วิชัย เถ้าแก่ข้าวนึ่ง เก่งอย่างเดียวแต่เก่งจริง


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

คำว่า "คลื่นลูกใหม่" ยังคงขลังเสมอสำหรับวงการธุรกิจที่การแข่งขันดำเนินไปอย่างเข้มข้น การค้าข้าวส่งออกซึ่งเป็นธุรกิจเก่าแก่คู่เมืองไทยมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาก็ยังมีคนใหม่ ๆ เข้ามาสร้างปรากฏการณ์ให้เห็นอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าธุรกิจเก่าแก่อันนี้กำลังจะถูกละเลยไปในอนาคตข้างหน้าสักวันหนึ่งก็ตามที

วิชัย ศรีประเสริฐลูกชายเจ้าของโรงสีจากอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศิษย์เก่าอัสสัมชัญที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนต่อบริหารธุรกิจที่สหรัฐ และต้องกลับมารับภาระงานเดิมของครอบครัวตามสไตล์ครอบครัวจีนโพ้นทะเลทั่วไป แต่คนหนุ่มไฟแรงอย่างวิชัยไม่เหมือนพ่อค้าข้าวธรรมดาที่วัน ๆ เอาแต่สนุกสนานกับการปั่นราคาข้าวภายในประเทศหรือโกงตาชั่งรับซื้อข้าวของชาวนา (อย่างที่พวกเถ้าแก่โรงสีทั้งหลายทำกันเป็นปรกติจนถึงทุกวันนี้) หรือเล่นหากินกับนโยบายโควต้าของกระทรวงพาณิชย์ (อย่างที่ตัวเบิ้ม ๆ ทั้งหลายในสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศซอยงามดูพลีทำกันมานานนับสิบ ๆ ปี) เขาคิดไปไกลกว่านั้น โลกทัศน์ของผู้ส่งออกข้าวหนุ่มอย่างวิชัยแตกต่างจากคนที่เติบโตมาจาก ย่านทรงวาดชัดเจนยิ่งกว่าน้ำและน้ำมัน

ธุรกิจค้าข้าวนึ่งส่งออกเป็นการแหวกแนวมากที่สุดเมื่อหลายปีก่อน วิชัยต้องเสียเวลาชี้แจงกับเตี่ยและพี่ ๆ หลายคนที่ทำโรงสีอยู่ก่อนว่าข้าวนึ่งที่เขาคิดว่าน่าภาคเอกชนอย่างผมคงสู้ไม่ไหว ถึงเวลานั้นก็คงต้องยอมหนีไปหาอย่างอื่นทำอย่างช่วยไม่ได้จริง ๆ………..ก็จะทำนั้นไม่มีอะไรเหมือนกับข้าวนึ่งเหม็น ๆ ที่ตาก ตามลานหน้าโรงสีของเถ้าแก่แถวแปดริ้วหรืออยุธยา แต่เป็นข้าวนึ่งที่คนไทยไม่กิน หาก เป็นที่ต้องการของตลาดโลกโดยเฉพาะตลาดที่คนกินมีรายได้ดีบางประเทศ ซึ่งจะสามารถให้ผลกำไรตอบแทนในการส่งออกสุงกว่าการค้าข้าวธรรมดามากนัก

เอ่ยถึงข้าวนึ่งคำ ๆ นี้ยังคงแปลกหูคนไทยสำหรับคนทางเหนือหรืออีสานอาจจะพาลคิดเลยเถิดไปถึงข้าวเหนียวนึ่งอะไรโน่น ความจริงแล้วข้าวนึ่งที่ว่าคือข้าวเปลือกเจ้าที่เอามานึ่งให้สุก แล้วทำให้แห้งโดยการตาก หรือ อบ ก่อนจะนำไปสีเป็นข้าวสารวิธีการนี้มีผลดีสองอย่าง คือ ถ้าทำให้ดีทำให้ข้าวสารที่สีออกมาเป็นเม็ดครบถ้วน หาข้าวหักเป็นปลาย ข้าวได้น้อยมาก และเมื่อนำไปหุงอีกครั้งหนึ่งจะเปลืองน้ำและเชื้อเพลิงน้อยกว่าปกติ เนื่องจากเป็นข้าวที่สุขมาก่อนแล้ว

ประเทศที่บริโภคข้าวนึ่งจึงเป็นพวกที่อยู่ในเขตแห้งแล้งเช่นตะวันออกกลาง ยุโรปบางแห่ง หรืออัฟริกาบางแห่งจะมียกเว้นก้บังกลาเทศที่มีปัญหาน้ำท่วมบ่อยหาเชื้อเพลิงได้ยาก

กำจาย เอี่ยมสุรีย์เจ้าของกลุ่มกมลกิจ อดีตผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการค้าพืชไร่ของเมืองไทยเมื่อสิบกว่าปีก่อน ดูเหมือนจะเป็นคนแรกที่เริ่มทำการผลิตข้าวนึ่งในเมืองไทยก่อนเพื่อน ซึ่งถือได้ว่าเป็นคนหัวก้าวหน้าที่สุดสมัยนั้น แต่กรรมวิธีการผลิตข้าวนึ่งในช่วงแรก ๆ ก็คือการเอาข้าวเปลือกนาปรัง (หรือข้าวกข.) ที่มีความชื้นสูงที่สีแล้วต้องหักเป็นปลายข้าวมากกว่าต้นข้าวมานึ่ง แล้วเอาไปตากที่ลานหน้าโรงสี วิธีการตากข้าวนึ่งเช่นนี้ คนที่เคยอยู่ใกล้โรงสีข้าวนึ่งแต่ก่อนคงจำได้ดีว่ากลิ่นเหม็นนั้นร้างแรงขนาดไหน เรียกว่าปวดหัวไปหลายวันทีเดียว

วิชัยนำวิธีการผลิตข้าวนึ่งทันสมัยจากสหรัฐมาใช้โดยยอมลงทุนหลายอย่าง ซึ่งเถาแก่โรงสีสมัยนั้นพากันส่ายหน้าว่าไม่คุ้ม ด้วยการนำเอาหม้อนึ่ง และหม้ออบทันสมัยมาใช้พร้อมกับจัดการคัดเลือกข้าวเปลือกที่จะนำเข้าสีอย่างละเอียดโดยอาศัยควมาชำนาญของคนในครอบครัวที่ซื้อข้าวมานานนับปี พร้อมกับให้แรงจูงใจเสนอซื้อข้าวเปลือกคุณภาพดีในราคาพิเศษเพื่อจูงใจให้มีการปรับปรุงคุณภาพข้าว วิธีการนี้ทำให้ได้ข้าวตรงที่ต้องการมาเข้าโรงสี ซึ่งสวนทางกับวิธีการเอารัดเอาเปรียบชาวนาของเถ้าแก่โรงสีทั่วไปย่านนั้น

ไม่เพียงเท่านั้นวงการข้าวยังฮือฮากันต่อไปอีกเมื่อข้าวนึ่งที่เสร็จแล้วก่อนส่งออกของบริษัท ไรซ์ แลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่วิชัยเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่สั่งซื้อเครื่องคัดเม็ดข้าวมาเพื่อกำจัดข้าวเม็ดดำหรือเสีย (SORTEX) ออดกจากข้าวส่วนใหญ่ที่จะบรรจุลงกระสอบส่งออก วิธีการอย่างนี้ทั้งเสียเวลาและเสียของ แต่แน่ละว่าวิธีการพื้นฐานอย่างนี้ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าข้าวที่บรรจุในถุงมีคุณภาพเหมือนกันหมด

วิชัยให้เหตุผลกับ "ผู้จัดการ" อย่างเรียบ ๆ ไม่โอ้อวดตัวว่า ในฐานะคนใหม่ที่เข้ามาในตลาดค้าข้าว และเห็นชัดตั้งแต่ต้นว่าการค้าข้าวนั้นแท้จริงแล้วกำไรต่ำมาก พ่อค้าข้าวเกือบทุกรายทำตัวเป็นนักการพนันมากกว่าพ่อค้า ตนเองเห็นว่าจะมาแข่งขันแบบเก่าก็เท่ากับเข้าม้าตาย "ผมเห็นว่ามีแต่ต้องสร้างตลาดใหม่ให้กับตนเอง แยกเซกเมนต์ในการค้าออกไป ไม่ต้องมาแข่งขันกับคนไทยด้วยกันเองให้เหนื่อยได้กำไรมาเท่าไหร่ก็ไม่คุ้ม นี่เป็นปรัชญาของตัวผมเองและบริษัทของผมเลย"

วิชัยเรียกข้าวนึ่งของเขาเองว่า ข้าวนึ่งคัดเกรดพรีเมี่ยม (PREMIUM GRADE PARBOILED RICE) และเริ่มต้นด้วยการเดินทางไปหาตลาดตะวันออกกลางแถบซาอุดิอาระเบีย ยุโรป และอัฟริกาก่อน โดยไม่เน้นจะเข้าไปแข่งขันกับพ่อค้าไทยในตลาดบังกลาเทศซึ่งเป้นข้าวนึ่งชนิด 15 % ซึ่งเป็นเกรดต่ำที่สุด

การเป็นผู้ส่งออกและมีโรงสีข้าวเองของวิชัยเป็นแนวโน้มใหม่ของวงการค้าขายไทยตามปกติแล้วผู้ส่งออกและโรงสีจะแยกกันเด็ดขาด โรงสีน้อยรายที่จะประสบความสำเร็จในการส่งออกข้าว ก่อนหน้าวิชัยก็มีเพียง กิตติ ดำเนินชาญวณิชย์ แห่งกลุ่มเกษตรรุ่งเรืองพืชผลเท่านั้นที่ทำอย่างนี้ได้โดยไม้เสียสูญ

ความสำเร็จในตะวันออกกลางของวิชัยอย่างรวดเร็วเกินคาด แม้วิชัยจะไม่เคยพูดที่ไหนกับใครแม้กระทั่ง "ผู้จัดการ" แต่ในวงการค้าข้าวทั่วไปก็รู้ดีว่ายังเป็นผลให้กลุ่มกมลกิจของกำจาย เอี่ยมสุรีย์ต้องเสียหายอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความตกต่ำของกลุ่มนั้นในเวลาต่อมา แม้ว่าสาเหตุโดยตรงจะไม่ได้มาจากวิชัยก็ตาม

"ผมเป็นคนแปลกบริษัทผมก็แปลกที่ไม่คิดจะทำข้าวหลายอย่าง เราทำข้าวนึ่งชนิดเดียว และขายข้าวชนิดเดียวเหมือนกัน และก็มีบริษัทเดียว ไม่จดหลายบริษัทเพื่อหวังโควต้า" วิชัยกล่าว ซึ่งก็เข้าตำราเก่งอย่างเดียวแต่เก่งจริงในเรื่องที่ทำ

วงการค้าข้าวกล่าวขวัญถึงความสำเร็จของวิชัยว่าเกิดจากเหตุประจวบเหมาะพอสมควร เขาเข้าสู่ตลาดข้าวนึ่งแข่งขันโดยตรงกับข้าวนึ่งคุณภาพใกล้เคียงกันจากสหรัฐในเวลานั้น (ก่อนปี 2528) สหรัฐกำลังหน้ามืดตามัวอยู่กับนโยบายล้าสมัยในการส่งออกข้าวโดยการรับจำนองข้าวเปลือกของ COMMODITY CREDIT CORPORATION จากชาวนามาเก็บไว้ในโกดังในราคาสูงลิ่ว ยังผลให้ราคาข้าวส่งออกของสหรัฐสูงกว่าข้าวไทยถึง 2 เท่าตัว ซึ่งในเวลานั้นผู้ส่งออกข้าวไทยก็ถูกกล่าวหาหนักพอสมควรด้วยความเข้าใจผิดว่าตัดราคาขายหั่นแหลก ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วข้าวล้นตลาดโลกต่างหาก

ราคาที่ต่ำกว่า และคุณภาพข้าวนึ่งที่เหมือนกันไม่เป็นเรื่องยากเย็นนักที่วิชัยจะแย่งตลาดมาจากข้าวสหรัฐอย่างมากมาย ปัญหาของไรซ์แลนด์ระหว่างนั้นจึงไม่ใช่เรื่องดีมานด์ แต่เป็นเรื่องซัพพลายมากกว่าว่า ทำอย่างไรจึงจะรักษาคุณภาพข้าวนึ่งได้เป็นปรกติและมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของผู้ซื้อ แต่ถึงกระนั้นวงการค้าข้าวก็เชื่อกันว่ากำไรที่ไรซ์แลนด์ได้รับในแต่ละตันจะต้องไม่ต่ำกว่า 20-40 เหรียญสหรัฐทีเดียว หาที่ไหนจะกำไรขนาดนี้

ความสำเร็จของวิชัยที่ทำให้เพียงไม่กี่ปีบริษัทของเขาก็กลายเป็น 1 ใน 10ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของไทย และมิหนำซ้ำจะกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวนึ่งที่ใหญ่ที่สุดของโลกด้วยซ้ำ แต่วิชัยก็ไม่ยอมโอ้อวดเรื่องนี้ตามเคย

อุปสรรคใหญ่หลวงของวิชัยเกิดขึ้นระหว่างปี 2529-30 เมื่อสหรัฐอเมริการเกิดบ้าเลือดระบุเรื่องข้าวเข้าไปในกฎหมายฟาร์มแอคท์ ด้วยการจ่ายเงินงบประมาณอุดหนุนปีละ 1,000 ล้านเหรียญเพื่อช่วยเหลือชาวนา 20,000 ครอบครัวให้สามารถอยู่รอด และรักษาตลาดข้าวเพียงแค่ 2.6 ล้านตันต่อปี ราคาข้าวสหรัฐทรุดลงมาต่ำกว่าข้าวไทยในบางช่วง บริษัทคู่แข่งโดยตรงกับสหรัฐอย่างของวิชัยก็เลยต้องเดือดร้อนมากที่สุด เสียตลาดข้าวไปอย่างช่วยไม่ได้โดยเฉพาะในตลาดยุโรป แต่ถึงกระนั้นวิชัยก็ยังพยายามรักษาปริมาณการส่งออกข้าวของตนเองไว้เดือนละ 10,000 ตันแม้ว่าค่าการตลาด หรือเรียกง่าย ๆ ว่ากำไรจะลดต่ำลงไปมาก

มิหนำซ้ำบริษัทส่งออกไทยด้วยกันเองยังพยายามแย่งตลาดจากวิชัย หนักหน่วงกว่าอเมริกันด้วยการเล่นระบบขายใต้โต๊ะในตลาดอัฟริกันโชคดีที่ลูกค้าของบริษัทเหล่านั้นเป็นพวกชั้นต่ำเหมือน ๆ กัน ก็เลยมีปัญหาการเงินจนต้องถอนตัวออกจากการแข่งขันไป

ไรซ์แลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นผู้ส่งออกข้าวนึ่งที่มีส่วนแบ่งในตลาดโลกถึง 35 % ในขณะที่วิชัยเองก็มีบทบาทสูงในสมาคมผู้ส่งออกข้าว เถ้าแก่หลายคนต้องพึ่งพาอาศัยเขาในเวลาแขกต่างประเทศที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ แม้ความเป็นคนตรงไปตรงมาของเขาอาจจะทำให้ตัวเบิ้มในสมาคมรู้สึกอึดอัดในบางครั้งก็ต้องยอมทนเอา

ยกเว้นก็แต่เรื่องที่ตัวเบิ้มจะไปคุยหนุงหนิงกับนักการเมืองที่กระทรวงพาณิชย์เท่านั้นแหละที่วิชัยจะถูกตัดขาดไม่ให้เข้าร่วม

ถึงวันนี้ ห้วงเวลาที่ข้าวไทยกำลังมีปัญหาถูกคู่แข่งขันรายใหญ่จากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง คือ เวียดนาม ซึ่งสามารถผลิตข้าวด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเป็นตัวแย่งตลาดข้าวในตลาดโลกเป็นว่าเล่น ผู้ส่งออกหลายคนที่หารายได้และวงเงินเครดิตจากแอล/ซีต้นทุนต่ำจากธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้เหมือนเดิม เริ่มมีปัญหาและหาทางขยับขยายไปสู่ธุรกิจอื่นจ้าละหวั่นนั้น วิชัยก็ยังรักษาสไตล์เดิมของเขาต่อไป คือ มีบริษัทเดียวค้าข้าวนึ่งคุณภาพสูงอย่างเดียว และไม่มีความคิดที่จะขยับขยายไปสู่ธุรกิจอื่นเลย…ทำไม ???

วิชัย กล่าวว่า ในเมื่อธุรกิจของเขาไม่ได้แข่งขันกับใครและยังไปได้ดี ออร์เดอร์ลูกค้าแทนที่จะลดลงก็กลับเพิ่มขึ้น ความจำเป็นที่จะหาธุรกิจอื่นมาทดแทนก็ยังไม่จำเป็น "ผมโตมาจากข้าว ตราบใดที่ยังมีชาวนาปลูกข้าวในเมืองไทย ผมก็คงต้องค้าข้าวต่อไป ผมยังเชื่อว่า เวียดนามจะยังสู้เราไม่ได้ง่ายนัก ระบบค้าข้าวเสรีของเราที่เป็นมาหลายปีนี้ ผมว่าเข้มแข็งกว่าที่ใครต่อใครคิดมาก ชาวนาของเราก็เป็นคนที่มีเหตุผล ขนาดรัฐบาลไม่ช่วยอะไรมานับสิบ ๆ ปียังอยู่กันมาได้ ถึงเวลาก็คงจะปรับตัวไปได้ ผมเองก็คงไม่หนีไปไหน…แต่ถ้าชาวนาบ้านเราจะหันไปหาอาชีพอื่นที่จะไม่ยากจนเหมือนตอนนี้ ผมเองก็อนุโมทนาด้วยเหมือนกัน"

วิชัย กล่าวว่า หากรัฐบาลเน้นให้ความสำคัญกับเรื่องการชลประทานมากกว่านี้ ให้ชาวนาสามารถควบคุมน้ำในการทำนาได้ตลอดทั้งปี โดยไม่มีปัญหาในเรื่องหน้าฝนน้ำท่วมต้องสูบทิ้ง หน้าแล้งน้ำในเขื่อนในคลองซอยหมดแล้ว การเพาะปลูกข้าวนาปรับที่ให้ผลผลิตสูงกว่าข้าวพื้นเมืองก็เป็นเรื่องไม่ยาก ชาวนาไทยสามารถสู้กับใครที่ไหนก็ได้ในโลก ไม่ต้องมีระบบให้รัฐบาล ต้องเอาเงินมาผลาญเล่น หรืออุดหนุนชาวนาเหมือนสหรัฐหรือญี่ปุ่น

"แต่ถ้ารัฐบาลคิดว่า มีเงินมาก จะเอาเงินมาหว่านช่วยชาวนา ระบบค้าข้าวก็คงต้องเปลี่ยนไปหมด ภาคเอกชนอย่างผมคงสู้ไม่ไหว ถึงเวลานั้นก็คงต้องยอมหนีไปหาอย่างอื่นทำอย่างช่วยไม่ได้จริง ๆ ก็ได้แต่หวังว่าจะไม่เกิดขึ้น ผมเองยังอยากเห็นกลไกตลาดปรับตัวของมันเองมากกว่า"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.