|
ลำน้ำพองตัวอย่างแห่งการอนุรักษ์
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
บ่อยครั้งที่เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เหยื่อและโจทก์มักเป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่จำเลยก็มักเป็นโรงงานและภาคธุรกิจอยู่ร่ำไป รวมถึงกรณีแม่น้ำพองเมื่อ 10-20 ปีก่อน แต่ภาพเหล่านั้นจะกลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์ที่ไม่มีวันซ้ำรอย ด้วยจิตสำนึกต่อสาธารณะของทุกฝ่าย เฉกเช่นปัจจุบัน
...ลำน้ำพองล้นนองรินหลั่ง สองฝั่งสะพรั่งด้วยมวลพฤกษา น้ำหลากงามยามแลเพลินตา เบิ่งท้องนาสาวบ้านป่างามพริ้งละออ...
เสียงเพลง "ลำน้ำพอง" ของชรินทร์ นันทนาคร แว่วดังก้องหู ขณะที่สองตากำลังเพลิดเพลินกับบรรยากาศสีเขียวสองข้างทางระหว่างที่กำลังล่องเรือ "กิ่วลม16" เรือตรวจการประมงเป็นการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบสภาพแม่น้ำสายนี้ ร่วมกับคณะผู้บริหารของบริษัทฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน)
...อันน้ำพองของดินถิ่นแคว้น ขอนแก่นเมืองแคนแห่งแดนอีสาน... บทเพลงเดียวกันแว่วมาอีกครั้ง
แม่น้ำพองมีต้นกำเนิดมาจาก "น้ำตกขุนพอง" บนยอดเขาภูกระดึงแห่ง เทือกเขาเพชรบูรณ์ มีความยาวประมาณ 275 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ใช้ประโยชน์รวมกว่า 9.4 ล้านไร่ เฉพาะเมืองขอนแก่น ลำน้ำพองไหลเลี้ยวคดเคี้ยวผ่าน อ.ชุมแพ อ.ภูเวียง อ.น้ำพอง และ อ.เมืองขอนแก่น ก่อนจะรวมกับแม่น้ำชี แม่น้ำสายนี้จึงเปรียบได้กับ "เส้นเลือดใหญ่" ที่หล่อเลี้ยงและหล่อหลอมวิถีชีวิตชาวขอนแก่น มาแสนนาน
กว่า 30-40 ปีก่อน ตลอดลำน้ำพองเคยเต็มไปด้วยฝูงปลาและสัตว์น้ำนานาพันธุ์ ขนาดที่เล่าต่อกันมาว่า ก่อนลงไปหาปลาให้ต้มน้ำไว้รอแกงได้เลย พอน้ำเดือดก็ได้ปลามาพอดี แม่น้ำพองไม่ได้เป็นเพียง "ห้องครัวห้องใหญ่" ของผู้คนสองฝั่งน้ำ แต่ยังเป็นดั่ง "โต๊ะอาหารบุฟเฟ่ต์" สำหรับสัตว์น้อยใหญ่ใช้หากินร่วมกันอีกด้วย ขณะที่อีกหลายชีวิตก็พลอยได้อาศัยความร่มเย็น ความเขียวขจี และความบริสุทธิ์ของอากาศที่ได้จากป่าไม้ริมฝั่งน้ำเพื่อการดำรงชีวิตอย่างรื่นรมย์
...สมกับวรรคหนึ่งของบทเพลงเดิมที่ว่า "โอ้น้ำพอง คลองสวรรค์"...
ในการนั่งเรือชมสองฟากฝั่งของสายน้ำพอง เริ่มต้นใต้เขื่อนอุบลรัตน์ล่องลงไปจนเกือบ ถึงฝายหนองหวาย ผ่านลำห้วยโจดและโรงงานฟินิคซ พัลพฯ ที่ตั้งอยู่ลิบตา เป็นระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร
แม้สายน้ำจะดูขุ่นเขียวไปบ้างในบางช่วง ทว่าเปอร์เซ็นต์ความสะอาดและปราศจากมลพิษก็ถือว่าสอบผ่านมาตรฐานที่รับรอง โดยคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น กรมควบคุมมลพิษ และกรมโรงงานอย่างฉลุย แต่กระนั้นชาวบ้านก็ยังไม่มั่นใจเต็มร้อยที่จะนำน้ำจากบึงโจดและแม่น้ำพองไปใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตร จะมีก็เพียงกิจกรรม เลี้ยงปลาและการประกอบอาชีพหาปลาที่กลับคืนมา
ตลอดเวลากว่าชั่วโมงในวันนั้น ไม่มีภาพหญิงสาวชาวบ้านตีโป่งเล่นน้ำให้เห็นและไม่มีเสียงหัวเราะของเด็กน้อยกระโจนลงน้ำอย่างสนุกสนานให้ได้ยิน มีเพียงเสียงสะท้อนจากผู้เฒ่าลูกน้ำพองที่เชื่อว่า ความผูกพันกับลำน้ำพองในฐานะแหล่งน้ำที่เคยลงเล่นและดื่มกินคงไม่มีอีกแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงของลำน้ำพอง เริ่มต้นในปี 2524 เมื่อบริษัท ฟินิคซ พัลพฯ เปิดโรงงานผลิตเยื่อกระดาษบนพื้นที่อำเภอน้ำพอง ในขบวนการผลิตโรงงาน ได้ผันน้ำจากลำน้ำพองเข้ามาใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญ หลัง ขบวนการผลิตก็มีน้ำทิ้งปริมาณมากเป็นผลพลอยได้ ก่อนหน้าปี 2537 โรงงานแห่งนี้มักแอบระบายน้ำ ทิ้งผ่านห้วยโจดโดยตรง ซึ่งจะไหลลงไปสู่แม่น้ำพองอีกทอด ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ในลำห้วยโจดและลำน้ำพองสะสมเรื่อยมาและเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
นาข้าวและพืชผลการเกษตรเริ่มเสียหาย แม่น้ำส่งกลิ่นเน่าเหม็นคละคลุ้ง ปลากระชังเริ่มลอยตายเป็นเบือ ขณะที่ปลาธรรมชาติในแม่น้ำพองบางชนิดถึงกับสูญพันธุ์ จนชาวบ้านเริ่มไม่กล้าใช้น้ำจากห้วยบึงโจดและแม่น้ำพองเพื่อการอุปโภคและบริโภคเหมือนเช่นอดีต ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้ชาวบ้านรวมตัวจัดตั้งชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำพองขึ้น เพื่อเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย รวมถึงการสร้างอาชีพทดแทนอาชีพประมงและเกษตรกรรมที่ทำไม่ได้อีกแล้วเนื่องจากน้ำปนเปื้อนมลพิษ ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับโรงงานฯ เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2529 สั่งสม จนรุนแรงขึ้นมาเรื่อย แม้ว่าในปี 2536 โรงงานฯ จะอ้างว่าได้จัดหาพื้นที่ทำโครงการ "โปรเจคกรีน" เพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำทิ้งของโรงงาน โดยไม่มีการระบายน้ำทิ้งลงสู่ห้วยโจดและลำน้ำพองโดยตรงอีกต่อไป แต่ก็ยังมีกรณีพิพาทเรื่องน้ำเน่าเสียกับชาวบ้านและยังคงมีการเรียกร้องให้ปิดโรงงานกันมาตลอด
ในปี 2538 ศาลตัดสินว่า โรงงานฯ เป็นต้นเหตุทำให้น้ำเน่าเสียจริงจึงมีคำสั่งปรับเจ้าของโรงงานเป็นเงินจำนวน 20,000 บาท แต่เพราะโรงงานฯ ยอมรับผิด ค่าปรับจึงลดลงกึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 10,000 บาทเพื่อเป็นการชดเชย ความหายนะที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชนแห่งลุ่มน้ำพอง
ตำนานการสู้เพื่อแม่น้ำพองดูรุนแรงที่สุดในปี 2546 เมื่อต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของนักสู้ชาวบ้านลูกน้ำพองอย่าง "สำเนา ศรีสงคราม" อดีตประธานชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำพองซึ่งถูกประกบยิง โดยชาวบ้านเชื่อว่าเป็นอิทธิพลของนายทุนจากสาเหตุที่เขาเป็นผู้ผลักดันเรื่องผลกระทบจากลำน้ำพองเน่าเสียจากโรงงานฯ มาตั้งแต่ปี 2536
ทว่าความตายของสำเนาก็หาได้ทำให้วิกฤติลำน้ำพองลดลง จนดูราว กับว่าปัญหานี้จะอยู่คู่แม่น้ำสายนี้ตราบจนลมหายใจรวยรินของสายน้ำจะหมดไปหรืออย่างไร
จนปี 2548 ประกายความหวังแห่งลำห้วยโจดและลำน้ำพอง รวมถึง วิถีชีวิตของชุมชนลุ่มน้ำแถบนี้เริ่มกลับมาอีกครั้ง เมื่อเอสซีจี เปเปอร์ ในเครือซิเมนต์ไทย เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของฟินิคซ พัลพฯ
ธีระศักดิ์ จามิกรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ บมจ.ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ ยอมรับว่า ก่อนที่เครือซิเมนต์ไทยจะตัดสินใจซื้อกิจการโรงงานแห่งนี้ ทางเครือฯ เองก็มีความกังวลในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและชื่อเสียงเดิมของฟินิคซ พัลพฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของเครือฯ ได้ครั้นฝ่ายบริหารยืนยันว่าจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ เครือฯ จึงตัดสินใจซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมด
เครือซิเมนต์ไทยเริ่มต้นจากการลงทุนมหาศาลในเครื่องจักรที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อป้องกันการรั่วไหลของสารก่อมลภาวะจากขบวนการผลิต พร้อมกับการลงทุนอย่างหนักในระบบการจัดการของเสีย โดยเฉพาะระบบบำบัดน้ำทิ้งที่นำนวัตกรรมที่ว่าดีที่สุดในโลกเข้ามาจากประเทศฟินแลนด์ ก่อนที่จะนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วไปใช้ในโปรเจคกรีน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเรื่อง "ใช่ว่าชื่อ "เครือซิเมนต์ไทย" ทำอะไรก็ง่ายไปทั้งหมด" ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มกราคม 2550) ทั้งนี้ โปรเจคกรีนยังเป็นเครื่องมือพิสูจน์และตัวชี้วัด (indicator) คุณภาพของน้ำทิ้งของโรงงานฯ ที่ปราศจากมลพิษและดีพอที่จะใช้ปลูกพืชผลได้ดีเสียด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น โรงงานฯ ก็หาได้ปล่อยน้ำทิ้งลงสู่ห้วยน้ำโจดและแม่น้ำพองโดยตรง คราวนี้ ไม่ใช่เพียงคำอ้างของโรงงานฯ ฝ่ายเดียว แต่ยังผ่านการพิสูจน์จากหลายภาคี เช่น คณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญที่สุดก็คือ กลุ่มชาวบ้านจากทั้ง 11 หมู่บ้านที่อยู่รอบโรงงาน
อย่างไรก็ดี เมื่อใดก็ตามที่มีปลากระชังตายในลำน้ำพอง ผู้ต้องหาคนแรกที่ชาวบ้านชี้ตัวก็ยังคงหนีไม่พ้น ฟินิคซ พัลพฯ เช่น ในกรณีปลากระชัง ตายเป็นเบือในปี 2547-2548 ทั้งที่สาเหตุสำคัญของเหตุการณ์ครั้งนั้น ส่วนใหญ่มาจากปัญหาน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ มลพิษทางน้ำจากแก่งเสือเต้น และวิธีการเลี้ยงปลาที่ไม่ถูกต้องของชาวบ้านเอง ขณะที่น้ำทิ้งจากโรงงานฯ แทบจะไม่มีผลเลย "ในอดีตที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าชาวบ้านโดนมาหนัก น้ำในลำห้วยโจด และลำน้ำพองวิกฤติตลอด เขาก็มีเหตุผลที่จะไม่ไว้วางใจโรงงานได้เต็มร้อย" เนตรนภา ครโสภา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวในฐานะคนกลาง ที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบคุณภาพน้ำในบึงโจดและลำน้ำพองร่วมกับโรงงานฯ และชาวบ้านมาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ดังนั้น ทุกวันนี้ไม่เพียงไม่ปล่อยให้เกิดการรั่วไหลของน้ำทิ้งและของเสีย ฟินิคซ พัลพฯ ยังต้องเร่งฟื้นฟูบึงโจดและลำน้ำพอง อันจะเป็นแนวทางเดียวที่จะสร้างความไว้วางใจและความรู้สึกอันดีกับชาวบ้านลุ่มน้ำพองได้ดีที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อแก้ภาพลักษณ์แง่ร้ายของโรงงานแห่งนี้เสียใหม่
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ เรือ "รักษ์น้ำพอง" และเจ้าหน้าที่จากโรงงานฯ 4-5 คนที่มาประจำหน้าที่ผู้พิทักษ์บึงโจดจนน้ำใสสะอาดมากพอที่จะเลี้ยงปลาในกระชังได้ตัวโตดี หรือเครื่องปั๊มอากาศที่ฟินิคซ พัลพฯ แจกให้กับชาวบ้านผู้เลี้ยงปลากระชังในลำน้ำพอง พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ที่คอยประสานงานกับเขื่อน เพื่อแจ้งข้อมูลแก่ชาวบ้านทุกครั้งก่อนที่เขื่อนจะปล่อยน้ำลงมา เป็นต้น
แม้ 2 ปีหลังมานี้ ผู้บริหารฟินิคซ พัลพฯ จะมั่นใจว่าน้ำทิ้งของโรงงานฯ ไม่ใช่สาเหตุของปัญหาลำน้ำพองเน่าเสียอีกต่อไป แต่ชาวบ้านบางส่วนก็ยังไม่เชื่อมั่นเช่นนั้น ดังนั้นโรงงานฯ จึงอาศัยงานทางวิชาการและนักวิชาการเข้ามาช่วยยืนยัน รวมถึงเปิดประตูโรงงานต้อนรับทุกคนที่ต้องการเข้ามาตรวจสอบ
เป็นเวลาร่วมปีกว่าที่โรงงานฯ และชาวบ้านจับมือเป็นพันธมิตรในการดูแลรักษาลำห้วย โจดและลำน้ำพองอย่างจริงจังร่วมกัน โดยมีทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้อำนวยความสะดวกในแง่ข้อมูลวิชาการ และเป็นแกนสำคัญในการสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาน้ำเน่าเสีย รวมถึงปลูกจิตสำนึกรักษ์ลำน้ำพองให้กับชาวบ้าน "เราอยากให้ชาวบ้านเข้าใจและมีความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อที่จะได้ป้องกันตัวได้และที่สำคัญ ก็คือเวลามีปัญหากับโรงงาน ชาวบ้านต้องสามารถมาบอกหน่วยราชการได้ เราจะเน้นกับชาวบ้านว่า ทั้งหมดต้องมาแก้ไขปัญหาด้วยกัน ไม่ใช่เวลาคุณภาพน้ำไม่ดีแล้วคุณจะมาหาเรื่องโรงงาน เพราะโรงงานก็ให้ผลประโยชน์กับเขาเยอะ ซึ่งชาวบ้านเองก็รู้ดี" อาจารย์เนตรนภากล่าวในฐานะลูกสาวลุ่มน้ำพองคนหนึ่ง
"นับจากนี้ปัญหาน้ำเน่าเสียในแม่น้ำพองและบึงโจดอันเกิดมาจากโรงงานฟินิคซ พัลพฯ จะเป็นเพียงตำนานที่ไม่มีวันเกิดขึ้นอีก เพราะเครือซิเมนต์ไทยเป็นบริษัทที่ก่อตั้งมานานและมีนโยบายชัดเจนเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม" ธีระศักดิ์กล่าวด้วยแววตามุ่งมั่น
ทว่า น้ำเสียงที่หนักแน่นของหัวเรือใหญ่แห่งฟินิคซ พัลพฯ ดูจะไม่หนักแน่นเท่ากับการกระทำ เพราะเท่าที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอันใดของกลุ่มคณะใดก็ตามที่น่าจะมีส่วนช่วยในการพลิกฟื้นคืน "ชีวิต" กลับสู่แม่น้ำพองได้ รวมถึงย้อนคืนวันแห่งวิถีชีวิตเรียบง่าย ริมสายน้ำกลับคืนให้ชาวบ้านลุ่มน้ำพองได้อีกครั้ง ดูเหมือนเครือซิเมนต์ไทยจะยินดีรับบทผู้สนับสนุนรายการแทบทุกครั้งไป
...การบำบัดน้ำทิ้งของโรงงานฯ เป็นเรื่องง่ายเมื่อเทียบกับการบำบัดน้ำเสียในลำน้ำพอง และบึงโจดที่ต้องใช้เวลาในการเยียวยา แต่ทว่าการบำบัดจิตใจและความเชื่อมั่นต่อโรงงานฯ ที่เคยพรากจิตวิญญาณแห่งลุ่มน้ำสายนี้ไปนานกว่า 20 ปี คงเป็นเรื่องที่ยากกว่า และคงต้องใช้เวลาเยียวยาเนิ่นนานกว่าหลายเท่า แต่ด้วยความมุ่งมั่นและจริงใจ เชื่อว่า โรงงานฟินิคซ พัลพฯ ใต้ร่มเครือซิเมนต์ไทยจะทำได้สำเร็จในไม่ช้าก็เร็ว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|