|
Mobilier national
โดย
สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านบางรัก ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นบ้านเก่าที่สวยงาม จนได้รับประกาศนียบัตรรับรองจากสถาปนิกสยาม เป็นบ้านใต้ถุนสูงที่ดูแข็งแรง ทำงานอยู่นานปี เครื่องเรือนหลักไม่เคยเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปียโนหลังใหญ่และชุดรับแขก หากสังเกตว่าเครื่องเรือนขนาดเล็กมีการเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับผู้ครอบครองบ้าน ด้วยว่าในห้องใต้ถุนของทำเนียบมีเครื่องเรือนและของประดับบ้านอื่นๆ จำนวนไม่น้อย เมื่อบ้านทรุดโทรมมากขึ้น หลังคารั่ว น้ำซึม น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นนองสวน และบริเวณที่เป็นสำนักงาน ยุคนั้นพนักงานต้องสวมรองเท้าบู๊ทยางลุยน้ำ ต้องซื้อตารางน้ำทะเลหนุน เพื่อจะได้เตรียมตัวรับน้ำท่วมสถานทูต บังเอิญให้ครั้งหนึ่งเจ้าหน้าที่การทูตผู้หนึ่งเป็นวิศวกรที่พิสมัยอาชีพนักการทูตจึงได้รับมอบหมายให้แก้ปัญหาน้ำท่วม มีการถมที่ให้สูงขึ้นและสร้างทางระบายน้ำใหม่และถือโอกาสบูรณะบ้าน โดยเจ้าบ้านไม่ต้องโยกย้ายออกไป
ในครั้งนั้น กระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส ที่เรียกกันว่า Quai d'Orsay เพราะ ตั้งอยู่บนถนนเลียบแม่น้ำแซน (Seine) ช่วงที่ชื่อว่า Quai d'Orsay จึงเรียกกระทรวงตามชื่อถนน ส่งเจ้าหน้าที่มาดูเพื่อจัดการตกแต่งภายใน ใช้เวลานานนับปีทีเดียวกว่าของตกแต่งภายในบ้านจะมาถึง มีตั้งแต่เครื่องเรือน ชุดรับแขกใหญ่ ชุดรับแขกเล็ก เครื่องเรือนในห้องรับแขกเล็ก โต๊ะอาหารขนาดใหญ่พร้อมเก้าอี้ ผ้าม่าน พรมปูพื้น ฯลฯ ชุดรับแขกแต่ละชุดหุ้มด้วยผ้าต่างลายต่างสี พรมปูพื้นเป็นพรมที่ทอขึ้นโดยเฉพาะ การให้สีสวยถูกใจ ผ้าม่านทอและเย็บจากฝรั่งเศสเช่นกัน อีกทั้งโคมไฟหรือของประดับอื่นๆ หากยังไม่ทันเก่าก็มีการบูรณะทำเนียบ ครั้งใหญ่อีกครั้ง และเป็นครั้งที่ท่านทูตต้องย้ายไปเช่าเพนท์เฮาส์อยู่นานถึงสองปี เป็นการปรับเปลี่ยนรูปโฉมที่ดูสมัยใหม่ขึ้น หากทำให้ความขลังลดน้อยลง ในครั้งนั้นไม่ทราบว่ามีหน่วยงานที่ดูแลเครื่องเรือนและของตกแต่งบ้านสำหรับสถานที่ราชการสำคัญๆ เข้าใจเอาเองว่ากระทรวงต่างประเทศมีคลังเครื่องเรือน หากหาเป็นเช่นนั้นไม่
หน่วยงานที่ดูแลเครื่องเรือนของรัฐเรียก Mobilier national มีหน้าที่ดูแลรักษาและซ่อมแซมเครื่องเรือนทั้งมวลที่เป็นสมบัติของรัฐ รวมทั้งสิ่งของที่ใช้ประดับภายใน เช่น เทเปสตรี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลงานของ Manufactures nationales des Gobelins และ de Beauvais ส่วนพรมปูพื้นเป็นผลงานของ Manufactures de la Savonnerie ซึ่งมักทอลายที่นำมาจากภาพเขียนของจิตรกรและอาร์ทิสต์ในยุคนั้นๆ มีตั้งแต่ชาร์ลส์ เลอ เบริง (Charles Le Brun) ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) อองรี มาติส (Henri Matisse) เรอดง (Redon) เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีพรม ที่ทอโดยโรงงานเอกชนอย่าง Aubusson ในศตวรรษที่ 17 มีถึง 700 ผืนด้วยกัน อีกทั้งพรม จากบรัสเซลส์และพรมเปอร์เซียศตวรรษที่ 18 ได้รับบริจาค พรมและเทเปสตรี้ของ Mobilier national มีทั้งหมดประมาณ 7,000 ผืน "สมบัติ" ที่อยู่ในความดูแลของ Mobilier national มีทั้งหมดประมาณ 200,000 ชิ้น เป็นเครื่องเรือนเก่าที่เคยใช้ในพระราชวังและปราสาทต่างๆ เช่น ปราสาทแซงต์-คลูด์ (Saint-Cloud) หรือพระราชวังตุยเลอรีส์ (Tuileries) มีทั้งสมัย 1750 จนถึงปัจจุบันคอลเลกชั่นศควรรษที่ 20 รวมผลงานแบบอารต์เดโก (art deco) ด้วย
นอกจากนั้นยังมีนาฬิกาตุ้ม 900 ชิ้น ผ้าเก่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 18-19 ภาพเขียน ภาพดรออิ้ง แบบร่างสำหรับทอพรม และเครื่องพอร์ซเลน
Mobilier national ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับ Manufactures nationales des Gobelins ซึ่งเป็นโรงงานทอพรมของรัฐ กอล แบรต์ (Colbert) อัครมหาเสนาบดีของกษัตริย์หลุยส์ 14 เป็นผู้ก่อตั้ง Garde-Meuble royal มีหน้าที่ดูแลรักษาและซ่อมแซมเครื่องเรือนในพระราชวังต่างๆ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Mobilier imp?rial และ Mobilier national ในที่สุด
หน้าที่ของ Mobilier national คือการจัดหาเครื่องเรือนให้แก่พระราชวังเอลีเซ (Palais de l'Elysee) อันเป็นทำเนียบประธานาธิบดี และบ้านพักทางการอื่นๆ ของประธานาธิบดี ทำเนียบมาติญง (Matignon) อันเป็นทำเนียบนายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา กระทรวงและสถานทูตในต่างประเทศ รวมทั้งหน่วยงานหลักของรัฐ Mobilier national มีโรงงานซ่อม "สมบัติ" ของรัฐ 7 แห่งด้วยกัน และควบคุมคุณภาพการซ่อมแซมที่ส่งต่อให้ช่างฝีมือเอกชน เช่น ช่างไม้ ช่างเครื่องแก้วเจียระไน ช่างบุเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ในปี 1964 อองเดร มัลโรซ์ (Andre Malraux) รัฐมนตรีวัฒนธรรมได้ตั้งโรงงานเพื่อทำการค้นคว้าและทำเครื่องเรือนและอื่นๆ ซึ่งออกแบบโดยดีไซเนอร์ดังอย่างฟิลิป สตาร์ค (Philippe Starck) ปิแอร์ โปแลง (Pierre Paulin) ฌอง-มิเชล วิลมอต (Jean-Michel Wilmotte) ดูบุยซง (Dubuisson) เป็นต้น
งานหนักของ Mobilier national คือช่วงเปลี่ยนรัฐบาล ด้วยว่ารัฐมนตรีแต่ละคนมีรสนิยมเฉพาะตัว จึงมีการเปลี่ยนเครื่องเรือน ขนานใหญ่ เจ้าหน้าที่ต้องออกแบบตกแต่งภายในให้ดูก่อน โดยให้เข้ากับสถานที่และงานที่รับผิดชอบ แล้วจึงผลิตหรือซื้อ ผู้บริหารส่วนใหญ่ต้องการเครื่องเรือนแบบหลุยส์ เพราะดูขลังและโอ่อ่าดี หากหลายคนชอบดีไซน์สมัยใหม่ ดังในกรณีของฌาค ลองก์ (Jack Lang) โต๊ะทำงานของเขาเมื่อเป็นรัฐมนตรีวัฒนธรรมและศึกษาธิการออกแบบโดยดีไซเนอร์ดังอย่างอองเดร พุตมาน (Andree Putman) และเป็นโต๊ะทำงานที่ถูกใจลิโอเนล โจสแปง (Lionel Jospin) เมื่อเขามารับตำแหน่งแทนฌาค ลองก์ อีกทั้งขอให้ย้ายโต๊ะตัวนี้ไปยังทำเนียบมาติญงเมื่อเขาเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมานายกรัฐมนตรี ฌอง-ปิแอร์ รัฟฟาแรง (Jean-Pierre Raffarin) เก็บโต๊ะดังกล่าวไว้ใช้งาน ส่วนนายกรัฐมนตรี โดมินิค เดอ วิลแปง (Dominique de Villepin) ชอบโต๊ะสไตล์หลุยส์ 15 มากกว่า
ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐชอบเครื่องเรือนสไตล์หลุยส์ 15 และ 16 เช่นกัน ไหนจะต้องฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อเข้าครอบครอง พระราชวังเอลีเซ จำต้องโอ่อ่าให้สมเกียรติ เมื่อชาร์ลส์ เดอโกล เป็นประธานาธิบดีในปี 1958 เขาขอโต๊ะทำงานซึ่งกระทรวงทะเลใช้งานอยู่ เป็นโต๊ะสไตล์หลุยส์ 15 นับแต่นั้นประธานาธิบดีฝรั่งเศสทุกคนจะนั่งสง่างามและถ่ายรูปกับโต๊ะตัวนี้
"สมบัติ" ชิ้นงามของ Mobilier na-tional อยู่ตามพิพิธภัณฑ์หรือตามสถานที่ราชการต่างๆ นั้น ที่เหลือจัดเก็บ กระจัด กระจายไปตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งย่อมเป็นที่มาของการสูญหาย ในปี 1997 ศาลบัญชี (Cour des comptes) ได้ทำการตรวจสอบและพบว่ามีการละเลยและละเมิด เช่น สภา ทนายความได้ขอเทเปสตรี้ศตวรรษที่ 17 และ 18 ของ Manufactures nationales des Gobelins ไปตกแต่ง อีกทั้ง Mobilier national ได้ตกแต่งบ้านพักประจำตำแหน่งของบุคคลที่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี 250 แห่ง รวมทั้งบ้านพักของสมาชิกสภาจังหวัดอีกหลายคน ตั้งแต่ นั้นมีการกำหนดกฎระเบียบการใช้ "สมบัติ" ของรัฐขึ้นใหม่
นอกจากนั้นศาลบัญชียังพบว่ามีการสูญหาย เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งความแม้ยามที่ถูก ขโมย ดูเหมือนว่า Mobilier national ไม่สามารถรับสถานการณ์นี้ได้เพราะได้รับงบประมาณน้อยและมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ อีกทั้งไม่มีสิทธิเสียงที่มีอำนาจพอ เทศบาลกรุงปารีสขอยืมเทเปสตรี้และพรมมูลค่าประมาณมิได้ไป 11 ผืน ซึ่ง 5 ผืนในจำนวนนั้น กอล แบรต์สั่งให้ la Savonnerie ทอ เมื่อ Mobilier national ขอคืน เทศบาลกรุงปารีสไม่ยอมคืนและไม่ยอมให้มีการตรวจสอบระหว่างปี 1982-1997 Mobilier national ก็ทำอะไรไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ศาลบัญชีจึงตั้งคณะกรรมการเพื่อทำบัญชี "สมบัติ"ของรัฐ พบว่า 17,000 ชิ้น ไม่มีใครเห็น 14% ในจำนวนนี้สูญหายไป ในส่วนของ Mobilier national ไม่สามารถบอกได้ว่า 3,400 ชิ้นอยู่ที่ไหน อาจสูญหายระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง บัญชีรายการนี้มีทั้งของมีค่าและของที่ล้าสมัย
ในอดีต พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre) เคยให้ยืมภาพเขียนชื่อ La vierge et l'enfant ของโดเมนิโก ซัมปิเอรี (Domenico Zampieri) แก่พิพิธภัณฑ์เมืองตูล (Toul) ในปี 1895 และ เป็นที่รู้กันว่าถูกไฟไหม้ หากภาพเขียนนี้กลับไปอยู่ในครอบครองของทนายความผู้หนึ่ง ซึ่งอ้างว่าซื้อมาจากพ่อค้าของเก่า
เมื่อมีของที่หาไม่พบ คณะกรรมการจะทำหนังสือไปยังหน่วยราชการที่ขอยืมไป ซึ่งต้องมีหนังสือตอบภายในหนึ่งเดือน หากเครื่องเรือนนั้นๆ ถูกทำลายโดยไม่ตั้งใจ ก็จะ แทงเรื่องเข้าแฟ้ม ทว่าหากได้รับแจ้งว่าหายหรือถูกขโมย คณะกรรมการจะขอหลักฐานที่เป็นหนังสือแจ้งความ นับตั้งแต่ปี 2003 คณะกรรมการส่งหนังสือไป 700 ฉบับ ได้รับหนังสือแจ้งความ 500 ฉบับ
อย่างไรก็ตาม ของหายหรือถูกขโมยมักจับมือใครดมไม่ได้ จึงไม่มีการสอบสวนต่อ จึงต้องเก็บเข้าแฟ้มไป กระทรวงต่างประเทศและสถานทูตในต่างประเทศเป็นตัวการทำของหาย 1 ใน 4 หายจริงหรือถูกขมาย ไม่มีใครทราบ เมื่อครั้งซ่อมทำเนียบในกรุงเทพฯ ครั้ง สุดท้าย พบโคมระย้าที่เคยแขวนในห้องรับแขก หากพ่อบ้าน (maltre d'hotel) ที่กระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสส่งมาชอบโคมแก้วจากจตุจักรมากกว่า จึงจัดการเปลี่ยนและนำโคม ระย้าไปเก็บในห้องเก็บของ พ่อค้าของเก่ามา ตีราคาโคมคู่นี้ 20,000 บาท และหิ้วออกไป กว่าจะรู้ว่าเป็นของมีค่า พ่อค้าขายต่อให้คนอื่น ไปแล้ว
สมบัติของรัฐจึงหายไปด้วยประการฉะนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|