|

โต๊ะยาว Fine-dine สไตล์ข้างทาง
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
เสน่ห์ของการนั่งทานอาหารข้างทาง นอกจากราคาถูก ร้านส่วนใหญ่ที่มีลูกค้าแน่นจนต้องแบ่งปันโต๊ะนั่งร่วมกันยังการันตีถึงรสชาติอาหารอันแสนอร่อยได้เป็นอย่างดี และบ่อยครั้ง การแชร์โต๊ะนั่งกับคนแปลกหน้ายังทำให้ได้เพื่อนใหม่ที่มี "คอ" เดียวกันเป็นของแถมที่อาจหาไม่ได้จากร้านอาหารรูปแบบ "Fine Dining" ทั่วไป ยกเว้นที่ ...ร้าน "Long Table"
โปสเตอร์โฆษณาร้าน Long Table ที่อยู่ในลิฟต์ของอาคาร Column Residence ซึ่งเป็นตึกที่ตั้งของร้านโต๊ะยาวแห่งนี้ดึงดูดสายตาหลายคู่ในลิฟต์ได้เป็นอย่างดี ด้วยภาพคุณนายซึ่งทั้งตัวประดับเพชรราวตู้เพชรเคลื่อนที่ในมือถือ ไวน์แดง นั่งทานอาหารร่วมโต๊ะเดียวกับคนขับรถมาดเข้ม
ด้านบนโปสเตอร์มีประโยคภาษาอังกฤษโปรยไว้ว่า "Are you ready to share?"
สำหรับอาคาร Column Residence ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 16 ลึกเพียง 50 เมตร เป็น serviced apartment เปิดใหม่ที่จับกลุ่มลูกค้าระดับไฮ-เอนด์ ซึ่งลูกค้าเกือบทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ โดยส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่นและเกาหลี
ทันทีที่ประตูลิฟต์เปิดที่ชั้น 25 แสงสีส้มสว่างกลางความมืดของผนังสีดำของร้านช่วยสะท้อนให้ลูกค้าได้เห็นภาพหนุมานที่วาดจากดินสอพอง ถัดไปเล็กน้อยมีดวงไฟจุดเล็กๆ ประดับ ไว้เป็นทิวแถวหลายสิบดวง ลูกค้าคนไทยหลายคนคาดเดาเอาเองว่า ดีไซเนอร์ตั้งใจนำเสนอความเป็นไทย โดยนำแรงบันดาลใจมาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ตอน "หนุมานหาวเป็นดาวเป็นเดือน" อันที่จริง แผงดวงไฟเหล่านี้ดีไซเนอร์ตั้งใจจำลองมาจากทุ่งข้าวในท้องนาสีเขียวไกลสุดสายตาในต่างจังหวัด อันเป็นแนวคิดที่ต้องการเอาความเป็นไทยมาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยี แสงสีและความทันสมัย ถึงแม้การสื่อสารจะคลาดเคลื่อนกันไปบ้าง แต่อย่างน้อยลูกค้าหลายคน ก็มองเห็นดีไซน์เหล่านี้เป็นศิลปะ
เดินเข้าไปไม่ไกลจะเจอกับเคาน์เตอร์ต้อนรับสีดำขลับ โดดเด่นด้วยอักขระภาษาไทยที่รายรอบโดยเรียงร้อยเป็นชื่อเต็มของจังหวัดกรุงเทพฯ เมืองหลวงที่ "กินเนสส์บุ๊ค" บันทึกไว้ว่ามีชื่อยาวที่สุดในโลก เพื่อเชื่อมโยงกับโต๊ะยาวที่อยู่กลางร้าน ซึ่งเป็นโต๊ะเดี่ยวที่มีความยาวถึง 24 เมตร โดยทีมผู้บริหารของร้านเชื่อว่า โต๊ะนี้น่าจะเป็นโต๊ะอาหารที่เป็นโต๊ะเดี่ยวที่ยาวที่สุดในโลก ณ เวลานี้
โต๊ะยาวราวกับโต๊ะโรงอาหารในโรงเรียนที่กลายเป็นกิมมิคของร้าน ตัวนี้สามารถรองรับแขกที่พร้อมจะ "โชว์ตัว" และแชร์โต๊ะร่วมกับคนอื่น ได้มากถึง 60 คนอย่างสบายๆ
"เวลาขับรถแล้วเห็นร้านอาหารข้างทางดังๆ เราจะเห็นว่าเวลาที่โต๊ะนั่งไม่พอ คนที่ไม่รู้จักกันก็นั่งทานด้วยกันได้โดยไม่รู้สึกขัดเขิน ก็เลยคิดว่าทำไมเราไม่ใช้คอนเซ็ปต์นี้มาดัดแปลงทำร้านอาหาร แต่ทำให้ดูดีขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ คุณพร้อมที่จะนั่งทานอาหารร่วมโต๊ะ กับคนอื่นหรือยัง เพื่อเพิ่มความสนุกสนานในบรรยากาศการทานอาหารของลูกค้าได้ด้วย"
ปวีณา เพชรบุตร เล่าที่มาของคอนเซ็ปต์ร้าน ในฐานะที่เป็นผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัท Bed Management ซึ่งรับหน้าที่บริหารร้าน Long Table แห่งนี้ ทีมบริหารชุดนี้ยังบริหารงานให้แก่คลับชื่อดังอย่าง "Bed Supperclub" คลับเก๋ที่มีกิมมิคอยู่ที่การใช้เตียงแทนโต๊ะอาหารและ Cafe CPS
ร้านอาหารสไตล์โมเดิร์นที่แตกไลน์มาจากแบรนด์แฟชั่นชื่อดัง นอกจากนี้ยังมีโปรเจ็กต์บริหารโรงแรมบูติกอีก 2 แห่งในจังหวัดเสียมราฐ กัมพูชา ได้แก่ Hotel de la Paix และ "จินตามณี"
สำหรับลูกค้า "มือใหม่" ของร้านโต๊ะยาวที่อาจจะยังไม่คุ้นเคยหรือไม่พร้อมที่จะโชว์หรือแชร์กับคนแปลกหน้า และอาจต้องการความเป็นส่วนตัวมากหน่อย ที่ร้านแห่งนี้ก็ยังมีโต๊ะนั่งแบบเตียงโซฟาที่จำลองอารมณ์ความสบายแบบส่วนตัวมาจากศาลาไทยในโรงแรมหรูคอยให้บริการ หรือจะเลือกนั่งหลบมุมชิลๆ บริเวณหน้าบาร์ นอกจากนี้ยังมีโต๊ะนั่งในโซน outdoor ติดริมระเบียงที่เตรียมไว้ให้ลูกค้าทานอาหารแกล้มวิวกรุงเทพฯ มุมสูงในยามค่ำคืน ก็ได้บรรยากาศโรแมนติกไปอีกแบบ
แม้จะอยู่ในยุคน้ำมันแพง แต่เพื่อความทันสมัย ร้านโต๊ะยาวยอมลงทุนตกแต่งร้านด้วยอุปกรณ์และระบบแสงสีไฮเทค โดยเฉพาะจอ LED ที่ฉายภาพอวกาศเป็นกราฟิกหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ซึ่งถูกติดตั้งอยู่บนเพดานเหนือโต๊ะยาวทั้งโต๊ะ และอยู่บนพื้นสำหรับโต๊ะนั่งแบบเตียงโซฟาทุกโต๊ะ อีกทั้งยังมีแสงไฟสีแดงหน้าบาร์และไฟประดับตามแนวทางเดิน... เชื่อว่าเฉพาะค่าไฟของร้านนี้คงจะเป็นต้นทุนสูงทีเดียว
อาหารของร้านโต๊ะยาวเป็นสไตล์ไทยร่วมสมัย (บ้างก็เรียกว่า เป็น Thai Fusion) ซึ่งปรุงโดยเชฟใหญ่ชาวอเมริกัน เสิร์ฟในรูปแบบ A La Carte Menu ซึ่งระยะแรกยังมีให้เลือกเพียง 20 กว่าเมนูสำหรับมื้อค่ำ และมีเมนูพาสต้าและอาหารจานเดี่ยวเพิ่มเข้ามาสำหรับมื้อกลางวัน เพื่อให้บริการแก่พนักงานออฟฟิศแถบนั้น รวมถึงผู้พักอาศัยภายในตึก
สำหรับราคาอาหารมีตั้งแต่จานละไม่ถึง 200 บาทไปจนถึง 950 บาท ส่วนเครื่องดื่มก็มีให้เลือกหลากหลายทั้งค็อกเทล, ม็อคเทล, เบียร์, ไวน์, แชมเปญ, วิสกี้, บรั่นดี และคอนยัค เป็นต้น สนนราคาก็ตั้งแต่ 200-300 บาทขึ้นไปจนถึงหลักพัน
ด้วยคอนเซ็ปต์ร้านที่ดูสนุกสนานและแปลกใหม่ ดังนั้นหลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ร้านโต๊ะยาวแห่งนี้ดูเหมือนจะเป็นที่นิยมของเหล่า "ซีเล็บ" คนดังในหลากหลายวงการ รวมถึงดีไซเนอร์และครีเอทีฟทั้งหลาย โดยลูกค้าของร้านนี้มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ทำงานในกรุงเทพฯ ซึ่งบริกรที่ร้านให้การว่า นับจากเปิดร้านมาลูกค้าเต็มร้านเกือบทุกวัน โดยเฉพาะวันพฤหัสบดีถึงวันเสาร์ที่เรียกได้ว่า แทบจะไม่มีที่นั่งเหลือไว้แชร์ให้กับลูกค้าที่ walk-in เข้ามาเลย
เพียง 2-3 เดือนอาจจะสั้นไปที่จะใช้พิสูจน์ว่า คอนเซ็ปต์ "โต๊ะยาว" นี้ได้ผลอย่างแท้จริงหรือเป็นเพียงกระแส ในช่วงแรก "โต๊ะยาว" อาจเป็นกิมมิคสนุกสนานที่ใช้เรียกลูกค้าได้เป็นอย่างดี แต่ท้ายสุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารหรูหราหรือร้านขายก๋วยเตี๋ยวข้างทาง รสชาติที่อร่อยก็ยังเป็นไม้เด็ดที่ใช้เรียกลูกค้าให้กลับมา "ตายรัง" อย่างได้ผล
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|