รร.1990 รุ่งจริงหรือ ?


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

ยี่สิบกว่าปีที่แล้วเมื่อพูดถึงโรงแรม คนไทยมักจะมีความรู้สึกในทางลบว่าเป็นสถานที่ต่ำๆซึ่งคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในทางใดทางหนึ่งจะถูกตั้งข้อสงสัยไปในทางไม่สู้ดี โดยไม่มีการแยกแยะว่า เป็นโรงแรมประเภทไหนระดับใด

กาลเวลาเปลี่ยนสังคม เปลี่ยนความคิดคนก็เปลี่ยนไปด้วย โรงแรมนอกจากจะเป็นที่ค้างแรมชั่วคราวแล้วยังเป็นสถานที่รองรับกิจกรรมทางสังคมหลากหลายรูปแบบ

ในเชิงธุรกิจกิจการโรงแรมเป็นกิจการที่มีการลงทุนใหม่ๆเป็นจำนวนมากในขณะนี้ ข้อมูลจากสมาคมโรงแรมระบุว่าปัจจุบันนี้เฉพาะโรงแรมในภาคกลางมี 68 แห่ง มีจำนวนห้อง 17,609 ห้อง ไม่รวมโรงแรมเกิดใหม่และที่กำลังจะเกิดซึ่งยังไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมโรงแรม

ตั้งแต่ปี 2530 ซึ่งเป็นปีท่องเที่ยวไทยจนถึงปีที่แล้วอัตราการเข้าพัก (OCCUPANCY RATE ) ของโรงแรมในกรุงเทพอยู่ในระดับ 80-80 %โดยเฉลี่ยในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนและมกราคมถึงมีนาคม ซึ่งเป็นช่วง HIGH SEASON ทุกโรงแรมเกือบจะไม่ห้องว่างเลย จึงมีการพูดกันถึงภาวะห้องพักไม่พอรองรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยและเลยไปถึงความน่าลงทุนของธุรกิจโรงแรม

"เฉพาะ HIGH SEASON เท่านั้นที่ห้องไม่พอ ช่วง LOW SEASON การเข้าพักจะเหลือแค่ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น " ประกิจ ชินอมรพงษ์ รองผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมรีเจนท์ ในภาพที่กว้างขึ้นของธุรกิจโรงแรม

ประกิจเป็นมืออาชีพในธุรกิจนี้ที่ผ่านงานมาแล้วยี่สิบกว่าปี ปัจจุบันเขามีฐานะเป็นผู้บริหารในเครือรีเจนท์ ซึ่งเป็นเชนของโรงแรมชั้นนำที่รับผิดชอบการบริหารโรงแรมรีเจนท์กรุงเทพทั้งยังเคยเป็นเลขาธิการสมาคมโรงแรมมาก่อน

ประสบการณ์อันโชกโชนในวงการนี้ทำให้ประกิจมองกระแสการลงทุนในธุรกิจโรงแรมขณะนี้ด้วยความเป็นห่วง "ผมไม่ได้พูดเพราะต้องการกันไม่ให้ใครเข้ามาในธุรกิจนี้ ผมเป็นลูกจ้าง ไม่ใช่นายทุนของโรงแรม"

ในระยะ 4-5 ปีข้างหน้าจะมีโรงแรมเกิดขึ้นใหม่คิดเป็นจำนวนห้องถึง 20,000 ห้อง ในขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประเมินตัวเลขชาวต่างประเทศที่เดนทางเข้ามาในประเทศไทยทั้งในฐานะนักท่องเที่ยว นักธุรกิจและในฐานะอื่นๆว่าจะเพิ่มขึ้นปีละ 10-15 %

ปี 2532 มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 5 ล้านคน ถ้าใช้อัตราการเพิ่มปีละ 10 % อีก 5 ปีก็อยู่ในระดับ 8 ล้านคน แต่โรงแรมที่เพิ่มใหม่อีก 20,000 ห้องนั้นเป็นขนาดสำหรับการรองรับคน 30,000 คนต่อวันหรือ 10.9 ล้านคนในหนึ่งปี บวกกับโรงแรมที่มีอยู่แล้วในตอนนี้ 17,000 ห้อง ถึงตอนนั้นประกิจบอกว่าห้องจะล้นและธุรกิจโรงแรมจะกลับเข้าไปสู่วัฏจักรเดิมเมื่อสิบปีที่แล้วอีก

ช่วงปี 2522-2523 นั้นธุรกิจโรงแรมมีสภาพเหมือนขณะนี้คือห้องพักไม่พอ จึงมีการสร้างโรงแรมพร้อมๆกันถึงห้าแห่งซึ่งเปิดดำเนินการพร้อมกันในปี 2526 ปรากฎว่าเจอกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำพอดีหลายๆโรงแรมเจอปัญหาขาดทุนเพราะไม่มีแขกมาพัก โรงแรมรีเจ้นท์ซึ่งเปิดใหม่ในช่วงนั้นด้วยแต่ยังใช้ชื่อเพนนินซูล่าอยู่มีแขกเข้าพักเพียง 20-30% เท่านั้น

"ผมกลัวว่าเหตุการณ์แบบนั้นจะกลับมาอีก"ประกิจกล่าว มูลค่าการลงทุนสำหรับโรงแรมระดับเดอลุกซ์ในปัจจุบันคือ 3.5-4.5 ล้านบาทต่อห้องรวมทั้งโครงสร้างตัวอาคารด้วยแต่ไม่ได้รวมราคาที่ดิน แต่ละแห่งจึงต้องลงทุนในระดับพันล้านขึ้นไป"โรงแรมใหม่ๆจะเจ็บตัวจากการแข่งขัน เพราะต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยไม่เหมือนโรงแรมเก่าที่คุ้มทุนแล้ว แขกจะเข้าพักไม่ถึง 50 %ก็อยู่ได้"

พฤติกรรมการลงทุนของคนไทยเข้าตำราเฮไหนเฮนั่นอะไรดีก็ตามกันไป ความเป็นห่วงของประกิจว่าอนาคตโรงแรมไทยอาจจะไม่รุ่ง ถ้ายังมีการลงทุนกันเป็นระลอกอยู่แบบนี้ถึงจะเป็นการคาดการณ์จากสถิติตัวเลขเป็นส่วนใหญ่ แต่ความเป็นมืออาชีพที่คลุกอยู่ในวงการนนี้มานานปีน่าจะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนหน้าใหม่ๆในธุรกิจนี้ได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.