|
ธปท.เตือนรับมือNPLพุ่ง สินเชื่อภาคอุตฯเสี่ยงสูง
ผู้จัดการรายวัน(7 กรกฎาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติห่วงเอ็นพีแอลครึ่งปีหลังพุ่ง แรงกดดันจากราคาน้ำมันและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น สั่งเกาะติดสินเชื่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ความสามารถในการปรับตัวส่อเค้ามีปัญหา หลังเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว ยอมรับกำลังจับตารายย่อยเจอปัญหาค่าครองชีพสูงกระทบความสามารถชำระคืนภาคครัวเรือนได้
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แรงกดดันคุณภาพสินทรัพย์หรือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เริ่มมีมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นมา จากราคาน้ำมันแพงขึ้นและอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำธุรกิจและการชำระคืนเงินกู้ของผู้ประกอบการได้ ดังนั้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หากภาวะเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปในแง่การขยายตัวและปัจจัยแวดล้อม อาจกระทบต่อการขยายสินเชื่อธนาคารพาณิชย์และกดดันให้เกิดเอ็นพีแอลเพิ่มเติมได้
“แม้ในขณะนี้เอ็นพีแอลยังเพิ่มขึ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ที่อยู่ในระดับ 6.8% แต่ในปัจจุบันแรงกดดันก่อให้เกิดเอ็นพีแอลมากขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวขนาดฐานของหนี้เสียและการปล่อยสินเชื่อว่าอันไหนจะออกมามากกว่ากันจนเกิดเป็นแรงกดดันต่อระบบเศรษฐกิจ” นายบัณฑิตกล่าวและว่า ขณะนี้ธปท.ได้ให้น้ำหนักการติดตามการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการมากขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เพราะนอกจากเม็ดเงินที่ให้สินเชื่อมีปริมาณที่มากแล้ว ความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในแต่ละรายสาขาธุรกิจก็แตกต่างกันไปตามประเภทของธุรกิจเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ สินเชื่อที่ให้แก่รายย่อย แม้ขณะนี้ยังมีตัวเลขไม่สูงนัก โดยในส่วนของธุรกิจบัตรเครดิตอยู่ที่ระดับ 3.5% สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของธปท. 4.6% แต่ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนของภาคครัวเรือนได้ จึงต้องติดตามดูต่อไปเช่นกัน
ทั้งนี้ สินเชื่อยังคงขยายตัวต่อเนื่อง เพราะธนาคารพาณิชย์ได้ระมัดระวังและดูแลความเสี่ยงไม่ให้การขยายตัวของสินเชื่อก่อให้เกิดหนี้เอ็นพีแอลในอนาคต ส่วนภาคธุรกิจก็เชื่อว่าสามารถปรับตัวได้ เนื่องจากระดับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน ถือว่าอยู่ในระดับต่ำแล้ว แนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ จึงไม่กระทบต่อหนี้เสีย
"แบงก์มีการติดตามดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด ดอกเบี้ยขาขึ้นจึงไม่กดดันเอ็นพีแอลในอนาคต หรือหากส่งผลก็จะไม่รุนแรงกลายเป็นข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ต่อไป โดยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นเงินทุนหมุนเวียนมากกว่าเงินทุนใหม่ ซึ่งอย่างน้อยเชื่อว่าจะช่วยธุรกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ ขณะเดียวกันอัตราขยายตัวของสินเชื่อโดยรวมที่สูงถึง 8-9% นี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนทำธุรกิจที่สูงขึ้นจากเงินเฟ้อที่เร่งสูง ทำให้มีความต้องการวงเงินเพิ่มขึ้นด้วย” รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
ข่าวดี! มาสเตอร์แพลนคืบหน้า
สำหรับความคืบหน้าแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (มาสเตอร์แพลน) ฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่จะนำมาใช้กับสถาบันการเงินไทยในปี 52-56 โดยล่าสุดคืบหน้าไปมากแล้ว หลังจากได้นำร่างและสาระสำคัญของแผนให้คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินเห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยคาดว่าในเดือนนี้จะมีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อระดมความคิดเห็นและทำความเข้าใจร่วมกัน และสรุปเป็นร่างสุดท้ายนำเสนอเข้ากระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีภายในไตรมาส 4 เพื่อให้สามารถประกาศใช้ได้ทันในช่วงต้นปี 52
ดังนั้น ในแผนมาสเตอร์แพลนฉบับนี้จะเน้นพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 9 ด้าน ได้แก่ 1.การลดต้นทุนของระบบที่เกิดขึ้นจากกฎระเบียบของทางการ 2.การลดต้นทุนของระบบที่เกิดจากหนี้เอ็นพีแอลที่ค้างอยู่ในระบบ 3.การเพิ่มขอบเขตธุรกิจที่สถาบันการเงินแต่ละประเภทสามารถทำได้ 4.การส่งเสริมให้มีการเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้นในรูปแบบสนับสนุนการเงินระดับย่อย (Micro Finance) ส่วนอีก 5 ประเด็นที่เหลือจะเป็นการเน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทั้งในแง่ของกฎหมายทางการเงิน การบริหารความเสี่ยง ระบบข้อมูลด้านเครดิต บุคลากรของสถาบันการเงิน และด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศที่ทันสมัย เพื่อให้เป็นตัวสร้างฐานสำหรับการทำธุรกิจที่เพิ่มขึ้น
“ในช่วงที่ระหว่างทำแผนได้พบอุปสรรคต่อระบบการเงินไทยทั้งเรื่องสถาบันการเงินไทยยังมีต้นทุนในการทำธุรกิจที่สูงเกิดจากเอ็นพีแอลที่สะสมมาตั้งแต่อดีต ขนาดธุรกิจของสถาบันการเงินไม่ใหญ่พอที่จะได้รับประโยชน์จากการประหยัดต้นทุนทำธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินไม่ครบถ้วน และการเข้าถึงบริการทางการเงินของครัวเรือนและผู้ประกอบการน้อย รวมถึงการแข่งขันที่สะท้อนระหว่างช่องว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากที่ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง”
นอกจากนี้ ธปท.ยังสนับสนุนให้สถาบันการเงินเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน 2-3 รูปแบบ ได้แก่ 1.ธนาคารพาณิชย์และสาขาธนาคารต่างชาติแต่ละแห่งจะต้องมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินและบทบาทในการทำธุรกิจมากขึ้น 2.สนับสนุนการควบรวมที่เน้นเป็นไปตามกลไลตลาดเป็นสำคัญ เพื่อให้ขนาดธุรกิจใหญ่ขึ้น และ3.ส่งเสริมให้ผู้เล่นรายใหม่ทั้งในส่วนของสถาบันหรือหน่วยธุรกิจด้านการเงินเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มหรือศักยภาพให้แก่ธุรกิจในระยะยาวและมีส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยด้วย
“ขนาดธุรกิจเป็นสิ่งที่สำคัญ ดังนั้น นโยบายที่เรามีอยู่ต้องการเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินสามารถขยายธุรกิจโดยใช้การควบรวมเป็นเครื่องมือ ซึ่งสุดท้ายการตัดสินใจจะควบรวมหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงิน ขณะเดียวกันสถาบันการเงินขนาดเล็กก็พยายามหารูปแบบธุรกิจพิเศษมาช่วยลดต้นทุนและบริหารความเสี่ยง เพื่อให้สามารถต้านทานต่อการแข่งขันของผู้เล่นรายใหม่ได้ด้วย”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|