|
แบงก์ขึ้นดอกเบี้ยซ้ำเติมลูกค้า บิ๊กสศค.ฉะ"แก้ปัญหาไม่ถูกจุด"
ผู้จัดการรายวัน(7 กรกฎาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ในภาวะราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จนส่งผลกระทบต่อเนื่องให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อลามไปทั่วโลก รวมถึงประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้และประเทศไทยด้วย ซึ่งนอกจากปัญหาดังกล่าวที่ถือว่าเป็นเรื่องหนักหน่วงสำหรับเศรษฐกิจไทยแล้ว ขณะนี้ยังมีความขัดแย้งในทิศทางการดำเนินนโยบายระหว่าง 2 หน่วยงานหลักที่กุมบังเหียนเศรษฐกิจ โดยในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่ได้ออกมาส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ ขณะที่กระทรวงการคลังมองต่างมุมเห็นควรให้ตรึงดอกเบี้ยเพื่อพยุงไม่ให้เศรษฐกิจถดถอย
พรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้วิพากษ์ถึงนโยบายการใช้ดอกเบี้ยในการสกัดเงินเฟ้อดังกล่าวว่ามีความเหมาะสมและจำเป็นที่จtนำมาใช้แก้ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดจากแรงกดดันด้านต้นทุนที่มาจากราคาพลังงานในขณะนี้ว่ามีความเหมาะสมเพียงใดดังนี้
ความจำเป็นของธปท.ที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในสถานการณ์ปัจจุบัน
ในปัจจุบันนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบในเรื่องของการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน หากจะถามว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีความจำเป็นมากเพียงในที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้นต้องมาดูถึงต้นเหตุที่แท้จริง โดยสถานการณ์เงินเฟ้อในขณะนี้ที่อยู่ในระดับที่สูงถึง 8.9%เป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 10 ปี แต่ระดับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาในระดับนี้ก็เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับภูมิภาคซึ่งในบางประเทศมีระดับเงินเฟ้อที่สูงกว่าประเทศไทยมาก
และสาเหตุสำคัญที่เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมาก็มีสาเหตุมาจากราคาพลังงานเป็นหลักหรือเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนของราคาสินค้า การที่ธปท.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่นั้นอยากให้พิจารณาว่าจะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิตซึ่งจะเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อมากขึ้นหรือไม่ เพราะตามความเป็นจริงแล้วหากมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ก็จะเป็นแรงกดดันเงินเฟ้ออีกทางหนึ่งเช่นกัน ดังนั้น จึงเห็นว่าการที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวจึงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่ได้ผลที่แท้จริง
หากแบงก์ปรับขึ้นดอกเบี้ยตามจะกดดันให้เงินเฟ้อมากขึ้นหรือไม่
อย่างที่บอกไปแล้วว่าที่ธปท.ยังไม่ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยในขณะนี้ก็อาจพิจารณาเรื่องนี้เป็นส่วนประกอบเพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชน แต่การที่ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วนั้นเขาอาจพิจารณาแล้วว่าปริมาณเงินในระบบเริ่มตึงตัวธนาคารพาณิชย์จึงต้องหามาตรการที่เหมาะสมออกมาเพื่อไม่ให้เงินไหลออกจากระบบมากเกินไป
ซึ่งเงินเฟ้อในครึ่งปีหลังที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามทิศทางของราคาน้ำมัน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้วการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดการไหลออกของเงินเช่นนี้อาจถือว่าธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ซ้ำเติมประชาชนในช่วงที่ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงในขณะนี้ได้
แนวทางป้องกันและแก้ไขในเรื่องการใช้นโยบายดอกเบี้ย
วิธีการที่รัฐบาลพยายามดำเนินการคือแม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปบ้าง แต่เมื่อดูส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันถือว่าลดลงจากเมื่อก่อนมาก และในแผนแม่บทสถาบันการเงินฉบับที่ 2 ที่ธปท.จะประกาศใช้ในเดือนกันยายนนี้จะเห็นว่าแผนแม่บทฉบับนี้มีเป้าหมายที่ชัดเจนที่ต้องการเห็นสถาบันการเงินลดต้นทุนการดำเนินการภายใต้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงด้วย ซึ่งถือว่าเป็นไปตามทิศทางการทำธุรกิจสถาบันการเงินทั่วโลกยึดถือปฏิบัติกัน
วิธีแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่คลังเห็นว่าควรนำมาปฏิบัติ
แนวทางที่กระทรวงการคลังได้เริ่มดำเนินการมาแล้วเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อนั้นคือวิธีการเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับประชาชน โดยที่กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการทางภาษีให้กับผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงเดือนละ 2 หมื่นบาทไม่ต้องเสียภาษีก็เป็นวิธีการแรกที่กระทรวงการคลังได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังก็ได้พยายามหามาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่นำมาช่วยเหลือในส่วนของฐานรากเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ เช่น โครงการธนาคารประชาชนของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ที่ให้การช่วยเหลือประชาชนโดยลดดอกให้เป็นพิเศษสำหรับลูกค้าที่มีประวัติการชำระเงินที่ดี ซึ่งถือเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนได้ในระดับหนึ่ง
มาตรการรับมือของเงินเฟ้อกับราคาน้ำมัน
เรื่องของเงินเฟ้อกับราคาน้ำมันเป็นเรื่องที่ไม่มีใครตอบได้ว่าราคาน้ำมันจะหยุดลงที่ตรงไหน ยิ่งในช่วงหลังแล้วราคาน้ำมันมีความผันผวนหนังมากขึ้นเร็ว ลงเร็วจนบางครั้งตามไม่ทัน ซึ่งจากข้อมูลในเชิงมหภาคจะเห็นว่าราคาน้ำมันปรับเพิ่ม 10 เหรียญต่อบาร์เรลส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่ม 1 บาทต่อลิตร และส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.3% ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
วิธีการที่จะแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อจะต้องมาแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาคือเรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งในปัจจุบันปัญหาเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่งที่จะแก้ไขแต่เป็นเรื่องระดับโลก ระดับภูมิภาคที่ต้องให้ความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาโดยอาจนำมาหารือในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคหรือหารือนอกรอบเช่นเดียวกับกลุ่มประเทศจี 8 ที่มีการประชุมกันเมื่อเดือนที่ผ่านมา
มองภาวะเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังอย่างไร
เรื่องที่ยังเป็นห่วงของเศรษฐกิจประเทศเราในช่วงครึ่งปีหลังคือความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของประชาชนว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากเพียงใด ซึ่งต้องรอตัวเลขการบริโภคของประชาชนในไตรมาสที่ 2 จึงจะสามารถประมาณการในช่วงครึ่งปีหลังได้ โดยปัจจัยที่น่าเป็นห่วงอีกประการก็คือการลงทุนของภาคเอกชนที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัว ในขณะที่การลงทุนในเมกกะโปรเจกต์ของรัฐบาลหากสามารถผลักดันออกมาได้เร็วก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม
โดยปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยตรงที่ทุกฝ่ายต้องเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิดก็มีหลักๆ อยู่ 4 เรื่อง คือ ความกังวลในเรื่องของราคาน้ำมันที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะจบลงเช่นไร อัตราดอกเบี้ยที่เป็นเรื่องอ่อนไหวและกระทบต่อทุกกลุ่ม อัตราแลกเปลี่ยนที่มีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ และสุดท้ายคือปัญหาทางการเมืองหากเรื่องยุติโดยเร็วก็จะส่งผลดีต่อประเทศโดยรวม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|