โรเบิร์ต เดวิส มือรุกตลาด TRADE FINANCE


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

หนุ่มใหญ่วัยต้น 40 ปีรูปร่างสันทัดถ้าเทียบกับโครงร่างของชาวเอเชียทั่วไป นัยน์ตาสีฟ้าบ่งบอกได้ชัดเจนว่าเขาไม่ใช่คนเอเชีย เพียงแต่ว่า 1 ใน 3เสี้ยวเวลาของชีวิต เขาใช้มันย่ำท่องไปในตลาดการเงินแถบเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นจาร์กาตาร์ มะนิลา สิงคโปร์ และปัจจุบันคือกรุงเทพ ฯ

เดวิสเขาเป็นชาวอเมริกันเขาถือกำเนิดที่เมืองซีแอตเติลสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐ ปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์และการเงินระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเมื่อปี 2514 และปริญญาโทจาก FLETCHER SCHOOL OF LAW & DIPLOMACY ในปี 2516

ชีวิตการทำงานภายหลังจากจบการศึกษาของเขาคลุกคลีอยู่กับงานธนาคารโดยตลอด และเป็นงานธนาคารระหว่างประเทศ ในยุโรปและเอเชีย ทั้งสิ้น เดวิสกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมชอบทำงานในต่างประเทศมาก ผมทำงานในต่างประเทศมีความน่าดึงดูดใจอย่างหนึ่ง ไม่เฉพาะแต่ในตำแหน่งที่ผมนั่งอยู่นี่เท่านั้นแต่รวมถึงในบริษัทใหญ่อื่น ๆ ด้วย คือคุณจะมีอำนาจของคุณเองในขอบเขตหนึ่ง ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโส คุณสามารถทำราวกับคุณเป็นเจ้าของกิจการเอง วางแผน จ้างงาน ดำเนินตามแผน อาจจะสำเร็จหรือไม่ก็ตามแต่ มันเป็นโอกาสของคุณซึ่งโอกาสเหล่านี้ไม่มีทางที่เพื่อน ๆ รุ่นราวคราวเดียวกับคุณที่ทำงานที่สำนักงานใหญ่ในสหรัฐจะมีได้"

ก่อนที่เดวิสจะมารับตำแหน่งรองประธานกรรมการอาวุโสและผู้จัดการธนาคาร ซีเคียวริตี้ แปซิฟิค เอเชี่ยน จำกัด (SPAB) เมื่อกันยายน 2532 นั้นเขาเคยเป็นผู้แทนของธนาคาร WELLS FARGO ที่จาร์กาตาร์ , อินโดนีเซีย (2523-2526) เป้น TRADE FINANCE MANAGER. ที่สิงคโปร์ (2526-2527) ครั้นปี 2528 ย้ายไปทำงานกับธนาคาร RAINIER ที่มะนิลา ปี 2530 เป็นผู้จัดการภูมิภาคที่สิงคโปร์

เดวิสอยู่สิงคโปร์ได้ไม่นานนัก ธนาคารซีเคียวริตี้ แปซิฟิค คอร์ปอเรชั่น (SPC) ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่ที่สุดที่เป็นอันดับ 5 ของสหรัฐ ด้วยขนาดของสินทรัพย์มากกว่า 85 พันล้านดอลลาร์ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ลอสแองเจลิส , แคลิฟอร์เนีย ก็ซื้อธนาคาร RAINIER และธนาคารสาขาในต่างประเทศของ RAINIER ได้ทั้งหมด

ปลายปี 2530 เดวิสทำหน้าที่รับผิดชอบการรวมสาขาของธนาคาร RAINIER เข้าไว้กับ SPC ปี 2531 เขาเดินทางไปทำหน้าที่เดียวกันนี้ที่มะนิลา และประจำอยู่ที่นั่นจนกันยายน 2532 จึงเดินทางมารับตำแหน่งที่กรุงเทพ ฯ

เดวิสเล่าประสบการณ์ธนาคารในมะนิลาให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า "การทำงานธนาคารที่มะนิลากับที่กรุงเทพ ฯแตกต่างกันมาก เพราะฟิลิปปินส์มีปัญหาเรื่องหนี้มาก เป็น LOANDEBT COUNTRY สาขาที่มะนิลาถูกจำกัดวงให้ทำธุรกิจแคบกว่าที่กรุงเทพ ฯ มีเพียงการปล่อยกู้เป็นสกุลเงินดอลลาร์ ทำเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ การขายหนี้ที่มีปัญหา ทำ SWAP หนี้ที่มีปัญหาเหล่านี้ไปเป็นสินทรัพย์แบบอื่น ๆ และอำนวยความสะดวกในการทำข้อตกลงทางการค้า "

ส่วนกรุงเทพ ฯ นั้น ใบอนุญาตการทำธนาคารที่นี่เปิดโอกาสให้ทำธุรกิจได้กว้างกว่าที่มะนิลามาก เดวิสเล่าว่า "เราสามารถปล่อยกู้เป็นสกุลเงินบาทได้ รับฝากเงินได้มีข้อจำกัดการทำธุรกิจน้อยมากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจการเมืองก็ดีกว่ามาก มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องมาหลายปี มีโอกาสทางเศรษฐกิจมากซึ่งหมายความว่าโอกาสในการปล่อยกู้ก็สูงมากด้วยสาขาที่นี่เน้นในเรื่องของการสร้างความเติบโต การสร้างธุรกิจใหม่ ๆ แต่การดำเนินงานที่นี่ก็ยังเป็นเรื่องของการเงินเพื่อการค้า (TRADE FINANCE)"

ทั้งนี้ เป้าหมายของ SPAB บรรลุผลเร็วทันตาเห็นโดยเมื่อสิ้นปี 2532 มียอดสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 1,906.76 ล้านบาทเทียบกับเมื่อสิ้นปี 2531 ที่มีสินทรัพย์เพียง 908.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 110 % ส่วนในด้านของเงินฝากก็ระดมเพิ่มขึ้นเป็น 1,210.86 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 226.6 % ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในบรรดาสาขาของธนาคารต่างประเทศในไทยรวม 14 แห่ง (ดูตารางตัวเลขทางการเงินของ SPAB)

เดวิสเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "จริง ๆ แล้วการเติบโตของธนาคารมาจากการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง คือในช่วงปลายปี 2532 เราได้สร้างบริการขึ้นมาอันหนึ่งเรียกว่า SECURITY CLEARING & CUSTODY SERVICE BUSINESS คือบริการที่เราเสนอให้กับธนาคารต่างประเทศและธนาคารในประเทศหลายแห่งมันไม่ใช่งานง่าย ๆ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับงานเอกสารจำนวนมากการติดต่อสื่อสารตลอดเวลาเราทำบริการนี้ในฐานะ THAILAND CUSTODAIN CLEARIG AGENT สำหรับบริษัทโบรกเกอร์ต่างชาติชั้นนำจำนวนมากที่ต้องการซื้อและขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย ธุรกิจนี้เพิ่มยอดเงินฝากให้ธนาคารมาก"

นอกจากนี้บริการที่เพิ่มพูนรายได้ให้ SPAB อีกอันหนึ่งคือบริการหลักด้าน TRADE FINANCE และการทำ CORPORATE ACCOUNT RELATIONSHIP ส่วนธุรกิจที่ผ่านมาทาง HOARE GOVETT INVESMENT RESEARCH LTD. เป็นธุรกิจที่ผ่านมาโดยทางอ้อม เมื่อมีกองทุนต่างประเทศโดยเฉพาะจากลอนดอนซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ HOARE GOVETT เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย กองทุนเหล่านี้ก็จะใช้บริการ COSTODIAN CLEARING AGENT ของ SPAB

แต่แม้ว่าบริการเหล่านี้จะสร้างรายได้ให้กับ SPAB พอควร ทว่ารายได้หลักก็ยังมาจากที่เกิดจากดอกเบี้ยคือ 2 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมดหรือคิดเป็น 67 % ส่วนรายได้ที่ไม่ได้มาจากดอกเบี้ยคือบรรดาค่าธรรมเนียมต่าง ๆ นั้นคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3

อย่างไรก็ดีธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ในแคลิฟอร์เนียรายนี้ยังจัดว่าเป็นธนาคารขนาดเล็กในประเทศไทย แม้จะมีอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดในปีที่ผ่านมา แต่อัตราความเร็วนี้ก็เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีให้หลังนี่เอง

SPC เพิ่งจะซื้อกิจการธนาคารกวางตุ้งได้ 100 % เมื่อปี 2527 ครั้นปี 2530 จึงเพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคาร ซีเคียวริตี้ แปซิฟิค เอเชี่ยน (SPAB) มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างขนานใหญ่โดยการรวมสาขาทั้งที่เป็นธนาคารของกวางตุ้งเดิมและธนาคารซีเคียวริตี้ แปซิฟิค คอร์ป เข้าไว้ใต้การควบคุมดูแลของ SPAB และจะมีการพบปะแลกเปลี่ยนกันปีละ 2 ครั้ง

บรรดาสาขาของธนาคารที่อยู่ภายใต้การดูแลของ SPAB ไม่ใช่เฉพาะสาขาในย่านเอเชียเท่านั้น แต่ยังมีสาขาที่ลอสแองเจลิส ซานฟาน ฯ พอร์ตแลนด์ ซีแอตเติล และแวนคูเวอร์ โตรอนโต ในแคนาดารวมอยู่ด้วย (ดูตารางสาขาที่อยู่ในความดูแลของ SPAB )

โครงสร้างการบริหารของ SPAB มีลักษณะเฉพาะตัวเดวิสกล่าวว่า "เรามีโครงสร้างการบริหารที่พิเศษไม่เหมือนใคร โครงสร้างนี้อำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่มีธุรกิจอยู่บนสองฟากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิคหรือที่เรียกกันว่า PACIFIC RIM เป็นอย่างดี"

ข้อเด่นประการนี้ช่วยให้ SPAB ก้าวขึ้นมาเป็นธนาคารชั้นนำในย่านเอเชียได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะกลยุทธ์ที่เกาะติดกับบริการด้าน TRADE FINANCE ซึ่งอิงอยู่กับการค้าระหว่างประเทศในดินแดนชายฝั่งทะเลแปซิฟิค

เดวิสเล่าว่า "SPAB มี TRADE FINANCE CORDINATOR ที่ฮ่องกงซึ่งจะคอยดูงานด้านนี้ทั้งหมดในย่านแปซิฟิคริม เขาคอยจะดูว่ารายการทำ TRADE FINANCE ระหว่างสาขาแต่ละแห่งแต่ละประเภทดำเนินไปด้วยความราบรื่นดีหรือไม่คอยดูเรื่องการค้าภายในระหว่างประเทศเอเชียด้วยกัน"

เดวิสชี้จุดแข็งของ SPAB ในการที่จะแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศว่า "เราให้บริการเหมือนกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศ บวกกับเครือข่ายบนแปซิฟิค ริม ซึ่งไม่มีธนาคารแห่งใดที่มีเครือข่ายนี้เหมือนเรา ขณะที่ธนาคารไทยอาจต้องติดต่อผ่าน CORESPONDENT BANK แต่เราสามารถติดต่อกับสาขาของเราได้โดยตรง"

กลยุทธ์ต่าง ๆ ถูกระดมมาใช้อย่างเต็มที่เพื่อการขยายตัวให้เติบใหญ่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อได้เปรียบของความเป็นยักษ์ใหญ่ในบริการ TRADE FINANCE แถบแปซิฟิค ริม การบริการด้าน SECURITY CLEARING & CUSTUDY การจัดหาเงินกู้สกุลดอลลาร์ในตลาด OFF-SHORE ฯลฯ

เดวิสกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงเหตุผลบางประการที่เขานถูกส่งมาดูแลสาขาที่กรุงเทพ ฯ ว่า "นอกเหนือจากเรื่องประสบการณ์ในการบริหารงานในภูมิภาคนี้มาเป็นเวลายาวนานแล้วผมคิดว่าเป็นเรื่องธุรกิจ TRADE FINANCE ด้วย ผมดูแลด้านนี้มาตลอด และธุรกิจนี้ก็เป็นแกนหลักของการขยายงานที่นี่ด้วย อีกอย่างหนึ่งคือการคาดหวังว่าผมจะสามารถทำงานในขอบข่ายงานอื่น ๆ ของแบงก์ได้ด้วย เช่น เรื่อง MERCHANT BANKING เป็นต้น "

ภาระหนักอึ้งของเดวิสวันนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะบรรลุได้โดยง่าย เขายอมรับว่าการแข่งขันในธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีสูงมาก เขาให้ทัศนะว่าตลาดทุนในเมืองไทยพัฒนาเติบโตยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ การเติบโตอย่างสลับซับซ้อนมากเท่าใดของตลาดทุนไทย ก็ยิ่งจะต้องมีการปล่อยให้เศรษฐกิจดำเนินไปอย่างมีเสรีมากเท่านั้น โดยเฉพาะในเรื่องของธนาคารและสถาบันการเงิน ควรจะให้มีการไหลเข้า-ออกของเงินทุนได้สะดวกมากขึ้น สามารถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้ง่ายขึ้น

วันนี้ของ SPAB และเดวิสกำลังเริ่มต้นธุรกิจในไทยได้อย่างสวยงาม แต่การแข่งขันในตลาดเงินที่รุนแรงขึ้นทุกวันประกอบกับคู่แข่งที่อยู่ในแถวหน้าของตลาดเงินในภูมิภาคนี้มาก่อนคือ STANDARD CHARTER BANK , DEUTSCHE BANK ก็มีเครือข่ายกว้างขวางไม่แพ้ SPAB ดังนั้นก้าวกระโดดในวันพรุ่งของ SPAB จะโจนทะยานเหมือนในปีที่ผ่านมาหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องคอยดูแลต่อไป !



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.