม่มีเงินแม้แต่บาทเดียว เขากล่าวอย่างเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่าโรงเรียนเร่มมีเงินเข้ามาเมื่อเปิดรับสมัครและมีการมอบตัวนักเรียนแล้งเรียบร้อย แต่เมื่อเงินเข้ามาแล้วจะต้องบริหารการเงินให้ดี อย่านำเงินไปใช้นอกกิจการของโรงเรียนเพราะการทำธุรกิจโรงเรียนเป็นการลงทุนที่หวังผลตอบแทนในระยะยาวมาก

แม้กระนั้นก็ตามจากจำนวนนักเรียนเริ่มต้น 350 คนนั้นไม่อาจจะทำให้โรงเรียนมีเงินพอจะเลี้ยงตัวเองได้ โชคดีที่ความต้องการสถานที่เรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในเวลาต่อมา

กิจการมีแนวโน้มว่าจะไปได้ดี แต่ก้ต้องมาพบกับปัญหาใหม่อีกนั่นคือธนาคารเจ้าหนี้ที่รับจำนองที่ดินที่หน้าวัดไผ่ตันนั้นมีหนังสือแจ้งให้ย้ายโรงเรียนเซนต์จอห์นออกไปจากพื้นที่ เพราะเขาจะยึดขายทอดตลาดแล้ว ซึ่งมานก็เป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของโรงเรียนเซนตจ์จอห์น

สมัย ชินะผา บอกว่าด้วยความที่เขาไม่ใช่นักธุรกิจก็เลยไม่รู้ว่าจะหาซื้อที่ดินกันอย่างไรถึงจะได้เร็วกันอย่างนั้น เขาก็เดินออกไปจากสะพานควายมาทางลาดพร้าวและก็เดินไปเรื่อยๆ ก่อนที่จะมาพบที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนเซนต์จอห์นปัจจุบันนี้ที่แจ้งไว้ว่าจะขาย ซึ่งในขณะนั้นก็ยังเป็นทุ่งนาอันเวิ้งว้าง ถนนวิภาวดีรังสิตยังไม่ตัดผ่าน

เขาติดต่อซื้อที่ดินแปลงนี้ซึ่งมาทราบทีหลังว่าเจ้าของที่ดินแปลงนี้ก็คือ ประดิษฐ์ กรรณสูตร บอกขายจำนวน 3 ไร่ราคา 3 ล้านบาท สมัยบอกว่าเขาไม่มีเงินในกระเป๋าแม้แต่บาทเดียว

"เจ้าของที่ดินก็เป็นคนใจดีเหลือเกิน ตอนแรกบอกให้วางมัดจำ 25 %ก่อน ผมก็บอกท่านว่าไม่มีลดลงมาให้สามแสนก็ไม่มีเหลือแสนเดียวก็ไม่มี ห้าหมื่นผมก็ไม่มี ท่านก็บอกว่าไม่มีเงินแล้วจะมาซื้อที่ดินได้อย่างไร ผมก็บอกท่านว่าผมจะทำโรงเรียน ท่านบอกว่าแล้วมีเงินอยู่เท่าไหร่ ผมบอกว่ามีอยู่หมื่นเดียวแต่ต้องขอเป็นพรุ่งนี้ ท่าน ก็ตกลง "สมัยกล่าวถึงการที่ได้ที่ดินแปลงแรกมาเป็นของตัวเองซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นทำเลทองไปแล้วอย่างน่าเสียดายแททนเจ้าของเดิม

เขาบอกว่าเงินหมื่นหนึ่งที่ได้มานั้นก็ขอยืมเข็มขัดทองที่ภรรญาเก็บหอมรอมริบมาจากเงินเดือนที่ทางเซนต์คาเบีรยลจ่ายให้ในช่วงที่เขาไปเรียนต่างประเทศ 2 ปี เดือนละ 600 บาท ส่วนที่เหลือหามาชำระภายใน 6 เดือน ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้จาการมอบตัวของนักเรียน และส่วนหนึ่งก็นำที่ดินไปจำนองกับธนาคาร

"แต่เราก็โล่งอกไปได้มากทีเดียวที่เริ่มมีหลักทรัพย์เป็นของตัวเองขึ้นมาได้ อย่างน้อยที่สุดก็สามารถลดภาระดอกเบี้ยเงินนอกระบบไปได้จำนวนหนึ่ง " สมัยกล่าวถึงงอดีตด้วยความขบขันในการเริ่มก้าวเข้ามาเรียนรู้เรื่องราวทางธุรกิจเมื่อวัยของเขาเข้าสู่เลขสี่เข้าไปแล้ว ก่อนที่จะบอกว่าเงินทุนนอกไปจากนั้นก็ใช้เช็คเป็นหลัก

"เลือดตาแทบกระเด็นนะคุณ ผมต้องใช้เช็คกู้ยืมเงินคนร้อยละห้าละสิบตามความจำเป็น เร่งรีบใช้เงินของเราว่ามากน้อยแต่ไหน" เขากล่าวถึงคววามขมขื่นของอดีตด้วยอารมณ์ที่แจ่มใสในวันที่เขามีหลักทรัพย์ถึง 2,000 ล้านอย่างเช่นปัจจุบัน

โรงเรียนเซนต์จอห์นย้ายมาอยู่ที่ตั้งอยู่ปัจจุบันนี้เมื่อปี 2505 โดยเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล ชั้นประถม และถึงชั้นมัธยม ตกมาถึงปี 2508 ก็ได้เปิดโรงเรียนอาชีวศึกษาขึ้นมาในเครือเป็นแห่งแรก คือโรงเรียนตรีนิติ ชื่อเหมือนกับ TRINITY COLLEGE ที่มีชื่อเสียงในประเทศอังกฤษ โดยสอนหลักสูตรปวช.(ประโยควิชาชีพชั้นต้น) ตามที่กระทรวงกำหนดควบคู่ไปกับหลักสูตร COMMERCE ซึ่งโรงเรียนสร้างขึ้นมาเอง โดยอิงหลักสูตรธุรกิจในสหรัฐอเมริกาหลายๆแห่งรวมกัน และก็สอนเป็นภาษาอังกฤษ

COMMERCE จึงเป็นจุดขาย ที่สำคัญของกลุ่มเซนต์จอห์นในการก้าวสู่การเป็นโรงเรียนอาชีวะแห่งอื่นๆ เพราะนอกจากจะได้วุฒิ ปวช. ที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ) รับรองแล้ว ยังเน้นหลักสูตรด้านธุรกิจโดยเฉพาะ และต้องเรียนด้วยภาษาอังกฤษทั้งหมดซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดงานในเมืองไทย

สำหรับสายสามัญคือระดับที่จะขึ้นต่อมัธยมปีที่ 4 ก็เริ่มให้มีการสอบคัดเลือกเข้าเรียน ทั้งนักเรียนในโรงเรียนเซนต์จอห์นเดิมเองและนักเรียนจากโรงเรียนอื่นๆด้วย ซึ่ง ดร.ณรงชัย มณเฑียรวิเชียรฉาย ผู้อำนวยการกลุ่มโรงเรียนเซนต์จอห์นกล่าวว่าที่ทำเช่นนั้นเพือต้องการคัดความพร้อมของคนที่จะเข้าเรียน เพราะว่าเป็นการเรียนชั้นเตรียมอุดมที่มีทางเดินไปทางเดียวคือสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่อไป

"ถ้าเขาไม่พร้อมเราก็ไม่อยากจะให้เขาเรียน เพราะผลเสียมันตกอยู่กับเขาเอง และเราเองก็ไม่ใช่เห็นแก่เงินค่าเล่าเรียน เพราะถ้านักเรียนที่เรียนระดับเตรียมอุดมจากเราแล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ค่อยได้ก็จะเสียภาพพจน์ แสดงว่าระบบการเรียนการสอนของเราไม่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่เลือกเรียนสายนี้เราจะต้องเคร่งครัดเคี่ยวเข็ญทุ่เทกับเขาอย่างมากเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในเส้นทางที่เขาเลือก ในขณะเดียวกันทางด้าน COMMERCE เราก็ต้องเคี่ยวเข็ญเขา เพื่อให้จบออกไปแล้วเป็นที่ต้อนรับของตลาดงาน "ดร.ณรงชัยค์กล่าว

ถ้าจับเรื่องนี้มาอธิบายในเชิงธุรกิจแล้วก็จะเห็นว่าเป็นกลยุทธเบื้องต้นของการสร้างธุรกิจการศึกษาในระยะยาว เพราะการที่เด็ก COMMERCE จบออกไปแล้วสามารถหางานทำได้ทุกคนและคนที่จบ ม.ศ.5ออกไปแล้วส่วนใหญ่สอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ ก็ย่อมจะนำมาซึ่งชื่อเสสียง ความเชื่อถือศรัทธาของบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กที่ย่อมต้องการส่งลูกเข้ามาเรียนในโรงเรียนเซนต์จอห์น และผลอันนี้จะไม่ตกอยู่ที่โรงเรียนตรีนิติ COMMERCE หรือโรงเรียนเซนต์จอห์นในชั้นมัธยมปลายเท่านั้น แต่จะมีผลไปถึวงโรงเรียนอนุบาลขึ้นมาถึงยอดสุดของกลุ่มที่กำลังจะขยายตัวออกในอนาคตอีกด้วย

อย่างไรก็ตามที่เด็กจบมัธยมต้นออกมาแล้วแม้จะมีทั้ง 2 ทางให้เลือกแล้วแต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่สำหรับบางคนซึ่งอาจจะถูกจำกัดโดยระบบคัดเลือกหรือฐานะทางครอบครัว สมัย ชินะผา มองเห็นช่องว่างตรงนี้ที่ไม่อาจจะละเลยไปได้ จึงได้เปิดโรงเรียนพาณิชยการเซนต์จอห์นขึ้นมาอีกแห่งในเครือเมื่อปี 2514 ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นเซนต์จอห์นโปลีเทคนิค เริ่มจากนักเรียน 800 คน โดยเปิดเรียนระดับ ปวช สำหรับคนที่พลาดหวังไม่ได้ต่อใน ปวช-COMMERCE ซึ่งรบจำกัดอยู่เพียง 450 เท่านั้น และสายเตรียมอุดมสามารถเข้าเรียนต่อในหลักสูตร ปวช ปกติได้ และก็ได้เพิ่มสาขาวิชามากขึ้นกว่า ปวช-COMMERCE โดยมีอาชีวะทางช่าง และอิเล็คทรอนิคเข้ามาด้วย แต่ทั้งนี้ก็ยังเน้นที่จะให้เรียนภาษาอังกฤษและภาษาจีนด้วยในหลักสูตรพร้อมกันนี้ในโรงเรียนเดียวกันนี้ก็ได้เพิ่มระดับ ปวส (ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงหรือเทียบเท่าอนุปริญญา)เข้ามาอีกด้วย เพื่อรองรับนักเรียนที่จบ ปวช แล้วอยากจะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยนับหน่วยกิจวิชาที่เคยเรียนมาแล้วให้หรือที่เรียกว่าหลักสูตรต่อเนื่อง

ในช่วงของการลงทุนเคี่ยวเข็ญทางด้านคุณภาพของนักเรียนทั้งสองสาย เพื่อสร้างศรัทธา และการขยายงานด้านอาคารสถานที่ เพื่อเตรียมรับกับจำนวนนักเรียนที่จะต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามมานั้น เป็นช่วงที่สมัยลงทุนอย่างมาก รายได้ที่ได้จากค่าเล่าเรียนเพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ แม้ว่าเขาจะมีแหล่งเงินทุนจากธนาคารบ้างแล้ว แต่ก็ใช้ในการลงทุนด้านที่ดินที่เขาซื้อขยายออกไปเสียเป็นส่วนใหญ่ส่วนเงินหมุนเวียนสมัยยังใช้เงินหมุนเวียนสมัยยังใช้เงินนอกระบบเช่นเดิม

แล้วก็ถึงวันที่ สมัย ชินะผา จำมันได้ดีในชีวิตการทำธุรกิจของเขา เมื่อพบว่าวันหนึ่งเมื่อ15 ปีก่อนเช็คของเขาเด้งในวันเดียวกันถึง 21 ใบ บรรดาเจ้าหนนี้ทั้ง 21 คนก็ได้มายืนรออยู่ที่หน้าบ้านอย่างไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน ตั้งแต่เช้ามืดพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจวึ่งมองดูแล้วหน้าตาแล้วเตรียมตัวมาอย่างเต็มที่ที่จะจับเขาเข้าห้องขัง

เขาบอกว่าเช็คส่วนใหญ่เป็นเช็คค่าก่อสร้างและค่าวัสดุอุปกรณ์ เขาทำใจดีเข้าสู้ใช้วิชาความเป็นครูเข้าเจรจาหว่านล้อมทุกอย่าง เพื่อให้เจ้าหนี้ยอมรับตามข้อเสนอที่เขาขอผัดผ่อนการชำระหนี้ยอมรับตามข้อเสนอที่เขาขอผัดผ่อนการชำระหนี้ออกไป

"ทุกคนยิ้มออกไป หลังจากที่ผมพยายามเจรจาทีละคนๆจนคนสุดท้ายใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ปรากฏว่าดีใจที่สุดที่เรื่องมันผ่านพ้นไปได้ เพราะถ้ามีการจับกันตอนนั้นบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายก็จะแห่กันมาสมทบอีกเต็มไปหมด มีหวังตายแน่ๆเราสมัยเล่าด้วยความขบขัน

แต่แม้ว่าเรื่องเช็คจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แต่ปัญหาเรื่องการเงินของเขาก็ยังไม่เข้าสู่ระบบซึ่งมันก็ได้กลายเป็นเหมือนบ่วงที่คอยแต่จะรัดคอเขาอยู่เรื่อยไป ในช่วงเวลาที่ไม่ห่างจากกันนัก ธนาคารที่สมัยใช้บริการอยู่ก็รุดทวงหนี้จำนวน 11 ล้านบาท โดยให้ระยะเวลาเพียง 30 วัน ซึ่งเป็นวันที่สมัยแทบล้มทั้งยืนอีกครั้งหนึ่ง

"คุณคิดดูก็แล้วกันว่าเวลาเรากู้เขามาเราทยอยกู้ทีละเล็กทีละน้อย แต่พอจะเอาคืนจะมาเอาทีเดียวตั้ง 11 ล้านผมจะไปเอาเงินที่ไหนมาจ่ายเขาได้ผมขอผ่อนผันหกเดือนก็ไม่ได้ สามเดือนก็ไม่ได้ สามเดือนก็ไม่ เขายืนกรานจะต้องชำระภายใน 30 วัน" สมัยกล่าว

สภาพคับขันอย่างนี้เขาไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร สมัยตัดสินใจขอพบ ชิน โสภณพนิช เจ้าของธนาคารกรุงเทพทั้งๆที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน สมัยขอกู้เงิน 11 เท่ากับจำนวนที่เขาถูกทวง เพื่อนำไปชำระหนี้เท่านั้น ชิน โสภณพนิช รับปากเขาว่าจะให้การช่วยเหลือเพราะเห็นแก่โรงเรียนที่อาจถูกปิดไปชินส่งเรื่องให้ บุญชู โรจนเสถียรพิจารณาปรากฏว่าไม่ผ่านการพิจารณา โดยให้เหตุผลว่าธุรกิจโรงเรียนเอกชนเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง และธนาคารกรุงเทพไม่เคยให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจประเภทนี้และยิ่งกรณีนี้เป็นกรณีกู้เงินเพื่อนำไปชำระหนี้เก่ายิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นไปอีก

สมัยก็ได้แต่อ้อนวอนขอความเมตตาให้นายห้างชินช่วย ซึ่งชินก็รับปากว่าจะช่วยอยู่อย่างเดิม นัดให้สมัยไปพบถึงสามสี่ครั้ง ทางคณะบริหารธนาคารกรุงเทพก็ยังไม่เห็นด้วยที่จะให้ปล่อยให้แก่สมัย

"ครั้งสุดท้ายราวๆเที่ยวที่ห้าแล้ว เหลือเวลาอีกสองวันจะถึงกำหนด 30 วัน ท่านนัดให้ผมไปพบ ท่านยิ้มแย้มแจ่มใสบอกผมว่า "คุณสมัยได้แล้ว"ผมนี่เหมือนกับตายแล้วเกิดใหม่ซาบซึ้งในความกรุณาของท่าน ผมรีบนำเงินไปชำระให้กับธนาคารเจ้าหนี้เก่าด้วยความขอบพระคุณที่เขาเคยช่วยเหลือผมมาโดยตลอดพร้อมกับช่อดอกไม้ที่สวยที่สุด เขาก็งงเพราะไม่ทราบว่าผมมีปัญหาเงินมาได้อย่างไร"ผู้ประสาทการโรงเรียนเซนต์จอห์นกล่าวถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเงินของเขา

สมัยบอกว่าเขาทราบทีหลังว่าการที่คณะบริหารธนาคารกรุงเทพยอมให้เขากู้เพราะว่า ชิน โสภณพนิช ช่วยค้ำประกันเป็นการส่วนตัวให้แก่เขายิ่งท่ำให้สมัยซาบซึ้งในพระคุณของชินมากยิ่ง เพราะมันเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลยสำหรับนายธนาคารใในยุคนั้นหรือยุคนี้ที่จะทำให้การช่วยเหลือคนที่ไม่รนู้จักกันมาก่อน มากมายถึงเพียงนี้ ชินเคยบอกเขาว่าสมัยเป็นคนที่ต่อสู้ขยันขันแข็ง เอาจริงเอาจัง ซื่อสัตย์ และธุรกิจโรงเรียนเป็นธุรกิจที่ควรสนับสนุน

สมัยวิเคราะห์ว่าชินคงชอบใจเขาที่เขาไม่ยอมทิ้งโรงเรียน ชินไม่อยากให้โรงเรียนต้องล้มไป การที่ชินช่วยสมัยนั้น ชินมีเจตนาที่จะช่วยโรงเรียนเป็นหลัก ส่วนตัวเขานั้นมีความสำคัญ อยู่ที่เป็นผู้ที่จะสมารถพาโรงเรียนไปรอดได้ในอนาคต

ชิน โสภณพนิช จึงเป็นคนที่สมัย ชินะผา ให้การเทอดทูนบูชาไม่น้อยไปกว่าหลวงพ่อตาปีผู้ที่มีพระคุณต่อชีวิตของเขาอย่างยิ่ง เขามักจะพูดอย่างเปิดเผยในทุกที่ทุกโอกาสถึงพระคุณที่ชินมีต่อโรงเรียนและนักเรียนเซนต์จอห์นทุกคน เขาอบรมลูกศิษย์ของเขาอย่างสม่ำเสมอให้บูชาผู้มีพระคุณ

ทุกปีเมื่อมีงานประสาทประกาศนียบัตรแก่ลูกศิษย์ของเจารุ่นแล้วรุ่นเล่าเขาจะพูดถึงชินผู้มีพระคุณต่อโรงเรียนเซนต์จอห์นทุกครั้งทุกปี

"ถ้าท่านไม่ให้การช่วยเหลือผมไว้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ป่านนี้ที่ดินตรงนี้จะเป็นอะไรไปแล้วก็ไม่รู้ซึ่งไม่ใช่โรงเรียนเซนต์จอห์นแน่นอน แต่อาจเป็นโรงแรมหรือศูนย์การค้าที่ใหญ่โตอย่างมากขึ้นมาแทนที่ เพราะที่ดินมันสวยเหลือเกิน เอามาทำโรงเรียนอย่างผมมันไม่คุ้มกัน" สมัยถอดหัวอกของความเป็นครูพูดอย่างตั้งอกตั้งใจ

ในวันที่ ชิน โสภณพนิช เสียชีวิตที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เมื่อต้นปี 2530 เขาสั่งหยุดโรงเรียนเป็นเวลาหนึ่งวัน พร้อมกับขึ้นหรีดสีดำขนาดมหึมาตรงประตูทางเข้าโรงเรียนเซนต์จอห์น ไม่เฉพาะแต่ตัวเขาคนเดียวเท่านั้น ซึ่งปรากฎว่ามีพ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนทั่วสารทิศต่อว่าต่อขานเข้ามาอย่างสาดเสียเทเสีย แต่พอผู้ประสาทการได้ชี้แจงกับผู้ปกครองเหล่านั้นถึงความผูกพันที่เซนต์จอห์นมีต่อชินนั้นเป็นอย่างไรแล้งปรากฎว่าสมัย ชินะผา ยิ่งได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากพ่อแม่ผู้ปกครองเหล่านั้นมากยิ่งขึ้นในฐานะเป็นสรรพบุรรุษ

"ผมอยากจะให้การรู้จักบุญคุณคนติดอยู่ในสายเลือดของคนที่ออกไปจากเซนต์จอห์นทุกคน" สมัยกล่าวถึงเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งเขาปฏิบัติตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ศิษย์

สำหรับธนาคารกรุงเทพตั้งแต่วันนั้นมาก็ยังคงมี สมัย ชินะผา และกลุ่มโรงเรียนเซนต์จอห์นทั้งกลุ่มเป็นลูกค้าตราบเท่าทุกวันนี้แม้แต่การชำระค่าเล่าเรียนของนักเรียนโรงเรียนเซนต์จอห์นทั้งกลุ่มร่วม 20,000 คนก็ใช้บริการชำระผ่านธนาคารกรุงเทพทุกสาขาทั่วประเทศ โดยเซนต์จอห์นจะไม่รับเงินสดแม้แต่บาทเดียว

ระบบการเบิก-จ่าย โอนเงินกลุ่มโรงเรียนเซนต์จอห์นใช้ระบบ OFFICE BANKING ของธนาคารกรุงเทพทั้งหมด เงินสดๆกว่า 50 ล้านบาทจะเข้าไปในบัญชีของกลุ่มโรงเรียนเซนต์จอห์นทุกๆ 6 เดือนเมื่อต้นฤดูกาลเปิดภาคเรียน

การบริหารการเงินของโรงเรียนเซนต์จอห์นเริ่มเข้ามาใช้เงินในระบบมากขึ้นเมื่อชินให้การช่วยเหลือ ภาระดอกเบี้ยที่เคยจ่ายกันสูงๆก็เบาบางลงสมัยมีเครื่องไม้เครื่องมือในการขยายงานของเขาออกไปอย่างเต็มที่เขาวาดหวังเอาไว้

มีการเปิดแผนกวิชาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในโรงเรียนพาณิชยการเซนต์จอห์น หรือที่เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเซนต์จอห์นโพลี่เทคนิคปัจจุบัน ทั้งในระดับ ปวช และปวส โดยเฉพาะได้เน้นหนักไปทางด้ายแผนกวิชาช่างมากที่สุด

ในช่วงคาบเกี่ยวของการขยายแผนก ปวช.และปวส. ในโรงเรียนเซนต์จอห์นพาณิชยการจากเพียง 2 สาขาวิชาเมื่อปี 2514 มาเป็น 7 สาขาวิชาในปี 2529 เริ่มจากนักเรียนเพียง 800 คนจนถึงปัจจุบันมีจำนวนนักเรียนสูงถึง 4,500 คน

2522 ก็เปิดโรงเรียนเซนต์จอห์นอาชีวศึกษากรุงเทพ เพิ่มขึ้นมาอีก หรือโรงเรียนเซนต์จอห์นเทคโนโลยี่ในปัจจุบัน เปิดสอนอาชีวะระดับ ปวช เพิ่มวิชาสถาปัตย์เข้ามาอีกสาขาหนึ่ง และก็เปิดสอนหลักสูตร ปวท. (ประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่รับเข้าเรียนได้ทั้งผู้ที่จบ ปวช. เข้ามาเรียนหลักสูตรต่อเนื่อง และผู้ที่จบม.6 สามารถเข้ามาเรียนเพิ่มเติมได้อีก 2 ปี เพราะฉะนั้นที่สำคัญตรงจุดนี้ก็คือหลักสูตร ปวท. ที่เปิดขึ้นมานั้นสามารถที่จะรองรับนักเรียนสายสามัญม.6 ซึ่งเดิมมีทางเดนทางเดียว คือสอบเข้ามหาลัยให้มีทางเลือกเพิ่มขึ้นอีกทาง

นับว่าเป็นกลยุทธสำคัญอีกจุดหนึ่งของการทำธุรกิจจัดการศึกษาของกลุ่มเซนต์จอห์น (โปรดดูตารางวงจรระดับการศึกษาประกอบ)

ขึ้นปี 2526มีการเปิดโรงเรียนเซนต์จอห์นเทคนิคกรุงเทพขึ้นมาอีกโรงเรียนหนึ่ง เปิดสอนปวส. เพื่อรับเด็กที่จบปวช. จากทั้งสองโรงเรียนก่อนหน้านี้เข้าศึกษาต่อในระดับปวส. ซึ่งมีทั้งด้านบริหารธุรกิจ บัญชี การตลาด การขาย คอมพิวเตอร์ และวิชาช่าง โดยเริ่มจำนวนนักเรียนเพียง 600 คน ในวันนั้นเป็น 6,000 คนในปี 2527 ตอนหลังจึงมาลดจำนวนลงเหลือเพียง 4,000 คน โดยลดรอบค่ำลงเหลือเพียงรอบเช้ากับบ่าย

และล่าสุดเมื่อปลายปี 2532 กลุ่มเซนต์ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งวิทยาลัยขึ้นมาอีกระดับหนึ่งซึ่งเป็นระดับอุดมศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นวงจรการศึกษาที่ครบวงจรสมบูรณ์สำหรับปกติทั่วไป เพราะวิทยาลัยจะเป็นจุดสุดท้ายที่นักเรียนที่แยกกันเดินเมื่อจบ ม.3 จะมีโอกาสจะมาพบกันที่จุดนี้ได้ ไม่ว่าจะเลือกเรียนสายอาชีพหรือสายสามัญมาก่อนก็สามารถจะเข้าศึกษาต่อใในระดับปริญญาตรีจากวิทยาลัยได้ โดยเฉพาะที่จบปวส. และ ปวท. มาแล้วทางวิทยาลัยนับหน่วยกิจในวิชาที่เรียนมาแล้วให้หรือที่เรียกวว่าหลักสูตรต่อเนื่อง แต่สำหรับผู้ที่จบ ม.6 แล้วอยากจะเข้าวิทยาลัยเลยก็ใช้เวลาเรียน 4 ปี ตามปกติของการเรียนอุดมศึกษาทั่วไป โดยจะเปิดเรียนนุ่นแรกในปีนี้จำนวน 160 คนในคณะบริหารธุรกิจ 2 สาขาๆละ 2 ห้องเรียนอันได้แก่สาขาการตลาดและสาขาการบัญชี ทั้งนี้ใช้หลักสูตรภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนทั้งหมด

พร้อมๆกับการขยายเครือข่ายด้านการศึกษา สมัย ชินะผา ก็ซื้อที่ดินบริเวณรอบๆข้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเดิม 3 ไร่ จนปัจจุบันมีที่รวมกันทั้งหมดในบริเวณเดียวกันนั้นถึง 42 ไร่ ประกอบด้วยตึกและอาคารต่างๆถึง 31 อาคาร เป็นพื้นที่ตึกที่เป็นอาคารเรียนถึง 46,629 ตารางเมตร พื้นที่ห้องพักครู 2,857 ตารางเมตร โรงฝึกงานสำหรับนักเรียน 3,181 ตารางเมตร และโรงอาหาร 2,280 ตารางเมตรมีคนประเมินมูลค่าทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดไว้ประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท

จากนักเรียนจำนวน 18,000คนเศษของ 7 โรงเรียนกับ 1 วิทยาลัยนี้มีจำนวนครูอาจารย์ทั้งสิ้น 469 คน เป็นครูซึ่งทำหน้าที่ประจำ 444 คน ที่สอนพิเศษอีก 25 คน ในจำนวนฐานความรู้ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปมากกว่า 80 % ประมาณ 20 % มีคุณวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูเก่าครูแก่ที่อยู่มาเป็นเวลานานตั้งแต่ตั้งโรงเรียนขึ้นมาใหม่ และรวมถึงคนที่จบปริญญาเอกด้วยอีก 3 คน

สมัย ชินะผา จะเป็นผู้สืบค้นขวนขวายครูมาเอง ไม่ว่าจะอยู่ในระดับใด แม้แต่เพียง ครูที่จะมาเป็นครูใหญ่โรงเรียนอนุบาลสมัยก็ยังไปติดต่อถึงเชียงใหม่ เพียงเพราะทราบข่าวว่าเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถทางด้านนี้ โดยเฉพาะเรื่องศิลปและการดนตรีซึ่งสมัยเน้นมากพอๆกับภาษาในระดับอนุบาล เขาก็ไปสรรหามาโดยจ่ายเงินให้มากๆพอจะทำให้คนนั้นใจอ่อน ทั้งรถ ทั้งบ้าน

ซึ่งต่างกับ ดร.ชัยณรงค์ มณเฑียร วิเชียรฉาย ผู้อำนวยการกลุ่มโรงเรียนเซนต์จอห์นปัจจุบันได้กลาย เป็นเหมือนลูกหลานในครอบครัวของชิผาคนหนึ่งด้วย เพราะดร.ชัยณรงค์ร่วมงานกันมาตั้งแต่สมัยยุคเริ่มเปิด COMMERCE ใหม่ๆ แม้หลังจากนั้นเขาสอบทำงานกับ สถานีวิทยุ BBC ได้ ยังไม่หมดสัญญาแต่สมัยก็ไปตามมาเป็นผู้อำนวยการ โดยที่ชัยณรงค์ไม่พูดถึงเรื่องเงินเลยเพระาระหว่างนั้นฐานะของโรงเรียนยังย่ำแย่กันอยู่ถือว่ามาช่วยกัน และสมัยที่ลูกของสมัยไปเรียนต่างประเทศก็ได้ชัยณรงค์เป็นทั้งผู้ปกครองและพี่เลี้ยงคอยจัดหาเป็นธุระให้ทุกอย่าง แต่สำหรับวันนี้เมื่อฐานะของโรงเรียนดีขึ้นสิ่งที่สมัยให้ตอบแทททนแก่เขานั้นมากเกินกว่าที่ใครจะมาคิดซื้อตัวเขาไปได้เสียแล้ว

ส่วนอธิการบดีคนแรกของวิทยาลัยเซนต์จอห์นก็เข้ามาอย่างท้าทายว่าทำไม่ได้ก็ยินดีจะลาออก ดร.เทพศิริ ศิริโรจน์ บาทหลวงและอดีตอาจารย์มหาวิททยาลัยมหิดล มหาวิททยาเกษตรศาสตร์ อดีตผู้จัดการโรงเรียนดาราสมุทร ชลบุรี จบปริญญาเอกสาขาปรัชญาจาก UNIVERSITY OF URBANIANA USA สมัยเป็นคนติดตามมาโดยลาออกจากราชการก่อนที่จะเกษียณอายุ

ทั้งนี้ยังไม่รวมเจ้าหน้าที่อีก 100 คน และคนงานทั่วไปอีก 80 คน

ทั้งหมดนี้เป็นทรัพย์สินของกลุ่มเซนต์จอห์น ซึ่งสมัย ชินะผา เป็นเจ้าของอยู่เพียงคนเดียว ที่เขาสร้างสมมาขึ้นเป็นเวลา 30 ปีพอดีในเดือนเมษายนที่จะมาถึงนี้ ในขณะที่อายุของเขาย่างก้าวเข้ามาถึงเลข 67 ปีพอดีในวันที่ 15 มีนาคม 2533 นี้แล้ว

ปีนี้จึงเป็นปีที่สมัย ชินะผาได้ตัดสินใจครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา นั่นคือจะนำกลุ่มธุรกิจของเขาทั้งหมดของเขาเข้าเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เมื่อ 3 ปีที่มาหลังจากฐานกิจการของเขาอยู่ตัว และหยุดการขยายงานมาแล้วกว่า 5 ปี เขาได้จ้างสำนักงาน SGV มาช่วยวางระบบและตรวจสอบบัญชีให้จนปัจจุบันระบบบัญชีของแต่ละโรงเรียนในกลุ่มสามารถต่อเชื่อมกันเข้าศูนย์ใหญ่กันหมด เพิ่มสมรรถนะในการบริหารเงินให้ได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น

"ระบบที่สร้างขึ้นมานี้ ทำให้ระบบสะดวกในการบริหารมากขึ้นทีเดียวไม่ว่าจะเป็นด้านการเงินบุคคลากร อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ โดยเฉพาะเรื่องการเงินนั้นต้องยอมรับว่าบัญชีของบางโรงเรียนในกลุ่มก็ขาดไปบ้างในบางโอกาสก็สามารถสวิชจากอีกบัญชีหนึ่งเข้ามาชดเชยได้เลยทันที ปัญหาอุปสรรคต่างๆที่เคยมีก็หมดได้เลยทันที ปัญหาอุปสรรคต่างๆที่เคยมีก็หมดไป"ดร.ชัยณรงค์ มณเฑียรฉายผู้อำนวยการกลุ่มโรงเรียนเซนต์จอห์นกล่าวกับ"ผู้จัดการ"

ปัจจุบันภาระหนี้ของโรงเรียนมีน้อยมากเพระาส่วนใหญ่เฉพาะกระแสเงินสดก็สามารถจะหมุนเวียนตัวมันเองได้อย่างมีกำไร เพระาธุรกิจโรงเรียนถ้าเทียบกับธุรกิจอื่นแล้วจะเห็นว่าเป็นธุรกิจที่ได้เปรียบธุรกิจอื่นมากทีเดียว เพราะเหตุว่าเมื่อทุกอย่างคงที่แล้วเงินสดจะเข้ามาก่อนที่จะมีการจ่ายออกไป เพราะในแต่ละภาคเรียนนักเรียนจะต้องชำระค่าเล่าเรียนก่อน แล้วเมื่อโรงเรียนต้องการใช้เงินก็เอาเงินท่ได้รับมาก่อนนั้นออกมมาจ่ายทีหลัง ในขณะที่ธุรกิจอย่างอื่นๆส่งสินค้าออกไปถึง 3-4 เดือนจึงค่อยเก็บเงินจากลูกค้าทีหลังเพระาฉะนั้นธุรกิจนี้ถ้ามีระบบการบริหารเงินสดให้มีประสิทธิภาพก็จะสามารถกำไรเพิ่มขึ้นอีกจากส่วนนี้

"ภาระหนี้ถ้าจะมีบ้างก็เป็นพวกที่ดินที่เพิ่งซื้อมาในระยะหลังๆ ซึ่งเทียบกับที่มีอยู่เดิมก็นับว่าน้อยมาก" แหล่งข่าวในสถาบันการเงินแห่งหนึ่งกล่าว

ตัวเลขรายได้ล่าสุดเมื่อปี 2532 กลุ่มโรงเรียนเซนต์จอห์นมีรายได้รวมกันทั้งปีประมาณ 100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 80 % เมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อนในขณะที่จำนวนนักเรียนลดลง และก็ไม่มีการขึ้นอัตราค่าเล่าเรียนติดต่อกันมาเป็นเวลา 5 ปีเช่นกัน ทั้งนี้เพราะว่าผู้บริหารสามารถหารายได้อื่นๆ เพิ่มมากขึ้น รายได้อื่นๆที่กล่าวนั้นได้แก่ ค่าสมัคร ค่าจัดสอบ ค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียน ค่ารถรับส่งนักเรียนและค่าให้เช่าร้านค้าและโรงอาหารเป็นต้น และก็สามารรถควบคุมรายจ่ายไม่ให้เพิ่มมากนักทั้งนี้เพราะโรงเรียนหยุดการขยายตัวและผู้บริหารได้นำระบบการบริหารสมัยใหม่เข้ามาช่วยได้มากขึ้น ทำให้รายจ่ายลดลงจากประสิทธิภาพการทำงาน ส่วนรายจ่ายเกี่ยวกับเงินเดือนค่าจ้างยังคงเพิ่มในอัตราที่สอดคล้องกันกับรายได้(โปรดดูตารางจุเด่นและผลการดำเนินงานเทียบ 5 ปีประกอบด้วย)

ธุรกิจทั้งกลุ่มของโรงเรียนเซนต์จอห์นมีกำไรประจำปี 2532 ที่ผ่านมาจำนวนสูงถึง 42 ล้านบาท หรือเกือบ 50 % ของรายได้ทั้งหมดแต่อย่างไรก็ตามตัวเลขกำไรที่ระบุนั้น เป็นกำไรที่ยังไม่ได้หักค่าเสื่อมและค่าดอกเบี้ยภาษีอากรทั้งนี้เพราะว่าบัญชีนี้ทำขึ้นมาเพื่อความสะดวในการดูผลการดำเนินงานของโรงเรียนเท่านั้น ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อที่จะแสดงต่อเจ้าหนี้หรือผู้ถือหุ้นแต่อย่างใดและธุรกิจโรงเรียนเอกชนถ้าทำโดยบุคคลธรรมดายังได้รับการยกเว้นภาษีอีกด้วย

การบริหารงานที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับสถานจัดการศึกษาระดับเดียวและการบริหารของเซนต์จอห์นน้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกเป็นส่วนนโยบายและการเงิน ซึ่งดูแลโดย สมัย ชินะผา เจ้าของกิจการหรือที่เรียกว่าผู้ประสาทการ(โปรดดูตารางสร้างการบริหารงานประกอบด้วย) นโยบายส่วนใหญ่ที่ส่วนนี้ดูแลจะเป็นนโยบายเกี่ยวกับการขยายงานและการพัฒนาระบบ ส่วนเรื่องการเงินไม่ว่าจะเป็ฯการรรรับการจ่ายส่วนนี้จะเป็นผู้ดูแลค่อนข้างเด็ดขาด โดยสมัย ชินะผา ก็ยังเป็นคนเซ็นจ่ายอยู่เช่นเคย

ส่วนที่สองเป็นส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารการศึกษา นับตั้งแต่การวางแผนการศึกษาในแต่ละภาคเรียน การกำหนดหลักสูตรและหลักสูตรเสริมกิจกรรมการศึกษา การร่วมมือทางการศึกษากับต่างประเทศ ตลอดจนการปฏิบัติงานแบบวันต่อวันคณะผู้บริหารตั้งแต่ผู้อำนวยการลงมาเป็นผู้ดูแล โดยมี ดร.ชัยณรงค์ มณเฑียรวิเชียรฉาย เป็นผู้ดูแล ในฐานะผู้อำนวยการประกอบด้วยคณะกรรมการที่เป็นอาจารย์ใหญ่จากโรงเรียนต่างๆ 7 โรงเรียน โดยจะมีการประชุมกันทุกสัปดาห์เพื่อติดตามงานแบบวันต่อวันและวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว

"เรื่องเงินผมไม่ได้แตะต้องเลย ผมดูแต่ตัวเลขและเซ้นอนุมัติตามคำขอของฝ่ายต่างๆในแต่ละโรงเรียนทั้งนั้น แต่เวลาจ่ายทุกอย่างตามที่เราขอไปและค่อนข้างเร็วมากเมื่อเทียบกับกิจการที่เป็นบริษาทห้างร้านทั่วๆไป เพราะอาจารย์สมัยท่านก็เคยนั่งบริหารงานมาเอง สอนเด็กมาเองท่านเป็นคนที่รู้หมดทุกอย่างในนี้ ฉะนั้นเวลาคนเอ่ยปากขออะไรท่านไม่ค่อยปฏิเสธ"ผู้อำนวยการกลุ่มโรงเรียนเซนต์จอห์นกล่าวกับ"ผู้จัดการ"

ดร.ชัยณรงค์กล่าวว่าลักษณะการบริหารงานของกลุ่มโรงเรียนเซนต์จอห์นเป็นแบ่งงานกันทำและกระจายอำนาจ ตัวเขาเองเป็นผู้อำนวยการก็คอยร่วมหารือและติดตามงานตามที่แบ่งกันไปทำแล้วระหว่างอาจารย์แต่ละโรงเรียนของแต่ละโรงเรียน ส่วนเรื่องการใช้อำนาจ ตั้งแต่เรื่องเล็กที่สุดคือดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในสถานที่ทำงานจนใหญ่ที่สุดคือการสั่งการบัคับบัญชาอาจารย์ใหญ่ขนองแต่ละโรงเรียนเขาจะจัดการเอง แล้วก็มารายงานให้ที่ประชุมร่วมกันทราบ หรือถ้าต้องการความช่วยเหลือก็มาขอกันในที่ประชุมทุกสัปดาห์

ด้านสวัสดิการครูอันเป็นทรัพยากรสำคัญขนองการทำธุรกิจการการจัดการศึกษา เจ้าของโรงเรียนจัดให้นอกเหนือจากที่ทางกระทรวงให้อีกต่างหาก มีเงินเดือนที่สูงกว่ามาตรฐานครูเอกชนด้วยกัน รักษาพยาบาล ประกันภัย บ้านพักตากอากาศซึ่งเป็นของสมัย ชินะผา เองที่หัวหินมีบ้านรับรองถ้าไปลำพังก็เปิดพักได้ ถ้าไปเป็นหมู่คณะทางโรงเรียนก็มีรถรับส่งให้บริการฟรีทุกอย่าง รางวัลพิเศษให้ไปเที่ยวต่างประเทศเอเชีย ยุโรป และทั่วโลกประเทศอะไรก็ได้ โดยดูตามอายุงาน และเงินพิเศษจากการสอนพิเศษที่ทางโรงเรียนจัดสอนขึ้น

ผู้อำนวยการโรงเรียนเซนต์จอห์นถึงมีเวลาเหลือเฟือที่จะคิดถึงเรื่องการพัฒนางานในอนาคต งานด้านวิชาการ และการประสานงานร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ เพระาไม่ต้องเสียเวลากับการหมุนเงินและการปฏิบัติงานประจำวันมากมายนัก

เมื่อทุกอย่างเพียบพร้อมเพียงพออยู่แล้วเช่นนี้คำถามจึงมีว่าทำไม สมัย ชินะผา จึงต้องการนำกิจการคือกลุ่มโรงเรียนเซนต์จอห์นซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินมากมายมหาศาล มีรายได้และกำไรต่อปีที่อยู่ได้อย่างสบาย มีทีมการบริหารงานที่ค่อนข้างดี และได้รับยกเว้นภาษี ซึ่งคิดออกมาเป็นเงินแล้วเป็นจำนวนมากมาย สมัยก็ยังมีความคิดที่จะนำเสข้าไปจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทททย

สำหรับสมัยแล้วเริ่มจากความคิดของเขาที่ต้องการให้โรงเรียนเซนต์จอห์นที่เขาก่อตั้งขึ้นมานั้นเป็นอมตะ เขาพูดอยู่เสมอว่าร้อยปี พันปีก็อยากให้โรงเรียนเซนต์จอห์นยังอยู่ เขาห่วงว่าอะไรจะให้ความมั่นใจแก่เขาว่าเมื่อถึงรุ่นลูกรุ่นหลานแล้วลูกหลานจะไม่เปลี่ยนใจที่จะเอาโรงเรียนไปทำอย่างอื่นเสีย

เพราะครอบครัวของเขาที่มาจากต่างจังหวัดไม่ใช้ครอบครัวใหญ่ที่มีพี่น้องมากมายและแต่ละคนก็เป็นคริสตังที่ค่อนข้างเคร่งคัด เขามีเพียงน้องชยคนเดียว สุมน ชินะผา เพียงคนเดียวที่เข้ามาช่วยงานเขาและสุมนก็มีเพียงลูก 3 คน มี2คนเท่านั้น ที่ช่วยงานโรงเรียนแต่ก็เป็นงานช่วยงานตัวสมัยเองเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยได้เกี่ยวข้องกับการบริหารการศึกษาโดยตรง

สุเนตรา ชินะผา ซึ่เป็นผู้ช่วยผู้ประสาทการดูแลด้านการเงินนั้นเป็นลูกสาวของน้องชายของเขา จบแพทย์จากมหาวิทยาลัยลอนดอน อีกคนหนึ่งที่เป็นหลานและช่วยงานเขาอยู่ใในตำแหน่งผู้ช่วยผู้ประสาทการคนที่หนึ่งดูแลทางด้านพัสดุ ทรัพย์สินจัดเลี้ยง จัดซื้อ จบมาทางด้านวิศวเคมี จาก UNIVERSITY OF LOYOLA USA จากศศิน - จุฬาฯ

ส่วนตัวน้องชายของเขานั้นเป็นรองผู้ประสาทการคนที่หนึ่งโดยมีลูกชายขนองเขาเองเทมส์นที ชินะผาเป็นรองประสาทการคนที่สอง ซึ่งจะว่าไปแล้วเทมส์นทีก็คือคนที่ทำงานแทนเขาทุกอย่างในปัจจุบัน

เพียงคนเดียวเท่านี้ที่เข้ามาช่วยงานผู้เป็นพ่อ ทั้งๆที่เขามีลูกอยู่มากถึง 5 คน ส่วนผู้เป็นแม่นั้นเป็นแม่บ้านอย่างสมบูรณ์แบบแทบจะเรียกได้ว่าไม่เคยออกมาหน้าบ้านเลยก็ว่าได้ เธอต้องการใช้ชีวิตอยู่เงียบในบ้าน ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับงานของเป็นสามี

เทมส์นที ชินะผา คือคนที่จุดความคิดนี้ ให้แก้ผู้เป็นพ่อของเขา เพื่อสนองความต้องการที่จะให้โรงเรียนเซนต์จอห์นเป็นอมตะอย่างที่พ่อของเขาต้องการ เพราะเขาเชื่อว่าการเข้าเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว การที่ใครจะมาเปลี่ยนแปลงไปทำธุรกิจอื่น ก็คงเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น เขาเพิ่งอายุได้ 31 ปี เป็นบุตรชายคนที่สาม จบมาทางด้านเศรษฐศาสตร์จาก UNIVERSITY OFF PEPPERDINE USA

ส่วนลูกคนอื่นๆของเขา รวงกาญจนา ชินะผา คนโต อายุ 37 ปีแล้วยังไม่แต่งงานเพราะเธอได้ถวายตัวต่อพระผู้เป็นเจ้าเป็นซิสเตอร์และอาจารย์สอนอยู่ที่คณะอูชูลิน มาแตดิอี เธอจบกฎหมายจากจุฬา จบปรัชญาโททางการแสดงเปียโนจากลอนดอน

จุฬาเกษม ชินะผา บุตรสาวคนที่สองอายุ 33 ปีจบปริญญาตรีวิททยาศาสตร์จากจุฬา และแพทย์ด้านศัลยกรรมศาสตร์จาก ROYAL CALLEC OFF SURGEON ไอแลนด์ ปัจจุบันกำลังฝึกงานอยู่ที่อังกฤษ

ฤดีทิพย์ ควรทรงธรรม อายุ 29 ปี จบปริญญาตรีบริหารธุรกิจจาก ABAC แต่งงานแล้วกับ วิโรจน์ ควรทรงธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัทมารีเทรดในเครือไชยพรค้าข้าวซึ่งเป็นบริษัทในครอบครัวของเขาเอง ส่วนเธอนั้นทำงานอยู่กับการบินไทย

ลูกคนสุดท้อง มหิปธร ชินะผา อายุ 27 ปี จบแพทย์ศาสตร์ที่ไอแลนด์ ปัจจุบันฝึกงานอยู่ที่ไอแลนด์ไม่ได้กลับมาประเทศไทย และดูเหมือนจะเป็นคนที่ไม่ชอบเมืองไทยเท่าใดนัก

จะเห็นว่ายังไม่เห็นแววว่าลูกคนไหนจะสืบทอดเจตนารมย์ธุรกิจของสมัย ชินะผา ได้นอกจากเทมส์นที ชินะผา เท่านั้น ซึ่งเขาก็เห็นด้วยที่จะให้กิจการโรงเรียนพ่อของเขาตั้งขึ้นมานั้นเป็นอมตะ เขาไม่ห่วงว่าทรัพย์สินพ่อเขาหามาได้ด้วยความยากลำบากร่วม 30 ปีนั้นจะถูกเฉือนออกไปเป็นของคนอื่นด้วยเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ซึ่งก็ตรงกับความคิดของ ดร.ชัยณรงค์ มณเฑียรวิเชียรฉาย ผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งก็เปรียบเสมือนลูกของสมัยคนหนึ่งในปัจจุบัน

ดร.ชัยณรงค์ในฐานะนักบริการการศสึกษาภาคเอกชนที่หาตัวจับยากคนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"ว่ายังไมม่มีสถาบันการศึกษาใดในประเทศที่ถูกเรียกว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่ดีแห่งหนึ่งของโลก เขาอยากจะพัฒนาเซนต์จอห์นให้ขึ้นไปสู่จุดนั้น ซึ่งแน่นอนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ไม่ไกลเกินไปที่จะฝัน

"ธุรกิจการจัดการการศึกษาในบ้านเรายังมีช่องทางอีกมากที่เรายยังไม่ได้ทำ เพระฉะนั้นเมื่อเข้าตลาดแล้วจะมองในแง่ธุรกิจ เรื่องหารายได้แล้วไม่ใช่เรื่องน่าห่วงว่าจะเป็นธุรกิจที่ไม่ทำกำไรโดยที่เราไม่ต้องไปแตะต้องโรงเรียน ค่าเล่าเรียนของนักเรียนซึ่งจำเป็นที่รัฐจำเป็นจะต้องให้ความคุ้มครองและนอกจากนั้นก็ควรจะส่งเสริมด้วย ผมกล้าพูดได้ว่าเราสามารถหาเงินทางอื่นมาช่วยเหลือโรงเรียนให้ผู้ปกครองรับภาระน้อยลงก็ยังได้สำหรับนักเรียนยากจนแต่เรียนดี เราสามารถสร้างโอกาสให้เขาได้โดยวิธีนี้" ผู้อำนวยการกลุ่มโรงเรียนเซนต์จอห์นกล่าว

ดร.ชัยณรงค์บอกว่าเขาไม่สนใจว่าโรงเรียนนี้จะเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ แต่แผนงานทุกอย่างเขาได้เตรียมไว้แล้ว ขณะนี้เขากำลังติดต่อกับทางประเทศในหลายประเทศและหลายโครงการที่จะเป็นการพัฒนานักเรียนขนองเขาโดยตรง เช่นโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนกับโรงเรียนในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ซึ่งทำมากว่า 3 ปีแล้ว และก็กำลังจะขยายออกไปทางด้านประเทศออสเตรเลีย ยุโรป อเมริกา

"โครงการนี้เป้นยโครงการเบื้องต้นเท่านั้นที่จะปูพื้นฐานการร่วมือทางการศึกษาอื่นๆที่จะตามมา เป็นการเรียนรู้ทัศนคติ ประเพณี วัฒนธรรมต่อกันและกัน และไม่ใช่ทำกันเพื่อพานักเรียนไปเที่ยวสนุกๆแต่ทำไปอย่างมีแผน เพราะในเมื่อธุรกิจระหว่างประเทศเหล่านี้กับเรากำลังขยายตัวออกไปมากขึ้นทุกวัน แต่คนของเราที่จบออกไปจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยยังไม่เคยสัมผัสเรีนรรู้สิ่งเหล่านี้มาก่อนก็จะเสียเปรียบและเป็นอุปสรรคต่อการทำงานร่วมกันกับพวกเขามาก" ผู้อำนวยการกลุ่มโรงเรียนเซนต์จอห์นกล่าว

เขากล่าวว่าขณะนี้กำลังก้าวสู่ขั้นที่สองคือการแลกเปลี่ยนวิชาการ ขณะนี้ทางญี่ปุ่นโดยมูลนิธิของบริษัทใหญ่ๆระดับชาติของเขาตกลงให้ความช่วยเหลือต่อเซนต์จอห์น โดยส่งอาจารย์ญี่ปุ่นมาช่วยสอน แม้ขณะนี้ระเบียบการศึกษาของเมืองไททยยังไมม่เปิดกว้างพอที่จะใช้ครูต่างชาติเข้ามาสอนในโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนประถม มัธยม และแม้แต่อาชีวศึกษา แต่ก็ให้เริ่มช่วยสอนพิเศษทางด้านภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

"บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมาก เสนอเข้ามาขอคัดเลือกนักเรียนของเราที่กำลังจะจบ เพื่อรับเข้าทำงานเพราะเขาบอกว่าปัญหาใหญ่ของเขาในการเข้ามาลงทุนในเมืองไทยคือปัญหาที่คนที่รู้ภาษาและวัฒนธรรมของเขานั้นน้อย ถ้าเขาได้คนที่รู้พื้นฐานมาบ้างก็จะเป็นการดี นี่คือผลดีที่กำลังตามมาเกิดแก่เด็กนักเรียนของเรา โดยที่เราแทบจะไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายอะไรเลย"ดร.ชัยณรงค์กล่าว

ผู้อำนวยการโรงเรียนเซนต์จอห์นกล่าวว่าเขาต้องการผลิตคนออกไปให้ตรงตามความต้องการของตลาดงานมากกว่ามีเพียงแค่วุฒิการศึกษา ซึ่งยังมีโครงการอีกมากมายทั้งในรูปที่เป็นรายได้แต่เกิดประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนและประเทศต่อไป

เขาต้องการพัฒนาเซนต์จอห์นให้เป็นโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งขณะนี้ก็ได้เริ่มไปแล้วกับสมาคมฝรั่งเศส จะเข้ามาเปิดสาขาสมาคมสอนภาษาฝรั่งเศสในเซนต์จอหืนและเปิดสอนให้แก่คนข้างนอกด้วยที่ต้องการหาความก้าวหน้าใส่ตัวเอง

ดร.ชัยณรงค์บอกว่าเขาต้องการยกหลักสูตรและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมาเปิดในเซนต์จอห์นทั้งเป็นหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งการอบรมกันอย่างจริงๆจังๆในบางแขนงความรู้ ไม่ใช่นึก อยากจะอบรมอะไรก็เปิดอบรมกันตามโรงแรมซึ่งได้ผลบ้างไมม่ได้ผลบ้างโครงการเหล่านนี้เปิดกว้างสำหรับผู้ที่จะเข้าเรียนหรือรับการอบรม โดยไม่จำกัดวัยและวุฒิการศึกษา เป็นการอบรมเพื่อการพัฒนาอาชีพของตัวเองจริงๆ และไม่ต้องเสียเงินเสียทองเดินเข้าไปอบรมในต่างประเทศ

"ตัวอย่างพวกนี้และอีกมากมายที่สถานการจัดการศึกษาบ้านเรายังไมม่ได้ทำเป็นโครงการที่เกิดทั้งรายได้ต่อโรงเรียนและเกิดประโยชน์ตจ่อผู้สนใจ และประเทศชาติ ซึ่งขณะนี้ความต้องการมีอยู่มากมาย เพียงแต่หาในเมืองไทยไมม่ได้เขาก็หลั่งไหลไปเมืองนอกกันหมดเราคิดอยากจะทำกรเข้าตลาดหลักททรัพย์จะช่วยให้เราทำงานตามแผนนี้ได้เร็วขึ้นเท่านั้นเอง และเจ้าของโรงเรียนเขาก็ยินดีด้วยทุกอย่าง"ผู้อำนวยการกลุ่มโรงเรียนเซนต์จอห์นกล่าวถึงเหตุผลสนับสนุนที่ต้องการนำกลุ่มโรงเรียนเซนต์จอห์นเข้าตลาดหลักทรัพย์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.