ฝ่าวิกฤติท่องเที่ยวไทย ททท.กำลังหลงทาง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(7 กรกฎาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ประกอบการท่องเที่ยวหลายฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่า นับวันแนวโน้มการท่องเที่ยวของประเทศคู่แข่งอย่าง จีน มาเลเซีย เกาหลี และเวียดนาม มีการเติบโตในลักษณะที่สามารถเข้ามาเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกได้มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของรายได้ นับตั้งแต่ในปี 2533 ที่ผ่านมาประเทศจีน มีส่วนแบ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวในสัดส่วน 5%เท่านั้น แต่ปัจจุบันสัดส่วนรายได้กลับเพิ่มเป็น มากกว่า 21% แล้ว

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยว จีนมีสัดส่วนประมาณ 19% เพิ่มมาเป็น 28% ขณะประเทศไทยเองกลับมีส่วนแบ่งลดลง อาทิ จากส่วนแบ่งด้านจำนวนนักท่องเที่ยวที่เคยอยู่ที่ 9% ลดเหลือ 8% ส่วนรายได้จาก9.4% เหลือ เพียง 7.2% สำหรับประเทศมาเลเซียมีส่วนแบ่งรายได้จาก 3.6%เพิ่มเป็น 6.1% และเวียดนามขยับส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 2%

จากสถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าไทยถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาดไปมากขึ้นและต้องยอมรับว่าประเทศที่น่าจับตามองที่สุดในขณะนี้คือจีน ล่าสุดได้สร้างถนนไฮเวย์5 เส้นทางรองรับการกระจายตัวไปยังเมืองต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จีนจะเป็นเจ้าภาพการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี2551 ซึ่งหลังการจัดงานแล้ว การท่องเที่ยวจีนจะบูมถึงขีดสุด ขณะที่เวียดนามมีการลงทุนสร้างสนามบินมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท

แม้ภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในปีนี้จะยังมีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานั้นพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 7.6% ต่อปี และรายได้มีอัตราการเติบโตประมาณ 10.8% คาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวกว่า 14.6 ล้านคน มีรายได้ประมาณ 5.29 แสนล้านบาท ถือว่าเติบโตตามแนวโน้มการท่องเที่ยวโลก แต่ส่วนแบ่งการตลาดกลับปรับตัวลดลง ขณะเดียวกันส่วนแบ่งรายได้ก็ลดลงเช่นกัน

สาเหตุดังกล่าวเกิดจากที่ผ่านมาไทยมีแนวโน้มการเติบโตของนักท่องเที่ยวที่ไม่มีคุณภาพ ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพของมาเลเซียมีอัตราเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจากส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลงของไทย เป็นสัญญาณเตือน ถึงแนวโน้มการเติบโตของไทยที่ถดถอย เพราะไทยไม่สามารถรักษาสถานะเดิมของตัวเองได้

ขณะที่ประเทศเวียดนาม มาเลเซียกลับโตขึ้นทุกวัน และกินส่วนแบ่งตลาดของไทยไปเรื่อยๆ

การให้ความสำคัญเรื่องท่องเที่ยวอย่างจริงจัง จึงไม่ใช่เพียงแค่หวังจะขายของเดิมๆหรือนั่งกินบุญเก่ากันอยู่ ซึ่งสิ่งที่รัฐต้องเร่งดำเนินการมี 3 ปัจจัยสำคัญ คือการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว (Hardware)การปรับปรุงการบริหารจัดการภายในประเทศ (Software) และการพัฒนาบุคลากร (Humanware) ซึ่งจะต้องเร่งพัฒนาทั้ง 3 ปัจจัยไปพร้อมกัน จะมุ่งหวังเพียงการทำตลาดของททท.อย่างเดียวคงไม่พอ

นอกจากนี้ภาครัฐยังต้องส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยส่งเสริมเท่าที่ควร ทั้งๆที่ไทยมีศักยภาพในการท่องเที่ยวสูงมาก ภาคเอกชนต้องช่วยเหลือตัวเองมาโดยตลอด ตรงข้ามกับในภาคอุตสาหกรรม แม้ไทยจะไม่มีทรัพยากรพื้นฐาน กลับสามารถแย่งชิงจนเป็นฐานการผลิตได้

นอกจากนี้รัฐบาลควรเน้นการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจังไม่ใช่ให้เอกชนลองผิดลองถูกกันเองเพราะจะทำให้เติบโตแบบไร้ทิศทาง เช่น ตลาดยุโรปชอบหาดทรายชายทะเล ก็ต้องวิเคราะห์นำทางให้เห็นว่าชอบทะเลแบบไหน ชอบรีสอร์ทแบบไหน รวมทั้งต้องสนใจเรื่องของดุลการท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว เพราะคนไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศปีละ 2-3 ล้านคน แต่มีตัวเลขการใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวถึงกว่า 3 หมื่นล้านบาทหรือ 1 ใน 3 ของรายได้ที่ได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในแต่ละปี

ในอดีตประเทศไทยอาจจะเก่งเรื่องท่องเที่ยวบริการแต่ปัจจุบันประเทศอื่นก็สร้างความแข็งแก่งขึ้นมาเหมือนกันส่งผลให้ท่องเที่ยวของไทยกำลังเดินหลงทางและเป็นที่มาของการเติบโตที่ช้าลงนั่นเอง

มีการตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยควรจะต้องระวังตัวได้แล้ว เพราะทุกวันนี้ศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่มีอยู่อาจจะช่วยได้อีกไม่นานและคงจะไม่โชคดีตลอดไป

ขณะที่ประเทศไทยต้องใช้ต้นทุนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวสูงกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ เพราะงบประมาณในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาภาครัฐมักจะส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่การใช้งบประมาณส่วนใหญ่ไม่ได้ไปเข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ไปกระจุกตัวที่กิจกรรมต่างๆ ออร์กาไนเซอร์ที่มารับงาน โครงการบางอย่างไม่ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยตรง เช่น ไทยแลนด์อีลิทการ์ด ใช้งบไปกว่า 500 ล้านบาท ไทยจัดการลองสเตย์ ทุ่มงบไปกว่า 20 ล้านบาท โครงการเหล่านี้ทุกวันนี้ถือเป็นต้นทุน(Cost Center)ไม่ใช่แหล่งสร้างรายได้(Profit Center)

จึงถูกมองไปถึงการปรับระบบราชการ การแก้ไขพรบ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ควรจะต้องปรับโครงสร้างบอร์ดให้สอดรับกับการทำงานมากขึ้น โดยให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากขึ้นจากเดิมที่ปัจจุบันนี้บอร์ดจะมาจากทางราชการเป็นหลัก ทั้งการแก้ไขพรบ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ยืดเยื้อมานานกว่า 5 ปีแล้วที่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการแก้ไข การก่อตั้งสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือ สสปน. และอพท. ซึ่งไปขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรีก็ทำงานไม่ประสานกับททท.ต่างคนต่างทำงานทั้งที่เป็นงานในรูปแบบเดียวกัน เป็นต้น

หากทำให้ต้นทุนในการทำงานด้านการท่องเที่ยวไทยสูงขึ้นโดยไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือประโยชน์ เปรียบเหมือนภาครัฐกำลังใส่เงินในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่ไม่เกิดประโยชน์อะไรตามมาเพราะเป็นนโยบายการเมืองชี้นำเป็นส่วนใหญ่ รวมไปถึงงบฯผู้ว่าซีอีโอแต่ละจังหวัดส่วนใหญ่จะใช้ในเรื่องของการท่องเที่ยวเกือบทั้งหมด จากการสำรวจของคณะอนุกรรมการของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) พบว่างบฯผู้ว่าซีอีโอล้มเหลวกว่า 90% ส่วนใหญ่ใช้งบฯไปดูงานในต่างประเทศ ทั้งที่ยังไม่มีสินค้าและไม่มีแผนการทำงาน

เปลี่ยนเทรนสร้างตลาดใหม่

แนวโน้มของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยปัจจุบันถึงเวลาเปลี่ยนแนวคิดในเรื่องการทำตลาดโดยเฉพาะการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยกลุ่มเบบี้บูม หรือกลุ่มวัยเกษียณอายุ ( 65-70 ปี )นับเป็นตลาดใหม่ที่คาดว่าน่าจะมีเพิ่มขึ้น ซึ่งตลาดกลุ่มนี้นับเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีศักยภาพพร้อมที่จะเดินทางมีจำนวนหลายร้อยล้านคน ขณะที่กลุ่มคนผู้พิการกลับเป็นกลุ่มที่ทุกคนมองข้าม แต่ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 400 ล้านคน และกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพก็เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง

ขณะเดียวกันการนำเทคโนโลยีทันสมัยด้านต่างๆเข้ามาบริการและน่าจะมีบทบาทในส่งเสริมการท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะลูกค้าส่วนใหญ่นิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนไปต้องการสินค้าและบริการที่โดดเด่นกว่าปกติ การมีจุดขายที่ชัดเจนและมีแนวโน้มจะกลับสู่สามัญ คือ สนใจโรงแรมเล็กริมชายหาดมากกว่าโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งมีระบบการบริหารจัดการที่ดีเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ

สอดคล้องกับที่ พรศิริ มโนหาญ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวไว้ในแผนการทำงานของททท.ว่าหลังจากนี้จะไม่เน้นในเรื่องการตลาดเพียงอย่างเดียว แต่จะมุ่งเน้นในเรื่องการบริหารจัดการมากขึ้น ต้องหันกลับมาดูเรื่องการพัฒนาคนมากขึ้น พร้อมกันนี้จะเน้นในเรื่องคุณภาพนักท่องเที่ยวเป็นหลัก เน้นเรื่องของรายได้มากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันจะมุ่งเน้นซ่อมแซมแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม การสร้างความปลอดภัยและปราบปรามการหลอกลวงนักท่องเที่ยว

ปัจจุบันมีวิจัยพบว่านักท่องเที่ยวทั่วโลกจำนวน 842 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 36 ล้านคน ในส่วนของยุโรปเพิ่มขึ้น 7 ล้านคน และเอเชียแปซิฟิคเพิ่มขึ้น 12 ล้านคน ซึ่งการเติบโตของโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ เป็นปัจจัยหลัก เนื่องจากนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น แต่ในทางกลับกันก็ส่งผลให้ประชาชนเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้แอร์เอเชียของมาเลเซีย มีการเปิดตัว "แอร์เอเชียเอ็กซ์" สายการบินใหม่บินตรงจากกัวลาลัมเปอร์ ไปยังยุโรปในราคาประหยัด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การบินของโลก

นับเป็นการสร้างจุดแข็งให้กับธุรกิจการบินซึ่งจะทำให้คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเดินทางไปยุโรปมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการท่องเที่ยวสูง ขึ้นนั่นเอง
.
ขณะที่ปัจจัยลบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคตคาดว่าจะมาจากปัญหาสภาวะโลกร้อนที่จะเข้ามาทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยในส่วนของสกี รีสอร์ท ฤดูกาลโดยเฉพาะฤดูหนาวก็จะสั้นลง ขณะที่ประเทศไทยมีผลกระทบเรื่องของปะการังใต้น้ำที่นับวันจะน้อยลงไปเนื่องจากน้ำทะเลร้อนขึ้น
.
จากปัญหาดังกล่าวภูมิภาคยุโรปเริ่มตื่นตัวที่จะลดผลกระทบในเรื่องนี้ โดยล่าสุดสายการบินกลุ่มภูมิภาคยุโรปมีแนวคิดที่จะเก็บค่าธรรมเนียมการบินจากลูกค้าที่ใช้บริการ เพราะมีส่วนทำให้โลกร้อนจากการบินของเครื่องบิน เพื่อรณรงค์ให้ลดการเดินทางแบบระยะไกล ส่งผลให้การเดินทางมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น พร้อมทั้งรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวหันมาเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับด้านท่องเที่ยวของไทยในปัจจุบันนี้ถือเป็นเข็มทิศที่คอยชี้แนะ หากภาครัฐคิดที่จะเอาจริงเอาจังในการพัฒนาท่องเที่ยวไทยไปพร้อมๆกับการเปิดเกมรุกในตลาดโลกเป็นเรื่องที่รอไม่ได้แล้ว เพราะหากปล่อยให้ถูกคู่แข่งขันต่างประเทศแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดไปแบบนี้อาจจะตามไม่ทัน ทั้งๆไทยมีศักยภาพการท่องเที่ยวและบริการไม่น้อยหน้าต่างประเทศด้วยซ้ำ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.